รอยเตอร์ - รายงานโดยทบวงการพลังงานปรมาณูสากล (ไอเออีเอ) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เผย การใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นแหล่งพลังงานปลอดคาร์บอนน่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ในญี่ปุ่นจนทำให้หลายประเทศต่อต้าน
รายงานเกี่ยวกับการผลิต และความต้องการใช้ยูเรเนียม หรือ "สมุดแดง" ขององค์การดังกล่าว ซึ่งเผยแพร่ทุกๆ 2 ปี ระบุว่า การใช้พลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลกจะโตขึ้น 44-99% ภายในปี 2035 ซึ่งเปลี่ยนไปเล็กน้อยจากการประเมินเมื่อ 2 ปีก่อน ที่คาดว่าจะขยายตัว 37-110%
"เราเห็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว" แกรี ไดค์ หัวหน้าหน่วยวัฏจักร และวัตถุดิบเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของไอเออีเอกล่าว โดยอ้างถึงผลกระทบระยะยาวจากอุบัติเหตุนิวเคลียร์ฟูกูชิมะต่ออุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของโลก "เรายังคาดว่าจะมีการขยายตัวอย่างมากในจีนด้วย"
รายงานฉบับนี้เผยว่า ในเอเชียตะวันออกน่าจะมีการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น 125-185% ภายในปี 2035 ซึ่งประเทศคาดว่ามีเติบโตมากที่สุดคือ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และรัสเซีย โดยไม่ได้พิจารณาในกรณีที่ญี่ปุ่นอาจได้บทสรุปว่าห้ามใช้พลังงานนิวเคลียร์อีก
ญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มเดินเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู 2 แห่งอีกครั้ง หลังจากปิดเตาทั้งหมด 50 แห่งทั่วประเทศไปนับตั้งแต่มหาภัยแผ่นดินไหว และสึนามิถล่มโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิจนกลายเป็นวิกฤตนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดในช่วงชีวิต ซึ่งยิ่งเป็นการกระพือแรงต่อต้านนิวเคลียร์มากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ยูเรเนียมก็คาดว่าจะสามารถสนองความต้องการใช้งานในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ได้ ตราบเท่าที่การลงทุนยังคงหลั่งไหลเข้าไปยังภาคอุตสาหกรรมนี้
รายงานดังกล่าวระบุว่า แหล่งแร่ยูเรเนียมนั้นเพิ่มขึ้น 12.5% ในช่วงปี 2009-2010 จากการสำรวจ และพัฒนาเหมืองแร่ที่โตขึ้น 22% หรือมากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนั่นนับว่าเพียงพอต่อการขยายตัวของพลังงานนิวเคลียร์