รอยเตอร์ – ค่ากัมมันตรังสีรอบๆ ถังเก็บน้ำหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ เพิ่มขึ้นกว่า 20% สู่ระดับสูงสุดเท่าที่เคยวัดได้ในวันนี้ (4) และทำให้หลายฝ่ายต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการกำจัดรังสีของญี่ปุ่น หลังเกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 27 ปี
สำนักงานกำกับนิวเคลียร์ญี่ปุ่น (เอ็นอาร์เอ) ประกาศวันนี้ (4) ว่า บรรยากาศเหนือพื้นดินรอบๆถังเก็บน้ำปนเปื้อนรังสีในโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ มีค่ากัมมันตรังสีสูงถึง 2,200 มิลลิซีเวิร์ต จากเดิมที่วัดได้เพียง 1,800 มิลลิซีเวิร์ต เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา(31)
ความเข้มข้นทั้ง 2 ระดับมากพอจะทำให้มนุษย์ที่ไม่ได้สวมชุดป้องกันเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่อย่างไรก็ดี เอ็นอาร์เอยืนยันว่าจุดที่รังสีเข้มข้นยังอยู่ในวงแคบ และสามารถจำกัดบริเวณได้ไม่ยาก
ถังเก็บน้ำปนเปื้อนเหล่านี้ตั้งอยู่บนเนินเขาริมมหาสมุทรแปซิฟิก ภายในเขตโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิซึ่งถูกคลื่นสึนามิซัดทำลายเมื่อปี 2011 จนนำมาสู่วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ครั้งเลวร้ายที่สุดของโลก ถัดจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลระเบิดในยูเครน เมื่อปี 1986
ระดับรังสีที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ กำลังสร้างความวิตกกังวลต่อนานาชาติ ในขณะที่วานนี้(3) รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศทุ่มงบประมาณเกือบ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยยับยั้งการรั่วไหลของรังสีจากโรงไฟฟ้า
ก่อนหน้านี้ เอ็นอาร์เอได้ประกาศยกระดับสถานการณ์รังสีที่ฟูกูชิมะจากขั้น 1 “ผิดปกติ” สู่ขั้นที่ 3 “รุนแรง” ตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์นิวเคลียร์ (International Nuclear Event Scale - INES) ซึ่งไล่ระดับความรุนแรงจาก 1-7
ฮิโรอากิ โคอิเดะ อาจารย์จากสถาบันวิจัยเจาปฏิกรณ์แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University Research Reactor Institute) ระบุว่า “มีความเป็นไปได้สูงว่าถังเก็บน้ำปนเปื้อนอาจจะรั่วไหลมาก่อนหน้านี้... เราต้องคิดถึงผลกระทบต่อน้ำใต้ดิน เพราะถังเหล่านี้ไม่แข็งแรงนัก และพบปัญหามาตั้งแต่เริ่มผลิตเมื่อ 2 ปีก่อนแล้ว”