xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนปรัชญาประชาคมที่เกินความพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์


ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economics Community - AEC) คือ การร่วมกันทางเศรษฐกิจของประเทศในเขตอาเซียน เพื่อผลประโยชน์ในอำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจ การส่งออก และการนำเข้าของสินค้า เป็นการรวมตัวของสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว สิงคโปร์ ไทย และเวียดนามได้มีการขยายเป็นอาเซียน+3 คือเพิ่ม จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นและอาเซียน +6 คือเพิ่ม จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย

ทุกประเทศมีและจะมีตลาดหุ้น ยกเว้นประเทศบรูไนไม่มีตลาดหุ้น

ตอนแรกจะเริ่มรวมตัวอย่างเป็นทางการใช้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 แต่เนื่องจากประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม จึงเลื่อนไปเป็นวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดำเนินการควบคู่ไปกับประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Comunity:APSC) และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community:ASCC) ซึ่งเป็นสามส่วนหลักของ ประชาคมอาเซียน

เห็นการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทำให้นึกถึงเหตุการณ์การรวมตัวกันของ European Economic Community (EEC: ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป) ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปตกลงร่วมกันใช้สกุลเงินยูโรเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 (1999) จำตัวเลข ค.ศ. 1999 ไว้ให้ดี จะได้กล่าวถึงในช่วงต่อไป ค.ศ. 1999 -2000 คือปีสำคัญที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของโลก เศรษฐกิจของท้องถิ่นโลกเสียหาย คนของท้องถิ่นโลกยากจนลง แต่ทุนสามานย์โลกมั่งคั่งขึ้น

บทความนี้จะไม่ลงในรายละเอียดต่างๆ ของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจยุโรปและของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่อยากจะนำเสนอข้อสังเกตที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของการเป็นประชาคมดังกล่าว

ผู้เขียนเชื่อว่าเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจของโลก อยู่ในสายตาของทุนสามานย์โลก ซึ่งทุกวันนี้เขาสามารถควบคุมเศรษฐกิจโลกไว้ในกำมือได้แล้ว

เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น หาใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด

ทุนสามานย์โลกได้ติดตามดูการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเครื่องมือทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ของภูมิภาคต่างๆ และของโลก ทั้งทางตลาดทุนและตลาดเงิน และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์โดยที่เขาไม่ต้องออกแบบ หรือกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดแต่คอยสวมรอยเข้าไปหาประโยชน์ เขาไม่เคยมีการประชุม Forum หรือ Summit แบบรัฐมนตรีคลังโลก ผู้ว่าการธนาคารกลางโลก หรือนักเศรษฐศาสตร์โลกแต่อย่างใด ซึ่งมากไปด้วยวาทกรรม แต่พวกเขาเป็นนักปฏิบัติ และทำการควบคุมเศรษฐกิจโลกตัวจริง

การยึดครองโลกทุกวันนี้ ไม่ต้องใช้กำลังทหาร แต่ใช้วิธียึดระบบเศรษฐกิจ ซึ่งทุนสามานย์สามารถยึดโลกทั้งโลกได้ตั้งแต่ปี 2000 (2543) แล้ว ประเดิมด้วยการยึดครองเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรก แล้วตามด้วยการยึดครองเศรษฐกิจของกลุ่มภูมิภาคยูโรในลำดับต่อมา ตอนนี้อยู่ในช่วงการจ้องยึดจีนและอาเซียน การครอบครองของเศรษฐกิจทั้งโลกจึงไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด ทำงานผ่านตลาดกระดาษ (Paper trade) ตลาดทุน ตลาดเงิน และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์

ผู้เขียนนำเสนอมาบ่อยครั้ง “ตลาดหุ้นคือสิ่งผิดปกติของโลกทุนนิยม” เป็นเครื่องมือของทุนสามานย์ที่ใช้ยึดครองเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ของภูมิภาคต่างๆ และของโลก

