ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“แล้วยังงัย…”
คือคำถามแรกที่เชื่อว่า ทุกคนที่ติดตามการแถลงข่าวจับกุม “ชายชุดดำ” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) นำโดย “พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” ผบ.ตร.คนใหม่สงสัย
จากนั้นก็นำมาซึ่งคำถามสำคัญที่สุดคือ แล้วจะสามารถเชื่อมโยงไปลากคอ “ผู้บงการ” ที่ออกคำสั่งให้ชายชุดดำออกปฏิบัติการได้หรือไม่ และถ้าได้จะใช้เวลาอีกสักกี่มากน้อย
เพราะทำไปทำไมการณ์กลับกลายเป็นว่า ชายชุดดำ 5 คนที่ถูกจับกุมได้นั้นถูกฟ้องในข้อหา “ร่วมกันมีและใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถอนุญาตให้ครอบครอง และข้อหาพกาอาวุธปืนและวัตถุระเบิดไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร” มิใช่ข้อหาร่วมกันฆ่าหรือข้อหาร่วมกันก่อเหตุโดยใช้อาวุธสงครามยิงใส่ทหาร
เป็นข้อกล่าวหาที่พูดได้ว่า มิได้มีโทษที่หนักหนาสาหัสแต่ประการใด
ที่สำคัญคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันชัดเจนอีกต่างหากว่า ชายชุดดำที่จับกุมได้มิได้เกี่ยวข้องกับการสังหาร “พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม” แต่ประการใด
พล.ต.อ.สมยศระบุชัดว่า “การจับกุมครั้งนี้ไม่ใช่แพะแน่นอน และทุกคนมีหมายจับอยู่แล้ว โดยมีเสธ.ไก่เป็นคนสั่งการ แต่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเหตุการณ์ที่แยกคอกวัว และกลุ่มผู้ต้องหาที่นำมาแถลงข่าวนี้อยู่คนละถนนกับที่ พล.อ.ร่มเกล้าประจำการอยู่ ฉะคงไม่ใช่กลุ่มที่ลงมือฆ่าทหารผู้นี้ แต่อาจมีการยิงเอ็ม 79 ข้ามถนน ซึ่งต้องตรวจพิสูจน์วิถีการยิงต่อไป แต่ทุกกลุ่มมีความเกี่ยวข้องกัน เป็นเครือข่ายเดียวกันหมด...”
ตรงกับข้อมูลจากปากของ พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รองผู้บังคับการกองปราบปรามที่สรุปสำนวนคดีนี้ส่งฟ้องต่ออัยการกองคดีอาญาเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557 ว่า “คดีนี้เป็นคนละส่วนกับคดีการสังหาร พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม”
อ้าว...เริ่มต้นก็ทำสังคมงุนงงไปตามๆ กัน แล้วอย่างนี้จะสามารถลากคอผู้ที่สนับสนุนเงินทองและอาวุธ หรือพูดง่ายๆ จับ “ผู้บงการตัวจริง” ได้หรือ
ด้วยเหตุดังกล่าวคือปมปริศนาที่จำเป็นต้องเชื่อมโยงหาข้อเท็จจริงกันต่อไปว่า ทำไมถึงเพิ่งมีการจับกุม และการจับกุมชายชุดดำครั้งนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือไม่
กล่าวสำหรับผู้ต้องหาที่จับได้มีทั้งหมด 5 คน ประกอบด้วย นายกิตติศักดิ์ หรือ อ้วน สุ่มศรี ชาวกรุงเทพฯ, นายปรีชา หรือ ไก่เตี้ย อยู่เย็น ชาวเชียงใหม่, นายรณฤทธิ์ หรือ นะ สุริชา ชาวอุบลราชธานี, นายชำนาญ หรือ เล็ก ภาคีฉาย ชาวกรุงเทพฯ และ นางปุณิกา หรือ อร ชาวกรุงเทพฯ ส่วนที่อยู่ระหว่างหลบหนี 2 คน คือ นายธนเดช เอกอภิวัชร์ หรือ ไก่รถตู้ ชาวกรุงเทพฯ และ นายวัฒนะโชค หรือ โบ้ จีนปุ้ย ชาวเพชรบูรณ์
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่จากการแกะรอยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พล.ต.อ.สมยศระบุชัดว่าชายชุดดำที่ถูกจับกุมนั้นมีความเชื่อมโยงกับ “นางสาวกริชสุดา คุณะเสน” หรือ “เปิ้ล” หนึ่งในบุคคลสำคัญของคนเสื้อแดงที่เวลานี้หลบหนีการจับกุมไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งเมื่อตรวจสอบสายสัมพันธ์ของนางสาวกริชสุดาแล้วก็พบว่า เธอคือเลขานุการและคนสนิทของ “นางมนัญชยา เกศแก้ว” หรือ “เมย์ อียู” แกนนำ นปช.ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทว่า ข้อที่ชวนให้สงสัยก็คือนางสาวกริชสุดาหรือเปิ้ล สหายสุดซอยนั้น มีความเกี่ยวข้องกับชายชุดดำมากน้อยเพียงใด เพราะ ณ เวลานั้น เปิ้ลมีสภาพเป็นแค่นักศึกษาชั้นปีที่ 3 และเป็นเพียงแค่กลุ่มแดงร่วมกิจกรรมรุ่นใหม่ที่ทำหน้าที่เฝ้าตู้บริจาคในเต็นท์เสรีปัญญาชน ดังที่ “แฟนเพจแนวร่วมขบวนการเสรีไทยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” ตอบโต้เอาไว้ว่า “ตอนปี 53 หนูยังเป็นวุ้นอยู่เลย” แม้จะมีหลักฐานอ้างว่า พบเลขบัญชีของผู้ต้องหาเหล่านี้ขณะไปค้นที่บ้านพัก “เมย์ อียู” ก็ตาม
