xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บุญยืน ศิริธรรม “ดิฉันอยากฟ้องประชาชนว่า มีคนรวมหัวเอาเปรียบเราในเรื่องพลังงาน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บุญยืน ศิริธรรม
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เพราะเห็นว่าผู้บริโภค “ไม่รู้” และถูก “ละเมิดสิทธิ์” ในเรื่องพลังงานอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ “บุญยืน ศิริธรรม” ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และอดีตส.ว. สมุทรสงครามคนนี้ ออกมาเคลื่อนไหวให้มีการปฏิรูปพลังงานมานานกว่า 10 ปี

มาวันนี้ แม้จะเหนื่อยจะล้า แต่เธอก็ไม่ยั่นที่จะบอกประชาชนให้รู้ความจริงว่ามรดกของชาติกำลังถูก “ไอ้โม่ง” เอาสมบัติของเราไปแบ่งกันเอง โดยปล่อยให้ประชาชนอดอยากปากแห้ง

และนี่คือสิ่งที่เธออยากจะเผย “ความจริง” ให้ประชาชนรับรู้ เพื่อหวังให้เกิดการรับรู้และช่วยกันปฏิรูปพลังงานที่เป็นธรรมต่อไป

คิดยังไงกับเวทีเสวนาปฏิรูปพลังงานครั้งที่สองที่เพิ่งผ่านพ้นไป

ต้องบอกว่าเราสู้เรื่องพลังงานมามากและสู้มานาน สิ่งที่เราต้องการคือ อยากจะบอกความจริงแก่ประชาชน และชี้ให้เห็นว่ามีคนโกหก นี่คือจุดประสงค์ของเรา ส่วนเวทีเสวนาพลังงานนั้น หลวงปู่พุทธะอิสระลุกขึ้นมามีอิทธิพลทางความคิด ดังนั้นไม่ว่าหลวงปู่จะจัดเวทีอย่างไร ท่านก็จะเป็นคนรันขบวน เราก็ต้องไปตามขบวนของท่าน ไม่งั้นหลวงปู่ก็จะบอกว่าแน่จริงทำไมไม่มาเวทีฉันล่ะ เราเลยต้องไป

ดิฉันเป็นคนมองโลกแง่บวกว่าทุกเวทีมีประโยชน์ ถ้าสามารถให้ข้อเท็จจริงกับประชาชาชนได้ เราจะไม่ชี้ถูกชี้ผิด แต่เราจะให้ข้อมูลกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนใช้วิจารณญาณ ฟังทั้งสองฝ่ายว่าจะเชื่อใคร แต่เวทีนี้กลับไม่ได้เป็นไปตามเช่นนั้น เวทีนี้เราให้ข้อมูลไม่ได้เลย

แล้วการเสวนาครั้งนี้ต้องบอกว่าอีกฝ่ายตอบแบบราชการ ตอบแบบไม่ให้เข้าใจ อย่างดิฉันตั้งคำถามไปว่า ทำไมผลิตไฟเกิน ส่วนที่ผลิตเกิน คุณไปเก็บเงินชาวบ้านใช่ไหม เขาก็อ้อมแอ้ม สุดท้ายก็คือเก็บเงินจากประชาชนจริงๆ

แล้วคุณอยากออกมาเรียกร้องและปฏิรูปพลังงานในเรื่องไหนบ้าง

จากที่เราศึกษาหาข้อมูล จะเห็นเลยว่ามันมีการคิดคำนวณ วางแผนนโยบายต่างๆ ทำให้เกิดการโยนภาระแก่ผู้บริโภคยกตัวอย่างเรื่อง “ค่าไฟฟ้า” ที่ผ่านมาเราไม่รู้เลยว่าประเทศไทยผลิตไฟฟ้าได้เท่าไหร่ ถ้าไปดูการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่เดือนเมษายน- พฤษภาคม 2557 ซึ่งก็คือตัวเดียวกัน จะพบว่าเราผลิตไฟได้มากถึง 32,000 กว่าเมกะวัตต์ กล่าวคือผลิตไฟเกินไป 7,200 เมกะวัตต์ ซึ่งจำนวน 7,200 นี้เท่ากับโรงไฟฟ้าเกือบ 10 โรงเลยนะ

