เอเอฟพี - ชาวบ้านญี่ปุ่นเตรียมจัดกิจกรรมปลูกต้นซากุระตลอดแนวชายฝั่งความยาว 190 กิโลเมตรของจังหวัดฟูกูชิมะ ซึ่งถูกคลื่นสึนามิซัดถล่มจนย่อยยับเมื่อปี 2011 เพื่อรอต้อนรับผู้อพยพทั้งหลายที่กลับคืนสู่บ้านในอีก 30 ปีข้างหน้า
สำนักข่าวจิจิเพรสรายงานว่า ชาวบ้าน อาสาสมัคร และผู้อพยพที่ทิ้งบ้านเรือนหนีอันตรายจากสารกัมมันตรังสีซึ่งรั่วไหลจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ จะร่วมแรงร่วมใจปลูกต้นกล้าซากุระจำนวน 20,000 ต้นริมชายฝั่งเขตฮามาโดริ จังหวัดฟูกูชิมะ โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 10 ปี
“อีก 30 ปีข้างหน้าทุกคนจะสามารถกลับมาที่จังหวัดฟูกูชิมะได้” ยูมิโกะ นิชิโมโตะ หัวหน้าโครงการวัย 59 ปี ให้สัมภาษณ์
“เราอยากทำชุมชนแห่งนี้ให้เป็นที่ภูมิใจของลูกหลาน”
พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดฟูกูชิมะถูกประกาศเป็นเขตอพยพ หลังโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ถูกสึนามิซัดถล่มจนระบบหล่อเย็นเสียหาย ส่งผลให้แท่งเชื้อเพลิงภายในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลายและนำไปสู่วิกฤตนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี
นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า บางพื้นที่ของจังหวัดนี้จะไม่สามารถอยู่อาศัยได้ไปอีกนานหลายสิบปี
นิชิโมโตะ และสามี อพยพออกจากบ้านในเมืองฮิโรโนะ ซึ่งหากจากโรงไฟฟ้าไปทางทิศใต้ไม่ถึง 30 กิโลเมตร และตัดสินใจกลับเข้าไปอีกครั้งในช่วงปลายปี 2011
เธอเล่าว่า แรงบันดาลใจในการจัดกิจกรรมครั้งนี้มาจากการดูโทรทัศน์ และเห็นภาพของต้นซากุระซึ่งออกดอกงดงามในเขตอพยพที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย เมื่อช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี 2012
รัฐบาลญี่ปุ่นทยอยยกเลิกคำสั่งอพยพ เมื่อพบว่าระดับกัมมันตภาพรังสีลดต่ำลงจนไม่เป็นอันตราย และทางตอนใต้ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะก็เป็นบริเวณที่ชาวบ้านกลับเข้าไปอยู่อาศัยรวดเร็วกว่าพื้นที่อื่นๆ
การบานของดอกซากุระมีความหมายพิเศษยิ่งสำหรับชาวญี่ปุ่น โดยทุกปีเมื่อดอกซากุระบานจะเป็นโอกาสที่ครอบครัว เพื่อนฝูง และญาติมิตรได้มาพักผ่อนรับประทานอาหารร่วมกันใต้ต้นซากุระ