xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนากับปัญหาการเป็นหนี้

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในทุกฤดูกาลทำนา ชาวนาส่วนใหญ่จะต้องเป็นลูกหนี้เงินกู้ทั้งในระบบคือ กู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรฯ หรือ ธ.ก.ส.เพื่อนำเงินสดมาจ่ายค่าปัจจัยการผลิต อันได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และค่าจ้างแรงงานรถไถนา หรือค่าผ่อนรถไถนา รวมไปถึงค่าจ้างรถเกี่ยวข้าว และนอกระบบ ซึ่งมีทั้งกู้เงินสดมาจ่ายค่าปัจจัยการผลิต และซื้อสินค้าเงินเชื่อแล้วจ่ายคืนเมื่อขายข้าวได้

นอกจากเป็นหนี้เพื่อการลงทุนแล้ว มีอยู่ไม่น้อยที่เป็นลูกหนี้นอกระบบเพื่อนำเงินมากินมาใช้ในช่วงที่ยังเก็บเกี่ยวและขายข้าวไม่ได้

ดังนั้น โดยสรุปจึงกล่าวได้ว่าชาวนาส่วนหนึ่งและอาจเป็นส่วนใหญ่ด้วยเป็นหนี้สะสมไม่มีวันปลอดหนี้ ทำได้อย่างมากก็แค่จ่ายหนี้เก่า และก่อหนี้ใหม่ในทุกฤดูกาลการผลิต และจ่ายคืนในฤดูกาลเก็บเกี่ยวหมุนเวียนอย่างนี้เรื่อยไป และที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ชาวนาส่วนใหญ่ไม่มีที่นาเป็นของตนเอง หรือมีอยู่บ้างแต่ก็มีจำนวนไม่มากพอที่จะทำการปลูกข้าวให้มีผลผลิตมากพอที่จะนำรายได้มาเลี้ยงครอบครัว จึงต้องเช่าพื้นที่นาเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

2. ในการลงทุนทำนาในแต่ละปี จะต้องมีเงินมาซื้อปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืชหรือในบางรายที่ไม่เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ก็ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ด้วย รวมไปถึงค่าจ้างแรงงานคน และเครื่องจักรกลอันได้แก่ รถไถ และรถเก็บเกี่ยว เป็นต้น

3. นอกจากต้องลงทุนในการทำนาสูงแล้ว ชาวนายังเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติอันได้แก่ภัยแล้ง น้ำท่วม และการทำลายจากศัตรูพืช ทั้งยังเสี่ยงต่อราคาขายที่อาจจะต่ำกว่าต้นทุนในปีที่มีผลผลิตข้าวล้นตลาดโลก และส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศตกต่ำไปตามด้วย

ด้วยเหตุ 3 ประการนี้ในทุกฤดูกาลผลิต ชาวนาจึงเป็นลูกหนี้

ดังนั้น เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวชาวนาจึงคาดหวังว่าจะได้ผลผลิตมาก และขายได้ราคาดีพอจะมีกำไรมาใช้หนี้ และมีเหลือมาใช้จ่ายในครอบครัว ถ้าโชคดีอาจเหลือเก็บไว้ใช้สอยในยามจำเป็น แต่ผู้ที่โชคดีในลักษณะนี้มีอยู่น้อย ส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่กับการจ่ายหนี้เก่าและก่อหนี้ใหม่เป็นวัฏจักร

โดยสรุป ปัญหาหนี้สินของชาวนาไม่มีทางหมดไปด้วยการดำเนินการของชาวนาเอง

ดังนั้น รัฐควรจะต้องเข้าไปแก้ไขจัดการให้ชาวนาเลี้ยงตนเองได้ โดยปราศจากการเป็นหนี้และมีเงินเหลือไว้ใช้ในคราวจำเป็นเช่นเจ็บป่วย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ชาวนาส่วนใหญ่ยากจนและเป็นลูกหนี้ตลอดกาลไม่มีวันที่อยู่โดยปราศจากการเป็นหนี้ มีชาวนาอยู่สองกลุ่มที่ช่วยตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวไม่เดือดร้อนจากการเป็นหนี้ และมีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นในอนาคต

