xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดร.นพ สัตยาศัย “เวลานี้ประเทศไทยใช้ระบบสัมปทาน ซึ่งผมคิดว่าประชาชนได้ผลประโยชน์น้อยที่สุด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.นพ สัตยาศัย
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เพราะเห็นว่าประชาชนไม่เข้าใจว่าพลังงานคืออะไร มีการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ในฐานะที่ “ดร.นพ สัตยาศัย” เป็นประธานชมรม “วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมปฏิรูปประเทศไทย” (วศ.รปปท) ชมรมหนึ่งของนิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาจึงเสนอทางออกการปฏิรูปพลังงานแบบยั่งยืนโดยใช้พลังงานหมุนเวียน ปลูกป่าเพื่อให้ได้เนื้อไม้ ซึ่งสามารถใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิง เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน ลดการนำเข้าพลังงาน และเกิดความมั่นคงทางพลังงานของทุกชุมชน

และนี่คือหนทางแนวปฏิรูปที่เขาอยากบอกภาครัฐและประชาชน

คิดว่าอะไรคือปัญหาพลังงานที่สมควรแก้ไขที่สุดตอนนี้

ปัญหาคือ ประชาชนไม่เข้าใจว่าพลังงานคืออะไร และมีความจำเป็นอย่างไร คือผมพูดคร่าวๆ ว่าภาพรวมของประเทศ เราจำเป็นต้องใช้พลังงาน แต่ว่าเราใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เพราะทางฝ่ายผู้มีอำนาจยังเข้าใจว่าพลังงานเรามีน้อยมาก ไม่คุ้มค่าที่จะมาจัดสรร

ภาครัฐพร่ำบอกเราว่า 7-8 ปี น้ำมันหมด เราจะทำอย่างไร แต่ขณะที่เขาพร่ำ บอกว่าปิโตรเลียมของเราใกล้หมดแล้ว แต่เขาก็ไม่ทำอะไรเลย เพราะเวลานี้เราก็ซื้อน้ำมันอิมพอร์ตเข้ามาอยู่แล้ว เอามากลั่นแล้วขายบ้าง อิมพอร์ตบ้าง แต่สิ่งที่ภาคประชาชนอยากเห็น คือทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด คือถ้าจะขาย ก็ต้องขายให้ได้แพงที่สุด ถ้าจ้างเขาขุด ก็ต้องจ่ายค่าจ้างถูกที่สุด แต่เวลานี้ประเทศไทยใช้ระบบสัมปทาน ซึ่งผมคิดว่าประชาชนได้ผลประโยชน์น้อยที่สุด

นอกจากนั้นมันยังไม่โปร่งใส เพราะสัญญาเราก็ไม่เห็น การประมูลเป็นอย่างไร เราก็ไม่เคยรู้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการแก้ไขคือ ต้องการผลประโยชน์ที่มากที่สุด และโปร่งใสที่สุดให้แก่ประเทศชาติ เราไม่ได้มาบอกว่าประเทศไทยมีพลังงานมากหรือเปล่า แต่เราต้องการบอกว่า ถึงจะมีน้ำมันน้อยก็ต้องโปร่งใส และ ให้ได้เงินเข้าประเทศมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันใต้ดิน บนบก หรือในทะเล

คุณมองว่าอะไรคืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปพลังงานยังย่ำอยู่กับที่

ปัญหาคือ “พวกนายทุน” ซึ่งเขาก็จะทำแต่สิ่งที่ให้ประโยชน์สูงสุดกับตัวเขาเองใช่ไหม ตรงนี้เองที่ประชาชนจะเสียผลประโยชน์ หรือ ได้ผลประโยชน์น้อยที่สุด

