xs
xsm
sm
md
lg

IATA ชี้ต้นทุนต่ำ-ตะวันออกกลางแข่งดุ ทำสายการบินอาเซียนกำไรหด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพแฟ้มเอเอฟพีเดือนก.ค. 2557 เผยให้เห็นเครื่องบินโดยสารของสายการบินสิงคโปร์ (ซ้าย) จอดเทียบอาคารผู้โดยสารถัดจากเครื่องบินของสายการบินไทเกอร์แอร์ (ขวา) ที่สนามบินนานาชาติชางงี ในสิงคโปร์ ด้วยการแข่งขันอย่างดุเดือดจากสายการบินต้นทุนต่ำที่มีเป็นจำนวนมากในภูมิภาค และการร่วมลงแชร์ส่วนแบ่งตลาดจากสายการบินตะวันออกกลางในเส้นทางระยะไกล ส่งผลให้สายการบินในภูมิภาคทำกำไรได้น้อยลง. -- Agence France-Presse/Fyrol Mohd.</font></b>

เอเอฟพี - สายการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มที่ทำกำไรได้น้อยเนื่องจากการแข่งขันจากสายการบินต้นทุนต่ำ และคู่แข่งจากตะวันออกกลางเข้าบีบส่วนแบ่งรายได้ ตามการเปิดเผยของผู้อำนวยการใหญ่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)

ความวุ่นวายของตลาดหุ้นทั่วโลกยังคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้นธุรกิจที่สายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบทำกำไรได้เป็นส่วนใหญ่ โทนี ไทเลอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ IATA กล่าว

“สายการบินในภูมิภาคนี้ต่างกำลังพบว่าความสามารถในการทำกำไรนั้นค่อนข้างน้อยเพราะแรงกดดันจากการแข่งขันรุนแรง และการมีสายการบินอยู่เป็นจำนวนมากในตลาดแห่งนี้” ไทเลอร์ กล่าวต่อผู้สื่อข่าว ก่อนงานสิงคโปร์แอร์โชว์จะเริ่มขึ้นในวันอังคาร (16)

“เมื่อคุณเผชิญต่อการแข่งขันอย่างรุนแรงจากสายการบินต้นทุนต่ำในภูมิภาค และยังประสบต่อการแข่งขันที่รุนแรงอย่างมากจากเส้นทางบินระยะไกลของสายการบินตะวันออกกลาง ความสามารถในการทำกำไรของสายการบินในภูมิภาคนี้ย่อมไม่แข็งแรง” ไทเลอร์ กล่าว

IATA คาดการณ์เมื่อเดือน ธ.ค. ว่า กำไรสุทธิของสายการบินทั่วโลกในปี 2559 จะอยู่ที่ 36,300 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10% จากที่คาดการณ์ไว้สำหรับปี 2558 ที่ 33,000 ล้านดอลลาร์ แต่ไทเลอร์ กล่าวว่า มากกว่าครึ่งของกำไรในปีนี้จะมาจากอเมริกาเหนือ ด้วยผลประกอบการของสายการบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มที่จะถูกกดดันอย่างหนัก

ไทเลอร์ ระบุว่า สายการบินต้นทุนต่ำในตอนนี้มีสัดส่วนอยู่ 54% ของสายการบินที่มีอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 38% ในปี 2552

หากเทียบกันแล้ว สายการบินต้นทุนต่ำในสหรัฐฯ มีสัดส่วนอยู่ที่ 31% และ 39% ในยุโรป ส่วนทั่วโลกนั้นมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 26%
.
<br><FONT color=#000033>ภาพแฟ้มเอเอฟพีเดือนธ.ค. 2557 เผยให้เห็นเครื่องบินโดยสารของสายการแอร์เอเชีย ที่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ จอดเรียงกันอยู่ในสนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ 2 (KLIA2). -- Agence France-Presse/Manan Vatsyayana.</font></b>
.
สายการบินต้นทุนต่ำ เช่น แอร์เอเชียของมาเลเซีย ไลอ้อนแอร์ของอินโดนีเซีย เจ็ทสตาร์ในสิงคโปร์ นกแอร์ของไทย เซบูแปซิฟิกของฟิลิปปินส์ และเวียดเจ็ทของเวียดนาม กำลังทำให้แกนหลักของอุตสาหกรรมของภูมิภาคอย่างสิงคโปร์แอร์ไลน์ เผชิญต่อความท้าทายที่หนักหน่วง

สายการบินจากตะวันออกกลาง เช่น กาตาร์แอร์เวย์ส เอทิฮัด และเอมิเรตส์ ต่างเข้าแย่งส่วนแบ่งในตลาดพรีเมียมเส้นทางบินระยะไกลจากคู่แข่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการให้บริการภายในเที่ยวบินที่ดีเยี่ยม และเครื่องบินรุ่นล่าสุด

ไทเลอร์ กล่าวว่า สายการบินดั้งเดิมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถใช้จุดแข็งของตัวเองในการแข่งขัน ด้วยการใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งของแบรนด์ และคุณภาพการบริการ พวกเขาควรตัดลดค่าใช้จ่าย และลงทุนในเครื่องบินที่ทันสมัยซึ่งใช้เชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
กำลังโหลดความคิดเห็น