xs
xsm
sm
md
lg

ซัด"ปิยสวัสดิ์"โมเมปฏิรูป ยื่น4ข้อให้"บิ๊กตู่"สั่ง "รสนา"แฉเล่ห์ฮุบพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กลุ่มเวทีปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน ซัด "ปิยสวัสดิ์" โมเมได้ข้อสรุปปฏิรูปพลังงานแล้ว แฉอ้างสื่อสุดมั่ว ให้ข้อมูลไม่ครบ ยื่นหนังสือ "บิ๊กตู่" เสนอ 4 แนวทางปฏิรูป เน้นเร่งคืนท่อก๊าซ ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตแทนสัมปทาน ลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันและปรับโครงสร้างแอลพีจี รวมทั้งฟันผิดข้าราชการเอื้อประโยชน์เอกชน "รสนา"แฉต่อ เล่ห์เหลี่ยมเขมือบพลังงานไทย

วานนี้ (1 ต.ค.) ที่ศูนย์บริการประชาชน ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล แนวร่วมกลุ่มเวทีปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน นำโดย นายวีระ สมความคิด หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นายรุ่งชัย จันทสิงห์ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา นายบรรยง อัมพรตระกูล พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านน.ส.อรนุช ศรีนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับกรณีที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในเวทีปฏิรูปพลังงาน ณ สโมสรกองทัพบก ได้ข้อสรุปจากภาคประชาชนแล้ว พร้อมนำเสนอนายกรัฐมนตรี

***ยื่น4ข้อเสนอปฏิรูปพลังงาน

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำกลุ่มเวทีปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน กล่าวว่า กลุ่มเวทีปฏิรูปพลังงานภาคประชาชนขอยืนยันว่า ทางกลุ่มมิได้เห็นพ้อง หรือมีข้อตกลงในเรื่องผลสรุปงานเสวนากับนายปิยสวัสดิ์ แต่อย่างใด เนื่องจากเวลาในการอภิปรายจำกัด และเป็นการสื่อเพียงด้านเดียว ภาคประชาชนไม่สามารถโต้แย้ง และแสดงเหตุผลประกอบได้ และยังเห็นว่านโยบายด้านพลังงานที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ขาดความโปร่งใส ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากร ซึ่งกระทบโดยตรงต่อสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แหล่งท่องเที่ยว และแหล่งอาหาร ซึ่งไม่เป็นแนวทางที่ยั่งยืนต่อการพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ คณะได้ขอเสนอแนวทางการปฏิรูปพลังงานเฉพาะประเด็นเร่งด่วน ใน 4 ประเด็น เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาพลังงานอย่างยั่งยืน ได้แก่

1.ให้ ปตท. ส่งคืนท่อก๊าซ โรงแยกก๊าซ และสาธารณสมบัติทั้งหมดก่อนแปรรูป คืนให้แก่กระทรวงการคลัง ตามความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และให้ยกเลิกมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการแบ่งแยกท่อก๊าซของ ปตท. มาตั้งบริษัทใหม่ เพราะไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำพิพากษา เพราะหากดำเนินการอาจเข้าข่ายความผิดอาญา มาตรา 157

2.ขอให้เปิดเผยรายละเอียดการประมูล สัญญาสัมปทาน เนื่องจากที่ผ่านมาขาดความโปร่งใส และให้แหล่งปิโตรเลียมใหม่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตในการจัดการแทนระบบสัมปทาน เช่นเดียวกับมาตรฐานอาเซียน เพื่อคงกรรมสิทธิ์ ปิโตรเลียมที่ขุดได้เป็นของรัฐ และรัฐสามารถกำหนดราคาที่เป็นธรรมต่อประชาชนได้ รวมถึงแหล่งปิโตรเลียมที่ใกล้หมดอายุสัมปทาน ที่ยังมีพลังงานเหลืออยู่ ขอให้ทำการจ้างผลิตเช่นเดียวกับประเทศมาเลเซีย เพื่อให้รัฐได้พลังงานทั้งหมดมาพัฒนาประเทศ เพราะจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าพลังงานได้ดีกว่าการทำสัมปทาน และระบบแบ่งปันผลผลิต ให้ใช้การประมูลผลประโยชน์ของรัฐแทนการประกวดที่ใช้ระบบสัมปทานเพื่อความโปร่งใสในการคัดเลือกบริษัทเอกชน และควรชะลอสัมปทานรอบใหม่ เพราะการเร่งออกสัมปทานใหม่และเร่งต่อสัมปานเก่า จะยิ่งสร้างความเสียหายต่อประเทศในระยะยาว

