“คำนูณ” ยกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งสมัย “แม้ว” ตอกหน้าเพื่อไทย ชี้ชัดสามารถกำหนดเลือกตั้งใหม่หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกไปนานกว่า 5 เดือน พร้อมชี้หาก 30 ก.ย. ยังไม่มีรัฐบาลตัวจริง จะไม่สามารถตั้งงบประมาณปี 58 ได้ หวั่นเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ด้าน “สมศักดิ์” จี้ กกต. วินิจฉัยการตั้ง ศอ.รส.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
วันนี้ (21 เม.ย.) เมื่อเวลา 20.30 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา และ นายสมศักดิ์ เธียรจรูญกุล อาจารย์สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางเอเอสทีวี
โดย นายคำนูณ กล่าวถึงกรณี กกต. นัดพรรคการเมืองประชุมในวันที่ 22 เม.ย. เพื่อหารือวันเลือกตั้งใหม่ ว่า ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้ง ถ้าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าประเทศต้องเปลี่ยนแปลงก็มาหารือกัน แต่รัฐบาลกลับมาถือธงว่าต้องเร่งรัดเลือกตั้งภายใน 45 - 60 วัน กล่าวหาว่า กกต. ยื้อการเลือกตั้ง นับจากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะในวันที่ 21 มี.ค. 57 พรุ่งนี้เริ่มคุยกัน ก็เป็นเวลา 1 เดือน รัฐบาลบอกว่านานเกินไปแล้ว ควรกำหนดได้แล้วว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่
ซึ่งตนอยากให้ย้อนไปดูตอนปี 2549 สถานการณ์คล้ายๆ กัน ตอนนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยุบสภา ประชาธิปัตย์ไม่ลงเลือกตั้ง แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมายในวันที่ 8 พ.ค. 2549 กกต.ยุคนั้นใช้เวลา 2 เดือนเศษหลังศาลวินิจฉัย ในการตราพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ คือวันที่ 21 ก.ค. 2549 โดย พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้เสนอและลงนามลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเอง
ที่น่าสนใจพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ออกมาในวันที่ 21 ก.ค. 2549 แต่ไม่ให้มีผลบังคับใช้ทันที โดยใช้เทคนิคทางกฎหมายให้มีผลในวันที่ 24 ส.ค. 2549 ห่างออกไปอีก 1 เดือน 4 วัน และจึงกำหนดวันเลือกตั้ง 15 ต.ค. 2549 โดย กกต. เห็นว่าสถานการณ์ตอนนั้นยังร้อนอยู่ ถ้ากำหนดวันเลือกตั้งเร็วจะได้การเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม แล้วตอนนั้นไม่มีการขวางเลือกตั้งแบบครั้งนี้ด้วย ยังใช้เวลาในการเลือกตั้งใหม่รวมแล้วทั้งสิ้น 5 เดือนเศษ
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า หากเพื่อไทยกดดันจน กกต. กำหนดวันเลือกตั้งได้ ปัญหาก็วนอยู่ที่เดิม กปปส. ก็จะขัดขวาง ได้ ส.ส. ไม่ครบ เปิดสภาไม่ได้ เสียงบประมาณเปล่าอีก แล้ว ศอ.รส. ยังจะให้ทีวีมาถ่อยทอดการประชุมหารือ นี่คือการพิกลพิการของการเมืองไทย ที่มีพรรคารเมือง 60 กว่าพรรค ที่เกิดมาได้นี้เพราะไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่บังคับให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง โดยพรรคการเมืองอยู่ได้ด้วยเงินที่ได้จาก กกต. แล้วถ้าจะเอามติจากการโหวตของทุกพรรค โหวตยังไงประชาธิปัตย์ก็แพ้ เพราะมีแต่พวกต้องการเลือกตั้งให้เร็ว
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า หากยังไม่มีรัฐบาลตัวจริงถึงวันที่ 30 ก.ย. จะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ตนได้สนทนากับ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการเงินการคลัง มีความคิดว่าจะเกิด government shutdown เพราะไม่สามารถตั้งงบประมาณปี 58 ได้ แม้รัฐธรรมนูญระบุว่าหากยังไม่มีงบปี 58 ให้เอาของปี 57 มาตั้งจ่ายได้ แต่ต้องอนุมัติโดยนายกฯที่มีอำนาจเต็ม ไม่ใช่นายกฯรักษาการ
ด้าน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมพรรคการเมือง 60 กว่าพรรค หลายพรรคที่เราไม่รู้จัก แต่ถ้าดูเข้าไปแล้วจะเห็นว่ามีคนของพรรคเพื่อไทยอยู่ในนั้น แท้จริงอาจเหลือไม่กี่พรรคก็ได้ เพราะพรรคเล็กๆ ตั้งขึ้นมาเป็นเพียงสาขาพรรคของเพื่อไทย สำรองไว้หากโดนวินิจฉัยยุบพรรคขึ้นมา เอาเข้าจริงอาจเหลือไม่กี่พรรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับเพื่อไทย แล้วถ้าเสียงโหวตบอกว่าต้องจัดเลือกตั้ง แล้ว กกต. ทำตาม ก็เท่ากับว่า กกต. ไม่ใช่องค์กรอิสระแล้ว กกต. ไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะจัดเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องจัดการเลือกตั้งภายใต้ความสงบสุขของประชาชน ท่ามกลางความขัดแย้งขณะนี้หาก กกต. ไม่เร่งจัดเลือกตั้ง จะโดนเอาผิดยากมาก และสิ่งที่ กกต. ควรทำคือวินิจฉัยกรณีการตั้ง ศอ.รส. ซึ่งไม่ได้ขอความเห็นชอบจาก กกต. และมีผลต่อการใช้งบประมาณแผ่นดิน เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่
นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การเลือกตั้งวันนี้ยังไงก็ไม่เหมาะ เพราะสุดท้ายไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ก็ไม่สามารถนำพาไปสู่การแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ เป็นเพียงการแแก้ปัญหาให้นักการเมืองเท่านั้น ฉะนั้นต้องยอมรับกันว่าระบอบการเมืองไทยล้มเหลวแล้ว