การยึดครองเศรษฐกิจทำได้ค่อนโลกแล้ว คือได้ของประเทศสหรัฐอเมริกา และของภูมิภาคยูโรที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 1 และที่ 2 ของโลก ทำให้มีกำไรเกิดขึ้นมาก กลายเป็นทุนที่เพิ่มขึ้นทำให้เงินทุนท่วมโลก เห็นจากอัตราดอกเบี้ยโลกอยู่ระดับต่ำ ทุนสำรองที่อยู่ตามธนาคารต่างๆ หาใช่เป็นสมบัติของประเทศต่างๆ เหล่านั้นแต่อย่างใด แต่เป็นของทุนสามานย์ที่นำมาฝากไว้ เขาจะเอาเข้ามาเมื่อใด หรือเอาออกเมื่อใดก็อยู่ที่เขา

เงินท่วมโลก แต่โลกยากจนลง นี่คือแนวโน้มที่เกิดขึ้น ณ ในเวลานี้

วิธีที่ใช้ในการยึดครอง ก็โดยสวมรอยลากตลาดทุนและตลาดเงินขึ้นลงแรงๆ เมื่อลากตลาดหุ้นขึ้นแรง พร้อมกับค่าเงินสูงขึ้น สภาพคล่องของระบบก็สูงขึ้น เศรษฐกิจภูมิภาคนั้นขยายตัว มีการขยายกิจการมากขึ้น ทั้งแนวราบและแนวดิ่ง ทำให้ GDP ของระบบสูงขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก หรือเกือบ 2 หลัก

จากนั้นก็ถล่มทุบตลาดทุนและตลาดเงินลงมา ค่าเงินเสียหายไหลออกจากประเทศนั้นหรือภูมิภาคนั้น ทำให้สภาพคล่องของระบบขาดแคลน ขาดเงินทุนหมุนเวียนสถาบันการเงินไม่ปล่อยสภาพคล่อง นอกจากไม่ปล่อยสภาพคล่องแล้ว ยังดึงสภาพคล่องที่เคยให้ไว้กลับ ทำให้กิจการที่ขยายตัวก่อนหน้านั้นล้มลง

เหตุการณ์แบบนี้ หรือกลไกเช่นนี้ เกิดที่ประเทศใดหรือภูมิภาคใด ก็จะเป็นแบบเดียวกันทุกประการ

ประเทศไทยเคยประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้วถึง 2 ครั้ง (วิกฤตเศรษฐกิจ) ครั้งแรกตลาดหุ้นพังทลายในปี 2521ทำให้ค่าเงินบาทเสียหาย ต้องประกาศลดค่าเงินบาทหลายครั้ง และต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟเป็นครั้งแรก ช่วงเวลาของการเกิดเหตุการณ์อยู่ระหว่างปี 2521 - 2528 กินเวลา 8 ปี เหตุการณ์จึงกลับคืนมาสู่สภาพปกติ

ผู้เขียนไม่อยากจะใช้คำว่าเหตุการณ์จึงกลับคืนมาสู่สภาพปกติ แต่ไม่ทราบจะหาวลีใดมากล่าวแทนได้ เนื่องจากมีการล้มลงของระบบเศรษฐกิจรุนแรง เอกชนล้มลงและล้มละลาย คนตกงานเกิดโครงการ 4 เมษายน ที่บริษัทไฟแนนซ์และเครดิตฟองซิเอร์ล้มลง 25 แห่ง มีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเกิดขึ้นในปี 2528

ภายหลังที่เกิดวิกฤตครั้งที่ 2 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูกลายเป็นตัวช่วยซ้ำเติมให้วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 เสียหายมากขึ้น

โดยมีความเชื่อว่าหากสภาพคล่องของระบบเสียหาย กองทุนฟื้นฟูจัดหาสภาพคล่องให้ก็จะสามารถยุติความเสียหายของระบบเศรษฐกิจลงได้

แต่เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง

วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ได้เกิดขึ้นจริงแล้วกองทุนเพื่อการฟื้นฟู ได้ทำการอัดฉีดสภาพคล่องให้ระบบตามความเชื่อที่มีไว้อย่างเต็มที่ ถมเท่าใดก็ไม่เต็ม ในที่สุดระบบเศรษฐกิจของประเทศก็ล้มลงจนได้ คนตกงานมากเกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ต้องลอยค่าเงินบาท และต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟเป็นครั้งที่ 2 ช่วงเวลาของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ระหว่างปี 2537 - 2544 กินเวลา 7 ปี