หากตามมาตรฐานโลกว่าต้องมีไฟสำรองไว้ไม่น้อยกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่าเรามีไฟฟ้าสำรองเกือบ 25 เปอร์เซ็นต์ นั่นเพราะเขามีการคิดวางแผน และสร้างลงทุนล่วงหน้าเกินไปประมาณ 1 แสน 1 หมื่นล้านบาท การที่ลงทุนล่วงหน้าไปอย่างนี้ ทำให้ไปเกลี่ยอยู่ในบิลค่าไฟที่เราต้องจ่ายอยู่ทุกเดือน ถามว่าประชาชนประหยัดไฟฟ้าจะเกิดประโยชน์ไหม คำตอบคือ ไม่เกิดประโยชน์เลย เพราะเขาทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นระบบมาแล้วว่าการไฟฟ้าผลิตจะซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเลย 1 พันเมกะวัตต์ ดังนั้นไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะเดินเครื่อง หรือไม่เดินเครื่อง ก็จ่าย 1 พันเมกะวัตต์อยู่ดี ดังนั้นต่อให้คุณประหยัดไฟฟ้าให้ตาย ค่าไฟก็ไม่ลด และต้องจ่ายค่าไฟเท่าเดิม เพราะมีการไปทำสัญญาซื้อขายค่าไฟล่วงหน้าไว้แล้ว นี่คือสิ่งที่ดิฉันคิดว่าไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน

อีกเรื่องคือเรามีการตั้งกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ทำให้มีการเก็บจากประชาชนการใช้น้ำมันลิตรละ 4 สตางค์มาตั้งแต่ปี 2535 -2545 พอปี 25 45- 2550 ถึงขึ้นมาเก็บเป็น 7 สตางค์ พอปี 2551 ถึงขึ้นเป็น 75 สตางค์ แล้วพอปี 2552 ก็ลงเหลือมาเป็น 25 สตางค์จนถึงปัจจุบัน กองทุนนี้มีตั้งแต่ปี 35 นอกจากนั้นยังมี “มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม” ซึ่งมี “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” เป็นคนก่อตั้งและเป็นประธานมูลนิธิ โดยมูลนิธินี้ได้เงินเปล่าๆ มาจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน โดยไม่ต้องทำอะไร ปีหนึ่งๆไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ปีหลังๆ เพิ่มเป็นสองพันล้าน คำถามคือ คุณบังคับเก็บเงินจากชาวบ้านเพื่อเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน แต่คุณเอาเงินไปใช้ในมูลนิธินี้ แล้วมูลนิธินี้คือใคร ทำไมถึงเอาเงินนี้ไปใช้ได้ ชาวบ้านทั่วไปสามารถเอาเงินไปใช้ได้ไหม นี่คือสิ่งที่ดิฉันอยากตั้งคำถาม

แล้วเรื่องไฟฟ้า คุณก็ไปทำโรงไฟฟ้า ไปทำสัญญาซื้อขาย โดยมัดมือให้ชาวบ้านต้องจ่าย พอเกิดอะไรขึ้นกับการบริหารจัดการของคุณ คุณก็บอกว่าต้นทุนผันแปร ดิฉันมองว่าเรื่องแบบนี้ไม่ถูกต้อง

แล้วมีเรื่องไหนที่คุณคิดว่าไม่ถูกต้องอีก

เรื่องกฎหมาย เพราะบางกฎหมายอนุญาตให้ปตท. เอาปิโตรเลียมไปใช้ได้ โดยไม่เอาเงินเข้ากองทุน พวกนี้ถือว่าถูกกฎหมายหมด เพราะเขาแก้กฎหมายให้เป็นไปตามนั้น ดังนั้นถึงเราจะฟ้องไปก็แพ้

หรือกระทั่งเรื่องโครงสร้างราคาก็มีการตั้งสูตรคำนวณขึ้นมา โดยเขียนกฎหมายให้อำนาจคนคิดสูตรคำนวณอีก จะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมไม่รู้ แต่สุดท้ายประชาชนจ่ายสตางค์ นี่คือสิ่งที่ดิฉันมองว่าไม่ถูกต้อง สิ่งที่เขาเพลี่ยงพล้ำมีอยู่เรื่องเดียวคือเรื่องกองทุนน้ำมัน เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ มีแค่มติ แล้วมาเก็บเงินกับประชาชน

