เอเอฟพี - เมืองในญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยินยอมให้เปิดใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกครั้งหนึ่ง หากรัฐบาลสามารถรับรองความปลอดภัยได้ ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่เผยแพร่วันนี้(6) ระบุ
ปัจจุบัน เตาปฏิกรณ์ 48 แห่งจากทั้งหมด 50 แห่งทั่วประเทศยังคงปิดใช้งานเพื่อตรวจสอบความปลอดภัย หลังญี่ปุ่นต้องเผชิญภัยพิบัตินิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่โรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ อันเป็นผลสืบเนื่องจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 2011
แม้จะเกิดเหตุการณ์ที่ฟุกูชิมะ ทว่าร้อยละ 54 ของนายกเทศมนตรีจาก 135 ชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยืนยันว่า พวกเขาไม่คัดค้านหากรัฐบาลจะเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกครั้ง ผลสำรวจโดยหนังสือพิมพ์ โยมิอุริ ชิมบุน เผย
ร้อยละ 18 ยืนกรานว่า ไม่สนับสนุนให้เปิดใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีก ขณะที่อีกร้อยละ 28 ไม่แสดงความเห็น
แม้ผลสำรวจที่ออกมาจะขัดแย้งพอสมควรกับกระแสต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น ซึ่งเกิดขึ้นจากความหวาดผวาภัยกัมมันตรังสีที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ทว่าก็สะท้อนความจริงเชิงเศรษฐกิจในเขตชนบทซึ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถือเป็นผู้จ้างงานหลัก และแทบไม่มีอุตสาหกรรมอื่นใดอีก โยมิอุริ ระบุ
อิทธิพลของคลื่นสึนามิทำให้ระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะพังเสียหาย นำไปสู่การหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิง ซึ่งทำให้กัมมันตภาพรังสีแพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม และทำให้พื้นที่รอบโรงไฟฟ้าไม่เหมาะต่อการอยู่อาศัยไปอีกนานหลายสิบปี
รัฐบาลและบริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค (เท็ปโก) ก็มีแผนที่จะปิดเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะอย่างถาวร ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่า 30 ปี
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของ โยมิอุริ อาจเป็นผลดีต่อนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ จากพรรคแอลดีพี ซึ่งสนับสนุนให้ญี่ปุ่นใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ต่อไป ทั้งยังสัญญาว่าจะพลิกเศรษฐกิจเมืองปลาดิบให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง
นโยบายดังกล่าวขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับแนวทางของอดีตนายกฯ โยชิฮิโกะ โนดะ ซึ่งประกาศจะทำให้ญี่ปุ่นปลอดพลังงานนิวเคลียร์ภายใน 30 ปีข้างหน้า