กองทุนเพื่อการฟื้นฟู ได้หนี้กองโตจากความเชื่อที่ไม่ถูกต้องถึง 1.4 ล้านล้านบาทมากอดไว้เป็นหนี้สาธารณะ

หากอนาคต สภาพคล่องของระบบเสียหายอีก จะทำอย่างไรย้ำถามว่าหากอนาคตสภาพคล่องของระบบเสียหายอีกจะทำอย่างไรดีได้เตรียมการป้องกันปัญหาไว้อย่างไรบ้าง

หลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรกระหว่างปี 2521-2528 ประเทศไทยคิดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินขึ้นมา เพื่อมาช่วยแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาการขาดสภาพคล่อง แต่ก็พบว่าช่วยการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ นอกจากจะป้องกันและแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้แล้ว ยังซ้ำเติมปัญหาให้ทรุดหนักลงอย่างเหลือเชื่อ

แต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ผู้เขียนไม่เห็นว่าประเทศไทยได้เตรียมเครื่องมืออะไรไว้ต่อสู้กับปัญหาของสภาพคล่องที่อาจจะหายอย่างรุนแรงอีก เป็นครั้งที่ 3

ไม่คิดว่าทุนสำรองสุทธิของประเทศที่มีอยู่ประมาณ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐทุกวันนี้จะมีอยู่เช่นนี้ตลอดไปได้ ทุนสำรองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ยังไม่ทราบกันเลยว่ามันมาได้อย่างไร เมื่อมันมาอย่างรวดเร็วมันได้ มันก็อาจจะจากไปอย่างรวดเร็วได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะโครงสร้างเครื่องมือทางเศรษฐกิจโลกเบี่ยงเบนและมีความผิดปกติมากขึ้น

ตลาดหุ้นไทยเปิดตัวเมื่อปี 2518 ตลาดหุ้นคือสิ่งผิดปกติของโลกทุนนิยม

เมื่อก่อนไม่มีตลาดหุ้นประเทศไทยไม่เคยต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟ ไม่ต้องลด ไม่ต้องลอยค่าเงินบาท ไม่เคยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เมื่อเปิดตลาดหุ้นแล้ว ประเทศไทยต้องลดต้องลอยค่าเงินบาท ต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟแล้วถึง 2 ครั้ง

ตลาดหุ้นเป็นตัวต้นเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจของระบบหรือไม่?

ฝากเป็นการบ้าน สำหรับท่านที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

หลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องมือเศรษฐกิจอย่างมากทางการเรียกว่าเป็นการพัฒนาตลาดทุน คือการเกิดขึ้นของตลาดล่วงหน้า (Futures) ทั้งในส่วนตลาดทุน ตลาดเงิน และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ประเทศทางตะวันตกมีอะไร ประเทศไทยมีแบบเดียวกันทุกอย่าง ตลาดซื้อขายล่วงหน้าคือการนำเอาตัวเลขดัชนีตลาดหุ้น ตัวเลขดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมหุ้น ตัวเลขราคาหุ้น ตัวเลขราคาเงิน ตัวเลขราคาสินค้าโภคภัณฑ์ มาทำการซื้อขายซื้อได้ทั้งขาขึ้น (Long) และขายได้ทั้งขาลง (Short) โดยไม่มีตัวสินค้าจริงเพราะเป็นเพียงการซื้อขายตัวเลขเท่านั้น เรื่องเช่นนี้ ไม่ต่างอะไรกับการซื้อขายสลากกินแบ่งของรัฐบาล หรือการซื้อขายหวยบนดิน หวยใต้ดิน ซึ่งเป็นการซื้อขายตัวเลขเช่นเดียวกัน ที่เราเรียกกันว่าเป็นธุรกรรมอบายมุขนั่นเอง

นั่นคือตลาดทุน ตลาดเงิน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของประเทศไทย ได้กลายเป็นตลาดอบายมุขโดยสมบูรณ์ อบายมุขคือทางของความเสื่อม