ชาวนาสองกลุ่มนี้ก็คือ

1. ชาวนาที่รวมกลุ่มกันผลิตข้าวไร้สารพิษ โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และยาปราบศัตรูพืชที่มีส่วนผสมสารพิษ และใช้พันธุ์ข้าวเฉพาะถิ่น เช่น ข้าวสังข์หยด เป็นต้น ขายได้ราคาดีและสามารถกำหนดเงื่อนไขการขายได้เองไม่เดือดร้อนเรื่องราคาต่ำกว่าทุน

2. ชาวนาที่ปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาแบบดั้งเดิมคือ ทำนาอย่างเดียวมาเป็นแบบไร่นาสวนผสมตามทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้มีรายได้ตลอดปี และมีอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน ช่วยให้อยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน และเป็นหนี้จากการลงทุนในแบบเก่า เพราะสามารถใช้แรงงานภายในครอบครัว และปัจจัยการผลิตที่จัดทำขึ้นเองได้ในรูปแบบของการค่อยเป็นค่อยไป ไม่ก้าวกระโดดจนทำให้ใช้เงินเกินตัว

ดังนั้น ถ้ารัฐจะช่วยชาวนาก็จะทำได้ 2 แนวทางคือ

1. แนะนำให้ชาวนาดำเนินการรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในสองรูปแบบดังกล่าวแล้ว และรัฐให้ความช่วยเหลือจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และเข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงจัดหาที่ดินในลักษณะให้เช่าซื้อโดยมีระยะผ่อนระยะยาวหรือให้เช่าในราคาถูกแก่ชาวนาที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง

2. วางแผนแก้ปัญหาชาวนาโดยรวมทั่วประเทศ โดยการทำการสำรวจพื้นที่ทำนาและพันธุ์ข้าวประจำถิ่นทั่วประเทศ และโซนการผลิตให้ชัดเจนเพื่อเป็นการง่ายต่อการควบคุมปริมาณการผลิต และคุณภาพของพืชผลที่ผลิตได้ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้รัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินและเงินทุนในทำนองเดียวกับข้อ 1

นอกจากจะต้องควบคุมปริมาณการผลิต และคุณภาพของพืชผลที่ผลิตได้แล้ว รัฐจะต้องประกันราคาขายให้อยู่ในระดับที่พอจะมีกำไรตามที่ควรจะเป็นในการที่ราคาขายในท้องตลาดต่ำกว่าทุน

ถ้ารัฐทำได้เช่นนี้ เป็นที่เชื่อได้ว่าปัญหาหนี้ของชาวนาจะค่อยๆ ลดลง และมีโอกาสที่จะหมดไปในที่สุด

ในทางตรงกันข้าม ถ้ารัฐยังยึดภาระแก้ปัญหาด้วยการแทรกแซงราคาเพียงอย่างเดียว โดยเข้าไปช่วยเหลือเรื่องการผลิตดังที่ทำมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ นอกจากจะแก้ปัญหาให้หมดไปไม่ได้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มปัญหาดังต่อไปนี้

1. ยิ่งรับจำนำราคาสูงมากเท่าใด ยิ่งเป็นเหตุจูงใจให้ชาวนาปลูกข้าวเพิ่มขึ้น และรัฐจะต้องหาเงินมาใช้เพื่อโครงการนี้มากขึ้น และถ้าไม่สามารถขายออกไปในราคาที่สูงกว่ารับจำนำไว้ การขาดทุนก็จะเพิ่มขึ้นดังที่เกิดขึ้นแล้วในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

2. ถ้าการปลูกข้าวเพิ่มด้วยการทำนาปรังในเขตชลประทาน ก็จะใช้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้น และถ้าในที่ใดมีน้ำที่กักเก็บไว้น้อย ก็จะส่งผลกระทบถึงการผลิตกระแสไฟฟ้า และการทำน้ำประปา

โดยสรุป การแก้ปัญหาหนี้ของชาวนาด้วยวิธีแทรกแซงราคานอกจากแก้ปัญหาให้หมดไปไม่ได้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มปัญหาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น