xs
xsm
sm
md
lg

IAEA เตือนญี่ปุ่นชี้แจง “สถานการณ์รังสีรั่ว” ให้ชัดเจน-อย่าอ้างมาตรฐาน INES บ่อยเกิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บ่อเก็บน้ำหล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิงของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ภายในโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิ
เอเอฟพี – ทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เตือนให้ญี่ปุ่นชี้แจงสถานการณ์รังสีรั่วไหลที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะให้สาธารณชนทราบอย่างถูกต้อง และหลีกเลี่ยงการเผยแพร่ข้อมูลที่สับสน

ไอเออีเอ ตั้งคำถามว่า เหตุใดสำนักงานกำกับนิวเคลียร์ญี่ปุ่น (NRA) จึงประกาศให้เหตุการณ์น้ำเปื้อนรังสีรั่วไหลราว 300 ตันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีความรุนแรงถึงระดับ 3 ตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์นิวเคลียร์ (International Nuclear Event Scale –INES) ทั้งที่เหตุการณ์อื่นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2011 เป็นต้นมาไม่เคยถูกจัดอันดับเช่นนี้มาก่อน

เอ็นอาร์เอ ประกาศยกระดับสถานการณ์รังสีรั่วที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิเทียบเท่าขั้นที่ 3 ตามมาตรา INES อย่างเป็นทางการในวันนี้(28) ซึ่งหมายความว่าเป็นสถานการณ์นิวเคลียร์ที่ร้ายแรงมากที่สุด รองจากเหตุการณ์แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิหลอมละลายเมื่อเดือนมีนาคมปี 2011 ซึ่งจัดว่ามีความร้ายแรงระดับ 7 เทียบเท่าเหตุโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลระเบิดในยูเครนเมื่อปี 1986

เอกสารที่ไอเออีเอส่งถึงสำนักงานกำกับนิวเคลียร์ญี่ปุ่นระบุว่า เหตุน้ำปนเปื้อนรังสีรั่วเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “นับเป็นครั้งล่าสุด... ที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อน แต่ไม่ถูกจัดเรตตามมาตรฐาน INES เหมือนครั้งนี้ สำนักงานกำกับนิวเคลียร์ญี่ปุ่นอาจต้องเตรียมคำอธิบายต่อสื่อและประชาชนว่า เหตุใดครั้งนี้จึงมีการจัดเรต แต่ครั้งก่อนๆไม่มี”

บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค (เท็ปโก) ผู้บริหารโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิ กำลังดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อยับยั้งการรั่วไหลของน้ำที่ใช้หล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ซึ่งได้รับความเสียหายจากคลื่นสึนามิเมื่อปี 2011 และยอมรับว่า น้ำปนเปื้อนประมาณ 300 ตันอาจไหลผ่านท่อระบายน้ำออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว ไม่นับรวมน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีระดับต่ำจากโรงไฟฟ้าที่ไหลออกสู่ทะเลประมาณ 300 ตันต่อวัน

ไอเออีเอ เตือนให้ญี่ปุ่นหลีกเลี่ยงการอ้างมาตรฐาน INES โดยไม่จำเป็น เพราะอาจทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดได้

“กลวิธีสื่อสารที่พอจะเป็นไปได้คือ อธิบายว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีนัยยะสำคัญเรื่องความปลอดภัยอย่างไร โดยไม่ต้องนำมาตรฐาน INES มาวัดระดับความรุนแรงทุกครั้งไป”

ชูนิจิ ทานากะ ประธานเอ็นอาร์เอ กล่าววันนี้(28)ว่า คณะกรรมการเอ็นอาร์เอจัดระดับสถานการณ์ฟูกูชิมะไว้ที่ขั้น 3 ตามมาตรฐาน INES แต่อันที่จริงก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสถานการณ์เลวร้ายถึงขั้นใด

“เรายังไม่ทราบแน่ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร, น้ำปนเปื้อนรั่วไหลออกไปมากแค่ไหน, มีรังสีเข้มข้นเท่าไหร่ และมันจะไหลออกไปที่ใดบ้าง... เราอาจจะต้องปรับตัวเลขใหม่หลังทราบข้อมูลเพิ่มเติมจากเท็ปโก”

ทานากะ ชี้ด้วยว่า สื่อต่างชาติยังไม่เข้าใจการจัดระดับความรุนแรงของสถานการณ์นิวเคลียร์ตามมาตรฐาน INES อย่างถ่องแท้ เมื่อเห็นว่าญี่ปุ่นประกาศตัวเลข 3 ก็นำไปตีความเองว่าถึงขั้น “รุนแรง” (serious)
กำลังโหลดความคิดเห็น