ชีวิตอันประเสริฐ หรือดีเลิศวิเศษนั้น ใครๆ ก็ปรารถนา แต่อะไรเล่าทำให้ชีวิตประเสริฐ?
พระพุทธเจ้าตรัสว่า... “ปุญญาชีวิ ชีวิตมาหุ เสฏฺฐํ” แปลว่า ชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญา ประเสริฐสุด
เนื่องเพราะปัญญาเป็นดวงชวาลาในโลก แสงสว่างเสมอด้วยปัญญา, ไม่มี, ปัญญาเป็นดวงแก้วของคน, ปัญญาเป็นเครื่องปกครองตัว. ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่พินิจ, คนย่อมบริสุทธิ์ด้วยปัญญา ฯลฯ
ปัญญา คือความรอบรู้ รู้ทั่ว, เข้าใจ, รู้ซึ้ง แบ่งออกเป็น 3 อย่างได้แก่...
จินตามยปัญญา คือปัญญาเกิดจากการคิดพิจารณา หรือปัญญาสืบแต่งโยนิโสมนสิการ (การพิจารณาโดยแยบคาย) ที่ตั้งขึ้นในตนเอง
สุตมยปัญญา คือปัญญาเกิดจากการสดับเล่าเรียน หรือปัญญาสืบแต่ปรโตโฆสะ (เสียงจากผู้อื่น)
ภาวนามยปัญญา คือปัญญาเกิดจากการปฏิบัติบำเพ็ญ หรือปัญญาสืบแต่ปัญญาสองอย่างแรกนั้นแล้วหมั่นมนสิการ (การกำหนดไว้ในใจ) ในประดาสภาวธรรม
“ปุญญา ว ธเนน เสยฺโย ปัญญา ประเสริฐกว่าทรัพย์” ที่ประเสริฐกว่าเพราะผู้มีปัญญาหาทรัพย์ได้เสมอ ทั้งโลกิยทรัพย์ และอริยทรัพย์ หากขาดไร้ซึ่งปัญญาแล้ว แม้จะเกิดบนกองเงินกองทอง ในที่สุดกองทรัพย์นั้นก็จะมลายหายไป ปานสามล้อถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง นั่นแล
● สุญญะว่างวาง...
สุญญาหรือสุญญาตา หรือความว่าง ว่างจากตัวตน ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ว่างจากสังขาร (การปรุงแต่งของสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล)
ไวพจน์ (คำที่ใช้เรียกแทนกันได้) ของสุญญตา คืออนันนตา (ไม่ใช่ตน)
กฎเกณฑ์ของสุญญาตา ได้แก่...
สุญญตาเป็นสิ่งที่ปรากฏเฉพาะแก่จิตที่ไม่มีอุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น)
สุญญตาเป็นสิ่งที่ปรากฏเฉพาะแก่จิต เมื่อเห็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ถึงที่สุด
สุญญตาเป็นธรรมชาติที่เป็นอสังขตะ
เราคนไทยพูดภาษาไทย ในภาษาไทยหรือภาษาอื่นๆ ทั่วโลก ใช่ว่าจะเป็นภาษาเดียว แต่เป็นสองภาษาในภาษาเดียว นั่นคือ ภาษาคน และภาษาธรรม
สุญญตาโดยภาษาคน หมายความว่า ความสูญเปล่า หรือไม่มีอะไรเลย, สิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว
สุญญตาโดยภาษาธรรม หมายความว่า ความไม่มีสิ่งหรือความหมาย ที่ควรยึดถือว่า ตัวตน, สิ่งที่เป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง
รู้นิยามของสุญญตาบ้างแล้ว ทีนี้ปฏิบัติกันบ้าง การปฏิบัติสุญญตาแบบง่ายๆ คือ...การมองเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง
คนส่วนมากเห็นความว่างเปล่าไม่มีประโยชน์ เห็นประโยชน์แต่ความมีเท่านั้น ความจริงแท้มันก็มีประโยชน์ทั้งสองอย่าง (มี-ว่าง) นั่นแหละ
ดั่งบทกวี “ความว่างเปล่า” ในหนังสือ “วิถีแห่งเต๋า” แปลโดย “พจนา จันทรสันติ” ดังนี้...