หรือแม้กระทั่งตอนที่เราฟ้องปตท.ว่าแปรรูปโดยมิชอบ พอไปฟังศาลอ่าน คิดว่าชนะเห็นๆ เช่นบอกว่า ปตท.แปรรูปไม่ชอบ กระบวนการไม่ชอบ ทุกอย่างไม่ชอบๆๆ คิดว่าชนะแน่ นั่งยิ้มกริ่ม แต่สุดท้ายศาลหักมุม บอกว่า ปตท.แปรรูปไม่ชอบทั้งหมด แต่ขณะนี้ได้มีการขายหุ้นไปแล้ว แล้วมีกฎหมายกำกับกิจการพลังงานแล้ว จึงให้ปตท.แปรรูปต่อไปได้

คือต้องเข้าใจก่อนว่า พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงาน เป็น พ.ร.บ.ที่เร่งรีบออกมาในปี 2550 สมัยที่ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงานที่ศาลอ้างนี้บอกว่า มาตรา 3 ยกเว้นทั้งหมดที่เป็นธุรกิจของ ปตท. ไม่ให้กฎหมายนั้นไปกำกับ ฉะนั้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำกับได้แต่ไฟฟ้าอย่างเดียว แล้วไฟฟ้าเกี่ยวกับปตท. ไหม ไม่เกี่ยวเลย แต่มี พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงาน ซึ่งศาลเอามาอ้างตัดสิน

เราฟ้องเรื่องปิโตรเลียม เรื่องน้ำมัน เรื่องธุรกิจ แต่ศาลยังเอากฏฎมายที่ไม่เกี่ยวเลยมาตัดสินได้ แล้วเราฟ้องต่ออีกไม่ได้ เพราะว่าศาลปกครองสูงสุดถือว่าการตัดสินเป็นที่สุดแล้ว ศาลยังบอกว่าทรัพย์สินที่เป็นท่อก๊าซ ซึ่งเกิดจากการรอนสิทธิ ที่เกิดจากการเวียนคืน ที่เกิดจากการเอาเงินของรัฐไปลงทุน ให้มีการแยกออกมาจากปตท. แต่ปตท.ก็ดำเนินการงุบงิบ เราจึงไปยื่นฟ้องว่าปตท.คืนท่อไม่ครบ ศาลรับเรื่องไว้ แล้วแจ้งกลับว่าเราไม่มีสิทธิ์ฟ้อง เพราะเราไม่ใช่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายคือ กระทรวงการคลัง พอเราไปยื่นร้องเรียนต่อกระทรวงการคลัง มันก็เฉย จนเราไม่รู้จะไปฟ้องศาลไหน สุดท้ายพากันไปฟ้องศาลหลักเมืองกรุงเทพ

คือ เราประชดว่าศาลบ้านเราไม่รับฟ้อง นี่คือ สิ่งหนึ่งที่บอกว่า ข้อมูลของเราเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เรื่องโครงสร้างราคาต่างๆ เขียนกฎหมายกันไว้หมดแล้ว ดังนั้นถึงไปฟ้องก็แพ้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้คือ เราฟ้องประชาชน ฟ้องต่อสังคม ให้สังคมช่วยกันออกมาเรียกร้องว่า นี่คือการไม่ได้รับความเป็นธรรม

เราอยากฟ้องประชาชนว่า มีคนรวมหัวกันเอาเปรียบเราอยู่ มีคนโกหกเรา และเราถูกละเมิดสิทธิอยู่ นอกนั้น ผู้จัดการมรดกของเรามันแอบลักลอบเอามรดกของเราไปแบ่งกัน โดยที่เจ้าของมรดกอย่างเราอดอยากปากแห้ง

แล้วในความเห็นของคุณ สมควรมีการปรับแก้ไขกฎหมายอย่างไรบ้างจึงจะถูกต้องและเป็นธรรม

ต้องบอกว่ากฎหมายในเรื่องพลังงานนั้น ควรจะต้องมีการแก้ไขทั้งระบบเลย เพราะที่ผ่านมาอะไรที่ผิดๆ กฎหมายก็ระบุให้ทำได้หมด ดังนั้นต้องมาดูกันว่ากฎหมายไหนที่ละเมิดสิทธิประชาชนบ้าง เช่น พ.ร.บ.ปิโตรเลียมปี 14 เขียนไว้ว่าต้องใช้ระบบสัมปทานเท่านั้น แต่ในขณะนี้ประเทศต่างๆใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตกันหมดแล้ว ฉะนั้นการเขียนกฎหมายผูกเอาไว้อย่างนี้ ทำให้เราเปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่เอื้อให้เราเปลี่ยน