กลับมาเรื่องเดิมที่เกริ่นไว้แต่แรก ทุนสามานย์ยึดครองเศรษฐกิจโลก

เหตุการณ์หรือกลไกที่เกิดขึ้นกับตลาดทุน ตลาดเงิน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทุกวันนี้ จะเกิดกับประเทศใด กับภูมิภาคใดหรือกับโลก ก็จะเป็นแบบเดียวกันทุกประการ คล้ายๆที่เคยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยเมื่อ 2 ครั้งที่ผ่านมานั่นเอง

เหตุการณ์ความสัมพันธ์ ระหว่างการพังทลายของเศรษฐกิจอเมริกา ปี 1999 2000 2001 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับการพุ่งขึ้นของเศรษฐกิจภูมิภาคยูโร (และตอนท้ายเศรษฐกิจของภูมิภาคยูโรก็พังทลายลง)

ทุบอเมริกา หนุนยุโรป

การทุบอเมริกาในปี 2000 ทุบตลาด NASDAQ ทำให้เงินเหรียญสหรัฐเสียหายเงินไหลออกจากอเมริกาในปี 2000 ไหลออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ของโลก ไหลมายังยุโรปมากที่สุดเหตุที่ไหลมายุโรปมากที่สุด เนื่องจากมีการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจยุโรปร่วมกันใช้สกุลเงินยูโรเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1999

หนุนยุโรป ทำให้ตลาดหุ้นยุโรปพุ่งสูงขึ้น เงินยูโรแข็งค่าขึ้น เงินยูโรเสมือนเป็นสาวแรกรุ่น บริสุทธิ์ ยังไม่มีตำหนิ เมื่อเงินเหรียญสหรัฐเสียหาย แล้วจะถือเงินเหรียญสหรัฐทำไม จึงทิ้งเงินเหรียญสหรัฐเปลี่ยนมาถือสกุลเงินยูโรแทน ส่งผลให้ตลาดหุ้นภูมิภาคยูโร และเงินยูโรสูงขึ้น

EUROPE39 Index คือดัชนีค่าเฉลี่ยตลาดหุ้นยุโรป 39 ประเทศ แสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นภูมิภาคยูโรสูงขึ้นหลังการพังทลายของตลาด NASDAQ และเงินเหรียญสหรัฐในปี 2000

ปี 2001 ดัชนีตลาดหุ้นยุโรปได้ไต่ระดับสูงขึ้น โดยสูงขึ้นถึง 356 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่จะพังทลายลงในปี 2007- 2009 ที่รู้กันในชื่อ Hamburger Crisis

หนุนให้ตลาดหุ้นสูงขึ้นตอนแรก 2001-2007

แล้วถล่มทุบลงในตอนหลัง 2007-2009

เงินยูโร เป็นการรวมตัวสกุลเงินหลายสกุลเกิดขึ้นวันที่ 1 กรกฎาคม 1999 จากนั้นก็เริ่มแข็งค่าขึ้นในปี 2000 ขึ้นไปสูงสุดในปี 2008 เพิ่มขึ้นถึง 89 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่พังทลายลงในปี 2008 (Hamburger Crisis)

EURO Dollar คือสกุลเงินยูโร เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ

ด้วยกลไกอันเดียวกันกับการสูงขึ้นของ EUROPE39 Index

เงินยูโรก็สูงขึ้น เพราะการพังทลายของตลาด NASDAQ และเงินเหรียญสหรัฐในปี 2000นั่นเอง เงินเหรียญสหรัฐไหลออกจากอเมริกา เอามาเปลี่ยนเป็นเงินยูโร ทำให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้น

หนุนให้เงินยูโรสูงขึ้นตอนแรก 2000-2008

แล้วถล่มทุบลงในตอนหลัง 2008-2009

เรื่องนี้ทำให้ผู้คนของโลกเข้าใจผิด คิดว่าการเปิดประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ทำให้เศรษฐกิจยุโรปดีขึ้น เพราะตลาดหุ้นสูงขึ้น ค่าเงินยูโรก็สูงขึ้น