ล้อรถนั้น ประกอบด้วยไม้สามสิบซี่
รวมกันอยู่ที่แกน
วงรอบนอกของล้อและไม้ทั้งสามสิบซี่นั้น
คือความ “มี”
ดุมล้อนั้นกลับกลวง
คือความ “ว่าง”
จากความว่างนี้เอง
คุณประโยชน์ของล้อก็เกิดขึ้น
ปั้นดินเหนียวขึ้นเป็นภาชนะ
จากความว่างเปล่าของภาชนะนี้เอง
คุณประโยชน์ของภาชนะก็เกิดขึ้น
เราได้ใช้ประโยชน์จากความมี
และได้รับคุณประโยชน์จากความว่าง
พูดถึงสุญญตาหรือความว่าง จะละเลยหนังสือสองเล่มก็กระไรอยู่คือ “สูตรเว่ยหล่าง” และ “คำสอนฮวงโป” แปลโดย “ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ”
“กายของเราคือต้นโพธิ์
ใจของเราคือกระจกเงาอันใส
เราเช็ดมันโดยระมัดระวังทุกๆ ชั่วโมง
และไม่ยอมให้ฝุ่นละอองจับ”
นี่คือโศลกธรรมของ “ชินเชา” ลองดูโศลกธรรมของ “เว่ยหล่าง” ที่วานให้เด็กวัดเขียนให้ที่กำแพงบ้าง
“ไม่มีต้นโพธิ์
ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด
เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว
ฝุ่นจะลงจับอะไร”
จะเห็นความแตกต่างของโศลกทั้งสองท่าน ท่านชินเชา ยังเป็นสังขาร หรือสังขตธรรม ส่วนของท่านเว่ยหล่าง เป็นวิสังขาร หรืออสังขตธรรม
ดูอีกเล่ม คำสอนของฮวงโป
“พระพุทธเจ้าทั้งปวง และสัตว์โลกทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเป็นเพียงจิตหนึ่ง (One Mind) นอกจากจิตหนึ่งนี้แล้ว มิได้มีอะไรตั้งอยู่เลย”
พิจารณาดูทั้งสองข้อความในหนังสือสองเล่ม เห็นชัดแจ้งสุดๆ นั่นคือ... “สรรพสิ่งทั้งมวลล้วนว่างเปล่า และที่สุดของจิตคือความว่าง
ลองดูพุทธพจน์อีก 3 คาถา...
นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี
นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
นิพฺพานํ ปรมํ สุญญํ นิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง
จะเห็นว่า นิพพาน (ดับไม่เหลือแห่งความร้อน เป็นความเย็นสนิท เพราะไม่มีไฟแห่งกิเลส) ความสงบ ความสุข ความว่าง เป็นหลายสิ่งที่เป็นสิ่งเดียวกัน หลายคือหนึ่ง หรือหนึ่งคือหลาย รูปคือว่าง หรือว่างคือรูป นั่นแล
หากรู้ซึ้งถึงใจ (ว่าง) เช่นนี้ ก็วางรูปได้ไม่ยากเลย หรืออาจวางได้โดยอัตโนมัติก็ได้
● ต้นทางตื่นรู้...
