อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีเหตุให้ต้องไปเปิดบัญชีออมทรัพย์กับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่สองแห่ง บัญชีละ 1000 บาทเท่านั้น แล้วทางเจ้าหน้าที่ธนาคารก็มาให้ผมกรอกแบบฟอร์มที่มีคำถามยาวเหยียด สองถึงสามหน้ากระดาษแล้วให้ลงนามว่าเป็นความจริง คำถามเหล่านั้นได้แก่ มีสัญชาติอเมริกันหรือไม่ หรือมีสองสัญชาติ เคยเดินทางไปอเมริกาหรือไม่ ไปมาล่าสุดเมื่อไหร่ มีรายได้อะไรจากอเมริกาหรือไม่ มีทรัพย์สินอะไรที่อเมริกาบ้างหรือเปล่า ผมเลยสอบถามไปกับพนักงานธนาคารว่าทำไมต้องกรอก บอกเป็นกฎใหม่ที่ทุกธนาคารต้องทำตาม ผมสอบถามไปยังเพื่อนๆ ที่เปิดพอร์ตลงทุนใหม่กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่างๆ ก็ต้องกรอกฟอร์มเดียวกันทั้งหมด
ผมรู้สึกว่าตัวเองถูกล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว แต่ที่รู้สึกแย่กว่าคือผมรู้สึกเหมือนกับว่าเราตกเป็นเมืองขึ้นของอเมริกาตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำให้ผมพลอยนึกถึงเรื่องในอดีตคือสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (Extraterritorial right) ที่เคยเกิดขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4-5-6-7 ที่เกิดจากสนธิสัญญาเบาริ่งที่ลงนามกับอังกฤษ ทำให้หากมีคดีความระหว่างคนสัญชาติอังกฤษแล้วไซร้ คนไทยต้องไปขึ้นศาลอังกฤษ โดยข้ออ้างว่ากฎหมายไทยป่าเถื่อนไม่เหมาะสม (ซึ่งก็เป็นความจริง และนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายไทยในเวลาต่อมา) อย่างไรก็ตามชาติตะวันตกอื่นๆ พากันเรียกร้องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนี้แทบทุกชาติ ไทยต้องกล้ำกลืนฝืนทนกับเหตุการณ์นี้และพยายามอย่างยิ่งที่จะแก้ไขยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตดังกล่าว ท้ายที่สุดคนที่ช่วยประเทศไทยในการแก้ไขยกเลิกสนธิสัญญาที่ทำให้เกิดสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเป็นชาวอเมริกัน ชื่อ ดร. ฟรานซิส บี แซร์ หรือพระยากัลยาณไมตรี อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเป็นบุตรเขยของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน
ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางการเงินการธนาคารที่คนไทยต้องเจอนี้ จะเรียกว่าสิทธิสภาพนอกอาณาเขตก็ไม่เชิงเพราะอเมริกาเขาไม่ได้บังคับเรา แต่เราคนไทยไปลงนามยอมเขาเองต่างหาก ที่จะไปทำตามกฎของสหรัฐอเมริกา ปัญหานี้เกิดจากการที่พลเมืองอเมริกันพากันหลบหนีการเสียภาษีโดยการส่งเงินออกนอกประเทศหรือทำธุรกรรมนอกประเทศมีรายได้นอกอาณาเขตของอเมริกาแล้วไม่ยอมเสียภาษี อเมริกาเองอาศัยว่าตัวเองเป็นพี่เบิ้มมีอิทธิพลทางการเงินการธนาคารและเศรษฐกิจก็เลยออกพระราชบัญญัติที่เรียกว่า