xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ปฏิรูปพลังงาน” ภาพตัวอย่างปฏิรูปประเทศ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประธาน บอร์ด ปตท. และกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปด้านพลังงาน
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หากไม่มีเหตุการณ์พลิกผัน การคัดเลือกรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จำนวน 250 คน น่าจะได้ข้อยุติลงแล้วตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา และสามารถทูลเกล้าฯ รายชื่อเพื่อทรงลงพระปรมาภิไทโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งได้ภายในวันที่ 2 ต.ค.นี้

ขณะที่หลายฝ่ายกำลังจับตามองว่า หน้าตาของ สปช.ที่คลอดออกมาจะเป็นอย่างไร ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่ามีการกำหนดตัวบุคคลไว้ล่วงหน้า(ล็อกสเปก)ให้มีแต่คนใกล้ชิด คสช.หรือคนที่ คสช.ไว้ใจเท่านั้น

นี่เป็นประเด็นที่ไม่เหนือความคาดหมายเท่าใดนัก นั่นเพราะสถานการณ์ปัจจุบัน การเมืองไทยยังอยู่ภายใต้การควบคุมโดยอำนาจกองทัพ แม้ว่าจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การสรรหา สปช.ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนทุกฝ่ายสามารถสมัครเข้ามาได้ และมีคณะกรรมการสรรหาขึ้นมาทำการคัดเลือกผู้สมัครอีกขั้นตอนหนึ่ง แต่ก็ยังต้องให้ คสช.ทำการคัดสรรให้เหลือ 250 คนสุดท้ายอยู่ดี

แม้ว่า คสช.จะไม่ได้ชี้นิ้วเลือกจากผู้สมัครที่สมัครเข้ามา 7 พันกว่าคนโดยตรง แต่คณะกรรมการสรรหาที่ทำการคัดเลือกจากผู้สมัครให้เหลือ 550 คนนั้น ก็มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าเป็นคนที่ใกล้ชิดกับ คสช.เป็นส่วนใหญ่

ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตนายทหารพี่ใหญ่แห่ง “บูรพาพยัคฆ์” และเป็นรองนายกรัฐมนตรีควบ รมว.กลาโหมในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา สปช.ด้านการเมือง

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษา คสช. และ รมว.พลังงาน เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา สปช.ด้านเศรษฐกิจ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ปรึกษา คสช. และรองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา สปช.ด้านพลังงาน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการล็อกสเปกหรือไม่ล็อกสเปก ยังไม่สำคัญเท่ากับว่า กระบวนการทำงานของ สปช.ทั้ง 11 ด้านนั้น จะเปิดช่องทางรับความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปอย่างหลากหลายเพียงใด

ต้องไม่ลืมว่า เหตุผลสำคัญของการยึดอำนาจการปกครองโดย คสช.นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น นอกจากต้องการยุติความขัดแย้งระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ แล้ว ยังมีเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศด้วย

“เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคีเช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทั่วทุกฝ่าย”ส่วนหนึ่งของประกาศ คสช.ฉบับแรกสุด เมื่อช่วงเย็นวันที่ 22 พ.ค.2557 ระบุ

หลังจากนั้น คสช.ได้วางเรื่องการปฏิรูปประเทศไว้ในแผนการดำเนินงานเพื่อความสำเร็จ (โรดแมป) เป็นขั้นตอนสำคัญก่อนที่จะวางมือและจัดให้มีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ

รวมทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 บัญญัติเรื่องการมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ และอำนาจหน้าที่ไว้ใน มาตรา 27 และมาตรา 31 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว สปช.สามารถทำข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูป 11 ด้านผ่านหลายกลไกด้วยกัน ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คสช. ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยหากเห็นว่าเรื่องใดจำเป็นต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ก็ให้ สปช.จัดทำร่างฯ เสนอต่อ สนช.พิจารณาได้

อำนาจหน้าที่ของ สปช.ที่สำคัญยิ่ง คือการเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ในการจัดทําร่างรัฐธรรมนูญ และพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทําขึ้น

นั่นเท่ากับว่า สปช.เป็นองค์กรที่จะกำหนดรูปร่างหน้าตาของประเทศไทยในอนาคตหลังจากนี้ เพราะฉะนั้น หากต้องการจะให้การรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 บรรลุผลในการทำให้ประชาชนในชาติเกิดความรักความสามัคคี และมีการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทั่วทุกฝ่ายแล้ว สปช.จะต้องเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายจากประชาชนทุกกลุ่ม และเปิดให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างเต็มที่จนกว่าจะลงตัวในข้อเสนอการปฏิรูปด้านต่างๆ

การเปิดกว้างเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่หลากหลาย เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลอยู่ในขณะนี้

ยกตัวอย่าง การปฏิรูปด้านพลังงาน ซึ่งเกี่ยวพันกับผลประโยชน์มหาศาลของกลุ่มธุรกิจ คสช.ได้แต่งตั้งบุคคลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน อาทิ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประธานกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตผู้บริหาร ปตท. นายพละ สุขเวช อดีตผู้ว่าการ ปตท. นายวิเศษ จูภิบาล อดีตผู้ว่าฯ ปตท.และอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกรรมการสรรหาด้วย

จึงเป็นที่คาดหมายได้ไม่ยากว่า ผู้สมัครจำนวน 55 คนที่ผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการสรรหาด้านพลังงาน เพื่อให้คสช.คัดเลือกอีกรอบหนึ่งนั้น จะเป็นผู้สมัครที่มาจากภาคส่วนใด

ยิ่งเมื่อได้เห็นทรรศนะคติของกรรมการสรรหา สปช.ด้านพลังงานบางคน โดยเฉพาะนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ที่มีท่าทีแข็งกร้าวและเชื่อมั่นในตัวเองสูงจนอาจจะเรียกได้ว่าถึงขั้นหยิ่งยโสแล้ว ก็ชวนให้น่าสงสัยว่า สปช.ด้านพลังงานจะเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายเพียงใด

เพียงแค่ในงานเสวนาถาม-ตอบเรื่องการปฏิรูปพลังงาน ซึ่งจัดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 27 ส.ค.และ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา นายปิยสวัสดิ์ ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าพร้อมที่จะเปิดใจรับฟังข้อมูลที่แตกต่างเลยแม้แต่น้อย นอกจากยืนกระต่ายขาเดียวในการรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเท่านั้น

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่คาดหวังได้ยากว่า สปช.ด้านพลังงานจะมาจากกลุ่มคนที่หลากหลาย หรือหากมีตัวแทนของภาคประชาชนหลุดเข้าไปอยู่ใน สปช.ได้บ้าง ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าข้อเสนอจากภาคประชาชนจะผ่านการยกมือลงมติให้บรรจุอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ หรือร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน หรือไม่

นี่เป็นเพียงตัวอย่างข้อกังวลที่มีต่อการปฏิรูปประเทศ ที่ สปช.จะเริ่มลงมือหลังจากได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในไม่กี่วันข้างหน้านี้ ได้แต่หวังว่า เมื่อถึงขั้นตอนการลงมือทำจริงเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านแล้ว จะมีการเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายอย่างแท้จริง

ไม่เช่นนั้น การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ก็คงไม่คุ้มกับการยอมทนให้นานาอารยะประเทศดูหมิ่นเหยียดหยามว่าไม่เป็นประชาธิปไตย


กำลังโหลดความคิดเห็น