ดังนั้นวิธีการที่เราเสนอคือ ขอให้เปลี่ยนแปลงจากระบบสัมปทานปิโตรเลียมมาเป็นระบบ “แบ่งปันผลผลิต” สาเหตุที่เสนออย่างนี้ เพราะระบบแบ่งปันผลผลิต จะช่วยให้การทำงานโปร่งใสขึ้น กล่าวคือ รัฐบาลจะต้องมีคนมอนิเตอร์ตลอดเวลาว่า น้ำมันขึ้นมาเท่าไร เรามีน้ำมันเท่าไหร่ แต่เวลานี้เราไม่รู้ว่าน้ำมันขึ้นมาเท่าไรและขายเท่าไร เราไม่รู้เลยว่าสัมปทานแล้ว เอกชนเอาไปขายเท่าไร เพราะว่าขายเท่าไรก็เป็นเงินเขา ไม่ใช่เงินของเราหรือเงินรัฐแล้ว เพราะรัฐได้เฉพาะค่าสัมปทาน ค่าภาคหลวง

แต่ถ้าเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต เอกชนจะเอาปิโตรเลียมไปขายตามอำเภอใจไม่ได้ เพราะเราเป็นเจ้าของน้ำมัน หรือเราอาจจะให้เขาขายนั่นแหละ แต่ กรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมยังเป็นของเรา แต่เวลานี้เรายกทุกอย่างให้ผู้รับสัมปทานหมด กลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ของนายทุน ในขณะที่ผู้จัดการของเรา ซึ่งคือข้าราชการ ก็ไม่มองเห็นผลประโยชน์ของพวกเรา มองแค่ว่าทำอย่างนั้นง่ายดี สัมปทานได้เงินมาง่ายๆ 3-4 หมื่นล้าน เขาก็ว่าเยอะแล้ว แต่ผมคิดว่ายังน้อยไป

ปัญหาทุกวันนี้คือ ประชาชนยังไม่รู้เลยมีน้ำมันเท่าไร และอะไรคือยุติธรรม เราก็ไม่รู้ เราไม่รู้ว่ามีปิโตรเลียมเท่าไร แต่เขาบังคับให้เราเชื่อว่าน้ำมันมีน้อย บอก ว่า ระบบสัมปทานดีที่สุด แต่เรื่องนี้คุณเอาอะไรมาพิสูจน์ คุณยังไม่ได้ลองอย่างอื่นเลย แล้วจะมาบอกปฏิรูปได้อย่างไร ปฏิรูปแปลว่าเปลี่ยน แต่ถ้าเรายังทำเหมือนเดิม แล้วมันจะเปลี่ยนตรงไหน

ผมมองว่าสิ่งที่เป็นปัญหาต่อการปฏิรูปพลังงานคือ “นายทุนสามานย์” ทั้งภาครัฐและเอกชน คือจริงๆ แล้วนายทุนก็ไม่ได้สามานย์หรอก เพราะเขาตั้งบริษัทมา ก็เพื่อทำกำไรสูงสุด ไม่ได้มาทำเพื่อเรา แต่ปัญหาคือภาครัฐที่จะเป็นผู้คุมเขา ก็ควรต้องเห็นประโยชน์ของประชาชนก่อน ไม่ใช่บอกว่าคุณเอาไปเลย คุณทำไปเลย ดังนั้นถ้าจะแก้ไข ก็ต้องแก้ตรงนี้ ไม่อย่างนั้นไม่มีทางปฏิรูปสำเร็จ

คุณดูสิว่าแม้กระทั่งสภาปฏิรูปที่เลือกมาจากภาคประชาชน แค่เห็นรายชื่อแล้ว ผมก็คิดว่าคงไม่มีการปฏิรูปได้หรอก เพราะว่ามันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะให้คนพวกนี้มาปฏิรูปตัวเอง ผมเห็นว่าต้องปลดพวกนี้ทิ้ง แล้วเอาประชาชนจริงๆ เข้าไปคุยกัน

แล้วข้อมูลบางอย่างที่ภาครัฐว่ามา ผมก็ไม่เห็นด้วย อย่าง “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” บอกว่าถ้าเก็บปิโตรเลียมไว้ โดยไม่ขุดขึ้นมา มูลค่าจะเหลือศูนย์ ซึ่งตรรกะนี้ตลกมาก เพราะที่ผ่านมาเราใช้น้ำมันราคานำเข้าอยู่แล้ว และมูลค่ามันจะลดลงได้อย่างไรใช่ไหมครับ เราอาจใช้วิธีเก็บน้ำมันของเราไว้ แล้วใช้ของคนอื่น ซึ่งอเมริกาเขาก็ใช้นโยบายแบบนี้คือ ขุดขึ้นมาใช้น้อยที่สุด และก็นำเข้ามา จนคนอื่นน้ำมันหมดแล้ว เขาถึงจะขุดน้ำมันขึ้นมาใช้