FATCA ย่อมาจาก Foreign Account Tax Compliance ACT กำหนดไว้ว่าหากสถาบันการเงินนอกประเทศสหรัฐอเมริกาใดก็ตาม (ที่ไม่ใช่ของอเมริกัน) ไม่ยอมรายงานแหล่งรายได้รวมถึงเงินปันผล ดอกเบี้ยรับ ต่างๆ ตลอดจนรายได้จากการขายทรัพย์สินทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ของคนที่ถือสัญชาติอเมริกัน (หรือคนที่ถือสองสัญชาติ ซึ่งมีสัญชาติอเมริกันอยู่ด้วย) หากสถาบันการเงินนั้นๆ มีการลงทุนหรือมีรายได้ใดๆ จากสหรัฐอเมริกาก็จะถูกหักภาษี 30% ณ ที่จ่าย จากรายได้ทันที และเริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2557 ข้อนี้ทำให้สถาบันการเงินต่างๆ ทั่วโลกเดือดร้อนแสนสาหัส เพราะแทบทุกรายต่างก็มีการลงทุนในสหรัฐอเมริกาทั้งนั้น ทำให้ทุกสถาบันการเงินทั่วโลกต้องพยายามดิ้นรนเข้ามาทำตามกฎหมายนี้ด้วยการทำรายงานว่าคนสัญชาติอเมริกาในประเทศตนนั้นมีรายได้อะไรบ้าง ที่จำเป็นต้องทำเพราะอเมริกามีอำนาจและมีอิทธิพลสูง อเมริกาต้องการรายงานดังกล่าวเพื่อนำไปเรียกเก็บภาษีโดยกรมสรรพากรอเมริกา (U.S. Internal Revenue Service: IRS) นั่นเอง พูดง่ายๆ รัฐบาลอเมริกาต้องการเก็บภาษีคนอเมริกันให้ครบทุกเซ็นต์ทุกดอลลาร์แม้จะอยู่นอกอเมริกาก็ตาม
อันที่จริงผมจำได้ว่าผมได้รับการยกเว้นภาษีโดยมีส่วนลดภาษี (Tax deductible) ตอนที่เรียนหนังสือที่อเมริกาเพราะผมเป็นคนไทยและไทยกับอเมริกานั้นมีอนุสัญญาภาษีซ้อน (Double taxation law) ทำให้ผม (คนไทยที่ไปอยู่ในอเมริกา) และคนอเมริกันที่ทำงานในประเทศไทย หากมีรายได้ไม่มากเกินกว่าจำนวนหนึ่งจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนทั้งในประเทศไทยและในสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าอเมริกาคงมีปัญหาภาระหนี้สินกู้ยืมจนเกินวงเงินที่กำหนดไว้ตามกฎหมายทำให้เกิด Government shutdown ไปแล้ว และต้องหาทางเก็บภาษีจากคนอเมริกันให้ได้มากที่สุด เลยจำเป็นต้องออกกฎนี้ขึ้นมา และประเทศอื่นๆ ก็ไม่มีทางเลือกต้องทำตาม
สำหรับประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ เร่งผลักดันให้ทางสมาคมธนาคารไทยและสภาธุรกิจตลาดทุนไทยไปผลักดันให้รัฐบาลไทยไปเร่งลงนาม FATCA กับรัฐบาลอเมริกา ให้เร็วที่สุด เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นก็จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับอเมริกา 30 % ของรายได้ และทุกสถาบันการเงินของไทยก็มีการลงทุนเป็นเงินดอลล่าร์ สหรัฐอเมริกาเสียด้วย หากเกิดปัญหานี้จริงลูกค้าที่เป็นนักลงทุนเองก็จะเดือดร้อนด้วยเช่นกัน รัฐบาลไทย (เช่นเดียวกับรัฐบาลอื่นๆ จำนวนมากทั่วโลกก็จำต้องลงนาม FATCA นี้อย่างไม่มีทางเลือก จนดูเหมือนว่าไทยเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกาและมีปัญหาคล้ายๆ กับจะเรียกได้ว่าเป็นสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ทางการเงินการธนาคาร ทั้งๆ ที่เราเป็นประเทศเอกราช
