xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์ญี่ปุ่นเผยรังสีจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะทำให้ “ผีเสื้อกลายพันธุ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผีเสื้อ Pale Grass Blue
เอเอฟพี - นักวิทยาศาสตร์พบการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในผีเสื้อที่อาศัยอยู่ใกล้โรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งเผชิญวิกฤตนิวเคลียร์จากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว และการค้นพบครั้งนี้ก็สร้างความหวั่นวิตกว่าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ อาจได้รับผลกระทบจากรังสีที่รั่วไหลด้วยเช่นกัน

ร้อยละ 12 ของผีเสื้อ pale grass blue ซึ่งได้รับสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะขณะเป็นตัวหนอน จะมีสภาพร่างกายผิดปกติ เช่น ปีกมีขนาดเล็ก และดวงตาเสียหาย เป็นต้น

เมื่อผีเสื้อเหล่านี้ถูกนำไปเพาะเลี้ยงต่อที่ห้องปฏิบัติการนอกเขตแพร่กระจายของรังสี ก็ปรากฏว่า ลูกหลานของพวกมันยังคงมีความผิดปกติเช่นเดียวกันร้อยละ 18 โจโจ โอตากิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยริวกิวบนเกาะโอกินาวาเผย

แนวโน้มความผิดปกติทางพันธุกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 34 เปอร์เซ็นต์ในผีเสื้อรุ่นที่ 3 แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะทดลองนำผีเสื้อรุ่นที่ 2 มาผสมพันธุ์กับประชากรผีเสื้อที่ไม่มีความผิดปกติแล้วก็ตาม

เดือนกันยายนปีที่แล้ว นักวิจัยได้เก็บตัวอย่างผีเสื้อ 240 ตัวในจังหวัดฟูกูชิมะ และพบว่าพวกมันมีความผิดปกติทางพันธุกรรมถึงร้อยละ 52 “ซึ่งเป็นแนวโน้มที่สูงมาก” โอตากิเผย

ผลการศึกษาชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสารออนไลน์ Scientific Reports ของเนเจอร์ พับลิชชิง กรุ๊ป

หลังจากนั้น โอตากิได้ทำการทดลองเปรียบเทียบบนเกาะโอกินาวา โดยให้ผีเสื้อที่ปกติสมบูรณ์กลุ่มหนึ่งได้รับกัมมันตภาพรังสีในระดับต่ำ ผลที่ออกมาปรากฏว่า ผีเสื้อรุ่นต่อๆ มาเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม

“เราสรุปได้อย่างแน่นอนว่า กัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ เข้าไปทำลายสารพันธุกรรมในผีเสื้อ” โอตากิระบุ

แผ่นดินไหวใต้ทะเลเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2011 ทำให้เกิดคลื่นสึนามิซัดถล่มชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น สร้างความเสียหายต่อระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ 3 แห่งในโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ จนเกิดเป็นวิกฤตนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดของโลกในรอบ 25 ปี

ผลวิจัยชิ้นนี้ทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่ากัมมันตภาพรังสีอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อสุขภาพของผู้ที่ได้สัมผัสสารพิษเหล่านั้นในช่วงไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์แรกหลังเกิดเหตุการณ์ เนื่องจากรังสีได้แพร่กระจายเป็นบริเวณกว้างขวาง จนทางการต้องสั่งอพยพประชาชนนับแสนคนออกจากพื้นที่

ว่ากันว่า ระเบิดนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ ทิ้งลงเหนือเมืองฮิโรชิมา และนางาซากิ ก่อนจะสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นยังคงทำให้ชาวเมืองรุ่นลูกรุ่นหลานมีความผิดปกติทางพันธุกรรมมาจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม โอตากิเตือนว่า ผลวิจัยของเขาสรุปจากการกลายพันธุ์ในผีเสื้อใกล้โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถนำไปอนุมานกับสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ รวมถึงมนุษย์ได้ แต่หลังจากนี้ ทีมวิจัยของเขาจะทดลองหาผลกระทบของกัมมันตภาพรังสีในสัตว์ชนิดอื่นๆ ต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น