xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กอดขุมทรัพย์ 1.8 หมื่นล้าน ช่อง 3 ตีมึนยึดสัญญาสัมปทาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -จนถึงวันนี้ช่อง 3 อะนาล็อก หรือ ช่อง 3 ออริจินอล ภายใต้ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ยังคงนิ่งเงียบตีมึนออกอากาศในระบบอะนาล็อกหรือภาคพื้นดินตามสัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับ อสมท.ดังเดิม โดยยังคงเหลือเวลาในการออกอากาศภาคพื้นดินไปได้อีก 6 ปี หรือจะหมดสัญญาลงในปี 2563 นี้ ซึ่งหากยึดตามสัญญานี้แล้ว ช่อง 3 อะนาล็อกจะไม่สามารถออกอากาศในระบบทีวีดิจิตอลได้

โดยช่อง 3 อ้างว่า เป็นคนละบริษัทที่ใช้ประมูลช่องทีวีดิจิตอลซึ่งใช้บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด ประมูลทีวีดิจิตอล 3ช่องมา ดังนั้นหากนำช่อง 3 อะนาล็อกไปออกคู่ขนานหรืออยู่บนทีวีดิจิตอล จะเป็นการผิดสัญญาสัมปทานได้

จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาช่อง3อะนาล็อก พร้อมใช้ทุกวิถีทางที่เป็นได้ เพื่อซื้อเวลาอยู่บนอะนาล็อกให้นานที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการอ้างสัญญาสัมปทาน หรือแม้แต่การหารือกับทางกลุ่มผู้ประกอบการเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมเพื่อหาทางออกร่วมกัน จนเป็นเหตุให้ทางกลุ่มผู้ประกอบการเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมร่วมกันกดดันการทำงานของกสท.อีกทางหนึ่ง นำโดย นายมานพ โตการค้า ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอพีเอ็มทีวี จำกัด ผู้ทำธุรกิจจานดาวเทียมสีส้ม ภายใต้แบรนด์ IPM และผู้ประกอบการโครงข่ายจานดาวเทียมและเคเบิลทีวีรายอื่น พากันเข้าพบ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อยื่นหนังสือขอร้องให้หาแนวทางในการหารือกับทางช่อง 3

เพื่อมิให้ผู้ประกอบการจานดาวเทียมและเคเบิลทีวีได้รับความเดือดร้อนไปด้วย และหากช่อง3 จะเกิดจอดำขึ้นมาจริงๆ ก็คงต้องมีการอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ ด้วยการขึ้นตัววิ่งด้านล่างจอทีวี ว่าเป็นคำสั่งจาก กสทช.ที่จะส่งผลให้ทีวีช่อง3จอดำ ทั้งนี้ทางผู้ประกอบการเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมพร้อมที่จะปฏิบัติตาม โดยมองว่ากลุ่มผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบทางอ้อม ขณะที่ผู้ชมจะเป็นผู้ที่ได้รับกระทบโดยตรง

ส่วนแนวทางของช่อง3อะนาล็อกเองได้มีการประชาสัมพันธ์เบื้องต้นเป็นตัวหนังสือวิ่งอยู่บนหน้าจอให้ผู้ชมได้รับทราบ หากหน้าจอช่อง 3 อยู่ในสถานการณ์จอดำบนแพลทฟอร์มเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม พร้อมเสนอแนวทางรับชมช่อง3อะนาล็อกในช่องทางอื่นทดแทน เช่น แอพลิเคชั่นบนมือถือทั้งระบบไอโอเอส, แอนดรอยด์ และWP รวมถึงรับชมผ่านทางเว็บไซต์ช่อง3 เป็นต้น