แล้ววิธีไหนน่าจะเป็นการปฏิรูปพลังงานที่ได้ผลที่สุด และทำให้ประชาชนเกิดผลประโยชน์สูงสุด

ผมเสนอว่าควรมีการสำรวจปิโตรเลียมก่อนเปิดประมูล เพื่อดูว่าเราเหลือปิโตรเลียมอยู่เท่าไร จะได้นำไปสู่การวางแผนที่มีประสิทธิภาพ เป็นข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อใช้เป็นแนวทางในการประมูล โดยเกิดการโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ต้องรอการรายงานจากผู้รับสัมปทานที่เป็นผู้แจ้งว่าประเทศไทยเหลือพลังงานเท่าไหร่ เพราะตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันนี้ หน่วยงานภาครัฐไม่เคยสำรวจข้อมูลปิโตรเลียมเองเลย มีแต่ผู้รับสัมปทานเป็นคนรายงานเท่านั้น คือ เราควรรู้ข้อมูลทุกอย่างก่อน หากเราไม่รู้ว่าน้ำมันมีเท่าไร แล้วเราจะเรียกร้องได้อย่างไรว่าจะได้ เท่าไร

แล้วพอเราสำรวจปิโตรเลียมเสร็จแล้ว ก็ต้องมีการวางแผนที่ดีด้วย เช่น วางแผนว่าจะขุดขึ้นมาใช้กี่เปอร์เซ็นต์ นำเข้ากี่เปอร์เซ็นต์ เก็บไว้เพื่ออนาคตกี่เปอร์เซ็นต์ หากเราสำรวจและพบว่าเหลือปิโตรเลียมน้อย เราก็เลือกระบบที่เหมาะกับเรา เช่น เปิดประมูล ใครที่ให้ผลประโยชน์กับรัฐมากที่สุด คนนั้นก็ได้ไป แต่ปัจจุบันไม่ได้ทำอย่างนั้น ปัจจุบันการสัมปทานเหมือนเป็นการประกวดนางงาม คือผมชอบคุณ หน้าตาดี ผมก็ให้คุณ ทำให้อาจมีการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้สัมปทาน ฉะนั้นผลประโยชน์ก็จะได้น้อย

ผมแนะนำว่า ถ้าเราสำรวจแล้วรู้ว่ามีปิโตรเลียมน้อย เวลามีประมูล คนก็อาจให้ราคาต่ำ แต่อย่างน้อยที่สุดเขาต้องให้รัฐบาล 50% ถ้าเขาให้ต่ำกว่า 50% เราก็ไม่ให้ขุดเจาะ แต่อาจเก็บปิโตรเลียมไว้เก็งกำไรก่อน รอจนกว่าราคาน้ำมันจะขึ้น เป็น 2 เท่า หรือราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มขึ้น เราก็สามารถเปิดประมูลใหม่ได้ เพราะพอน้ำมันมันแพงขึ้น คนก็อาจจะกลับมาประมูล และให้ผลประโยชน์เรา เกิน50% ดังนั้นผลประโยชน์จะตกอยู่ที่รัฐมากขึ้น

หรือหากหมดสัมปทานและเราสำรวจว่ามีน้ำมันแน่นอน เราก็อาจใช้วิธีจ้างผลิตก็ได้ เช่น ถ้ามีน้ำมัน 100 บาร์เรล เราก็จ้างผลิต 100 บาร์เรล ใครจะให้บาร์เรลละเท่าไรก็มาประมูลกัน แต่คุณมารับจ้างผลิตนะ วิธีเหมาะสำหรับเคสที่น้ำมันเหลือไม่มาก แต่ถ้าเราพบว่ามีน้ำมันเหลือเยอะ การใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตจะเหมาะสมและโปร่งใสกว่า

