รอยเตอร์ - สำนักงานกำกับนิวเคลียร์ญี่ปุ่น (เอ็นอาร์เอ) เตือน สถานการณ์การรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนรังสีเข้มข้นจากโรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ รุนแรงถึงขั้น “ฉุกเฉิน” ขณะที่ผู้บริหารโรงไฟฟ้ากำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อยับยั้งสารพิษที่กำลังออกสู่มหาสมุทร
ชินจิ คินโจ หัวหน้าคณะทำงานของเอ็นอาร์เอ ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า น้ำใต้ดินที่มีรังสีเจือปนได้ซึมผ่านเครื่องกีดขวางและกำลังเอ่อท้นขึ้นมาสู่ผิวดิน ซึ่งจะทำให้กัมมันตภาพรังสีถูกปลดปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ส่วนแผนรับมือของบริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค (เท็ปโก) ก็สามารถแก้ปัญหาได้ชั่วคราวเท่านั้น
คินโจ ชี้ว่า ความตระหนักรู้ในวิกฤตของเท็ปโกนั้น “ยังอ่อนเกินไป” ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถวางใจให้เท็ปโกจัดการกับหายนะที่เกิดขึ้นเพียงลำพังได้
“เวลานี้สถานการณ์กำลังเข้าขั้นฉุกเฉิน” เขากล่าว
เท็ปโก ถูกสังคมวิจารณ์อย่างรุนแรงที่ไม่มีมาตรการป้องกันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากภัยธรรมชาติที่รุนแรงอย่างแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2011 ทั้งยังขาดความชำนาญในการแก้ปัญหาเมื่อแท่งเชื้อเพลิงหลอมละลาย และยังพยายามปกปิดผลกระทบร้ายแรงที่ตามมาด้วย
หลังเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ รัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตให้เท็ปโกระบายน้ำปนเปื้อนรังสีหลายหมื่นตันลงสู่มหาสมุทรเป็นมาตรการแก้ไขเฉพาะหน้า แต่คำสั่งดังกล่าวก็เรียกเสียงวิจารณ์รุนแรงจากชาวประมงท้องถิ่นและประเทศเพื่อนบ้าน จนสุดท้ายเท็ปโกต้องยอมรับปากว่า จะไม่ปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีลงทะเลหากไม่ได้รับอนุญาตจากชุมชนใกล้เคียง
มิตซูโอะ อูเอมัตสึ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเพื่อความร่วมมือนานาชาติและการวิจัยด้านบรรยากาศและมหาสมุทรแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ยอมรับว่า “ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบต่อท้องทะเลได้ ตราบใดที่เรายังไม่ทราบปริมาณและความเข้มข้นของรังสีที่รั่วไหลออกไป”
ในดินแดนที่ห่างออกไปอย่างสหรัฐฯ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่กังวลมากนักต่อปัญหารังสีรั่วไหลในญี่ปุ่น
“เมื่อมองถึงระดับความเจือจางในน้ำทะเล สารพิษที่ถูกปล่อยลงสู่ทะเลในญี่ปุ่นจะไม่มีผลกระทบต่อที่นี่” เดวิด โยกี โฆษกสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์
ในอีเมล์ที่ส่งถึงรอยเตอร์ โฆษกเท็ปโกได้แถลงขออภัยอย่างสุดซึ้งต่อประชาชนในจังหวัดฟูกูชิมะ ตลอดจนสาธารณชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากรังสี พร้อมยืนยันว่า เท็ปโก จะพยายามใช้ทุกมาตรการเพื่อป้องกันไม่ไห้น้ำปนเปื้อนรังสีไหลลงสู่อ่าวใกล้โรงไฟฟ้า
พนักงานโรงไฟฟ้าได้สร้างแบร์ริเออร์ใต้ดิน โดยการฉีดสารเคมีเพื่อเพิ่มความแข็งของดินตลอดแนวชายฝั่งหน้าอาคารครอบเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 แต่วิธีดังกล่าวใช้ได้ผลกับชั้นดินที่อยู่ลึกลงไปอย่างน้อย 1.8 เมตร ดังนั้นเมื่อมีการรั่วไหล น้ำปนเปื้อนรังสีจึงสามารถซึมผ่านชั้นดินที่ตื้นกว่าออกสู่ทะเล และที่แย่กว่านั้นก็คือกำลังเอ่อขึ้นสู่ผิวดินด้วย ซึ่งจะทำให้อัตราการรั่วไหลเร็วขึ้นกว่าเดิม