เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะของญี่ปุ่นในวันจันทร์(18) เริ่มต้นเคลื่อนย้ายแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ออกจากอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ภารกิจยากและเสี่ยงอันตรายที่สุดนับตั้งแต่สามารถควบคุมเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ซึ่งได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งเลวร้ายได้สำเร็จเมื่อปี 2011
โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เท็ปโก) เผยว่าได้เริ่มกระบวนการเคลื่อนย้ายแท่งเชื้อเพลิงยูเรเนียมและพลูโตเนียมของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะออกจากบ่อเก็บของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ก้าวย่างที่ยากลำบาก แต่สำคัญอย่างยิ่งในแผนรื้อถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะยาวนานหลายทศวรรษ
ปฏฺิบัติการครั้งนี้มีขึ้นตามหลังข้อขัดข้องต่างๆนานาในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อันจุดชนวนเสียงวิพาก์วิจารณ์เท็ปโก บริษัทผู้บริหารงานโรงไฟฟ้าต่อประสิทธิภาพในการจัดการกับวิกฤตที่ถูกยกเป็นอุบัตเหตุทางนิวเคลียร์ครั้งเลวร้ายที่สุดแห่งยุค
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญบอกว่ายังมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนมากกว่านี้ นั่นก็คือการรอให้เหล่าวิศวกรถอดแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของอีก 3 เตาที่หลอมละลายจนผิดรูป ซึ่งบางทีอาจต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่ไม่มีอยู่ในปัจจุบันและยังไม่ได้ประดิษฐ์ขึ้นมา
แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์กว่า 1,500 แท่ง จำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายออกจากบ่อจัดเก็บ หลังถูกเก็บไว้ในบ่อแห่งนี้นับตั้งแต่คลื่นสึนามิถาโถมเข้าถล่มโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะในเดือนมีนาคม 2011 โดยทางบริษัทจะใช้เครนขนาดใหญ่ค่อยๆเคลื่อนย้ายแท่งปฏิกรณ์นิวเคลียร์อย่างระมัดระวัง ทั้งนี้ด้วยคาดหมายว่าการเคลื่อนแท่งเชื้อเพลิง 22 แท่งแรกอาจต้องใช้เวลานานถึง 2 วัน ดังนั้นจึงหมายความว่าเจ้าหน้าที่อาจต้องใช้เวลานานถึง 1 ปี กว่าจะเสร็จสิ้นการขนย้ายแท่งเชื้อเพลิงทั้่งหมด ที่มีน้ำหนักรวมกว่า 91 ตัน จากบ่อของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 ขึ้นสู่รถพ่วงและจากนั้นก็นำไปใส่ในบ่ออีกแห่งที่อยู่่ออกไป 100 เมตร
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า หากเกิดความผิดพลาดอาจจุดชนวนหายนะอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่ข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจส่งผลให้แผนรื้อถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ที่ยุ่งยากและยาวนานต้องล่าช้าออกไปอีก ขณะที่กรีนพีซ แสดงความกังวลว่า "บางทีเท็ปโก อาจไม่มีความสามารถเพียงพอสำหรับดำเนินปฏิบัติการที่เสี่ยงเช่นนี้"
แม้การเคลื่อนย้ายแท่งเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็นงานที่ต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำ แต่จากภัยพิบัติทำให้คราวนี้เงื่อนไขต่างๆ แตกต่างออกไปจากปกติและเป็นเหตุให้มันมีความยุ่งยากซับซ้อนมากกว่า "มันเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เป็นส่วนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ของกระบวนการรื้อถอน แต่ภาครกิจนี้ก็อาจก่อความเสี่ยงครั้งใหญ่หลวง" ซิติเซ็นส นิวเคลียร์ อินฟอร์เมชัน เซ็นเตอร์ สถาบันจิวัยทางพลังงานอิสระบอก
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า กระบวนการเคลื่อนย้ายนี้ไม่อาจผิดพลาดได้แม้แต่น้อยนิด และต้องไม่ให้แท่งเชื้อเพลิงสัมผัสกับอากาศแล้วปล่อยกัมมันตภาพรังสี ต้องไม่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น จนอาจเกิดเป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่คงอยู่ได้เองอย่างต่อเนื่อง
สำหรับเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ซึ่งเป็นเตาที่จะเคลื่อนย้านแท่งเชื้อเพลิงออกจากบ่อ ไม่ได้เปิดปฏิบัติการตอนที่เกิดภัยพิบัติ แต่มีไฮโดรเจนจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 รั่วเข้ามาในอาคารและเกิดระเบิด จนหลังคาฉีกขาด กระนั้นทาง เท็ปโก บอกว่าไม่พบความเสียหายอื่นๆ แต่ก็จะตรวจตราหาความผิดปกติต่างๆ อาทิ สนิม ต่อไป
แม้การเคลื่อนย้ายแท่งเชื้อเพลิงออกจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 จะง่ายกว่าเตาปฏิกรณ์อื่นๆที่หลอมละลายจนผิดรูป แต่ฮิโรชิ ทาซากะ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยทามะในกรุงโตเกียว บอกว่ากระบวนการนี้ยังคงต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด "กัมมันตภาพรังสีระดับสูงที่ฟุ้งกระจายอยู่ภายในเตาปฏิกรณ์อื่นๆคือสิ่งที่จัดการยากที่สุด ขณะที่ทุกอย่างที่อยู่ภายในเตายุ่งเหยิงไปหมด" ที่ปรึกษาของรัฐบาลระบุ
ภารกิจที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะต้องผจญปัญหามากมายในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ในนั้นอาทิน้ำปนเปื้อนรังสีรั่วไหลและไฟดับ อันมีต้นตอจากหนูเข้าไปทำลายแผงวงจรไฟฟ้าของระบบหล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์จนเกิดภาวะลัดวงจร จนนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อเท็ปโกต่อการทำงานส่งเดชและขาดการประสานงาน โดยรัฐมนตรีรายหนึ่งในคณะรัฐบาลถึงกับตำหนิว่าเหมือนกับดูใครบางคนกำลังเล่นตีตัวตุ่นอยู่