xs
xsm
sm
md
lg

คนลุ่มน้ำโขงร้องศาลปค.ระงับกฟผ.ซื้อไฟฟ้าลาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 10.00 น.วานนี้ (15ต.ค.) ที่สำนักงานศาลปกครอง นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความผู้รับมอบอำนาจและตัวแทนชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยสั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องในคดีนี้ และเป็นคู่สัญญารับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ ประเทศลาว จำกัด ได้ระงับกระบวนการต่างๆ ตามโครงการสัญญาซื้อไฟฟ้าดังกล่าว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา เพื่อจะทำให้กระบวนการในการสร้างเขื่อนฯ ชะลอลง
โดยนางสาว ส.รัตนมณี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ศาลปกครองได้รับคำฟ้องของเครือข่ายชาวบ้านผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนดังกล่าวไว้พิจารณา เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. แต่เนื่องจากกระบวนการสร้างเขื่อน มีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว จนชาวบ้านกังวลว่า กระบวนการพิจารณาของศาลอาจจะไม่ทัน เพราะกว่าศาลจะตัดสินเขื่อนอาจสร้างเสร็จไปแล้วถึงร้อยละ 70 และตามแผนจะปิดกั้นแม่น้ำโขงในช่วงต้นปี 2558 อาจส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในลุ่มแม่น้ำโขง จึงจำเป็นที่จะต้องขอให้ศาลสั่งให้ กฟผ.ระงับการดำเนินการตามโครงการสัญญาซื้อไฟฟ้า รวมถึงการสายส่งไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี เข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากหลายขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดว่าจะต้องทำก่อนที่จะดำเนินโครงการ กฟผ. ยังไม่ทำ เช่น ตามระเบียบปฏิบัติ เรื่องการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลงที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องแจ้งต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กรณีจะก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อเขตแดน ประชาชน สิ่งแวดล้อมที่อยู่ปลายน้ำ จะต้องให้ประเทศสมาชิก ต้องร่วมกันพิจารณา แต่โครงการนี้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. และกฟผ. กลับยังไมได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว โดยไปลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเลย คณะกรรมการนโยบายพลังงาน และกฟผ. ยังไม่ได้ดำเนินการ อีกทั้งนับแต่ศาลรับฟ้องคดี จนปัจจุบัน กฟผ. ก็ยังไม่ได้ให้ข้อมูลที่จำเป็นกับชาวบ้านที่อาจได้รับผลกระทบอย่างเพียงพอ และขณะนี้ทั้งรัฐบาลเวียดนาม กัมพูชา ก็ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ขอให้พิจารณาชะลอโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ออกไปอีก 10 ปี เพื่อทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุม ชัดเจนก่อน เนื่องจากได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเฉพาะในฝั่งลาว ระยะทาง 10 กม. จากจุดก่อสร้างเขื่อน
"โครงนี้บริษัทที่สร้าง ธนาคารที่ปล่อยกู้ ผู้ซื้อไฟฟ้า ก็ล้วนแล้วแต่เป็นของไทย ชาวบ้านก็หวังว่า หากศาลมีคำสั่งให้กฟผ. ระงับการดำเนินการไว้ก่อน ก็จะทำให้บริษัทที่ก่อสร้าง และธนาคาร เกิดความไม่มั่นใจที่จะก่อสร้าง และปล่อยกู้ และที่สุดก็อาจจะทำให้ประเทศลาว ไม่ตัดสินใจสร้างเขื่อน เพราะก็ไม่มั่นใจจะมีผู้รับซื้อไฟฟ้า" นางสาว ส.รัตนมณี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น