หรือกฎหมายที่เขียนให้อำนาจผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานเข้าไปเป็นบอร์ดของปตท. ได้ หรือแม้กระทั่งผู้บริหารระดับสูงของประเทศนี้ก็สามารถไปเป็นบอร์ดของปตท. ได้เช่นกัน ที่น่าเกลียดที่สุดคือ ผู้บริหารของกระทรวงพลังงาน เนื่องจากมีผลประโยชน์ทับซ้อน เรื่องการกำกับและพัฒนาธุรกิจ วันนี้เรากำลังพูดถึงผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งถ้าเราไม่แก้กฎหมายนี้ ถึงฟ้องศาลไปก็ไม่ชนะ เพราะเขาก็จะบอกว่ากฎหมายอนุญาตให้ทำได้ ดังนั้นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจึงเป็นเรื่องใหญ่มากของการปฏิรูปพลังงานที่เป็นธรรม

อีกกฎหมายหนึ่งที่สมควรแก้ไขคือ พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงาน โดยเฉพาะมาตรา 3 ที่บอกว่า ยกเว้นธุรกิจของ ปตท. ทั้งหมด ทำให้องค์กรกำกับกิจการพลังงานไม่สามารถไปกำกับราคาปิโตรเลียมหรือราคาน้ำมันของปตท. ได้ รวมถึงไม่สามารถกำหนดราคาก๊าซและ ไม่สามารถกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันที่เป็นธรรมได้ เพราะกฎหมายนี้ยกเว้นการไปจัดการราคา ยกเว้นการจัดเก็บน้ำมัน และยกเว้นธุรกิจของ ปตท. ทั้งหมด สรุปว่า พ.ร.บ. นี้สามารถกำกับได้แค่เรื่องไฟฟ้า แต่ไม่สามารถกำกับปตท. ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วควรจะกำกับได้ทั้งหมด ข้อเสียของการที่ไม่สามารถกำกับปตท. ได้ คือทำให้รัฐไม่สามารถเข้าไปกำกับเรื่องโครงสร้างราคา หรือประชาชนไม่สามารถดูได้ว่าราคาที่เป็นธรรมควรจะเป็นอย่างไร

แล้วข้อเสียของพ.ร.บ.นี้คือปตท.สามารถขายก๊าซให้บริษัทลูกของตัวเองได้ โดยที่รัฐไม่สามารถเข้าไปยุ่งได้เลย เพราะกลายเป็นว่าเป็นเรื่องของเอกชนต่อเอกชน แต่สิ่งที่เอกชนขายให้เอกชนนั้นมันคือสมบัติของชาติ คือ สรุปว่าปตท. จะทำอะไรก็ได้ กลายเป็นว่าขายสมบัติชาติให้เอกชน ทั้งที่มันไม่ใช่สมบัติของปตท. เพราะครึ่งหนึ่งของปตท. เป็นการใช้อำนาจรัฐ คือ ครอบครองและผูกขาดท่อก๊าซได้ทั้งหมด พอเขาได้สมบัติชาติ ก็เอาไปกลั่นที่โรงกลั่นของตัวเอง บวกกำไรแล้วก็เอาเข้าตัวเอง

นอกจากนั้น กฎหมายไทยยังไปเขียนว่าก๊าซและปิโตรเลียมที่ขุดขึ้นมาในประเทศไทยต้องให้ครัวเรือนและภาคปิโตรเลียมใช้ก่อน แต่กลายเป็นว่าภาคปิโตรเลียมนำไปใช้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ประชาชนได้ใช้น้อยกว่า พอก๊าซไม่พอก็นำเข้า แล้วเอาก๊าซที่แพงๆ มาให้ประชาชนเป็นคนใช้ ดังนั้นข้อเสนอของเราคือ เปลี่ยนกฎหมายตัวนี้ใหม่ว่า ให้ประชาชนใช้ก่อน ถ้าเหลือค่อยให้ภาคปิโตรเลียมใช้ หากไม่พอ ภาคปิโตรเลียมก็ต้องรับภาระในการนำเข้าเอง ไม่ใช่มาโยนภาระให้ประชาชน

ความจริงปัญหาในเรื่องกฎหมายเยอะมาก แต่มันกลายเป็นว่าพอเรื่องไหนเป็นอุปสรรคต่อเขา เขาก็จะแก้กฎหมายว่าทำได้ แม้กระทั่งเรื่องประโยชน์ทับซ้อนเขาก็ทำได้ ดังนั้นถ้าเราต้องการปฏิรูปพลังงาน เราก็ต้องแก้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม เพราะหากไม่แก้กฎหมาย มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

