xs
xsm
sm
md
lg

ภิกษุประกาศละสังขาร : ผิดวินัยสงฆ์หรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

คำว่า ละสังขาร ได้มีการพูดถึงและกลายเป็นข่าวใหญ่เมื่อหลวงปู่พิมพ์ ซึ่งเป็นพระสายอรัญวาสีหรือสายพระป่า เน้นหนักไปทางการปฏิบัติเพื่อละกิเลสได้ประกาศจะละสังขารในวันที่ 9 เดือน 9 ที่ผ่านมา แต่สุดท้ายจบลงด้วยการเลิกล้มความตั้งใจ เมื่อมีผู้มาขอร้องอย่าเพิ่งละสังขารแต่ก็ประกาศว่าจะอยู่ต่อ และจะละสังขารใน 15 ปีข้างหน้า จึงทำให้เกิดความสับสนว่า การละสังขารซึ่งกำหนดรู้ด้วยญาณมีความคลาดเคลื่อนหรือผิดพลาดเกิดขึ้นอย่างไร

อีกประการหนึ่ง ได้มีผู้ออกมาอธิบายว่า การละสังขารมิได้หมายความว่าการตาย แต่หมายถึงการเข้าฌานสมาบัติ เพื่อละกิเลสหรือบรรเทาทุกข์อันเกิดจากการเครียดของโรคภัย

ดังนั้น จึงเพิ่มความสับสนเพิ่มขึ้นไปอีกเกี่ยวกับความหมายอันแท้จริงของคำว่า ละสังขาร

ในความหมายที่แท้จริง และอิงคัมภีร์การละสังขารน่าจะหมายถึงอะไร?

ถ้าพิจารณาจากรูปศัพท์ และความหมายในทางธรรมะอันเกี่ยวเนื่องกับคำนี้ การละสังขารน่าจะหมายถึงการตายของพระอรหันต์ผู้ละกิเลสได้หมดแล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่หรือที่เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานคือการดับกิเลสและดับขันธ์

โดยนัยแห่งคำว่า ละสังขารหมายถึงการตายจากไปของพระอรหันต์นั่นเอง คงจะมิได้หมายถึงการตายของภิกษุที่ยังเป็นเสขบุคคลคือ บุคคลที่ยังไม่บรรลุอรหันตผลแน่นอน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครก็ตามที่นำคำว่า ละสังขารมาใช้กับการตายของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ก็เท่ากับยอมรับว่าภิกษุรูปนั้นเป็นอรหันต์หรือพระอเสขบุคคลนั่นเอง

ถ้าการนิยามคำว่า ละสังขาร ดังกล่าวข้างต้นถูกต้อง การที่หลวงปู่พิมพ์ออกมาประกาศว่าจะละสังขารเมื่อวันที่ 9 หรือในอีก 15 ปีข้างหน้าจะเข้าข่ายอวดคุณวิเศษตามนัยแห่งปาราชิกสิกขาบทที่ 4 หรือไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนมิอาจชี้ขาดด้วยวิจารณญาณของปัจเจกชนซึ่งยังเป็นปุถุชน แต่จะขอนำต้นบัญญัติของปาราชิกสิกขาบทที่ 4 รวมไปถึงอนุบัญญัติด้วย เพื่อให้ท่านผู้อ่านเทียบเคียงดูว่าเข้าข่ายหรือไม่ดังต่อไปนี้

พระพุทธเจ้าประทับ ณ เรือนยอดในป่ามหาวันใกล้กรุงเวสาลี สมัยนั้นมีภิกษุหลายรูปที่ชอบพอเป็นมิตรสหายกันจำพรรษาอยู่ใกล้แม่น้ำวัคคุมุทา

สมัยนั้นเกิดทุพภิกขภัยในแคว้นวัชชี (อันเป็นราชธานีของกรุงเวสาลี) ภิกษุทั้งหลายลำบากด้วยเรื่องอาหารบิณฑบาต จึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรกันดี

บางรูปเห็นว่า ควรช่วยแนะนำกิจการงานของคฤหัสถ์

บางรูปเห็นว่า ควรทำหน้าที่ทูตคือทำหน้าที่นำความข้างนั้นมาบอกข้างนี้ นำความข้างนี้ไปบอกข้างนั้น

บางรูปเห็นว่า ควรใช้วิธีสรรเสริญกันและกันให้คฤหัสถ์ฟังว่า ภิกษุรูปนั้นมีคุณวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น ได้ฌานที่ 1 และฌานที่ 2 เป็นต้น จนถึงได้เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ มีวิชา 3 มีอภิญญา 6 เมื่อเห็นว่าวิธีหลังนี้มีจึงเที่ยวสรรเสริญกันและกันให้คฤหัสถ์ฟัง จึงได้รับเลี้ยงดูจากคฤหัสถ์ชาวริมน้ำวัคคุมุทาเป็นอย่างดี มีผิวพรรณผ่องใส เอิบอิ่ม เมื่อออกพรรษาแล้วจึงเก็บเสนาสนะเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ กรุงเวสาลี

