xs
xsm
sm
md
lg

โปรดเกล้าฯคนดังนั่งสปช.“ปู่ชัย-อ๊อด ถั่งเช่า”มาด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประกาศโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง 250 สปช. ชื่อตามโผรั่วเกือบเป๊ะ อกหักหลุดไป 4 ราย คนเด่นคนดังอื้อ “อ๊อด ถั่วเช่า” ควง 31 บิ๊กท็อปบูตเข้าวิน “พะจุณณ์” นายทหารคนสนิท “ป๋าเปรม” ติดอดีต ส.ว. “คำนูณ-ไพบูลย์-ประสาร-วันชัย-รสนา” ไม่พลาด “ปู่ชัย-บิ๊กเยิ้ม-เสี่ยจ้อน” นำทัพนักการเมือง เปิดรายงานตัว 8-16 ต.ค.นี้ ด้านตัวประธานมีชื่อ “เทียนฉาย-ชัยอนันต์” เบียดกันนั่งบัลลังค์ ส่วน “บวรศักดิ์” เต็งจ๋า ปธ.ยกร่าง รธน. ขณะที่ “อุเทน” ชวนทุกภาคส่วนตั้ง สปช.เงา เกาะติดงานปฏิรูป

วานนี้ (6 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ แต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 250 ราย โดยประกาศไว้ใน เล่มที่ 131 ตอนพิเศษ 199 ง วันที่ 6 ต.ค.57 ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตามมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกาศ ณ วันที่ 2 ต.ค.57 มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากการตรวจสอบรายชื่อ สปช.ทั้ง 250 คนพบว่ามี 4 รายที่หลุดออกไปจากโผที่มีการเผยแพร่มาก่อนหน้านี้ ได้แก่ พล.อ.จิตตสักก์ เจริญสมบัติ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่มีชื่อในด้านสื่อสารมวลชน พล.ต.อดุลยศักดิ์ บุญวัฒนะกุล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองบัญชาการทหารสูงสุด ที่มีชื่อในด้านปกครองส่วนท้องถิ่น พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ที่มีชื่อในด้านการบริหารราชการแผ่นดิน และนายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ที่มีชื่อในด้านอื่นๆ

31 อดีตบิ๊กทหารร่วมวงปฏิรูป

สำหรับรายชื่อ สปช.จำนวน 250 คนสามารถแยกได้เป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มอดีตนายทหารเกษียณอายุราชการ จำนวน 31 คน จากที่เข้ารับการสรรหาจำนวน 221 คน อาทิ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา หรือบิ๊กอ๊อด อดีตรองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมีข่าวเรื่องคลิปถั่งเช่าอันโด่งดัง พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร หรือบิ๊กเยิ้ม อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 เพื่อนร่วมเตรียมทหารรุ่นที่ 12 (ตท.12) ของพล.อ. ประยุทธ์ โดย พล.อ.ธวัชชัย เคยได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น สนช. แค่ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ อดีตประธาน ตท.10 รุ่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ ซึ่งเป็นนายทหารคนสนิทพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ อดีตรอง ผบ.ทบ.และเป็นนายทหารคนสนิทของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และ พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และเป็นหลานของนายแก้วขวัญ-นายขวัญแก้ว วัชโรทัย