มีเรื่องไหนที่คุณยังเป็นห่วงอีกไหม

ต้องบอกว่าวันนี้เราบอกว่านำเข้าน้ำมันมากมาย แต่ไม่มีการบอกตัวเลขส่งออก เพราะเรามีโรงกลั่น เราไม่ได้ซื้อเพื่อใช้อย่างเดียว แต่เราซื้อเพื่อนำมากลั่นและขายออก เอาเข้ามาเพื่อทำกำไรและส่งออก เหมือนเอาวัตถุดิบเขามาแปรรูปแล้วส่งออก แล้วกลับเอาเงินประชาชนไปช่วยนำเข้า

ความจริงเรามีน้ำมันของเราเองเกือบ 60 เปอรเซ็นต์ที่ใช้ในประเทศ ดังนั้นถ้าเราเฉพาะประชาชนใช้เอง ไม่ให้ภาคปิโตรเลียมนำปิโตรเลียมไปใช้ เราก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้าปิโตรเลียมเลย แต่ว่าในขณะที่เรากำลังขุดสมบัติของเราขึ้นมา เรากลับต้องใช้มันในราคาตลาดโลก ก็เลยมีข้อเสนอบอกว่า ก็หยุดขุดเจาะ แล้วซื้อเขามา เพราะในเมื่อเราซื้อในราคาตลาดโลก เก็บปิโตรเลียมให้ลูกหลานเราดีกว่าไหม แต่คุณปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ก็ออกมาบอกว่าไม่ได้ ถ้าไม่ขุด ประเทศจะเสียหายปีละ 2 แสนล้านบาท ดิฉันเลยสงสัยว่าจะเสียหายได้ยังไง ในเมื่อทรัพยากรยังอยู่ในดิน แค่เราไม่ขุดขึ้นมาเท่านั้นเอง

ในเมื่อเราต้องใช้น้ำมันราคาตลาดโลก เท่ากับว่ากับข้าวที่ทำกินในบ้านเรา มันไม่ได้ประหยัดเลย มันเท่ากับซื้อเขากิน แล้วเราจะมาเหนื่อยทำกับข้าวทำไม ดังนั้นเราก็ซื้อเขากินดีกว่า จึงมองว่าเรื่องเหล่านี้มีอะไรที่ทับซ้อนอยู่เยอะมาก คนที่มีหน้าที่กำกับให้เกิดความเป็นธรรม ดันไปมีผลประโยชน์ต่อธุรกิจ ตรงนี้เป็นสิ่งที่เรากังวลมากว่าเขาจะทำหน้าที่กำกับน้อยกว่าเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน เพราะกลุ่มทุนให้ค่าตอบแทนเขาสูงกว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

แล้วคุณคิดว่าอะไรคือปัญหาที่ทำให้การปฏิรูปไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

เราคิดว่าสิ่งที่การปฏิรูปไม่คืบหน้านั้น เพราะคสช.ฟังประชาชนน้อยไป คสช. บอกว่าจะมาคืนความสุขให้แก่ประเทศไทย แล้วเรื่องพลังงานคือเรื่องใหญ่ ดังนั้นคสช.ต้องกล้าผ่ามันออกมาว่าปัญหาคืออะไร ดิฉันต้องการแค่โครงสร้างราคาที่เป็นธรรม และการปฏิรูปพลังงานที่เกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน คือ ธุรกิจอยู่ได้ ประชาชนอยู่ได้ โดยไม่ถูกเอาเปรียบเหมือนปัจจุบัน

โครงสร้างราคาพลังงานที่เป็นธรรมในความคิดของดิฉัน คือ น้ำมัน+ กำไร =ขายราคา ไม่ใช่ราคา+กำไร และดึงสารพัดใส่เข้าไปและมาบวกเรา มาวันนี้ถ้าบอกว่า น้ำมันเบนซิน 1 ลิตร ถูกดึงเข้ากองทุนน้ำมัน 12 บาทต่อลิตร แล้วกองทุนน้ำมันไม่ได้เอาเงินมาช่วยเหลืออะไรกับน้ำมันเลย แต่กลับเอาไปซัปพอร์ตปตท.เรื่องก๊าซ เลยอยากจะบอกว่าสิ่งที่รัฐบอกว่าเก็บไว้เป็นเงินอุดหนุนนั้น รัฐไม่เคยใส่เงินเข้ามาเลย แต่ดันเก็บเงินเรา แล้วมีตัวอ้วนนอนกินอยู่ตรงกลาง อันนี้เปิดเผยออกมาหน่อยว่า ใครคือไอ้โม่งที่ดูดทรัพยากรไป ดิฉันอยากให้ไอ้อ้วนช่วยคายความเป็นธรรมให้ประชาชนเดี๋ยวนี้

