ตรัง - หอการค้า จ.ตรัง ประเดิม “โครงการ 1 ไร่ 1 แสน” เป็นแห่งแรกของภาคใต้ ด้วยการปลูกต้นหว้า ปล่อยพันธุ์ปลา และร่วมดำนาข้าวสังข์หยดในแปลงสาธิต ในพื้นที่ตำบลนาโยงใต้ อำเภอเมืองตรัง
วันนี้ (15 ก.ย.) นายอมรเศรษฐ์ สุวรรณมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมกับ นายสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง และสมาชิกหอการค้าจังหวัดตรัง ได้เข้าร่วมโครงการ 1 ไร่ 1 แสน เป็นแห่งแรกของภาคใต้ ด้วยการปลูกต้นหว้า ปล่อยพันธุ์ปลา และร่วมดำนาข้าวสังข์หยดในแปลงสาธิต เนื้อที่ 6 ไร่ ที่บ้านหนองหว้า ตำบลนาโยงใต้ อำเภอเมืองตรัง ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากการริเริ่มของหอการค้าไทย ภายใต้แผนงานลดความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายรายได้ โดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างต้นแบบการทำเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่จริง และให้ผู้ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วเป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์แก่เกษตรกร ซึ่งหัวใจหลักของโครงการ 1 ไร่ 1 แสน คือ การใช้พื้นที่ 1 ไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการปลูกข้าว หรือพืชอื่น ผสมผสานกับการเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่วนบริเวณคันนา หรือรอบแปลงยังจะมีการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อใช้บริโภคเอง โดยมีการเตรียมดิน การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การทำปุ๋ย และอาหารสัตว์น้ำจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตปลอดจากสารพิษ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช และการซื้ออาหารสัตว์น้ำ ตลอดจนทำให้เกษตรกรมีสุขภาพที่ดีขึ้น
สำหรับโครงการ 1 ไร่ 1 แสนของจังหวัดตรัง ได้ใช้พื้นที่บ้านหนองหว้า ดำเนินการ และมีเกษตรกรเข้าร่วม 5 คน โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน ซึ่งพื้นที่ส่วนแรก จำนวน 2 ไร่ ของ นายนิกร ไพริน ได้เริ่มดำนาลงไปแล้ว พื้นที่ส่วนที่ 2 จำนวน 4 ไร่ ของ นายสุธี ดำคง กำลังอยู่ระหว่างการปรับพื้นที่โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง คาดว่าจะสามารถดำนาได้ภายในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ พร้อมทั้งปลูกผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไป ซึ่งโครงการ 1 ไร่ 1 แสน ที่ดำเนินการในทั่วประเทศนั้นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการทำนา สามารถเห็นผลได้เร็วกว่าพืชชนิดอื่นๆ