xs
xsm
sm
md
lg

ทุกข์ของชาวนา : ต้นทุนสูงราคาขายต่ำ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ จะต้องพบกับปัญหาร้องเรียนจากเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากชาวนาและปัญหาที่ร้องเรียนก็เป็นปัญหาเดียวกันในทุกรัฐบาลคือ ราคาขายข้าวเปลือกในท้องตลาดต่ำ ต้นทุนที่ลงไปในการทำนาและปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากเงินที่ได้จากการทำนาในแต่ละปีไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในการดำรงชีวิต และนำมาเป็นทุนในการทำนาในฤดูกาลต่อไป จึงต้องเป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบต่อเนื่องกันไปในลักษณะหนี้เก่าใช้คืนไป หนี้ใหม่กู้ต่อเป็นวัฏจักร กล่าวคือ เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวเงินก้อนแรกที่ได้จากการขายข้าวเปลือกจะต้องนำไปใช้หนี้ ทั้งนี้จะเห็นได้จากเหตุปัจจัยซึ่งเกิดขึ้นในทุกปีดังต่อไปนี้

1. เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวเงินก้อนแรกที่ได้จากการขายข้าวเปลือก จะถูกนำไปจ่ายหนี้ซึ่งมีทั้งหนี้ในระบบอันได้แก่ หนี้ ธ.ก.ส.และหนี้นอกระบบอันได้แก่ นายทุนเงินกู้ที่ชาวนากู้มาเพื่อซื้อของกินของใช้ และรวมไปถึงการซื้อปัจจัยการผลิต เช่น น้ำยาปราบศัตรูพืชและปุ๋ย เป็นต้น

2. เมื่อฤดูกาลทำนาในปีต่อไปมาถึง ชาวนาก็ไม่มีเงินเหลือไว้เพื่อการลงทุนจึงต้องกู้มาลงทุนใหม่อีกครั้ง

ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการนี้เอง ทำให้ชาวนามีหนี้สะสมไม่มีทางจะปลดหนี้ให้หมดไปอย่างถาวร

อีกประการหนึ่ง การช่วยเหลือของภาครัฐเท่าที่ผ่านมา จะเป็นการช่วยเหลือโดยการพยุงราคาหรือประกันรายได้ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือที่ปลายเหตุ จึงทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง และเป็นรูปธรรม ทั้งยังทำให้ประเทศมีภาระทางด้านการเงินเพิ่มขึ้นทุกปีตามจำนวนข้าวเปลือกที่ชาวนาผลิตได้

แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงแนวทางการให้ความช่วยเหลือชาวนาในรูปของการช่วยลดต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,000 บาท โดยการกำหนดรายละไม่เกิน 15 ไร่หรือเท่ากัน จำนวนเงิน 15,000 บาท และจะช่วยเฉพาะข้าวนาปีเท่านั้น ทั้งยังเน้นการกำหนดโซนการผลิตด้วย

จากมาตรการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวข้างต้น ทำให้มองเห็นการลดภาระทางด้านการเงินของประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับชาวนาลงได้ในระดับหนึ่ง และยังทำให้มองเห็นการแก้ปัญหาในระยะยาวได้ ถ้ามาตรการกำหนดโซนการผลิตได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วย ดังนั้นในขั้นนี้ทำให้มองเห็นการแก้ปัญหาชาวนาเริ่มต้นไปถูกทางมากขึ้น

แต่ถ้าจะให้ดียิ่งกว่านี้ รัฐบาลควรจะกำหนดแนวทางให้ชัดเจน และลงในรายละเอียดเป็นขั้นเป็นตอนดังต่อไปนี้

1. กำหนดโซนการผลิตโดยกำหนดพื้นที่และชนิดของข้าวให้ชัดเจน โดยยึดความเหมาะสมและคุณภาพของข้าวที่จะผลิตได้เป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น กำหนดให้พื้นที่ในจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ เป็นโซนการปลูกข้าวหอมมะลิ เป็นต้น