3.ให้ลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากประชาชน เพื่อให้ราคาน้ำมันทุกชนิดลดลงมา และให้มีความชัดเจนในการนำกองทุนไปอุดหนุน และส่งเสริมพลังงานทางเลือกอื่นๆ ให้จัดสรรการใช้แอลพีจีในประเทศโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางตรงต่อประชาชน และควรปรับราคาก๊าซของอุตสาหกรรมทุกประเภทให้เป็นอัตราเดียวกันกับตลาดโลก เนื่องจากปัจจุบัน ปตท.ซื้อปิโตรเคมี ถูกกว่ากลุ่มอื่น

4.ให้มีบทลงโทษแก่ข้าราชการและคณะกรรมการด้านพลังงานชุดต่างๆ ห้ามมีผลประโยชน์ทับซ้อนในธุรกิจพลังงานโดยเด็ดขาด ให้ตรวจสอบการใช้เงินกองทุนด้านพลังงานทุกกองทุนให้มีความเหมาะสม เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน อีกทั้งดำเนินการลงโทษข้าราชการที่เกี่ยวข้องในการนำเงินกองทุนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์อย่างเฉียบขาด มีการติดตั้งมิเตอร์ตรวสอบปริมาณน้ำมันดิบทุกหลุม เพื่อความโปร่งใสและป้องกัน การรั่วไหลของปิโตรเลียม รวมทั้งติดมิเตอร์ตามแนวท่อทุกท่อทุกหลุม

***ยันรัฐบาลมีอำนาจเต็มจัดการ

เมื่อถามว่า การที่มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขึ้นมา และมีหัวข้อเกี่ยวกับพลังงาน ทางกลุ่มจะไปยื่นเรื่อง ต่อสปช. หรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า ไม่ว่าจะมี สปช. หรือไม่อย่างไร ขณะนี้ก็อยู่ภายใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งมีอำนาจในการคัดสรรหา สปช. โดยพล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่มีความจำเป็นต้องไปผ่านกระบวนการส่วนนั้น เพราะเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่ามีความคิดเห็นอย่างไร และหากใน สปช. มีคนของ ปตท. เข้าไป ภาคประชาชนที่ร่วมเรียกร้อง ก็จะเป็นเพียงไม้ประดับ

***ซัดหมกเม็ดข้อมูลทุกรูปแบบ

นายปานเทพกล่าวอีกว่า ข้อมูลของภาครัฐที่สื่อสารสู่สาธารณะไม่ครบถ้วนในหลายประการ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ จะหมดไปใน 8 ปี ความจริงแล้วกลับกลายเป็นเรื่องสัมปทานจะหมดอายุ และมีพื้นที่ที่ยังไม่ได้ขุดเจาะอีก 84% ส่วนที่ระบุว่า ปตท. นำเข้าน้ำมันดิบมาก เพราะการใช้ของประชาชน ทั้งที่ความเป็นจริงได้รวมเอาปริมาณน้ำมันดิบที่กลั่นเพื่อการส่งออกขายต่างชาติ มูลค่าเกือบ 4 แสนล้านบาทเข้ามาด้วย

ส่วนเรื่องกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมในระบบสัมปทานที่รัฐตอบว่าเป็นของรัฐ โดยการยกข้อกฎหมายก่อนการให้สัมปทานมา แต่ผู้แทนของรัฐกลับละเลยในการให้ข้อมูลว่าหลังจากให้สัมปทาน เอกชนสามารถนำปิโตรเลียมที่ขุดได้ทั้งหมดไปขายเป็นรายได้ของบริษัทด้วย

