เอเอฟพี - พนักงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ พบรอยรั่วในกำแพงที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันรังสีรั่วไหล บริเวณอ่าวใกล้โรงไฟฟ้า จากการรายงานของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน วันนี้ (26)
บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ โค (เท็ปโก) ได้สร้างกำแพงโคลนในอ่าวที่ติดกับโรงไฟฟ้า ซึ่งครอบคลุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 1-4 ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิเมื่อปี 2011 และกำแพงอีกแห่งที่ใช้ป้องกันเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 5-6 ที่ยังไม่ได้รับความเสียหายใดๆ
กำแพงโคลนที่ว่านี้คือเครื่องมือที่จะช่วยเก็บกักตะกอน ก่อนที่น้ำจะไหลสู่ทะเล
โฆษกเท็ปโกเปิดเผยว่า กำแพงรอบๆ เตาปฏิกรณ์ที่ไม่ได้รับความเสียหาย ถูกตรวจพบว่ามีรอยรั่ว
“ระดับสารกัมมันตภาพรังสี ในน้ำทะเล บริเวณนี้ยังต่ำมาก และไม่มีการติดตั้งถังเก็บน้ำปนเปื้อนรังสี ไว้ใกล้เตาปฎิกรณ์หมายเลข 5-6”
คลื่นสึนามิเข้าซึ่งซัดถล่ม เตาปฏิกรณ์ทั้ง 6 ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ เมื่อวันที่ 11มีนาคม ปี2011 ทำให้ระบบหล่อเย็นพังเสียหายและแท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 1-3 เกิดหลอมละลาย ที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 เกิดระเบิดและไฟไหม้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 5-6 ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ได้รับความเสียหาย
ระดับรังสีในทะเลรอบๆ โรงไฟฟ้า ได้สร้างความวิตกกังวลอย่างมาก โดยเท็ปโกใช้วิธีนำน้ำมากกว่าพันตัน มาหล่อเลี้ยงเตาปฏิกรณ์ให้คงสภาพเย็น
ทางโรงไฟฟ้ายืนยันว่า เตาปฏิกรณ์ทั้งหมดอยู่ในสภาพเสถียร แต่ยังต้องการน้ำเพิ่มมากขึ้นทุกวันเพื่อรักษาระดับความเย็น ไม่ให้เตาเกิดความร้อนสูงขึ้นอีก
น้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ ถูกกักไว้ในถังเก็บน้ำปนเปื้อนรังสีชั่วคราวบริเวณโรงไฟฟ้า และกระทั่งตอนนี้ เท็ปโก ก็ยังไม่เปิดเผยถึงแผนการที่ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ขณะที่ถังเก็บน้ำปนเปื้อนรังสีบางถังมีการรั่วไหลออกมา
นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ยืนยัน ระหว่างการประชุมกับประธานโอลิมปิก ในเดือนนี้ว่า ผลกระทบของน้ำปนเปื้อนรังสี ถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ อ่าวประมาณ 0.3 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น
คำมั่นสัญญาของอาเบะ ที่กล่าวในระหว่างการประชุมคณะกรรมการโอลิมปิกสากลที่ กรุงบัวโนสไอเรส ถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กรุงโตเกียวมีโอกาสเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2020 ได้