2. การกำหนดราคาขายให้ยึดคุณภาพของข้าวเป็นหลัก ไม่ควรกำหนดเพียงน้ำหนักเพียงอย่างเดียว

3. การประกันราคาควรจะเป็นมาตรการบังคับเฉพาะในโซนที่รัฐกำหนด ไม่ควรประกันราคา ไม่ควรใช้นอกโซนที่กำหนด

ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้มีการผลิตจนล้นตลาด และทำให้ราคาตกต่ำ ทั้งยังเป็นการป้องกันคุณภาพมิให้ด้อยไปกว่าที่ตลาดต้องการ อันเป็นเหตุให้มีการผลิตข้าวด้อยคุณภาพ และทำให้เสียหายต่อการส่งออกด้วย

อีกประการหนึ่ง นอกจากกำหนดโซนการผลิตแล้ว ควรจะทำมาตรการนี้ไปใช้กับพืชไร่ทุกชนิดที่สามารถปลูกในพื้นที่ทำนาด้วย เช่น ข้าวโพด ถั่ว เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันการผลิตล้นตลาด และเป็นการป้องกันผลผลิตด้อยคุณภาพในทำนองเดียวกับข้าว

แต่อย่างไรก็ตาม กำหนดพื้นที่เพื่อการปลูกพืชเศรษฐกิจแต่ละชนิดอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง และเป็นเหตุให้ราคาขายและราคาเช่าที่ดินในโซนการผลิตสูงขึ้น อันอาจนำไปสู่การทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นได้ด้วย รัฐควรป้องกันโดยการออกกฎหมายควบคุมราคาที่ดินทั้งขายและให้เช่าเพื่อป้องกันการปั่นราคาที่ดินของบรรดานายทุนที่ดิน และในขณะเดียวกัน รัฐควรจะแนะนำให้มีการปลูกพืชทดแทนข้าวในที่นอกโซนการทำนา โดยยึดผลตอบแทนจะต้องไม่น้อยไปกว่าการทำนา ถ้าทำได้เช่นนี้ก็จะทำให้เชื่อได้ว่าจะไม่เกิดข้อโต้แย้งจากชาวนาที่อยู่นอกโซนผลิตได้ในระดับหนึ่ง

อีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยชาวนาได้ก็คือ นอกเหนือจากมาตรการดังกล่าวแล้ว ข้างต้นก็คือศึกษาและวิจัยการแปรรูปพืชเศรษฐกิจที่สามารถปลูกได้ในพื้นที่ทำนา เพื่อจะทำให้การปลูกข้าวลดลงเหลือในสัดส่วนที่ไม่เกินความต้องการของตลาด ทั้งในและนอกประเทศ ทั้งนี้เพื่อรักษาระดับราคาข้าวให้อยู่ในระดับที่ชาวนามีกำไร และยังคงทำนาต่อไปได้ ทั้งรัฐบาลเองไม่ต้องทุ่มเงินเพื่อพยุงราคาหรือช่วยลดต้นทุนโดยการจ่ายเงินเพื่อช่วยเกื้อหนุนในการผลิตอีกต่อไป

มาตรการทุกประการจะเกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม รัฐจะต้องให้ชาวนายืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเอง ซึ่งสามารถทำได้โดยการให้ชาวนารวมตัวกันเป็นรูปสหกรณ์ชาวนาดำเนินการครบวงจรตั้งแต่การผลิต การขาย และการจัดหาปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย น้ำยาปราบศัตรูพืช และเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อตัดวงจรเอาพ่อค้าคนกลางออกไป หรือแม้จะมีอยู่ก็ให้มีอำนาจต่อรองของชาวนาสูงขึ้น เพื่อป้องกันการกดราคารับซื้อข้าวเปลือก และการขูดรีดขายปัจจัยการผลิตแพงหมดไปหรือลดระดับลง
กำลังโหลดความคิดเห็น