ตรัง - ประธานชุมนุม สกย.ตรัง แนะเกษตรกรแก้ปัญหาราคาตกต่ำด้วยการรวมกลุ่มกัน หรือสหกรณ์ เสริมความเข้มแข็งของภาคเกษตร และเพิ่มอำนาจการต่อรอง ดีกว่านำผลผลิตไปขายให้แก่พ่อค้าคนกลางแบบเดี่ยวๆ
นายวิรัตน์ อันตรัตน์ ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยาง (สกย.) บ้านน้ำผุด จำกัด ในฐานะประธานชุมนุม สกย.จังหวัดตรัง กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคายางพาราที่ตกต่ำลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรอย่างมาก โดยเฉพาะความเป็นอยู่ ขณะที่สินค้าที่จำเป็นต้องใช้ เช่น ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ก็แพงขึ้นทุกวัน ประกอบกับเกษตรกรจะมีพื้นที่ปลูกยางพาราแค่รายละ 5-10 ไร่ ซึ่งถือว่าน้อยมากสำหรับการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น หรือหากนำไปจัดทำการเกษตรแบบผสมผสาน ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีรายได้เพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ รวมทั้งยังมีทิศทางการตลาด และราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน
ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรชาวตรัง และชาวภาคใต้โดยส่วนใหญ่จึงยอมตัดสินใจที่จะอดทนทำสวนยางพาราต่อไป ท่ามกลางอนาคตที่ตอบไม่ได้ว่าจะเป็นเช่นไรกันแน่ ดังนั้น หนทางเดียวที่จะช่วยให้เกษตรกรอยู่รอดก็คือ ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือด้านการดำรงชีพมากยิ่งขึ้น และพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวกัน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบกลุ่ม หรือสหกรณ์ เพราะนำไปสู่การพัฒนา และยกระดับการทำสวนยางพารา แทนที่จะปล่อยให้ต่างคนต่างอยู่กันอย่างเช่นในปัจจุบันนี้ รวมทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในหมู่เกษตรกรด้วยกัน ตลอดจนมีอำนาจที่จะต่อรองในเรื่องของราคา หรือต้นทุนในด้านต่างๆ มากขึ้น
โดยขณะนี้ ใน จ.ตรัง มี สกย.จำกัด อยู่ประมาณ 70 แห่ง กระจายอยู่ทั่วทุกอำเภอ ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากที่สุด และมีความเข้มแข็งมากที่สุดในระดับภาคใต้ เนื่องจากแต่ละแห่งสามารถรับซื้อยางพารา และผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกได้สูงในแต่ละปี ดีกว่าให้เกษตรกรไปขายกันเองให้แก่พ่อค้าคนกลาง แล้วนำผลกำไรส่วนหนึ่งกลับคืนสู่ชุมชุน รวมทั้งนำไปพัฒนาสหกรณ์ให้ก้าวหน้ามากขึ้น
ส่วนแนวโน้มในอนาคต คงมี สกย.จำกัด เพิ่มอีกไม่กี่แห่งแล้ว เนื่องจากการก่อตั้งจะต้องใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป แต่คงไม่จำเป็น เพราะเกษตรกรสามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มก่อน แล้วค่อยนำผลผลิตมาส่ง สกย.จำกัด อีกครั้งก็ได้