xs
xsm
sm
md
lg

Focus : ความจริงเกี่ยวกับ “โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ” หลังเหตุการณ์ “สึนามิถล่ม” ผ่านไป 3 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พนักงานสวมชุดป้องกันรังสีกำลังมองดูแทงก์ขนาดใหญ่ที่จะใช้เก็บน้ำปนเปื้อนรังสี ภายในเขต J1 ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิ เมืองโอคุมะ จังหวัดฟูกูชิมะ เมื่อวานนี้(10)
เอเอฟพี - เหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่ซัดถล่มชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 ไม่เพียงพรากชีวิตผู้คนนับหมื่นไปในชั่วพริบตา แต่ยังก่อวิกฤตครั้งใหญ่ขึ้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ใน จ.ฟูกูชิมะ

แม้เหตุการณ์จะผ่านพ้นมานานถึง 3 ปี แต่ผลพวงจากหายนะทางธรรมชาติครั้งนั้นยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวแดนอาทิตย์อุทัย ขณะที่การกำจัดกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลก็อาจต้องใช้เวลาอีกนานหลายสิบปี

สถานะของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้ง 6 แห่ง

- แท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1, 2 และ 3 เกิดการหลอมละลายหลังระบบหล่อเย็นได้รับความเสียหายจากอานุภาพคลื่นยักษ์ที่ซัดถล่มโรงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 เวลานี้อุณหภูมิของแท่งเชื้อเพลิงและบ่อเก็บอยู่ในภาวะเสถียร โดยมีการหล่อน้ำเพื่อควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น

- เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ไม่มีแกนปฏิกรณ์ (core) แต่แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วประมาณ 1,500 แท่งยังถูกเก็บไว้ในบ่อพัก ตัวอาคารภายนอกเสียหายจากแรงระเบิดและเพลิงไหม้ และตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค (เท็ปโก) ผู้บริหารโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทยอยเคลื่อนย้ายแท่งเชื้อเพลิงออกมาได้แล้วประมาณ 1 ใน 3 ซึ่งนับเป็นภารกิจที่เสี่ยงและมีความซับซ้อนสูง เท็ปโก มีแผนที่จะเคลื่อนย้ายแท่งเชื้อเพลิงออกมาให้ได้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้

- เท็ปโก ตัดสินใจเลิกใช้เตาปฏิกรณ์หมายเลข 5 และ 6 อย่างถาวร ซึ่งเตาทั้งสองอยู่ในภาวะ “ปิดตัวเย็น” (cold shutdown) ตั้งแต่เริ่มเกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ขึ้นเมื่อปี 2011

น้ำปนเปื้อนรังสี

วิธีที่ เท็ปโก ใช้ควบคุมโรงไฟฟ้าให้อยู่ในภาวะเสถียรล้วนเป็นเพียงมาตรการ “ชั่วคราว” และจนบัดนี้ก็ยังไม่มีหนทางที่จะกำจัดน้ำปนเปื้อนรังสีที่ใช้หล่อเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้อย่างถาวร

- น้ำปนเปื้อนรังสีราว 436,000 ลูกบาศก์เมตรยังถูกเก็บไว้ในโรงไฟฟ้า ซึ่งในจำนวนนี้มีน้ำที่รังสีเข้มข้นสูงมากราวๆ 70,000 ลูกบาศก์เมตรถูกแยกเก็บไว้ในฐานใต้ดินของอาคารครอบเตาปฏิกรณ์

- น้ำปนเปื้อนรังสีส่วนใหญ่ถูกบรรจุเอาไว้ในถังขนาดยักษ์ราว 1,200 ถัง ซึ่งพบว่าเกิดการ “รั่วไหล” บ่อยครั้ง

- ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า โรงไฟฟ้าอาจจำเป็นต้องปล่อยน้ำที่ผ่านการกำจัดสารพิษอันตรายสูงออกไปแล้วลงสู่ทะเลบ้าง ซึ่งไม่เป็นภัยต่อทั้งสัตว์น้ำและมนุษย์ แต่ชาวประมงท้องถิ่นและประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นออกมาคัดค้านอย่างรุนแรงต่อวิธีแก้ปัญหาเช่นนี้
บ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วภายในอาคารครอบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ
น้ำใต้ดิน

- เท็ปโก ต้องพยายามสกัดกั้นน้ำใต้ดินที่มักจะไหลเข้าไปปนกับน้ำหล่อเย็นที่กักเก็บไว้ ซึ่งส่งผลแรงกดดันในบ่อเพิ่มขึ้น และทำให้น้ำปนเปื้อนรังสีรั่วซึมออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกราว 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?

- ขั้นตอนสำคัญซึ่งจะนำไปสู่การปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อย่างถาวรก็คือ การขนย้ายแท่งเชื้อเพลิงออกจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1, 2 และ 3 ซึ่งหลอมละลาย ภารกิจดังกล่าวจะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายของรังสีในระดับอันตราย และซ่อมแซมอาคารครอบเตาปฏิกรณ์ที่เสียหายด้วย ทั้งหมดนี้คาดว่าจะเริ่มต้นได้ในปี 2020 เป็นอย่างเร็ว

- รัฐบาลญี่ปุ่นรับปากจะอัดฉีดเงินสนับสนุนมาตรการแช่แข็ง (freeze) พื้นดินใต้อาคารครอบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพื่อผลักดันน้ำใต้ดินให้ไหลไปในทิศทางอื่น ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณเกือบ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกินเวลาประมาณ 2 ปีจึงจะสำเร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น