แล้วการปฏิรูปเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ราคาน้ำมันที่เป็นธรรม ควรจะเริ่มจากตรงไหน

เท่าที่ผมดูเรื่องราคาวันนี้ ความจริงน้ำมันก็ไม่ได้แพงมาก แต่ที่มันราคาแพง เป็นเพราะภาษีที่เราต้องจ่าย แต่ภาษีมันลดได้ ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต เพราะเราจะได้เงินเข้ารัฐเยอะ ดังนั้น เราก็ไม่ต้องการภาษีจากขายปลีกน้ำมันเยอะเท่าตอนนี้ ทำให้ราคาน้ำมันถูกลง

ผมมองว่า ปตท.ก็เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่ง เพราะว่าเขาไม่โปร่งใส แต่จริงๆแล้ว เรื่องนี้แก้ไขง่าย ถ้าผมเป็นรัฐบาล ผมจะเปลี่ยนบอร์ด แล้วเอาภาคประชาชนมานั่ง หรือเอาคนที่ผมไว้ใจว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนไปนั่ง ผมรับรองว่ามันเปลี่ยนได้

แล้วรัฐควรแต่งตั้งองค์กรใหม่ ที่รัฐถือหุ้น 100% เพื่อไปถือเป็นเจ้าของทรัพยากรแทนประชาชน และทำอย่างที่ผมบอก ผ่านองค์กรนี้ พูดง่ายๆ ให้เข้าใจว่าทำให้เหมือนบริษัทปิโตรนาสของมาเลเซีย

ปิโตรนาสของมาเลเซีย ดีตรงที่เขาถือกรรมสิทธิ์น้ำมันแทนประชาชน และ ค่อนข้างโปร่งใส โดยคนมีอำนาจคนเดียวคือ นายกรัฐมนตรี มันก็ดีอย่างหนึ่งว่าเขารวมอำนาจอยู่ แต่ว่าถูกตรวจสอบโดยประชาชน ซึ่งอันนี้สำคัญที่สุดว่าต้องตรวจสอบได้ ดังนั้น เราจำเป็นต้องทำให้เหมือนเขา แต่ทำให้มันโปร่งใสมากขึ้น นอกจากนั้นขุดน้ำมันมาได้เท่าไร ก็ต้องมารายงานประจำวันด้วยว่าวันนี้ขุดได้เท่านี้ๆ แต่ปัญหาของเราคือ เราไม่รู้เรื่องเลยใช่ไหมครับ กรมเชื้อเพลิงฯ ก็ไม่รู้

แล้วเรื่องไหนที่คุณคิดว่าสมควรทำอีก

เรื่อง “พลังงานหมุนเวียน” ผมต้องการให้ปลูกป่าไม้ให้ได้เนื้อไม้ เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง วิธีนี้จะดีต่อระบบนิเวศ เช่น เรื่องน้ำท่วมน้ำแล้งก็จะดีขึ้น อากาศบริสุทธิ์ก็ดีขึ้น ผมพยายามให้คนไทยปลูกป่า 80 ล้านไร่ขึ้นไป เพราะมันสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้จริงๆ ไม่ต้องห่วงว่าตัดไม้แล้วป่าไม้จะถูกทำลาย เพราะเราตัดไม้เฉพาะส่วนพุ่มข้างบน เพราะฉะนั้น ระบบรากเขาก็ยังยึดติดเอาไว้อยู่เหมือนเดิม และภายใน 1 ปี เขาจะแตกขึ้นมาใหม่ เรียกว่าปลูกครั้งเดียว แต่ตัดใช้ได้ถึง 25 ปี

ผมแนะนำให้ปลูกต้น “กระถินยักษ์” เพื่อเป็นพลังงานหมุนเวียน ต้นกระถินยักษ์ถือเป็นต้นไม้ในโครงการพระราชดำริ มีข้อดีว่าโตเร็วที่สุดในโลก ทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง ปลอดสารเคมี ใบและฝักสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้

