เอเอฟพี - เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ในโรงไฟฟ้า 2 แห่งของเกาหลีใต้ หยุดเดินเครื่องกระทันหันเมื่อเช้าวันนี้(2) หลังพบปัญหาขัดข้องซึ่งเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าไม่มีความเชื่อมโยงกัน ผู้บริหารโรงไฟฟ้าเผย
บริษัท โคเรีย ไฮโดร แอนด์ นิวเคลียร์ เพาเวอร์ (KHNP) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ยืนยันว่า ไม่มีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลจากเตาทั้ง 2 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงไฟฟ้ายองกวางทางตะวันตกเฉียงใต้ และโรงไฟฟ้าชินโกรีบนชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ
“เหตุขัดข้องในโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งไม่มีความเชื่อมโยงกัน” โฆษก KHNP แถลง
เตาปฏิกรณ์ที่โรงไฟฟ้าชินโกรีซึ่งอยู่ใกล้เมืองปูซาน ถูกดับเครื่องทันทีหลังมีสัญญาณเตือนดังขึ้นเมื่อเวลา 8.10 น. ตามเวลาท้องถิ่น ( 6.10 น. ตามเวลาในไทย)
“แท่งควบคุม (control rod) ภายในเตาปฏิกรณ์ทำงานผิดปกติ แต่ขณะนี้เตาอยู่ในภาวะเสถียร และไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการรั่วไหลของรังสี” โฆษกเผย
นับเป็นครั้งแรกที่เตาปฏิกรณ์แห่งนี้ถูกปิดตัวลง หลังจากที่เริ่มผลิตไฟฟ้าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
เกาหลีใต้มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งสิ้น 23 ตัว ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าสนองความต้องการพลังงานในประเทศได้กว่าร้อยละ 35
โฆษก KHNP แถลงเพิ่มเติมว่า เตาปฏิกรณ์ที่โรงไฟฟ้ายองกวางปิดตัวลงโดยอัตโนมัติ หลังปั๊มน้ำทำงานผิดปกติ
เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพิ่งจะเกิดกรณีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์อีกตัวหนึ่งดับเครื่องลงโดยอัตโนมัติที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโซลไปทางใต้ราว 260 กิโลเมตร
รัฐบาลเกาหลีใต้ยืนยันจะใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ต่อไป แม้เพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่นจะเพิ่งประสบวิกฤตครั้งใหญ่ที่โรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ เมื่อปีที่แล้วก็ตาม
มาตรฐานความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลายเป็นสิ่งที่ชาวเมืองกิมจิเริ่มกังวล หลังจากเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา วิศวกรอาวุโส 5 รายถูกดำเนินคดีฐานพยายามปกปิดปัญหาไฟฟ้าขัดข้องในโรงไฟฟ้าเก่าแก่ที่สุดของเกาหลีใต้ ในจำนวนนั้นคือหัวหน้าวิศวกรวัย 55 ปีผู้ดูเตาปฏิกรณ์ โกรี-1 ซึ่งถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยนิวเคลียร์
เตาปฏิกรณ์โกรี-1 ซึ่งใช้งานมานานถึง 34 ปี เกิดปัญหาไฟฟ้าดับชั่วคราวเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชั่วคราวก็ขัดข้องด้วย ส่งผลให้ระบบหมุนเวียนน้ำหล่อเย็นไม่ทำงาน