อดีต ส.ว.-สนช.-ส.ส.ร.มากันเพียบ

กลุ่มอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตั้งแต่ปี 2543-2557 จำนวน 22 คน โดยเฉพาะอดีตกลุ่ม 40 ส.ว.หลายคน อาทิ นางตรึงใจ บูรณสมภพ นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายคำนูณ สิทธิสมาน นายไพบูลย์ นิติตะวัน น.ส.รสนา โตสิตระกูล นายวันชัย สอนศิริ นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ นางทัศนา บุญทอง นอกจากนี้มีอดีต ส.ว.เลือกตั้งและสรรหาปี 2543-2551 อาทิ พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ อดีต ส.ว.มุกดาหาร นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี นายประเสริฐ ชิตพงศ์ อดีต ส.ว.สงขลา นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ว.ตรัง พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีต ส.ว.สรรหา นายมีชัย วีระไวทยะ อดีต ส.ว.กทม. และนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีต ส.ว.กทม. เป็นต้น
กลุ่มอดีต สนช. อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี2550 (กมธ.ยกร่างฯ) อาทิ น.ส.พจนีย์ ธนวรานิช อดีตรองประธาน สนช.ปี 2549 นายกงกฤช หิรัญกิจ อดีต สนช. นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อดีต สนช. นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต กมธ.ยกร่างฯ นายวุฒิสาร ตันไชย อดีต กมธ.ยกร่างฯ นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธาน ส.ส.ร. นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี อดีต ส.ส.ร. นางจุรี วิจิตวาทการ อดีต ส.ส.ร. นายสมชัย ฤชุพันธุ์ อดีต ส.ส.ร. และเป็นน้องชายนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช.

“ปู่ชัย-เสี่ยจ้อน” นำทัพนักการเมือง

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ โดยเคลื่อนไหวร่วมกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) หลายราย อาทิ นายจรัส สุวรรณมาลา นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นายชัยอนันต์ สมุทวณิช นายชูชัย ศุภวงศ์ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายพลเดช ปิ่นประทีป นายพงศ์โพยม วาศภูติ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ รวมไปถึง นายอุดม เฟื่องฟุ้ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งมีบทบาทตรวจสอบ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อปี 2549 ในคดีที่ดินรัชดา

สำหรับกลุ่มนักการเมืองที่ได้รับแต่งตั้งเป็น สปช. อาทิ นายชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นางพรรณี จารุสมบัติ น้องสาวของนายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย นายพรชัย มุ่งเจริญพร นักการเมืองพรรคภูมิใจไทย จ.สุรินทร์ และนายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ อดีตทีมทนายความคดีรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอดีตข้าราชการ อาทิ นางผานิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายไพโรจน์ พรหมสาส์น อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายวัลลภ พริ้งพงษ์ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น นายดำรง พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานสัตว์และพันธุ์พืช และนายมนู เลียวไพโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น

“บวรศักดิ์” เต็งจ๋า ปธ.ยกร่าง รธน.

ขณะที่กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มภาคเอกชน และกลุ่มเอ็นจีโอ อาทิ นายเทียนฉาย กีระนันท์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีชื่อเป็นตัวเต็งประธาน สปช. นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ทีมงานด้านเศรษฐกิจกลุ่มนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมาชิก คสช. นายดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย และน้องชายนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น(ประเทศไทย) นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ รวมทั้งนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่คาดว่าจะได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สปช. ได้เปิดให้สมาชิก สปช.เข้ารายงานตัว ที่ห้องโถง อาคารรัฐสภา 1 ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. ตั้งแต่วันที่ 8 - 15 ต.ค. เป็นเวลา 8 วัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ

แนะ สปช.เรียกถกนัดแรกให้เร็วที่สุด

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปต้องมีการเรียกผู้ได้รับการทูลเกล้าฯเข้ารายงานตัว จากนั้นสิ่งสำคัญ คือ การเรียกประชุมนัดแรกเพราะจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันหลังการประชุมนัดแรก ซึ่งการประชุมคงต้องใช้ข้อบังคับอื่นที่มีอยู่ อาจจะใช้ข้อบังคับของ สนช.โดยอนุโลมก็ได้ เนื่องจากการกำหนดข้อบังคับของ สปช. อาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน นอกจากนี้ ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นประธานเปิดการประชุมในนัดแรกนั้นต้องเป็นผู้ที่มีความอาวุโสสูงสุด คือ นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา หลังจากนั้นจะมีการเลือกประธานและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ส่วนเรื่องที่ สปช.ต้องเร่งทำเห็นว่าต้องเร่งกระบวนการปฏิรูปให้เร็วที่สุดและต้องลงมือปฏิรูปตั้งแต่วันแรก

ด้าน นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากนี้ สปช.ต้องเข้ามาทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศ เป้าหมายลดทุจริต ปฏิรูปการศึกษา สร้างความยุติธรรม เร่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้เห็นผลเป็นรูปธรรมใน 6 เดือน เพื่อนำประเทศเข้าสู่สภาวะปกติ

“เทียนฉาย-ชัยอนันต์” เบียดประธาน สปช.

ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปช.กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า สปช.เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือการวางกรอบการทำงาน โดยควรที่จะเปิดให้มีการอภิปรายในภาพรวมทั้งหมดก่อน เพราะภารกิจเร่งด่วนของ สปช.คือการให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สำหรับกระแสข่าวว่า นายเทียนฉาย กีระนันท์ หรือนายชัยอนันต์ สมุทรวณิช จะได้เป็นประธาน สปช.นั้นเห็นว่าบุคคลทั้งสองมีความเหมาะสม เพราะมีความรู้ความสามารถ

ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิก สปช.กล่าวว่า คุณสมบัติภาพรวมที่ประธานและรองประธานควรจะมี อันดับแรกคือมีความใจกว้างและมีวิสัยทัศน์ต่อกระบวนการปฏิรูปรวมถึงการบริหารความขัดแย้งและแตกต่างของ สปช. ทั้ง 250 คน ต้องเป็นผู้นำทิศทางปฏิรูป ต้องเข้าใจภาพรวมการปฏิรูป และต้องควบคุมความหลากหลายให้ได้ รวมถึงการรับฟังเสียงของประชาชนภายนอกที่จะเข้ามาสู่สภาปฏิรูป เพราะตนมองว่าระบวนการที่จะเกิด สปช. เป็นแค่ตัวแทนที่จะมาทำหน้าที่และจะมีการรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย

ส่วน นายวุฒิสาร ตันไชย สมาชิก สปช. กล่าวว่า สำหรับแนวทางการทำงานตนจะนำผลการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้ามานำเสนอให้สมาชิกไปพิจารณาเชื่อว่าทุกคนมีแนวทางในใจ ดังนั้นเมื่อนำเสนอผลการทำงานไปก็ต้องรับฟังจากคนอื่นด้วยเพื่อให้เกิดการผสมผสานและให้เกิดเป็นทิศทางการปฏิรูปที่เหมาะสม ทำให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพและยอมรับของสังคม

“อุเทน” ชวนทุกภาคส่วนร่วม สปช.เงา

ด้าน นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย และผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น สปช.ด้านสังคม กล่าวว่า ส่วนตัวไม่มีปัญหาที่ไม่ได้รับเลือกจาก คสช.ให้ทำหน้าที่ สปช. อย่างไรก็ตามมองว่า คสช.ยังยึดติดกับการใช้ข้าราชการ หรือนักวิชาการหน้าเก่าๆ หน้าเดิมๆ ปัญหาที่หมักหมมมานานก็ยากที่จะได้รับการแก้ไข จะเห็นได้จาก 4 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงดีขึ้น ตามที่ คสช.ประกาศไว้เลย ทั้งนี้หลังจากที่มี สปช.แล้ว ตนจะชักชวนกลุ่มนักวิชาการ นักกฎหมาย หรือนักธุรกิจ รวมตัวกันเป็นคณะทำงานเพื่อติดตามการทำหน้าที่ของ สปช. โดยจะมีการนำเสนอข้อมูลและแนวทางต่างๆเกี่ยวกับการปฏิรูปไปยัง สปช.ด้วย

“คณะทำงานที่จะตั้งขึ้น จะเปิดกว้างบุคคลจากทุกภาคส่วนที่มีความตั้งใจและอยากเห็นการปฏิรูปประเทศเกิดขึ้นอย่างแท้จริง เข้ามาร่วมทำหน้าที่ สปช.เงา ทั้งในแง่การตรวจสอบ นำเสนอข้อมูลต่างๆ และติติงการทำหน้าที่ของ สปช. โดยยืนยันว่า จะเป็นการติเพื่อก่อ ติเพื่อให้การปฏิรูปสัมฤทธิผล ประชาชนอยู่ได้ และประเทศชาติอยู่รอด” นายอุเทน ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น