แล้วการใช้ไม้จากต้นกระถินยักษ์เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงท้องถิ่น จะช่วยสร้างและกระจายโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กไปทั่วประเทศได้ด้วย เพราะปกติโรงงานไฟฟ้าชีวะมวล 1 โรงขนาด 1 เมกะวัตต์ จะต้องการพื้นที่ป่ากระถิน 2,000 ไร่ ซึ่งเท่ากับกิ่งไม้ 8,000 ตันต่อปี โดยเราอาจผลิตไฟฟ้า 40,000 โรง หรือ 40,000 เมกะวัตต์

ดังนั้นถ้าเราปลูกป่าประมาณ 80 ล้านไร่ เราก็จะมีพลังงานใช้พอเพียง อย่างโรงไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์สามารถจ่ายไฟฟ้าให้ครัวเรือนได้ประมาณ 1,000-2,000 ครัวเรือน ผมจึงอยากชวนให้ทุกคนมาปลูกต้นไม้ ซึ่งตอนนี้มีการทดลองแล้วที่วัดพระบาทน้ำพุ โดยที่วัดปลูกต้นกระถินยักษ์ 6 พันไร่ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตโรงไฟฟ้า

จุดเริ่มต้นโครงการนี้เกิดจากผมมีเพื่อนไปบวชที่วัดพระบาทน้ำพุ แล้วเพื่อนเอาเอกสารโครงการของผมไปนั่งอ่าน อ่านเสร็จแล้วก็ให้หลวงพ่อ (พระอุดมประชาทร) อ่าน แล้วเนื่องจากหลวงพ่อเป็นวิศวกร จบปริญญาโทจากออสเตรเลีย ท่านอ่านแล้วก็บอกว่าดี ผมบอกท่านว่าทำแล้วจะได้ประโยชน์สำหรับชุมชนรอบวัด ท่านก็บอกดี ๆทำๆ จากนั้นก็เรียกประชาชนมาประชาวิจารณ์ว่าเอาไหม เรามาช่วยลดโลกร้อน มาปลูกต้นไม้ ช่วยเพิ่มออกซิเจน ลดคาร์บอนไดออกไซด์ ประชาชนก็บอกว่าเอา แล้วเขาบอกว่ารายได้ดีกว่าที่เขาได้อยู่ทุกวันนี้ จากเดิมที่เขาได้ประมาณไร่ละ 2 พันบาทต่อไร่ต่อปี เดี๋ยวนี้ชาวบ้านได้แล้ว 6 พันบาทต่อไร่ต่อปี ซึ่งหลวงพ่อรับซื้อไม้หมด โดยที่ชาวบ้านไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องดูแลมาก น้ำไม่ต้องรด ปุ๋ยไม่ต้องไปใส่ ถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จมาก

นอกจากนั้น การปลูกต้นกระถินยักษ์ยังมีข้อดีว่าช่วยลดสัดส่วนคนยากจนภายใน 5 ปี หมายถึงว่าถ้าเราเร่งปลูกป่าไปเรื่อยๆ คนจนจะลดลง คนว่างงานจะน้อยลง เพราะจะมีคนมาดูแลกระถินยักษ์ มีคนไปทำไร่ทำสวนอยู่ในบริเวณนั้น เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง และลดการพึ่งพาพลังงานนำเข้า เช่น จากเดิมที่นำเข้าถ่านหินมาจากอินโดนีเซีย สมมุติว่าผมปลูกต้นกระถินยักษ์ที่เชียงราย ผมก็เผาถ่านส่งถ่านมาให้ใช้แทนพลังงานเช้อเพลิง โดยที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อถ่านหินนำเข้า วิธีนี้จะทำให้เกษตรกรมีงานและมีรายได้ที่มั่นคง สามารถมีรายได้ประมาณ 5,000 บาทต่อไร่ ถือเป็นการกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น โดยที่ไม่ถูกผูกขาดรายได้และการผลิตกับนายทุน

นอกจากนั้น ผมเห็นว่ารัฐสมควรมีการสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อตรวจวัด และประมวลปริมาณผลผลิตปัจจุบันแบบเรียลไทม์ แต่ว่าเราต้องมีอุปกรณ์และต้องประมวลผลด้วย สารสนเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะอย่างที่ผมบอกว่าทุกวันนี้ประชาชนจะไม่รู้เรามีน้ำมันเท่าไหร่

