เอเอฟพี – ผู้บริหารโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะยอมรับว่ามีการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีกว่า 1,000 ตันออกสู่ทะเล หลังจากถูกไต้ฝุ่นมานหยี่ (Man-Yi) พัดถล่มเมื่อวานนี้ (16)
อิทธิพลของไต้ฝุ่นมานหยี่ซึ่งเคลื่อนผ่านหมู่เกาะญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันในหลายภูมิภาค รวมถึงที่นครเกียวโต เมืองหลวงเก่าซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของเกาะฮอนชู
โรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ก็เผชิญพายุฝนที่รุนแรง ทำให้มีน้ำเอ่อท่วมอยู่ภายในกำแพงที่ล้อมรอบถังเก็บน้ำที่ใช้ลดอุณหภูมิเตาปฏิกรณ์ที่เสียหาย
ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่าถังเก็บน้ำปนเปื้อนบางส่วนเกิดรั่วไหล ทำให้รังสีอันตรายแพร่กระจายออกสู่ระบบน้ำใต้ดิน
“เจ้าหน้าที่ซึ่งตรวจวัดระดับรังสีของน้ำภายในกำแพงป้องกัน ได้สูบน้ำเหล่านั้นกลับเข้าไปในถังเมื่อเห็นว่ารังสีเข้มข้นเกินไป... ต่อมาพวกเขาพบว่าน้ำที่เอ่อขึ้นมาส่วนใหญ่เป็นเพียงน้ำฝน จึงได้เริ่มระบายออกบ้าง เพราะเราสามารถเก็บกักน้ำได้อย่างจำกัด” เจ้าหน้าที่จากบริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค (เท็ปโก) ผู้บริหารโรงไฟฟ้า แถลง
เท็ปโก ยอมรับว่าได้ปล่อยน้ำซึ่งมีรังสีสตรอนเทียมเจือจางเพียง 30 เบคเคอเรลต่อลิตร ซึ่งไม่เกินระดับปลอดภัยที่กฎหมายกำหนด ออกสู่พื้นดินภายนอกประมาณ 1,130 ตัน แต่มีอยู่บริเวณหนึ่งที่ระดับรังสีในน้ำเข้มข้นมาก และคนงานปั๊มน้ำเข้าไปเก็บในถังไม่ทัน น้ำที่ปนเปื้อนรังสีเข้มข้นจึงไหลออกสู่ภายนอกนานหลายนาที
สตรอนเทียม เป็นสารอันตรายที่หากบริโภคจะเข้าไปสะสมในกระดูก และก่อให้เกิดมะเร็ง
เท็ปโก ต้องใช้น้ำหลายพันตันควบคุมอุณหภูมิแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่หลอมละลายจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2011 โดยน้ำปนเปื้อนเหล่านี้ยังถูกเก็บกักไว้ในโรงไฟฟ้า และบริษัทก็ยังไม่มีแผนที่ชัดเจนว่าจะจัดการกับของเหลวเป็นพิษเหล่านี้อย่างไร