ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ตกตะลึงพรึงเพริดกันทั้งบ้านทั้งเมือง เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดกรุสมบัติของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วก็ได้พบความจริงที่ว่า วันนี้ทหารไม่ได้นับขวดแล้ว เพราะทั้งทหารและตำรวจเขานับแบงก์กันทั้งคู่
นาทีนี้ลืมคำพูดเก่าๆ ที่ว่าเป็นเมียทหารนับขวด เป็นเมียตำรวจนับแบงก์ ไปได้เลย
มาดูกันว่า บิ๊กสีเขียว สีกากี รวยอื้อซ่านั้น รวยกันระดับไหน แล้วอย่าลืมบันทึกไว้ สนช. ที่รวยสุดในชุดนี้ เป็นใครกัน?
เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2557 ป.ป.ช. เปิดเผยทรัพย์สินและหนี้สินของสนช. จำนวน 195 คน ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2557 พบว่า สนช.ที่มีทรัพย์สินอยู่ในระดับเกิน 1,000 ล้านบาท มีอยู่ 2 คน, ระดับเกิน 100 ล้านบาท จำนวน 51 คน ที่เหลือส่วนมากอยู่ในระดับ 10 ล้านบาท
สำหรับ สนช.ที่รวยที่สุดคือ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ อดีตประธานหอการค้าไทย และประธานกรรมการบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด มีทรัพย์สิน 5,225,733,163 บาท อันดับ 2 คือ นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ อดีต ส.ว. และเจ้าของธุรกิจโรงแรมในเครือปาร์คนายเลิศ 1,313,781,715 บาท และอันดับ 3 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร. 962,067,522 บาท
ส่วน สนช. ยากจนที่สุดคือ นายสมพร เทพสิทธา มีทรัพย์สินเป็นเงินฝากในบัญชีธนาคารรายการเดียว แค่ 160,735 บาท
สำหรับบิ๊กทหารระดับผบ.เหล่าทัพ ที่รวยอู้ฟู่ มีทรัพย์สินหลายสิบล้านถึงร้อยล้าน เช่น พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. 34,159,030 บาท, พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผบ.ทอ. 31,375,701 บาท, พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผบ.ทหารสูงสุด 48,886,238 บาท, พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกลาโหม108,633,943 บาท
ส่วนบิ๊กตำรวจ ต้องนี่เลย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. 355,857,726 บาท
ขณะที่นายทหาร 5 เสือ ทบ. ก็สะสมความมั่งคั่งเอาไว้ไม่เบา เช่น “บิ๊กติ๊ก” พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีทรัพย์สิน 79,821,468 บาท พล.อ.ธีระชัย นาควานิช ผู้ช่วย ผบ.ทบ. 70,232,161 บาท, พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสธ.ทบ. 60,182,285 บาท, พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาค 1 มีทรัพย์สิน 99,864,992 บาท, พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีต รรท.ผบ.ตร. 469,417,130 บาท, พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. 147,294,651 บาท
แม้แต่อดีตบิ๊กสีเขียวก็กระเป๋าตุงมีเงินหลักร้อยล้าน เช่น พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ อดีต ผบ.ทร. มีทรัพย์สิน 801,788,369 บาท, พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเรืองรมย์ อดีต ผบ.ทร. มีทรัพย์สิน 185,355,186 บาท, พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ อดีต ผบ.ทอ. มีทรัพย์สิน 263,487,636 บาท
นอกจากนี้ ในกลุ่ม 28 สนช.ที่ไปยื่นเรื่องร้องศาลปกครอง ไม่ให้ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน สนช. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กระทรวงกลาโหม ต่างก็ร่ำรวยถ้วนหน้า
เช่น “บิ๊กกี่” พล.อ.นพดล อินทปัญญา 21,313,634 บาท, พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย 388,207,253 บาท, พล.อ.จิรพงศ์ วรรณรัตน์ 207, 551,976 บาท, นพ.ธำรง ทัศนาญชลี 84,125,882 บาท, พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา 63,679,323 บาท, พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ 26,573,780 บาท, พล.อ.โสภณ ศีลพิพัฒน์ 32,308,150 บาท, พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ 41,907,918 บาท, พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ 55,798,389 บาท
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ 136,563,177 บาท, พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ 161,882,999 บาท, พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และคู่สมรส 26,813,982 บาท, พล.อ.ยุวกนัฏ สุริยกุล ณ อยุธยา ตท.12 เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 340,479,260 บาท, นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒน-บริหารศาสตร์ (นิด้า) 94,982,259 บาท
สนช.สายข้าราชการและนักวิชาการก็ไม่เบา เช่น นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ ครม. 196,428,815 บาท, พล.ต.อ.ชัชวาล สุขสมจิตร์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม 27,058,457 บาท, นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 159,778,744 บาท, นายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 108,651,925 บาท, นายวุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 237,058,513 บาท
ส่วนสนช.รายอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการ ป.ป.ช. 18,727,155 บาท นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา 315,438,447 บาท นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. 48,536,225 บาท นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่หนึ่ง 177,134,015 บาท นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่สอง 36,773,372 บาท นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน 276,938,687 บาท
นอกจากจะดูความร่ำรวยของสนช.แล้ว มาดูกันว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งกันไปหมาดๆ ใครมาจากสายไหน มีคอนเนกชั่นกับใคร ซึ่งสำนักข่าวอิศรา สรุปให้เห็นภาพรวมว่า สปช.ส่วนใหญ่มาจากคนที่คสช.ไว้วางใจเกือบทั้งหมด ที่สำคัญๆ มีดังนี้
เริ่มต้นจาก นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ศิษย์ก้นกุฏิของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. นายบวรศักดิ์ อยู่ในคณะทำงานคสช. ด้านกฎหมาย มีส่วนสำคัญในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557
นายชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภา ที่มาด้วยสายใยของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กระทรวงกลาโหม ที่ยังโยงไปถึงพรรคภูมิใจไทยของนายเนวิน ชิดชอบ ชื่อของนายชัย จึงถูกชงเข้ามาเป็นสปช. และด้วยความเก๋าเกมจึงมีชื่อเป็นแคนดิเดทประธานสปช.ด้วย
พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ และนายทหารคนสนิทของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เคยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามเพื่อขจัดระบอบทักษิณ และยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น 12 รุ่นเดียวกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.