ดูไปแล้วช่อง3อะนาล็อกไม่ได้กังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นมากนัก จึงเป็นไปได้ว่าเหตุสำคัญที่ช่อง3อะนาล็อกยังไม่ยอมขึ้นอยู่บนแพลทฟอร์มทีวีดิจิตอล อาจไม่ใช่เพราะกลัวผิดสัญญาสัมปทานเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญที่สุดน่าจะอยู่ที่มูลค่ารายได้ที่ว่ากันว่า ต่อปีทำได้สูงถึงปีละ 18,000 ล้านบาทต่อปี จะหายไปมากกว่าครึ่ง!!! ขณะที่ภาระต้นทุนต่างๆกลับจะมีเพิ่มขึ้น

นั่นจึงเป็นสาเหตุหลัก ที่ทำไมช่อง3 ถึงไม่ยอมออกคู่ขนานเช่นเดียวกับช่องฟรีทีวีอื่นๆ

คำตอบนี้มีความเป็นไปได้สูงมาก จากคำสัมภาษณ์ของนางวรรณี รัตนพล ประธานบริหาร ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส และในฐานะนายกสมาคมมีเดีย เอเยนซีและธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย ที่ระบุชัดว่า เฉพาะปีนี้ในช่วง 7เดือนที่ผ่านมา ช่อง 3 อะนาล็อกมีรายได้จากโฆษณาไปแล้วกว่า 12,000 ล้านบาท การที่จะยอมทิ้งขุมทรัพย์แอ่งใหญ่นี้ไปสู่บ่อน้ำที่ยังไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย เป็นใครก็คงจะเลือกเก็บเกี่ยวที่เก่าก่อนจะดีกว่า

แน่นอนว่า ช่อง 3 อะนาล็อกเองได้มีการตอบโต้กสท.ด้วยการชี้แจงผ่านทางช่อง 3 อะนาล็อกมาอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา ช่อง3อะนาล็อกได้ออกมาชี้แจงผ่านช่วงรายการข่าวของทางสถานีไทยทีวีสีช่อง3 กรณีไม่ออกอากาศคู่ขนาน โดยเฉพาะจากใจความสำคัญข้อที่ 3 ที่ว่า ถ้า กสท. จะอนุญาตให้บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด นำรายการของช่อง 3 ไปออกอากาศคู่ขนาน (Pass Through)

โดยที่สัญญาณ เนื้อหารายการและโฆษณาของช่อง 3 จะต้องไม่ถูกดัดแปลง แก้ไขใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้น จะก่อให้เกิดปัญหาแก่ช่อง 3 ในเรื่องลิขสิทธิ์รายการ จากเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ และยังมีขั้นตอนที่ทั้ง บีอีซี มัลติมีเดีย และบางกอกเอนเตอร์เทนเม้นต์ ต้องไปดำเนินการระหว่างกันให้ถูกต้อง อีกทั้งยังต้องไปหารือทำความตกลงกับ กสท. ในเรื่องการขออนุญาต ค่าประมูล ค่าสัมปทาน ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามกฏและเป็นธรรมต่อไป

รวมถึงการชี้แจงในกรณีไม่ขออนุญาตเป็น Pay TV ใน ข้อ2.ที่ว่า แม้ช่อง 3 จะไปขออนุญาตเป็น Pay TV ตามที่ กสท.แนะนำ เพื่อให้โครงข่ายดาวเทียม และเคเบิลเอาสัญญาณของช่อง 3 ไปออกอากาศได้นั้น เจ้าของลิขสิทธิ์ รายการของช่อง 3 จะถือว่าเป็นธุรกิจใหม่ ประเภท Pay TV จะต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ใหม่ และค่าธรรมเนียมใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะมีการดัดแปลง แก้ไขสัญญาณ เนื้อหารายการ หรือโฆษณาหรือไม่ก็ตามจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะไปขอใบอนุญาตเป็น Pay TV