ต้นทางคือต้นเหตุ ตื่นรู้คือผล เมื่อจิตว่าง การหลับใหลหรือหลับยืนย่อมหายไป การตื่นรู้ หรือการรู้แจ้งแทงตลอดก็มาแทนที่ เหมือนแสงสว่างเกิดขึ้น ณ ที่ใด ความมืดย่อมหายไป ณ ที่นั้น
ผู้ตื่นรู้ เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่ง ไม่เกี่ยวข้องกับพระเจ้า หรือภาวะเหนือธรรมชาติอื่นใด แต่เป็นมนุษย์ที่มหัศจรรย์ที่อยู่เหนือภาวะมนุษย์ธรรมดาภายใน แม้จะอยู่อย่างมนุษย์สามัญในภายนอก
ดอกบัวเกิดในน้ำ อยู่ในน้ำ แต่ไม่ติดน้ำ ฉันใด ผู้ตื่นรู้ เกิดในโลก อยู่ในโลก แต่ไม่ติดโลกเหมือนบัวไม่ติดน้ำ ฉันนั้น
● จิตตะพิศดู...
จิตคือผู้นึกคิด การจะดูจะคิดจะทำอะไร ย่อมขึ้นอยู่กับประเภทของจิต เช่น...
โลกิยจิต เป็นจิตที่อยู่ใต้อำนาจของอารมณ์ ถูกปรุงแต่งในลักษณะต่างๆ เกิดกิเลสได้
โลกุตรจิต จิตที่อยู่เหนืออำนาจของอารมณ์ ถูกปรุงแต่งไม่ได้ เกิดกิเลสไม่ได้
กุศลจิต ดู-คิด-ทำ อะไร ย่อมเป็นกุศล
อกุศลจิต ดู-คิด-ทำ อะไร ย่อมเป็นอกุศล
อพยากตจิต ดู-คิด-ทำ อะไร ยังฟันธงไม่ได้ว่า จะเป็นกุศล หรืออกุศล
ธรรมชาติเดิมแท้ของจิตนั้นประภัสสร เพิ่งเศร้าหมองเมื่อกิเลสเกิดขึ้นครอบงำ จิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ เมื่อพัฒนาถึงที่สุดแล้ว จะอยู่เหนือการปรุงแต่งของสิ่งทั้งปวง
ในภาษาคน จิตเป็นอัตตา ในภาษาธรรม จิตเป็นอนัตตา หรือสุญญตา
● ย่อมรู้ทุกสิ่ง...
คำว่า “รู้ทุกสิ่ง” หมายถึงรู้เห็นสรรพสิ่งตามที่เป็นจริง เช่น...
ธรรมนิยาม 3 คือกำหนดแห่งธรรมดา หรือความเป็นไปอันแน่นอนโดยธรรมดา หรือกฎธรรมชาติ
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารคือสังขตธรรมทั้งปวง ไม่เที่ยง
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารคือสังขตธรรมทั้งปวง เป็นทุกข์
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมคือสังขตธรรมและอสังขตธรรม หรือสังขารและวิสังขารทั้งปวง ไม่ใช่ตน
หลักความจริงนี้ แสดงให้เห็นลักษณะ 3 อย่างที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ของสภาวธรรมทั้งหลาย พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม หลักทั้ง 3 นี้ ก็คงมีอยู่เป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าเป็นแต่เพียงค้นพบ และนำมาเปิดเผยแสดงแก่เวไนยสัตว์ (ผู้ที่พอแนะนำให้เห็นธรรมได้)
“สุญญตาว่างวาง
ต้นทางตื่นรู้
จิตตะพิศดู
ย่อมรู้ทุกสิ่ง”
ตราบใดที่จิตเป็นอัตตา ไม่สามารถจะรู้ทุกสิ่งได้ เพราะความรู้มีมากมายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่รู้กี่ชาติกี่ภพ ก็ไม่รู้จบ นอกจากจิตพัฒนาขึ้นเป็น จิตอนัตตา จึงจะสามารถรู้ได้ทุกสิ่งตามที่เป็นจริง จบในชาตินี้ ภพนี้ ที่นี่ และเดี๋ยวนี้
สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตน (อัตตา) เพราะ... สิ่งทั้งมวลล้วนว่างเปล่า (อนัตตา)
“ว่างคือรูป รูปคือว่าง” สองด้านของเหรียญอันเดียวกัน ตถตา เช่นนั้นเอง