“ออด …....” สัญลักษณ์บอกการจบคาบเรียน เสียงสวรรค์ของนักเรียนทุกยุคทุกสมัยที่ใครๆ ต่างก็เคยได้ยิน แต่เคยรู้หรือไม่ว่าเสียงออดตามโรงเรียนที่เราได้ยินกันนั้น มาจากการเปิด-ปิดของครูหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากร … นักวิจัยจึงพัฒนาระบบกริ่งอัตโนมัติที่สามารถตั้งเวลาและเปิดปิดตัวเองได้ขึ้นเพื่อทำงานแทนมนุษย์
SuperSci สัปดาห์นี้พามาชมนวัตกรรมใหม่ที่ดูเหมือนจะไม่ใหม่ กับ “ระบบกริ่งอัตโนมัติ” ที่สามารถส่งเสียงแจ้งเตือนและเปิดปิดตัวเองได้ผ่านการป้อนข้อมูลในครั้งเดียว จากฝีมือนักวิจัยไทย โดยบริษัท ซีเอ็มเอส โซลูชั่น จำกัด ที่ได้นำนวัตกรรมมาร่วมจัดแสดงในงานประชุมวิชาการประจำปี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NAC 2016) ที่จัดขึ้นในช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา
นายวศุตม์ ปิติวรวงศ์ เจ้าหน้าที่ บริษัท ซีเอ็มเอส โซลูชั่น จำกัด กล่าวว่า ปกติเสียงออดในโรงเรียน หรือโรงงานอุตสาหกรรม จะดังขุ้นด้วยการเปิดปิดเครื่องเสียงโดยครูหรือเจ้าหน้าที่ ซึ่งลำบากเพราะนอกจากวิธีการใช้งานจะยุ่งยาก ยังต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรบุคคล เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนานวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ตลาดดิจิทัลให้มากขึ้น บริษัท ซีเอ็มเอส โซลูชั่น จำกัด จึงพัฒนาระบบที่มีชื่อว่า “Timer” ที่สามารถตั้งเวลาและเปิดปิดตัวเองได้ผ่านการป้อนคำสั่งครั้งเดียว
วศุตม์ อธิบายว่า คุณสมบัติของเครื่อง timer มีหลากหลายรูปแบบ โดยการทำงานหลักจะเริ่มจากการกดปุ่ม power เพียงปุ่มเดียว ระบบจะทำงานได้ผ่านการอ่านคำสั่งที่ผู้ใช้ป้อนผ่านโปรแกรม Microsoft Excel ที่บันทึกลงใน SD Card โดยผู้ใช้สามารถออกคำสั่งให้มีการตั้งเสียงเพลงหรือสัญญาณออดเตือนได้มากถึง 99 ช่วงเวลาต่อวัน และที่สำคัญเมื่อผู้ใช้ไม่ได้ป้อนโปรแกรมคำสั่งให้ระบบมีการแจ้งเตือนเป็นเวลานาน ระบบก็จะสามารถสั่งตัดไฟเพื่อปิดตัวเองได้โดยอัตโนมัติทำให้ไม่เปลืองพลังงาน
“99 ช่วงเวลาต่อวันที่บอก คือการออกคำสั่ง เช่น 7.50 น. เปิดเพลงปลุกใจ นับเป็น 1 ช่วงเวลา 8.00 น. เปิดเพลงชาติ นับเป็น 2 ช่วงเวลา 8.30 น. เป็นเสียงออด นับเป็น 3 ช่วงเวลา ซึ่งแปลว่าวันหนึ่งเราสามารถสั่งงานมันได้ถึง 99 ครั้ง ซึ่งถ้าเป็นการสั่งงานด้วยคนให้คอยเปิดปิดเสียง คงลำบากไม่น้อย แต่นี่เพียงแค่กรอกคำสั่งตามฟอร์มของเราลงในเอ็กเซล ระบบออดอัจฉริยะนี้ก็จะทำงานได้เองเลยแบบง่ายๆ การกรอกคำสั่งก็ทำง่าย เราจะสอนให้ด้วยสำหรับผู้ที่ซื้อระบบไปใช้ เสาร์-อาทิตย์ หากต้องการให้มีเสียงเตือนก็ตั้งค่าได้ แต่ถ้าไม่ต้องการระบบก็จะปิดตัวเองเพื่อประหยัดไฟ และจะเปิดตัวเองขึ้นมาใหม่ เมื่อใกล้ถึงเวลาที่จะเตือน และที่สำคัญนวัตกรรมทั้งหมดนี้มาจากฝีมือคนไทย เราทำเอง จดสิทธิบัตรเอง ถ้าเคยเห็นระบบนี้ที่ไหนมาก่อนนั่นคือระบบของประเทศจีน” วศุตม์ กล่าว
นอกจากจะทำงานได้ตามโปรแกรมที่วางไว้ วศุตม์ ยังเผยด้วยว่า ระบบออดอัจฉริยะยังสามารถใช้งานในแง่การเตือนภัยแบบปัจจุบันทันด่วนได้ด้วย เพราะที่หน้าตัวเครื่อง จะมีแถบด้านหน้าจำนวน 7 ปุ่ม ที่ถูกออกแบบมาให้ส่งเสียงพิเศษ อย่างเช่น เสียงเตือนภัย เสียงเร่งอพยพ เสียงเรียกคนประจำจุด ในกรณีเกิดอัคคีภัย หรือเหตุร้ายต่างๆ โดยขณะนี้ระบบออดอัจฉริยะได้ถูกนำไปใช้จริงแล้วในโรงเรียนและโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่ง และกำลังจะขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะนอกจากจะแจ้งเตือนได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีราคาที่ไม่สูงเกินไปประมาณระบบละ 22,000 บาท