“ข้อชี้แจงดังกล่าว คือ คำสารภาพของช่อง3 ที่มัดตัวเองไว้แน่นว่า เมื่อใดที่ก้าวสู่ทีวีดิจิตอล จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ต้องแบกรับเพิ่ม อย่างน้อยที่สุด ก็จะต้องรับภาระการขอใบอนุญาต3 ใบ เช่น การขอใบอนุญาตมาเป็นเพย์ทีวี ซึ่งจะทำให้รายได้จำนวนมหาศาลที่มาจากโฆษณา จากเดิมอยู่ที่ 12นาทีต่อชั่วโมง เหลือเพียง 6 นาทีต่อชั่วโมง หรือจากเดิมช่อง 3 ที่ว่ากันว่ามีรายได้สูงถึงปีละ 18,000 ล้านบาท ย่อมไม่มีทางที่จะกลับมาทำรายได้สูงเท่าที่ผ่านมาได้ นอกจากนี้ยังมีต้นทุนเก่าอย่าง สัมปทานเดิมกับช่อง9 อีก 6 ปี ปีละ 150 ล้านบาท หรือรวมกว่า 900 ล้านบาท ก็ยังจะคงต้องจ่ายอยู่ จึงเป็นเรื่องที่ช่อง 3 มองเป็นการสูญเสียมากกว่า หากจะก้าวสู่ทีวีดิจิตอลในเวลานี้”

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าช่อง 3 ตีโจทย์แตกมาตั้งแต่ต้น เริ่มตั้งแต่ใช้อีกบริษัทเพื่อเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอล มาถึง 3 ช่อง และเป็นรายเดียวที่ประมูลมามากสุดและใช้เงินมากสุดในการประมูลที่สูงถึง 7,000 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ/

ตามที่นายสุรินทร์ กฤยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้กล่าวไว้ว่า บริษัทให้ความสำคัญกับทีวีดิจิตอล เห็นจากจำนวนการประมูลช่องทีวีดิจิตอลที่สูงถึง 3 ช่อง และเม็ดเงินประมูลที่ใช้กว่า 7,000 ล้านบาท แต่สำหรับช่อง 3 อะนาล็อก เรามีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน และอยู่ภายใต้บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ซึ่งเป็นคนละบริษัทที่ประมูลทีวีดิจิตอล จึงไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันหากจะต้องนำช่อง 3 ไปออกคู่ขนานในช่องที่ประมูลมา แม้ว่าทั้ง 2 บริษัทจะอยู่ในเครือเดียวกัน

“ปัญหาของทีวีดิจิตอลที่เกิดขึ้นล่าช้า ไม่ได้อยู่ที่ช่อง 3 ที่ยังคงออกอากาศในระบบอะนาล็อกหรือภาคพื้นดิน แม้ว่าฟรีทีวีที่ออกอากาศภาคพื้นดินจะเข้าถึงกลุ่มผู้ชมหลักของประเทศก็ตาม แต่ในความเป็นจริงกว่า 70% ของผู้ชมทั้งประเทศสามารถรับชมช่อง 3 อะนาล็อกและช่องทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่องได้ทางเคเบิลทีวีและดาวเทียมอยู่แล้ว ซึ่งมีเพียง 30% เท่านั้นที่ไม่สามารถรับชมทีวีได้ ที่สำคัญช่อง 3 อยู่บนธุรกิจทีวีมานานมีคอนเท้นท์ที่แข็งแกร่ง มีความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องเร่งแผนในการเข้าไปอยู่บนทีวีดิจิตอล หากทุกอย่างยังไม่ชัดเจน ไม่เกี่ยวกับการลงทุนว่าช้าหรือเร็ว แต่ขึ้นอยู่กับแนวทางและความสามารถในการขายคอนเท้นท์”

นายสุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับทีวีดิจิตอลทั้ง 3 ช่องที่บีอีซีประมูลมา ปีนี้แถบจะไม่มีการลงทุนอะไรเลย นอกจากเม็ดเงินการประมูล เพราะมองเห็นความล่าช้าในการเกิดของทีวีดิจิตอล โดยในปีแรกจะไม่เน้นการลงทุน เพียงประคองตัวให้อยู่ได้เท่านั้น จากเดิมในช่วงเดือนต.ค.จะมีการนำเสนอรายการใหม่มากยิ่งขึ้น แต่หลังจากพบความล่าช้าในธุรกิจนี้ทำให้ต้องเลื่อนแผนออกไปเป็นต้นปี 2558 แทน จะมีการนำเสนอรายการใหม่ๆในทั้ง 3 ช่อง คิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50% ของเวลาการออกอากาศตลอดทั้งวัน เช่น ช่อง3SD จะเน้นรายการประเภทวาไรตี้ ที่เป็นรายการฟอร์เมทจากต่างประเทศที่ซื้อมาไว้หลายรายการ ส่วนช่อง3HD จะเน้นรายการประเภทกีฬาดัง ที่ได้ซื้อลิขสิทธิ์มา เช่น ฟุตบอลยูโร หรือฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่จับมือกับทาง ซีทีเอช เป็นต้น โดยคาดหวังว่าสิ้นปี58 รายได้จากกลุ่มช่องทีวีดิจิตอลน่าจะทำได้ 10-15% เมื่อเทียบกับช่อง3 อะนาล็อก จากที่ปีนี้มีรายได้ไม่ถึง 5%

จะเห็นว่าโอกาสในทีวีดิจิตอล ยังไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววัน “เสือ” อย่างช่อง3 จึงใจเย็นที่จะลงทุน แต่มุ่งกอบโกยรายได้จากช่อง 3 อะนาล็อกมากกว่า อย่างน้อยที่สุดก็ยื้อให้สุดเกมตามที่ช่อง 3 ได้ออกมาชี้แจงในกรณีไม่ขออนุญาตเป็น Pay TV ด้วยกัน 2ข้อ โดยชี้ให้ทางกสท. เห็นว่า ยังสามารถตัดสินดำเนินการได้ในหลายๆทาง เช่น การขยายเวลาบังคับใช้มติ หรือรอคำสั่งศาลปกครอง เป็นต้น ไม่ใช่บีบบังคับกัน

ยิ่งลงลึกยิ่งพบว่าเกมนี้ถูกวางหมากไว้อย่างดี โดยแหล่งข่าววงการอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ได้วิเคราะห์ไว้ว่า ผลประโยชน์มูลค่า 18,000 ล้านบาท ที่ช่อง 3 อะนาล็อกไม่ยอมปล่อยลงครั้งนี้ เป็นใครก็ไม่อยากสูญเสียรายได้นี้ไปแน่

หรือถ้าจะให้วิเคราะห์ มองว่า มี 4 ปัจจัยหลักที่ทำให้ ช่อง 3 เล่นแง่ยึดสัญญาสัมปทานไว้แน่นและยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ทีวีดิจิตอลเกิดขึ้นได้ช้าอีกด้วย นั่นคือ

1.สัญญา เริ่มตั้งแต่การทำสัญญากับทางช่อง 9 มาตลอด 40 กว่าปีในนามบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ที่ต่อมาโอนมาอยู่ในกลุ่มบีอีซี ส่วนบริษัทที่ประมูลทีวีดิจิตอล คือ บีอีซีมัลติมีเดีย ก็เป็นส่วนหนึ่งของบีอีซี ถือเป็นข้ออ้างที่ทำให้ช่อง3 ส่ายหน้ามาตลอดว่าไม่สามารถออกคู่ขนานได้ เพราะไม่ใช่บริษัทเดียวกันที่ไปประมูล

2.กฎหมาย ที่ออกกฎระเบียบข้อบังคับออกมาว่า ในระบบทีวีดิจิตอล ช่องอะนาล็อกไม่สามารถออกได้ เป็นช่องโหว่ที่ทำให้ช่อง3นำมาอ้างต่อว่า คนอีก 10 ล้านคนจะทำอย่างไร ถ้าหากช่อง 3 อะนาล็อกไม่สามารถออกอากาศได้ โดยยึดเอาตามข้อแรกที่ว่า เป็นคนละบริษัทกัน จะให้บริษัทที่ทำสัญญาสัมปทานกับช่อง9 เอาช่อง 3 อะนาล็อกไปออกในทีวีดิจิตอลซึ่งใช้อีกบริษัทหนึ่งมาประมูลนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นใครจะรับผิดชอบ