ช่วยให้ขยายความให้ฟังหน่อยว่าข้อดีการทำโรงไฟฟ้าชีวมวลมีอะไรบ้าง

โรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นพลังโรงไฟฟ้าจากพืช ขั้นตอนนี้คือการสร้างเชื้อเพลิงจากไม้ โดยที่ใบไม้เป็นเชื้อเพลิง การทำโรงไฟฟ้าชีวมวลสามารถเป็นนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง วิธีนี้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าแทนการนำเข้าถ่านหินหรือน้ำมัน หรือเชื้อเพลิงอื่นๆ จากต่างชาติ แล้วเกษตรกรยังสามารถปลูกพืชเศรษฐกิจ และพืชหมุนเวียนอื่นๆ แซมได้ เนื่องจากกระถินยักษ์ไม่ทำลายและเพิ่มปุ๋ยให้ดิน

เมื่อเกษตรกรเป็นผู้ผลิตโดยตรงแล้ว ครอบครัวของเกษตรกรก็จะอยู่กินดีอยู่ดี ในขณะเดียวกันเขาสามารถทำเศรษฐกิจพอเพียงไปในตัว หมายความว่าระหว่างที่ต้นไม้ปีหนึ่งตัดครั้งหนึ่ง ระหว่างรอต้นไม้ เขาก็สามารถปลูกพืชล้มลุกขายได้ และสามารถปลูกพืชหมุนเวียนไปได้ทั้งปี ทำให้มีรายได้เสริมมากขึ้น

แล้วโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นสเกลเล็ก และทำให้เกิดความมั่นคงภายในท้องถิ่น คือแทนที่เราจะมีโรงไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ อยู่ที่ระยอง แต่ส่งไปขายถึงเชียงใหม่ ซึ่งระหว่างขนส่งอาจจะเสียไฟฟ้า เสียความร้อนไปสัก 10-15% แต่ถ้าเราผลิตโรงไฟฟ้าขนาดเล็กประจำท้องถิ่น ไฟฟ้าก็ไม่ต้องเดินทางไกล ไม่สูญเสียพลังงาน และถูกจ่ายไปในชุมชนรอบๆ โรงไฟฟ้า ถ้าชุมชนไหนมีไฟฟ้าเหลือก็สามารถเอาไปขายชุมชนข้างๆ ได้ด้วย

ผมมองว่าความมั่นคงทางพลังงานเกิดจากโรงไฟฟ้าเล็ก สมมุติผมมีโรงไฟฟ้า 100 โรง หากโรงนี้ดับ ผมก็ส่งไฟฟ้าจากโรงอื่นไปช่วยได้ นี่คือความมั่นคงพลังงานของทุกชุมชน

อยากจะฝากบอกถึงรัฐหรือคนมีอำนาจในการที่จะช่วยปฏิรูปพลังงานให้ดีขึ้นไหม

ฝากบอกให้เขานึกถึงประชาชน สิ่งที่เราเสนอคือ เราต้องการการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ประชาชนจริงๆ อย่างน้อยที่สุดคือประโยชน์ของประชาชน ประโยชน์ของสิ่งแวดล้อม และประโยชน์ของผู้ลงทุน ซึ่งเราก็ทิ้งเขาไม่ได้เหมือนกัน กล่าวคือผู้ลงทุนอยู่ได้ ประชาชนอยู่ได้ และสิ่งแวดล้อมอยู่ได้ เพราะหากคุณไม่ดูแลสิ่งแวดล้อม เดี๋ยวก็จะพังไปหมดทั้งประเทศ

ประเด็นสำคัญคือผลประโยชน์ของสังคม ประชาชน และสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างต้องบาลานซ์กันหมด เราต้องการให้รัฐบาลคำนึงถึงในการตัดสินใจบนรากฐานอันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากครับ


ภาพโดย ปัญญพัฒน์ เข็มราช



กำลังโหลดความคิดเห็น