xs
xsm
sm
md
lg

ยางตก - ใต้แย่ อนาคตควรไปทางไหนดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ยางพารา นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งอยู่คู่กับชาวใต้ และชาวตรังมายาวนานแล้ว จนถือเป็นรายได้หลักสำหรับการเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของผู้คน ที่ส่วนใหญ่ หรือประมาณ 80% ยังคงประกอบอาชีพนี้ ถึงแม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะมีการไปเพาะปลูกในภาคอื่นๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ราคายางพาราที่เคยสดใส และทะลุไปถึง กก.ละ 200 บาท เมื่อปี 2554 กลับค่อยๆ ลดลงสุดจนไปอยู่ที่ กก.ละ 50-60 บาท เมื่อช่วงกลางปี 2556 ก่อนที่ล่าสุด จะพุ่งกลับมาอยู่ที่ กก.ละ 70-80 บาท นับเป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบให้แก่ผู้คนเป็นอย่างยิ่ง ท่ามกลางภาวะต้นทุน และค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะเห็นภาพของเกษตรกรในภาคใต้ และใน จ.ตรัง ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบช่วยหาทางแก้ปัญหา และออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้ยางพารามีราคาไม่ต่ำกว่า กก.ละ 100 บาท ก่อนที่ความเป็นอยู่จะย่ำแย่ไปมากกว่านี้

“วิรัตน์ อันตรัตน์” ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยาง (สกย.) บ้านน้ำผุด จำกัด ในฐานะประธานชุมนุม สกย.จังหวัดตรัง มองว่า จากสถานการณ์ราคายางพาราที่ตกต่ำ ได้สร้างผลกระทบให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อความอยู่ ขณะที่สินค้าที่จำเป็นต้องใช้ เช่น ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ก็แพงขึ้นทุกวัน ประกอบกับเกษตรกรจะมีพื้นที่ปลูกยางพาราแค่รายละ 5-10 ไร่ ซึ่งถือว่าน้อยมากสำหรับการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น หรือหากนำไปจัดทำการเกษตรแบบผสมผสาน ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีรายได้เพียงพอต่อการความต้องการหรือไม่ รวมทั้งยังมีทิศทางการตลาด และราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน

ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรชาวตรัง และชาวภาคใต้จึงยอมตัดสินใจที่จะอดทนทำสวนยางพาราต่อไป ท่ามกลางอนาคตที่ตอบไม่ได้ว่าจะเป็นเช่นไรกันแน่ ซึ่งหนทางเดียวที่จะช่วยให้เกษตรกรอยู่รอดก็คือ ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือด้านการดำรงชีพมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวกัน ในรูปแบบกลุ่ม หรือสหกรณ์ เพราะเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การพัฒนา และยกระดับการทำสวนยางพารา แทนที่จะปล่อยให้ต่างคนต่างอยู่กันอย่างเช่นในปัจจุบันนี้ รวมทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในหมู่เกษตรกรด้วยกัน เพื่อที่จะต่อรองในเรื่องของราคา หรือต้นทุนในด้านต่างๆ มากขึ้น

ในขณะที่ “สลิล โตทับเที่ยง” ประธานหอการค้า จ.ตรัง เห็นว่า ขณะนี้ชาวภาคใต้มีความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจค่อนข้างสูง จากการทำสวนยางพาราเพียงอย่างเดียว หากวันไหนราคาตก หรือมีฝนฟ้าคะนองธรรมชาติไม่เป็นใจอย่างที่ได้เห็นมาบ่อยครั้งในปัจจุบัน ก็จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกรเป็นอย่างมาก

ดังนั้น หอการค้าไทย จึงได้น้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาส่งเสริมให้แก่เกษตรกรในภูมิภาคต่างๆ นับตั้งแต่เมื่อปี 2553 ตามโครงการ 1 ไร่ 1 แสนบาท เพราะเมื่อลองเทียบพื้นที่ 1 ไร่ สำหรับการปลูกยางพาราแล้ว พบว่าถึงแม้จะมีราคาถึงกิโลกรัมละ 100 บาท แต่จะมีรายได้แค่ไร่ละ 3 หมื่นบาทต่อปีเท่านั้น

ขณะเดียวกัน พื้นที่ว่างภายในสวนยางพารา เกษตรกรยังสามารถปลูกพืชชนิดอื่นๆ แซมได้ โดยเฉพาะพืชผักสวนครัว รวมทั้งยังเหมาะต่อการเลี้ยงไก่พื้นบ้าน ปลาดุก และกบ ขณะที่เศษพืชผัก หรือมูลสัตว์ก็ถือเป็นปุ๋ยธรรมชาติชั้นดี แทนที่เกษตรกรจะต้องไปซื้อปุ๋ยเคมี ซึ่งมีต้นทุนสูงมาก หรือถ้าสามารถแบ่งพื้นที่ว่างไปปลูกข้าวร่วมด้วย ก็จะยิ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างมาก เพราะนอกจากสร้างแหล่งอาหารในครอบครัวแล้ว ยังสร้างรายได้เสริมให้อีกด้วย ดีกว่าปล่อยทิ้งร้าง หรือนำไปใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่อย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

วันนี้ ชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางพารา จึงอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะต้องตัดสินใจว่า ควรเดินหน้าไปในทิศทางไหนดี

 
 





กำลังโหลดความคิดเห็น