อันที่จริง FATCA นั้นไม่มีผลกระทบอะไรกับคนที่ถือสัญชาติไทยเลย มีผลกระทบเฉพาะกับคนอเมริกันและคนไทยสองสัญชาติ (ที่ถือสัญชาติอเมริกันด้วย) ในประเทศไทยเท่านั้น ถ้าจะถือว่ากรอกข้อมูลไปเสียให้แล้วๆ ไปก็คงจะได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกคือศักดิ์ศรีของชาติเราด้อยลง ในฐานะประเทศมีเอกราช ทำไมเราจึงต้องถูกรุกล้ำถามคำถามส่วนตัวมากมาย เสียเวลาเพิ่มขึ้นในการเปิดบัญชีธนาคารและลงทุน ผมคุยกับนายธนาคารพาณิชย์หลายคน ทุกคนบอกตรงกันว่าจำใจต้องทำ และทำให้เกิดต้นทุนในการดำเนินธุรกรรมและการประมวลผลข้อมูลเพิ่มขึ้นมากมาย และแน่นอนว่าในท้ายที่สุดแล้วต้นทุนดังกล่าวจะตกเป็นภาระของลูกค้าชาวไทย ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่มาจ่ายให้และได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ธนาคารและสถาบันการเงินทุกแห่งไม่อยากจะทำแต่จำใจต้องทำเพราะผู้มีอำนาจย่อมเป็นผู้ที่ถูกต้อง หากเราไม่ทำตามการทำธุรกรรมและการลงทุนกับสหรัฐอเมริกาจะยุ่งยากมาก
ผมเองมีคำถามผุดขึ้นมาในใจมากมายดังนี้
หนึ่ง ประเทศอื่นๆ ที่ไปลงนาม FATCA กับสหรัฐอเมริกา สามารถจะเรียกร้องให้สถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาต้องทำรายงานว่าคนสัญชาติของประเทศตน มีรายได้เท่าไหร่ในสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ประเทศนั้นๆ เก็บภาษีจากคนของตนได้เต็มที่หรือเปล่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะทำเพื่อให้การคบหากับเป็นเรื่องของความเท่าเทียมและเป็นการกฏิบัติต่างตอบแทนอย่างเหมาะสม แล้วถ้าอีกสัก 80 ประเทศที่ลงนาม FATCA เรียกร้องให้สถาบันการเงินในอเมริกาทำรายงานแบบเดียวกันกับที่อเมริกาเรียกร้องสถาบันการเงินนอกประเทศให้ทำรายงานให้นั้นแล้ว สถาบันการเงินต่างๆของอเมริกาจะโวยวายอะไรบ้างหรือเปล่า สหรัฐอเมริกามีสปิริตพอที่จะทำเช่นนั้นหรือไม่ ยอมทำตามที่ชาติอื่นๆ เรียกร้องหรือไม่ ไม่ใช่เอาเปรียบให้แต่คนอื่นทำสิ่งที่ตัวเองได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว
สอง หากประเทศอื่นๆ เรียกร้องแบบเดียวกับอเมริกาเรียกร้องเรื่อง FATCA ผมอยากรู้เหมือนกันว่าตอนนี้เวลาคนอเมริกันไปขอเปิดบัญชีเงินฝากหรือเงินลงทุนจะต้องกรอกข้อมูลส่งให้ประเทศอื่นๆ หรือไม่ ผมคิดว่าคนอเมริกันคงไม่ยอม (เดี๋ยวจะลองให้เพื่อนในอเมริกาไปขอเปิดบัญชีใหม่) เพราะทุกวันนี้ในอเมริกาการไปฝากเงินหรือลงทุนหากเงินมากนิดหน่อยก็ต้องกรอกแจ้งว่าได้เงินมาจากไหน มีที่มาที่ไปอย่างไรตามกฎหมายป้องกันการฟอกเงินอยู่แล้ว คนอเมริกาจะยอมไหม? สถาบันการเงินต่างๆ ในอเมริกาจะยอมทำตามไหม?