ปรากฏว่าภิกษุที่มาแต่ทิศอื่นล้วนซูบผอม ผิวพรรณทราม มีเส้นเอ็นขึ้นเห็นได้ชัด ส่วนภิกษุที่มาจากฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทากลับอิ่มเอิบ อ้วนพี พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามทุกข์สุขและทรงทราบเรื่องนั้น จึงตรัสติเตียนและเรียกประชุมภิกษุทั้งหลาย ตรัสเรื่องมหาโจร 5 ประเภทเปรียบเทียบกับภิกษุคือ

1. มหาโจรพวกที่หนึ่ง รวบรวมพวกตั้งร้อยตั้งพันเพื่อจะเข้าไปฆ่าปล้น เอาไฟเผาในคามนิคมราชธานีเทียบด้วยภิกษุบางรูปคิดรวบรวมพวกตั้งร้อยตั้งพันเพื่อจาริกไปในคามนิคมราชธานีให้คฤหัสถ์และบรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชา อ่อนน้อม และได้จีวร บิณฑบาต ที่อยู่อาศัย ตลอดจนยารักษาโรคนี้เป็นมหาโจรประเภทที่ 1

2. ภิกษุชั่วบางรูป เรียนพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ก็โกงเป็นของตนเอง (แสดงว่าตนได้คิดเอง มิได้เรียนหรือศึกษาจากใคร) นี้เป็นมหาโจรประเภทที่ 2

3. ภิกษุชั่วบางรูปใส่ความเพื่อนพรหมจารีผู้บริสุทธิ์ ด้วยข้อหาว่าประพฤติผิดพรหมจรรย์อันไม่มีมูลนี้เป็นมหาโจรประเภทที่ 3

4. ภิกษุชั่วบางรูปเอาของสงฆ์ที่เป็นครุภัณฑ์ ครุบริขาร (ที่ห้ามแจก ห้ามแบ่ง) เช่น อาราม ที่ตั้งอาราม วิหารที่ตั้งวิหาร เตียงตั่ง เป็นต้น ไปสงเคราะห์คฤหัสถ์ประจบคฤหัสถ์ (เพราะเห็นแก่ลาภ) นี้เป็นมหาโจรประเภทที่ 4

5. ภิกษุผู้อวดคุณวิเศษที่ไม่มีจริง ไม่เป็นจริง ชื่อว่าเป็นยอดมหาโจรในโลก เพราะบริโภคก้อนข้าวของราษฎรด้วยอาการแห่งขโมย

ครั้นแล้วทรงติเตียนภิกษุชาวริมฝั่งวัคคุมุทาด้วยประการต่างๆ พร้อมทั้งทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน เมื่ออวดแล้วแม้จะสารภาพผิดทีหลังก็ต้องอาบัติปาราชิกอนุบัญญัติ

สมัยนั้นภิกษุหลายรูปสำคัญตนผิดว่าตนได้บรรลุคุณวิเศษ จึงประกาศตนว่าเป็นพระอรหันต์สมัยต่อมา จิตของเธอน้อยไปเพื่อราคะ โทสะ โมหะ ก็เกิดความรังเกียจสงสัยว่าการประกาศตนว่าได้บรรลุคุณวิเศษ ด้วยความสำคัญผิดจะทำให้ต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่ ความทราบถึงพระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติเพิ่มเติมยกเว้นให้สำหรับภิกษุผู้สำคัญผิดว่าได้บรรลุ และยกเว้นภิกษุ 6 ประเภทไม่ต้องอาบัติคือ 1. เพราะสำคัญผิดว่าได้บรรลุ 2. มิได้มีความประสงค์โอ้อวด (เช่นบอกเล่า เพื่อนพรหมจารี) โดยมิได้หวังให้เกิดลาภ 3. ภิกษุเป็นบ้า 4. ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน (เป็นบ้าชั่วคราวเพราะเหตุใด) 5. ภิกษุผู้มีเวทนากล้า (ไม่รู้สึกตัว) และ 6. ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ

เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาสาระของสิกขาบทนี้แล้ว จะเห็นว่าผู้ที่เข้าข่ายล่วงละเมิดสิกขาบทนี้ก็คือ รู้ว่าตนเองมิได้มีคุณวิเศษใดๆ อยู่ในตน แต่ประกาศว่ามีเพื่อหวังให้เกิดลาภสักการะเท่านั้นจึงจะต้องอาบัติ

แต่หลวงปู่พิมพ์ ถ้าดูตามข่าวไม่น่าจะเข้าข่ายล่วงละเมิดสิกขาบทนี้ เพราะไม่ได้หวังผลให้เกิดลาภสักการะ และไม่ได้ประกาศว่าได้บรรลุคุณวิเศษ ประกอบกับการประกาศละสังขารได้บอกกับภิกษุด้วยกัน มิได้บอกแก่คฤหัสถ์โดยตรง ประกอบกับสิกขาบทนี้เป็นสจิตตกะคือจะต้องมีเจตนาจะโอ้อวดจึงจะผิด

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามองดูในแง่ของความเหมาะสม และคำนึงถึงเพศภาวะของนักบวช การประกาศออกไปและตกเป็นข่าวทำให้สับสนก็ควรที่พระภิกษุควรหลีกเลี่ยง เพราะเมื่อเป็นข่าวแล้วยากที่ตามไปแก้ไขให้เป็นไปตามความเป็นจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น