"การให้ข้อมูลดังกล่าวอาจจะทำให้รัฐบาลตัดสินใจผิดพลาดในการกำหนดนโยบายพลังงาน และยังผลให้ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า รวยกระจุก จนกระจาย ทำให้กลับสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้มากยิ่งขึ้น"นายปานเทพกล่าว

***อัดครม."บิ๊กตู่"เดินตามรอยรัฐบาลปู

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วันนี้มีการขึ้นราคาก๊าซ วันหน้าของแพงจะตามมา ซึ่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กบง.) ขึ้นก๊าซ LPG ภาคขนส่ง เป็นกิโลกรัมละ 22 บาท ขณะที่ LPG ครัวเรือน คงที่กิโลกรัมละ 22.63 บาท ตนดูแล้ว ถ้ามาทรงนี้ คือ จะขึ้นราคาให้ LPG ภาคขนส่งให้เท่ากับภาคครัวเรือน ต่อไปก็ขึ้นพร้อมกันราคาเดียวอีกครั้ง กบง. ชุดนี้ทำคล้ายวิธีของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เลย

"ผมพูดเรื่องนี้มาหลายครั้งว่า ควรลด LPG ครัวเรือนให้เท่าขนส่ง ไม่ใช่ขึ้นขนส่งให้เท่าครัวเรือน บวกกับครั้งนี้ ขึ้นราคาก๊าซ NGV อีก 1 บาทด้วย ก็จะมีปัญหากับผู้ประกอบการขนส่ง ปัญหาของแพงตามมาอีก เห็นแค่นี้ ก็เหนื่อยใจแล้ว เรื่องหวังให้ก๊าซถูกลง โดยรื้อโครงสร้างโดยโอนท่อก๊าซออกจาก ปตท. มาให้รัฐ โดยมีองค์กรกำกับพลังงานดูแล คงยากยิ่ง" นายอรรถวิชช์ กล่าว

***"รสนา"แฉเล่ห์เขมือบพลังงานไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (1 ต.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล หัวข้อ "โรดแมปการปฏิรูปพลังงานของกลุ่มทุนคือการถ่ายโอนโครงข่ายท่อส่งก๊าซและทรัพยากรปิโตรเลียมให้เป็นของเอกชน 100%"

โดยน.ส.รสนาระบุว่า การมีน้ำมันในประเทศมากหรือน้อยไม่เกี่ยวกับระบบที่รัฐจะนำมาใช้ในการให้สิทธิสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมแก่เอกชนว่าควรเป็น “ระบบสัมปทาน” หรือ “ระบบแบ่งปันผลผลิต” แต่เวลานี้ การพูดว่าประเทศไทยมีปริมาณปิโตรเลียมมาก เกือบจะกลายเป็น “อาชญากรรม” ร้ายแรง ชนิดที่เอามาดิสเครดิตว่าใครพูดคือพวกไสยศาสตร์ จนไม่สมควรรับฟังประเด็นอื่นๆ ทั้งหมด

สิ่งที่ภาครัฐให้ข่าวว่าประเทศไทยมีปิโตรเลียมน้อยมาก จุดมุ่งหมายของคนพูด คือ เพื่อสื่อสารไปสู่ประเด็นว่า “ระบบสัมปทาน” เหมาะสมกับประเทศไทยที่สุดเท่านั้นเอง หรือกล่าวอ้างไปในทำนองว่า การที่เรามีน้อย จึงไม่ควรใช้ “ระบบแบ่งปันผลผลิต” และทำให้สาธารณชนเข้าใจว่าการใช้ “ระบบแบ่งปันผลผลิต” รัฐต้องลงทุน ทำให้มีความเสี่ยง ซึ่งเป็นการจงใจให้ข้อมูลเท็จโดยสิ้นเชิง