ตอนนี้ปัญหาใหญ่ของประชาชนคือ ไม่รู้ รู้แค่ว่าต้องจ่าย ดังนั้นวันนี้ต้องมีการเปิดเผยและบอกความจริงว่ามันมีความไม่เป็นธรรมในเรื่องพลังงานอยู่

ถ้าอย่างนั้น แนวทางไหนที่น่าจะทำให้การปฏิรูปพลังงานสำเร็จได้บ้าง

ข้อเสนอของเรา ต้องปฏิรูปโครงสร้างราคาที่เป็นธรรม เรามีความรู้สึกว่าประเทศในอาเซียนที่เราบอกว่าเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ในอาเซียนใช้ระบบแบ่งปันหมดแล้ว เหลือประเทศไทยแห่งเดียวที่ยังใช้ระบบสัมปทาน ดังนั้นเราขอเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปัน เพื่อจะได้รู้ว่าเราได้ปิโตรเลียมมาเท่าไหร่ รัฐได้เท่าไหร่ และเอกชนได้ไปเท่าไหร่ คือ ทุกอย่างต้องโปร่งใส

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ เราคิดว่ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน เขียนเอาไว้ให้อำนาจเฉพาะในส่วนกลาง คือ ผูกอำนาจไว้กับส่วนกลางเลย สังเกตไหมว่าเรื่องอื่นเป็นการกระจายอำนาจหมด แต่เรื่องพลังงานกลับไม่มีกระจายอำนาจ ดังนั้น เราเสนอให้มีการกระจายอำนาจ โดยอาจมีการเขียนแผนพลังงานแต่ละพื้นที่ แล้วให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

แล้วพ.ร.บ.อนุรักษ์พลังงาน ที่ก่อให้เกิดกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ควรปรับแก้กฎหมายให้เป็นกองทุนพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เพราะบนเวทีเสวนาปฏิรูปพลังงาน ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ บอกว่าเอาเงินไปทำให้เกิดประโยชน์ได้ แต่คุณเห็นไหมว่าหลอดไฟแอลอีดี เกิดจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน เพราะเขาเอาเงินไปสนับสนุนสถานประกอบการต่างๆ เราก็ไม่รู้เขาเอาเงินไปแจกใครหรือเปล่า

อยากตั้งคำถามด้วยว่าลิขสิทธิ์หลอดไฟแอลอีดีเป็นของคนไทย หรือไปลอกมาจากต่างประเทศ เพราะถ้าคุณไปลอกเขามา ก็ไม่ทำให้เกิดประโยชน์อะไร ถูกต้องไหม คือ ถ้าคุณทำให้เกิดลิขสิทธิ์หลอดไฟแอลอีดี ซึ่งเกิดจากเงินกองทุนนี้ ดิฉันก็จะปรบมือให้ แต่ก็ไม่เคยเห็นว่าเงินตัวนี้จะกลับมาคืนสู่สังคมเลย

ดิฉันเชื่อว่าประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการปฏิรูปพลังงานได้ เพราะเขาเป็นเจ้าของทรัพยากรที่แท้จริง ถ้าบ้านเมืองปกครองระบอบประชาธิปไตย ถ้าประชาชนรู้ เสียงส่วนใหญ่ก็จะสามารถผลักดันให้เกิดการแก้กฎหมายได้ สามารถผลักดันให้เกิดการปฏิรูปพลังงานที่เป็นธรรมได้

ดิฉันมองว่าเรื่องการมีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญ แต่หัวใจสำคัญที่สุดของเราคือ ประชาชนไม่รู้ และถูกกระทำโดยไม่รู้ ดังนั้นเรามีหน้าที่ผลักดันให้ประชาชนรู้ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น ก่อนที่จะสายเกินแก้

ภาพโดย ปัญญพัฒน์ เข็มราช


กำลังโหลดความคิดเห็น