แต่ช่วงต่อมาตลาดหุ้นพังทลายลงอย่างหนัก ตกลง 71 เปอร์เซ็นต์ เงินยูโรก็ตกลงมา ผ่านไปแล้วเกือบ 4 ปี ยังไม่มีจุดสูงสุดใหม่

นั่นคือการเปิดประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้า และมีความมั่นคงแต่อย่างใด มีหลายประเทศบ่น อยากออกจากกลุ่มภูมิภาคยูโร

ช่วงเวลาการตกลงของคลาดหุ้นภูมิภาคยูโร ตกลงแรงทุกประเทศ ดัชนีตลาดหุ้น Iceland ตกมากที่สุด - 97.65 เปอร์เซ็นต์ดัชนีตลาดหุ้นของประเทศอังกฤษตกน้อยที่สุด - 46.14 เปอร์เซ็นต์

เป็นไปตามกลไกที่เคยนำเสนอไว้ในช่วงต้น รูปแบบวิกฤตเศรษฐกิจ เกิดที่ประเทศไหน ภูมิภาคใด ก็จะเป็นแบบเดียวกันทุกประการ

ตลาดหุ้นตกหนัก ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สภาพคล่องของระบบเสียหายเศรษฐกิจล้มลง เอกชนล้มละลาย คนตกงาน เดือดร้อนกัน ออกมาเดินประท้วงตามท้องถนน

9 - 10 (*)ประเทศในกลุ่มภูมิภาคยูโร ต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟ และธนาคารกลางของยูโร

เป็นบทเรียนของการเปิดประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC)

มาพิจารณาการรวมตัวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

กล่าวอ้างกันว่า AEC จะไม่เป็นแบบ ECC เพราะไม่ได้มีการรวมเงินเป็นสกุลเงินเดียวฟังโฆษณาผ่านวิทยุโทรทัศน์เรื่อง AEC วันละหลายๆ รอบ ล้วนมีแต่เรื่องดีๆ เพื่อผลประโยชน์ในอำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจ การส่งออก และการนำเข้าของสินค้า มีแต่ทางได้ ไม่มีทางเสีย

เป็นเรื่องที่จะต้องคอยติดตามดูกันต่อไป หากเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยแบบเดียวกับการเกิดขึ้นกับประชาคมเศรษฐกิจยุโรป จะมีประเทศบรูไนดารุสซาลามประเทศเดียวที่ไม่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ เนื่องจากเป็นประเทศที่ไม่มีตลาดหุ้น

เรื่องการรวมตัวเป็นภูมิภาคเศรษฐกิจ ทุนสามานย์โลกไม่ได้เป็นเจ้ากี้เจ้าการทำให้เกิดขึ้น แต่ละภูมิภาคจัดการกันเอง เพียงแต่เขาจะดูว่า พวกเขาจะสอดแทรกเข้ามาช่วงไหนเท่านั้น เป็นความไม่รู้เอง หรืออยากไม่รู้เอง

ประเทศไทย ยังไม่สามารถบริหารจัดการให้เกิดความเป็นธรรมในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้ ช่องว่างของคนจนกับคนรวยถ่างห่างมากขึ้นตลอดเวลา

มีการขึ้นเงินเดือนข้าราชการแล้ว แล้วก็คิดจะมาขึ้นราคาพลังงานอีก คิดจะมาขึ้นค่าโดยสารอีก คนกลุ่มน้อยได้รับความสุขสบายขึ้น แต่ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนมากขึ้นไปอีก

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อ ไม่เคยเกิดมีความพอเพียงขึ้นจริงมีแต่เกินความพอเพียงคอร์รัปชันงบประมาณแผ่นดิน ฮุบทรัพยากรของประเทศ เอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตน เป็นเรื่องที่เกินพอเพียงอย่างยิ่งยวด การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ยิ่งเกินความพอเพียงมากขึ้นไปอีกระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนอาจจะล้มลงเช่นเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นกับภูมิภาคยูโรได้

ทุนสามานย์โลกจะมั่งคั่งมากขึ้นไปอีก โลกทั้งโลกก็เป็นของพวกเขามากขึ้นไปอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น