เอเจนซีส์ - รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศแผนมูลค่า 470 ล้านดอลลาร์ แก้ปัญหาน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีรั่วจากโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ซึ่งครอบคลุมถึงการทำให้ดินใต้เตาปฏิกรณ์กลายเป็นน้ำแข็งเพื่อใช้เป็นกำแพงป้องกันไม่ให้น้ำเล็ดรอดเข้าออก อย่างไรก็ดี มีผู้วิจารณ์ว่า โตเกียวเคลื่อนไหวเรื่องนี้เพราะกำลังลุ้นตำแหน่งเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2020
นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ กล่าวหลังประชุมทีมรับมือหายนะนิวเคลียร์เมื่อวันอังคาร (3) ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องรับบทนำในการแก้ปัญหาดังกล่าวที่เกิดจากการจัดการสถานการณ์ตามยถากรรมของโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (เทปโก้) โดยจะมีการกำหนดนโยบายพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
อาเบะรับปากว่า จะทำอย่างดีที่สุดและดำเนินมาตรการทางการคลังทั้งหมดที่จำเป็น ซึ่งหมายถึงการนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้เพื่อการณ์นี้
ความเคลื่อนไหวของโตเกียวมีขึ้นไม่กี่วันก่อนที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) จะลงมติว่า ประเทศใดจะได้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาปี 2020 โดยผู้สังเกตการณ์เตือนว่า สถานการณ์ในฟูกิชิมะอาจทำให้โตเกียวพลาดหวัง
ปัจจุบัน น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีหลายพันตันถูกกักเก็บไว้ในถังเก็บชั่วคราวในโรงงานฟูกูชิมะที่ห่างจากเมืองหลวงของญี่ปุ่นไปทางเหนือราว 220 กิโลเมตร โดยน้ำเหล่านี้จำนวนมากใช้ในการระบายความร้อนเตาปฏิกรณ์ที่หลอมละลายจากมหันตภัยสึนามิเดือนมีนาคม 2011
การค้นพบว่ามีการรั่วออกจากถังจัดเก็บบางส่วนหรือจากท่อ ตลอดจนมีการพบจุดผืนดินที่มีระดับกัมมันตภาพรังสีเข้มข้นโดยที่ไม่พบน้ำปนเปื้อนรั่วซึม กลายเป็นปัญหาลุกลามที่เทปโก้ต้องตามแก้ไข และไม่นานมานี้บริษัทเพิ่งยอมรับว่า น้ำที่มีความเป็นพิษสูงบางส่วนอาจเล็ดรอดลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก
แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการไหลของน้ำใต้ดินจากบริเวณลาดเขารายรอบผ่านใต้โรงงานและลงสู่ทะเลกำลังเป็นปัญหาหนัก เนื่องจากขณะที่ไหลผ่านดิน น้ำใต้ดินเหล่านั้นได้ไปผสมกับของเหลวปนเปื้อนมลพิษที่ไหลลงดินบริเวณใต้เตาปฏิกรณ์
เทปโก้ระบุว่า ขณะนี้น้ำใต้ดินปนเปื้อนกัมมันตรังสีไหลลงทะเลวันละ 300 ตัน
ภายใต้แผนการมูลค่า 47,000 ล้านเยน (470 ล้านดอลลาร์) ที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศออกมาล่าสุดนั้น นักวิจัยจะทำให้ดินรอบๆ เตาปฏิกรณ์ที่มีปัญหากลายเป็นน้ำแข็งเพื่อสร้างกำแพงที่ไม่มีสิ่งใดเล็ดรอดผ่านได้ ซึ่งนักวิจัยหวังว่า จะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำใต้ดินไหลผ่านโรงงาน
แผนการนี้ประกอบด้วยการฝังท่อตามแนวตั้งและปล่อยสารหล่อเย็นผ่านท่อเหล่านี้ โดยเจ้าหน้าที่คาดว่า โครงการทั้งหมดนี้จะใช้เวลา 2 ปีและเงินทุนราว 32,000 ล้านเยน
นอกจากนี้ยังมีการจัดงบอีก 15,000 ล้านเยนสำหรับอุปกรณ์ขจัดกัมมันตรังสีออกจากน้ำที่กักเก็บอยู่ในขณะนี้
ที่ผ่านมาปฏิบัติการสะสางโรงงานฟูกูชิมะของเทปโก้ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากนักการเมือง นักวิชาการ และประชาชนชาวญี่ปุ่นที่ปกติแล้วจะไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นใดๆ
ขณะเดียวกัน ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากวิจารณ์แผนการล่าสุดว่า รัฐบาลเพียงต้องการลดกระแสการรายงานข่าวโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะก่อนการตัดสินใจของไอโอซีเท่านั้น เนื่องจากทางเลือกที่ยั่งยืนกว่าควรเป็นการขอการสนับสนุนจากทั่วโลกเพื่อรับมือความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่ฟูกูชิมะกำลังเผชิญอยู่นี้
นอกจากนั้นยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า การทำให้ผืนดินกลายเป็นน้ำแข็งเพื่อสกัดการไหลของน้ำเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันทั่วไปในการขุดอุโมงค์เพื่อสร้างทางรถไฟใต้ดิน แต่ไม่เคยมีการทดสอบเพื่อนำมาใช้ในขอบเขตกว้างขวางเท่ากับโรงงานฟูกูชิมะ รวมทั้งระยะเวลาที่ต้องการใช้นานเป็นปีหรือสิบๆ ปี นอกจากนี้ เทคโนโลยีในการขจัดการปนเปื้อนกัมมันตรังสียังมีข้อบกพร่องมากมาย