***รีบต่อสัมปทานเอื้อประโยชน์เอกชน

น.ส.รสนาให้ข้อมูลต่อว่า กระทรวงพลังงานยังรีบเปิดสัมปทานรอบที่ 21 โดยไม่รอสภาปฏิรูป โดยผนวกเอาสัมปทานเก่า คือ แหล่งบงกชกับแหล่งอาทิตย์ที่จะหมดสัมปทานในปี 2565-2566 เอาไว้ในการเปิดสัมปทานรอบ 21 ด้วย ซึ่งตามกฎหมายแล้ว สัมปทาน 2 แหล่งนั้น เมื่อหมดอายุลง ตามกฎหมายจะต่อสัมปทานอีกไม่ได้ ต้องตกเป็นของรัฐ แม้แต่นักวิชาการในกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ก็ยังเสนอว่า รัฐควรใช้ระบบจ้างผลิต เพราะประโยชน์จะตกเป็นของรัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากเป็นแหล่งที่ไม่มีความเสี่ยงแล้ว แต่ในระดับผู้บริหารของกระทรวงพลังงาน กลับคิดจะแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สัมปทาน 2 แหล่งนี้ แก่เอกชนเจ้าเดิมต่อไปอีก ซึ่งเป็นการไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเลย

"การอ้างว่า ถ้าไม่รีบเปิดสัมปทานรอบ 21 ก๊าซจะหมดใน 8 ปี ค่าไฟจะแพงขึ้น และประเทศจะขาดรายได้ปีละ 2 แสนล้านบาท (ซึ่งหมายถึงรายได้จากค่าภาคหลวง และภาษีเงินได้จากสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 2565-2566) ทั้งที่ถ้ารัฐจ้างผลิตในแหล่งที่สัมปทานหมดอายุแล้ว แต่ยังมีปิโตรเลียมเหลืออยู่ ผลประโยชน์จะเป็นของรัฐทั้งหมด เชื่อว่ารัฐจะได้รายได้มากกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท เพราะแต่ละปีมูลค่าปิโตรเลียมที่ได้ปีละ 4-5 แสนล้านบาทนั้น รัฐได้ส่วนแบ่งเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น"

ยกตัวอย่างเช่น ส่วนแบ่งรายได้จากปิโตรเลียมในปี 2554 มูลค่าปิโตรเลียมจากแผ่นดินไทย มีมูลค่า 421,627 ล้านบาท รัฐได้ค่าภาคหลวงและภาษี 136,808 ล้านบาท ส่วนเอกชนที่รับสัมปทานได้รับค่าใช้จ่ายในการลงทุนคืน 144,878 ล้านบาท และได้ส่วนแบ่งกำไรไปอีก 139,941 ล้านบาท เท่ากับเอกชนที่ได้รับสัมปทานในประเทศไทย ได้กำไรจากเงินที่ลงทุนใน 1 ปี ถึง 97% และมูลค่าปิโตรเลียมในปี 2555 เพิ่มเป็น 524,858 ล้านบาท รัฐได้ค่าภาคหลวง ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษและภาษี 177,645 ล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุนในปีนั้น 159,870 ล้านบาท และได้รับคืนบวกกำไรอีก 187,343 ล้านบาท เท่ากับเอกชนได้รับกำไรจากการลงทุนใน 1 ปี ถึง 117.2% สูงกว่าปี 2554 ส่วนรัฐได้ผลตอบแทนต่อมูลค่าทรัพยากรเพียง 33.85% เท่านั้น