ดังนั้น จงอย่าแปลกใจถ้าหากจะมีการตั้งคำถามถึงการจับกุมชายชุดดำของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในห้วงเวลานี้ พร้อมกับตั้งข้อหาที่สามารถใช้คำว่า “หน่อมแน้ม” และนั่นเองเป็นเหตุให้แกนนำคนเสื้อแดงนำโดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.), นางธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธานแกนนำ นปช., นพ.เหวง โตจิรากร อดีตแกนนำ นปช. และนายอารีย์ ไกรนรา เดินทางเข้าพบ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา พร้อมเรียกร้องให้มีความชัดเจนในการตั้งข้อกล่าวหา
และ พล.ต.อ.สมยศก็ตอบชัดเจนว่า “สำหรับการดำเนินการคดีชายชุดดำนั้นไม่เคยพาดพิงถึงกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลัง และไม่เคยกล่าวว่ากลุ่มชายชุดดำเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า เพียงแต่จับกุมในข้อหาครอบครอบอาวุธสงครามเท่านั้น อีกทั้งจุดเกิดเหตุก็อยู่คนละจุดกับที่ พล.อ.ร่มเกล้าเสียชีวิต แต่ถ้าหากการสอบสวนขยายผลว่ามีความเชื่อมโยงเจ้าหน้าที่จะดำเนินการโดยเด็ดขาด พร้อมยืนยันเจ้าหน้าที่ไม่เคยคุกคามบีบคั้นหรือทำร้ายร่างกายผู้ถูกกล่าวหาให้รับสารภาพ และพร้อมให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย”
เฉกเช่นเดียวกับคดีของ “เสธ.หยอย-พล.ท.มนัส เปาริก” อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่ง พล.ต.อ.สมยศระบุชัดในการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2557 ที่ผ่านมาถึงควมเชื่อมโยงกับผู้ต้องหาที่ก่อเหตุเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ว่า “จากแนวทางการสืบสวนสอบสวนทราบว่ามีความเชื่อมโยงกันในเรื่องของการจัดหาอาวุธที่ถูกนำไปใช้ก่อเหตุ แต่ในส่วนของเส้นทางการเงินนั้น ยังไม่พบว่ามีความเชื่อมโยง” ทว่า คดีที่เสธ.หยอยถูกดำเนินคดีก็มิได้แตกต่างจากชายชุดดำที่ถูกจับกุมได้แต่ประการใด หรือครอบครอบอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง
กระนั้นก็ดี เชื่อว่า งานนี้น่าจะไม่เป็นมวยล้มต้มคนดู เพราะดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะมีความมั่นใจอยู่มาก
“ถ้าผมกล่าวว่ามีใครบ้างที่สนับสนุนทั้งอาวุธ เงินทอง ทุกท่านอาจจะตกใจ ก็ได้....”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวเอาไว้ในรายการคืนความสุขให้ทุกคนในชาติเมื่อคืนวันที่ 12 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม “ชายชุดดำ” ที่ก่อเหตุในการจลาจลเผาบ้านเผาเมืองเมื่อวันที่ 10 เมษายนปี 2553
คำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ถือว่ามีความน่าสนใจยิ่ง เพราะมิอาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์มีข้อมูล “ชายชุดดำ” ซึ่งเป็น “กองกำลังติดอาวุธ” ของ “คนเสื้อแดง” ในระดับที่ไม่ธรรมดา เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์พูดชัดว่า “รู้ว่าใครที่สนับสนุนทั้งอาวุธและเงินทอง” แถมยังตบท้ายอีกต่างหากว่า ถ้าเปิดเผยแล้วทุกท่านจะตกใจ
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์มีข้อมูลเช่นนี้ก็น่าจะสบายใจได้ไปเปลาะหนึ่ง เพราะต้องไม่ลืมว่า ผู้ที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บล้วนแล้วมาจาก พล.ร.2 รอ. ซึ่งเป็น “ทหารเสือราชินี” หรือ “บูรพาพยัคฆ์” ทั้งสิ้น
หนึ่งในผู้เสียชีวิตก็คือ “พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม” ซึ่งขณะนั้นมียศเป็น พ.อ.ดำรงตำแหน่งเป็นรองเสนาธิการ พล.ร.2 รอ. และมีพลทหารอีก 4 คนที่เสียชีวิตคือ พลทหารอนุพงศ์ หอมมาลี พลทหารอนุพงษ์ เมืองรำพัน พลทหารภูริวัฒน์ ประพันธ์และพลทหารสิงหา อ่อนทรง
นอกจากนี้ ยังมีนายทหารคนสำคัญที่ได้รับบาดเจ็บชื่อ “พล.ท.วลิต โรจนภักดี” อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ก่อนที่จะถูกย้ายข้ามห้วยไปเป็นรองเสนาธิการทหารที่กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งขณะนั้นมียศเป็น พล.ต.ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) ที่ถูกปืนเอ็ม 79 ได้รับบาดเจ็บขาด้านซ้ายหัก 3 ท่อน
แน่นอน หนังเรื่องนี้คงต้องดูกันยาวๆ และให้โอกาสเจ้าหน้าที่ตำรวจในการทำงาน เพราะเชื่อว่าสุดท้ายแล้วจะสามารถเชื่อมโยงไปถึง “คนใจดำ” ในเหตุการณ์ 10 กันยายน 2553 ได้