รอยเตอร์ - น้ำราว 120 ตันที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี อาจรั่วไหลออกจากถังเก็บภายในโรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ของญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความเสียหายจากคลื่นสึนามิเมื่อปี 2011 ผู้บริหารโรงไฟฟ้าแถลงวันนี้ (6)
บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค (เท็ปโก) ตรวจพบการรั่วไหลของถังขนาดใหญ่ 1 ใน 7 ถังที่ใช้บรรจุน้ำลดอุณหภูมิเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ แต่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ มาซายูกิ โอโนะ โฆษกของเท็ปโก แถลงต่อสื่อมวลชน
ทั้งนี้ เท็ปโก มีแผนที่จะถ่ายน้ำปนเปื้อนรังสีราว 13,000 ลูกบาศก์เมตรจากถังดังกล่าวไปยังอุปกรณ์กักเก็บใหม่ให้สำเร็จ ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า
สำนักข่าวเกียวโดนิวส์อ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้า ซึ่งระบุว่า ถังเก็บน้ำที่รั่วไหลอยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 800 เมตร และน้ำปนเปื้อนรังสีไม่น่าจะไหลลงไปถึงทะเลได้
เท็ปโก ไม่เปิดเผยว่า ถังเก็บน้ำเกิดรั่วไหลมานานเท่าใดแล้ว
ผู้บริหารโรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ต้องเผชิญปัญหาในการควบคุมน้ำใต้ดิน รวมถึงรักษาระบบหล่อเย็นเพื่อให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์คงอยู่ในภาวะเสถียร
เมื่อวานนี้ (5) เท็ปโก ออกมายอมรับว่า ระบบหล่อเย็นในเตาปฏิกรณ์แห่งหนึ่งเกิดข้อข้องไปนานถึง 3 ชั่วโมง และถือเป็นความล้มเหลวครั้งที่ 2 ในรอบ 3 สัปดาห์ที่เกี่ยวข้องกับระบบหมุนเวียนน้ำทะเลเพื่อลดอุณหภูมิของแท่งเชื้อเพลิง
โรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ถูกคลื่นสึนามิซัดถล่มเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 ระบบหล่อเย็นที่พังเสียหายนำไปสู่การหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงภายในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 หน่วย และถือเป็นหายนะนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดของโลกในรอบกว่า 20 ปี ถัดจากเหตุระเบิดที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลของยูเครนเมื่อปี 1986