***เผยเชื่อมโรดแมปเอกชนฮุบท่อส่งก๊าซ

น.ส.รสนากล่าวอีกว่า การเปิดสัมปทานรอบ 21 เป็นการเชื่อมโรดแมปของเอกชนที่ต้องการถ่ายโอนทั้งระบบท่อส่งก๊าซที่กำลังจะแยกไปตั้งบริษัทใหม่ให้เป็นของเอกชน 100% และเมื่อยืนหยัดใช้ระบบสัมปทานต่อไป ก็คือยืนหยัดให้ทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนผู้รับสัมปทานต่อไป เมื่อทั้งระบบท่อส่งก๊าซ และทรัพยากรปิโตรเลียมที่เป็นกิจการต้นน้ำตกเป็นของเอกชนโดยสมบูรณ์ ในสภาพที่โครงข่ายท่อส่งก๊าซมีสภาพผูกขาดตามธรรมชาติ เอกชนก็จะผูกขาดทรัพยากรปิโตรเลียมได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ต่อไปประชาชนต้องซื้อทรัพยากรในบ้านของตนเองในราคาตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นราคาก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้า ก๊าซ LPG, ก๊าซ NGV ในราคาที่พูดเสมอว่าต้องสะท้อนต้นทุนตลาดโลก ไม่ว่าจะขายแพงแค่ไหน ประชาชนจะไม่สามารถต่อรองได้อีก ถ้าเป็นธุรกิจของเอกชน 100%

"ที่จะหวังพึ่งรัฐบาลมาคุ้มครองให้ประชาชนได้ใช้ราคาพลังงานที่เป็นธรรม คงยากจะหวังได้ เพราะตอนที่รัฐยังถือหุ้น 51% อยู่นี้ ก็ยังกำกับไม่ดีเท่าที่ควร เพื่อให้ราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้มมีราคาที่เป็นธรรมต่อประชาชน ดูได้จากที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนปัจจุบันประกาศขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี เอ็นจีวี ต้นเดือนต.ค.2557 นี้ โดยไม่พิจารณาโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรเสียก่อน"

นอกจากนี้ การประกาศขึ้นราคาดีเซลอีก 2.40 บาทต่อลิตร เพื่อไปใส่กองทุนน้ำมันที่ติดลบอยู่ แต่ไม่เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากปิโตรเคมีให้เท่ากับที่เก็บจากอุตสาหกรรมอื่น ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติของทุกรัฐบาล แม้แต่รัฐบาล คสช. เอง เป็นการเพิ่มกำไรให้ธุรกิจเอกชน แต่ให้ประชาชนแบกรับภาระแอลพีจีราคาตลาดโลกแทนธุรกิจปิโตรเคมี และธุรกิจปิโตรเคมีไม่ต้องจ่ายภาษีใดๆ ทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างขยะพลาสติกจำนวนมาก ซึ่งเป็นภาระทางงบประมาณของประเทศในการกำจัด อีกทั้งบริษัทปิโตรเคมีของ ปตท. ยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 100% เป็นเวลา 8 ปี และลดภาษีเงินได้เหลือ 50% อีก 5 ปี หลังจากนั้น การดำเนินนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล คสช. ในขณะนี้ ก็ไม่ต่างจากรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ที่มักจะอุ้มคนรวย แต่ทิ้งภาระไว้บนหลังของคนจน

"ถ้าธุรกิจพลังงานเป็นของเอกชน 100% ก็ลองคิดดูก็แล้วกันว่าใครจะปกป้องประชาชนได้"

***กางข้อมูล ปตท. กำไรจากปิโตรฯ-ก๊าซฯ

น.ส.รสนากล่าวว่า ที่อ้างว่าแหล่งปิโตรเลียมของไทยเป็นกะเปาะเล็ก ต้นทุนสูง ขุดเจาะยาก ลองดูกำไรจากธุรกิจต้นน้ำของ ปตท. ดูก็ได้ว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร กิจการสำรวจ ผลิตปิโตรเลียมของ บมจ.ปตท. ในปี 2556 มีสัดส่วนรายได้เพียง 7% ของรายได้รวม แต่ทำกำไรให้ บมจ.ปตท. ในสัดส่วน 74% ของกำไรทั้งหมดของ ปตท. ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนรายได้ 17% แต่ทำกำไรในสัดส่วน 21% รวมแล้วกำไรจากธุรกิจสำรวจผลิตปิโตรเลียม และธุรกิจก๊าซ ถือได้ว่าเป็นกำไรเนื้อๆ ของ บมจ.ปตท กำไรจาก 2 กิจการนี้ รวมเป็นกำไรถึง 95% ของกำไรทั้งหมดของ บมจ.ปตท. ส่วนรายได้จากการค้าระหว่างประเทศมียอดรวมถึง 53% มากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดของ บมจ.ปตท. ในปี 2556 แต่แทบไม่มีกำไรเลยเหมือนตำน้ำพริกละะลายแม่น้ำให้ต่างประเทศ (แต่กำไรก้อนโตล้วนได้จากภายในประเทศ) ในขณะที่การลงทุนในกิจการสำรวจและผลิต ลงทุนต่ำแต่ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ และกำไรส่วนใหญ่ก็มาจากการลงทุนอยู่ในประเทศไทยนี่เอง

