ชาวนาเฮ! คสช. จัดแพจเกจใหญ่ช่วย หลังผู้ผลิตปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช และปัจจัยการเกษตร ยอมลดราคาเพื่อลดต้นทุนเพาะปลูกข้าว เตรียมเสนอ นบข.พิจารณาเร็วๆ นี้ พร้อมยันมีแผนดูแลราคาข้าวเปลือก ป้องกันราคาตกต่ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปหารือร่วมกับผู้ประกอกการปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช และสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตรต่างๆ เพื่อหาทางลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร ซึ่งผลการหารือ ผู้ประกอบการยินดีให้ความร่วมมือในการปรับลดราคาลงมาตามที่ คสช.ได้ขอความร่วมมือ โดยจะปรับลดราคาเป็นแพกเกจใหญ่ในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำนาทั้งหมด และจะมีการนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. พิจารณาเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ ในการปรับลดราคา ผู้ผลิตปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นสัดส่วนต้นทุนที่สำคัญที่สุดในการทำนา ได้ยอมที่จะปรับลดราคาปุ๋ยเคมีที่ใช้สำหรับปลูกข้าว เบื้องต้นน่าจะอยู่ในกรอบกระสอบละ 40-50 บาท ส่วนยาปราบศัตรูพืช และปัจจัยการเกษตรอื่นๆ ก็จะปรับลดราคาแตกต่างกันไป เพื่อเป็นการลดราคาเพื่อช่วยเหลือชาวนาในการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 นี้
ส่วนการชดเชยปัจจัยการผลิตอื่นๆ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะช่วยเหลือด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยจะลดดอกเบี้ยลง 3% จากอัตราดอกเบี้ยปกติ เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยมีทางเลือกที่จะเสนอให้พิจารณา 2 แนวทาง คือ ให้กู้ได้รายละ 5 หมื่นบาท หรือรายละ 1 แสนบาท
สำหรับแผนการดูแลราคาข้าวเปลือกฤดูการผลิตปี 2557/58 คสช.ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำแผนและมาตรการในการดูแล แต่จะต้องไม่ใช้โครงการรับจำนำ และโครงการประกันรายได้ โดยแนวทางในการดำเนินการ ให้เน้นการดูแลราคาข้าวเปลือกให้ชาวนาขายได้คุ้มกับต้นทุนการผลิตและมีกำไรพออยู่ได้ ซึ่งจะมีการเสนอมาตรการดำเนินการหลายๆ แนวทางให้ นบข.พิจารณา ทั้งการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก การตั้งโต๊ะรับซื้อ การซื้อในราคานำตลาด โดยวิธีการดำเนินการจะต้องมาพิจารณาร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการด้านการผลิตและการตลาดสินค้าข้าว ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เป็นประธาน ไม่ได้มีการตำหนิการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ เพียงแต่ต้องการทราบแนวทางการทำงานว่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้ชาวนาได้อย่างไร และการทำงานมีความคืบหน้ามากน้อยแค่ไหน
ส่วนกรณีการชดเชยปัจจัยการผลิต ได้มีการพิจารณาหลายแนวทาง ทั้งข้อเสนอของชาวนาที่ต้องการให้ชดเชยไร่ละ 3,000 บาท ข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เสนอไร่ละ 1,700-2,400 บาท แต่สุดท้ายที่ประชุมได้ขอให้ใช้แนวทางที่เป็นไปได้ ก็คือ การลดต้นทุนการเพาะปลูก และการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ชาวนา