นายสมชัย ฤชุพันธุ์ น้องชายของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. สายตรง
นายดุสิต เครืองาม อดีตอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น้องชายนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นวิศวกรเชี่ยวชาญเรื่องโซลาเซลล์ จึงถูกจับตามองว่าได้ได้ดีเพราะ “พี่” อย่างแน่นอน นายดุสิต ยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทไทยโซลาฟิวเจอร์ จำกัด ที่ทำธุรกิจให้บริการออกแบบและติดตั้งระบบไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ โซลาเซลล์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟ อีกด้วย
ส่วนสาย กปปส. เช่น นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในฐานะกุนซือข้างกายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส.
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ชื่อดัง ซึ่งขึ้นเวทีกลุ่มกปปส. ขับไล่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี รองประธานกรรมการ บริษัท บุญรอด บิวเวอร์รี่ บิดาของ “น้องตั๊น” นางสาวจิตร์ภัสท์ กฤษดากร อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แนวร่วมกปปส.
นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่เคยขึ้นปราศรัยบนเวทีกปปส.ด้วย และมีกระแสข่าวว่าได้ชักชวน นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พูดคุยกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. ในช่วงการชุมนุมด้วย
ส่วนที่มาจากอดีตกลุ่ม 40 ส.ว. เช่น นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. และนายคำนูณ สิทธิสมาน อดีต ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. เช่นกัน
ขณะที่ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 นี่ก็คนของกองทัพบก
ส่วนคนที่เคยอยู่ขั้วตรงข้ามที่เข้าไปเป็น สปช.ไม้ประดับก็มีอยู่บ้างประปราย เช่น พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งเคยถูกเชื่อมโยงว่าจะช่วยให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับประเทศไทยหลายครั้งและยิ่งชัดเจนเมื่อปรากฏคลิปถั่งเช่า
พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นหลานของนายขวัญแก้ว วัชโรทัย เลขาธิการสำนักพระราชวัง มีความสนิทสนมกับพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ อดีตทีมทนายความคดีโครงการรับจำนำข้าวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ก็เคยเป็นทนายความให้กับพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ สนช.ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วยเช่นกัน
นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งระยะหลังเข้าร่วมกิจกรรมกับ “คนเสื้อแดง” หลายครั้ง และนายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตส.ว.นนทบุรี แกนนำส.ว.สายเลือกตั้ง ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์
ส่วนสปช.ในด้านพลังงานนั้น มีตัวแทนกลุ่มทุนพลังงานเกือบทั้งหมด เป็นกลุ่มทุนที่มีหัวเรือใหญ่อย่างนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ที่กลุ่มกปปส.ภูมิใจเสนอ และคสช.เป็นผู้แต่งตั้งให้เป็นประธานบอร์ด บมจ.ปตท. ยกเว้นนายอลงกรณ์ พลบุตร และนางสาวรสนา โตสิตระกูล ที่เข้าไปเป็นไม้ประดับหรือไม้เบื่อไม้เมาก็อาจเป็นได้
ไม่ว่าสรรพสำเนียงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ สนช. และ สปช. จากสังคมจะเป็นเช่นใด เพื่อพวกพ้องน้องพี่ หรือเพื่อประเทศชาติ ประชาชน ไม่สำคัญเท่ากับการกระทำและผลลัพธ์ที่ปรากฏต่อสาธารณชนในท้ายที่สุด ซึ่งนั่นจะพิสูจน์เนื้อแท้ คสช. สนช. และ สปช. ได้เป็นอย่างดีว่า ยึดอำนาจครั้งนี้สุดท้ายแล้วเพื่ออะไร? และเพื่อใคร?