สาม รัฐบาลไทยได้เรียกร้อง ต่อรอง ขอให้ รัฐบาลและสถาบันทางการเงินในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะคนไทยในสหรัฐอเมริกาต้องรายงานเรื่องรายได้ที่เกิดในสหรัฐอเมริกาหรือไม่ แล้วกรมสรรพากรของเราจะได้ตามไปเก็บภาษี เรื่องนี้เป็นศักดิ์ศรีของประเทศก็ควรทำตาม แต่เนื่องจากไทยเราเป็นประเทศเล็กๆ เราต้องพึ่งเขามากกว่าเขาจะพึ่งเรา ดอลลาร์เขียวๆ นั้นเราก็ต้องการมาก ผมไม่เชื่อว่าสหรัฐอเมริกาจะยอมทำตามที่เราเรียกร้อง (มันก็เหมือนกับที่เราขอวีซ่าเข้าอเมริกายากเย็นหนักหนาแต่คนอเมริกันมาเที่ยวเมืองไทยไม่ต้องขอวีซ่า เพราะเราต้องการเงินเขา) แต่อย่างน้อยเราก็ควรแสดงจุดยืนของเราให้ชัดเจน และควรชักชวนประเทศอื่นๆ ให้แสดงจุดยืนเช่นเดียวกับเราหรือไม่? ถ้ายังไม่ได้ทำก็ขอฝากกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ และนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาช่วยพิจารณาด้วย
สี่ หากประเทศมหาอำนาจ (ทางการเมืองและเศรษฐกิจ) อื่นๆ จะเรียกร้องกับไทยแบบเดียวกับสหรัฐอเมริกาบ้าง ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย แล้วประเทศไทยจะต้องทำตามแบบ FATCA ของสหรัฐอเมริกาหรือไม่ แล้วคนไทยจะต้องกรอกแบบสอบถามทำนองนี้กี่ฉบับ คนไทยจะยอมไหม สถาบันการเงินของไทยจะยอมทำตามหรือไม่
ห้า แบบฟอร์ม FATCA ที่คนไทยทุกคนที่ไปเปิดบัญชีเงินฝาก เงินลงทุนต้องตอบให้ครบนี้ ใครเป็นคนออกแบบ สหรัฐอเมริกาออกแบบมาตาม FATCA หรือเปล่า? ทุกสถาบันการเงินของไทยใช้แบบฟอร์มเดียวกันหรือไม่? มีวิธีทำให้มันดีขึ้นหรือง่ายขึ้นไหม สั้นลงไหม? หรือจะมีวิธีอื่นใดที่ไม่ต้องกรอกเลย เช่นใช้ระบบสารสนเทศ หากทราบเลขที่บัตรประชาชนแล้วจะทราบเลยได้ไหมว่าคนไทยคนไหนถือสัญชาติอเมริกันด้วยแล้วจึงให้กรอกแบบฟอร์มเพื่อรายงานไปยังสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่คนไทยทุกคนจะต้องมากรอกเหมือนดั่งเราเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกา
หก สหรัฐอเมริกาจะมีการออกกฎทางการเงินการธนาคารที่ส่งผลกระทบต่อคนไทยเพิ่มเติมนอกเหนือไปจาก FATCA อีกหรือไม่ในอนาคต ผมถามนายธนาคารพาณิชย์ได้ฟังมาเลาๆ ว่านี่แค่เริ่มต้นยังมีอีกเยอะมากที่จะบังคับให้เราใช้ ผมเองเปิดใจให้กว้างว่าบางอย่างอาจจะเป็นเรื่องดี เหมือนอย่างสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 นั้นทำให้ไทยเราต้องปรับปรุงมาตรฐานการบัญชีอย่างขนานใหญ่ซึ่งท้ายที่สุดแล้วส่งผลดีต่อประเทศโดยรวมในระยะยาว
เจ็ด ผมอยากรู้เหมือนกันว่าคนไทยทุกคนคิดอย่างไรกับเรื่องนี้? น่าจะมีคนสำรวจดูบ้าง และน่าจะมีการจัดการเสวนาเพื่อหาทางออกหรือร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินการธนาคารในประเทศให้รัดกุมขึ้น ทำให้สหรัฐอเมริกายอมรับได้ และสหรัฐอเมริกาเลิกทำตัวเป็นพี่เบิ้มเข้ามาจุ้นจ้านในบ้านเรา โดยที่เราจำยอม ไม่เต็มใจเช่นนี้ ก็ขอฝากให้ไปคิดกันเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทั้งศักดิ์ศรีของประเทศและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจซึ่งต้องพยายามหาจุดยืนที่ลงตัวและเป็นที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย