เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - น้ำบาดาลราวร้อยละ 80 ในลุ่มแม่น้ำสำคัญบนแผ่นดินใหญ่ไม่ปลอดภัยสำหรับการสัมผัสของมนุษย์ จากผลสำรวจของกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน
จากรายงาน ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกระทรวงเมื่อวันอาทิตย์ (10 เม.ย.) กระทรวงมีการสำรวจน้ำบาดาลใน 18 มณฑลเมื่อปีที่แล้ว ใน 2,103 บ่อของลุ่มแม่น้ำแยงซี ลุ่มแม่น้ำเหลือง ลุ่มแม่น้ำไหว และลุ่มแม่น้ำไห พบว่า ปนเปื้อนสารพิษจากการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม และจากเกษตรกรรม ซึ่งเป็นภัยคุกคามใหญ่ที่สุดต่อมาตรฐานคุณภาพของน้ำ
รายงานดังกล่าวนับเป็นปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยประจำเดือนของกระทรวง ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพน้ำเป็นครั้งแรก จากเดิมที่มีการรายงานแต่เพียงข้อมูล เช่น ระดับความลึก และปริมาณ
ผลการทดสอบระบุว่า นอกจากมีการปนเปื้อนสารไนเตรต ซึ่งเป็นปัญหาน่าวิตกสำคัญโดยทั่วไปแล้ว ยังพบว่า น้ำบาดาลในบางภูมิภาคมีการปนเปื้อนโลหะหนัก และสารเคมีจากยาปราบศัตรูพืช ซึ่งยากกำจัดการตกค้าง
เกือบครึ่งหนึ่ง หรือ ร้อยละ 47.3 ของบ่อน้ำ ที่ทดสอบ พบว่า คุณภาพน้ำอยู่ที่ระดับ 5 หรือ “ เลวที่สุด” และบ่อน้ำอีกประมาณ 1 ใน 3 คุณภาพน้ำอยู่ที่ระดับ 4 หรือ “เลว” ไม่มีบ่อใด ที่คุณภาพน้ำ “ ยอดเยี่ยม” เลย
นายหม่า จวิน ผู้อำนวยการของสถาบันกิจการสาธารณะและสิ่งแวดล้อมระบุว่า น้ำใต้ดินคุณภาพระดับ 4 หรือ 5 นี้ไม่มีความปลอดภัย ที่มนุษย์จะสัมผัส
อย่างไรก็ตาม การปนเปื้อน ที่กระทรวงทรัพยากรน้ำตรวจพบดังกล่าวสูงกว่าที่กระทรวงป้องกันสิ่งแวดล้อมตรวจพบ ซึ่งมีการเผยแพร่ก่อนหน้าที่ร้อยละ 60 โดยข้อมูลของกระทรวงป้องกันสิ่งแวดล้อมคำนวณจากจุด ที่มีการตรวจสอบเกือบ 4,900 แห่งใน 202 เมือง อย่างไรก็ตาม จุดที่กระทรวงทั้งสองมีการตรวจสอบยังไม่ทราบชัดเจนว่า มีการคาบเกี่ยวกันหรือไม่
ข้อมูล ที่แตกต่างกันนี้แสดงถึงปัญหาเรื้อรังเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจีน โดยกระทรวงทรัพยากรน้ำ กระทรวงที่ดิน และกระทรวงสิ่งแวดล้อมมักมีปัญหาขัดแย้งกันเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ
นอกจากนั้น ยังมีผู้วิจารณ์ว่า มาตรฐานคุณภาพน้ำบาดาลของจีนมีความล้าสมัยและการตรวจสอบทำไม่เพียงพอ ซึ่งบ่งชี้ว่า การสำรวจอาจสะท้อนปัญหามลพิษทั้งหมดไม่ได้ ยกตัวอย่าง เช่น มาตรฐานคุณภาพน้ำ ที่มีการกำหนดใช้มานาน 20 ปีนั้นไม่ครอบคลุมสารมลพิษจากปิโตรเคมี