"ดิฉันเห็นว่าโรดแมปของกลุ่มทุนพลังงาน และข้าราชการในกระทรวงพลังงาน คือ มุ่งไปสู่การถ่ายโอนทั้งเครื่องมือคือระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรปิโตรเลียมไปเป็นของเอกชน 100% เริ่มด้วยการแยกท่อก๊าซมาตั้งบริษัทใหม่ให้เป็นของเอกชน 100% และยืนหยัดจะต้องเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ให้ได้โดยผนวกพื้นที่สัมปทาน 2 แหล่งใหญ่ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานไปในการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ด้วย ดังนั้น เรื่องดิสเครดิตประชาชนด้วยการชวนทะเลาะเรื่องปริมาณมากน้อยของปิโตรเลียมในประเทศไทย อาจเป็นการเบี่ยงเบนจุดสนใจ จากการที่กลุ่มทุนกำลังจะเขมือบผลประโยชน์ใหญ่ของประชาชนกระมัง”น.ส.รสนากล่าว

***ปตท.แก้เกี้ยวตรึงLPG-NGVภาคขนส่ง

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจาก กบง. มีมติให้ปรับขึ้นราคาขายปลีกแอลพีจีภาคขนส่ง 0.62 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมเป็นราคา 22.00 บาทต่อกิโลกรัม และปรับราคาเอ็นจีวี 1 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวีอยู่ที่ 11.50 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. แต่ ปตท. จะยังคงตรึงราคาขายปลีกแอลพีจีภาคขนส่งหน้าสถานีบริการ ปตท. และคงราคาจำหน่ายเอ็นจีวีสำหรับกลุ่มรถโดยสารร่วมสาธารณะ รวมทั้งรถแท็กซี่และรถตุ๊กตุ๊ก ไว้ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ตามกลไกของบัตรเครดิตพลังงานเอ็นจีวีและบัตรเติมก๊าซฯ รับสิทธิส่วนลด (บัตรสีเงิน) ร่วมบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในส่วนของผู้ใช้พลังงานและผู้ใช้รถบริการสาธารณะ

"การปรับราคาเอ็นจีวีเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อกิโลกรัมในครั้งนี้ จะช่วยลดภาระขาดทุนเอ็นจีวีของ ปตท. ที่ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ต้องรับภาระขาดทุนสะสมเป็นเงินกว่า 1 แสนล้านบาท และจะทำให้ ปตท. สามารถขยายสถานีให้บริการกับผู้ใช้รถได้ดีขึ้น โดยปัจจุบันได้ตั้งสถานีเอ็นจีวีรวม 497 แห่ง ใน 54 จังหวัด และจะเร่งตั้งให้ได้ 507 แห่งตามแผน รวมทั้งจะเร่งขยายแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยวางระบบท่อฯ ภูมิภาคจาก จ.สระบุรี-จ.นครราชสีมา และ จ.พระนครศรีอยุธยา-จ.นครสวรรค์ รวมทั้งโครงการระบบท่อก๊าซฯ เส้นที่ 4 (จ.ระยอง-จ.สระบุรี) และจัดตั้งสถานีเอ็นจีวีแนวท่อเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้เอ็นจีวีได้รับความสะดวกมากขึ้น"
กำลังโหลดความคิดเห็น