3.ตัวแปร ที่สำคัญมากอีกตัว คือ ช่อง 9 อสมท เจ้าของสัมปทานของช่อง3 ในการออกในระบบอะนาล็อก เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า ทำไมช่อง9ถึงไม่ยอมรับการเจรจากับทางกสทช.ก่อนหน้านี้ เพื่อทำให้ระยะเวลาสัมปทานสั้นลง เช่นเดียวกับที่ช่อง5และช่อง7เลือกที่จะทำ ทั้งๆที่ค่าสัญญาสัมปทานที่ช่อง9ได้รับนั้น ต่อปีอยู่ที่ 150 ล้านบาทเท่านั้นเอง

ทั้งๆ ที่ช่อง 9 และช่อง 3สามารถหาทางออกนี้ร่วมกันได้ โดยการแลกมัคส์กัน แต่กลับไม่มีใครทำอะไร ปล่อยให้เป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้ โดยยังเหลือเวลาอีก 6ปี

4.แพลทฟอร์ม การรับชม ที่กสท.โยนความผิดมาให้ แต่ไม่ได้ออกกฏข้อบังคับออกมาให้ชัดเจน เมื่อเผือกร้อนมาอยู่ในมือเจ้าของแพลทฟอร์ม ย่อมทำให้เกิดปัญหาตามมา ทำให้เสียฐานสมาชิก จะให้เลือกช่อง 3 หรือฐานสมาชิกอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะสมาชิกคือรายได้หลัก ส่วนช่อง3คือคอนเท้นท์หลักที่สมาชิกต้องการรับชมเช่นกัน

สุดท้ายกลุ่มเจ้าของแพลมฟอร์มจึงออกมายื่นหนังสือกดดัน กสท. ให้ทางหาทางออกเรื่องการออกอากาศช่อง3อะนาล็อก จะดีที่สุด ไม่ใช่มากดดันเจ้าของแพลทฟอร์มแทน

จากความยืดเยื้อและต่างยึดในหลักการของตัวเอง ทำให้ปัญหาช่อง3อะนาล็อกยังคงต้องใช้เวลาอีกสักพัก จึงจะหาทางออกได้ ขณะที่แหล่งข่าว ชี้แนวทางแก้ปัญหานี้ไว้ 3 ข้อ คือ 1.กสทช.ควรสวมบทเข้มทางกฎหมาย บังคับห้ามช่องรายการระบบอะนาล็อกออกอากาศทางเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม 2.เรียกเจ้าของทุกแพลทฟอร์มเข้ามาพูดคุยปรึกษาหาทางออกร่วมกัน 3.เรียกช่อง 9 และช่อง 3 เข้ามาหาทางออกร่วมกัน

อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าว ตัวแปรสำคัญอย่าง อสมท กลับโบ้ยกลับและสวนทันควันว่า “เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับอสมท!!!”

โดยนายพลชัย วินิจฉัยกุล รองกรรมกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า ความเป็นจริง ตามที่พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ปัญหาช่อง3 ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องระหว่าง ช่อง 3 กับ กสท. เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับทาง อสมท.แต่อย่างใด โดยปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของข้อกฎหมายไม่ใช่เรื่องของสัญญาสัมปทานที่ช่อง 3 ทำไว้กับ อสมท. ซึ่งถ้าเป็นเรื่องสัญญาสัมปทาน ทาง กสท.ก็คงมีหนังสือหรือติดต่อมายัง อสมท.แล้ว

“สุดท้ายหากช่อง 3 จะต้องมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานกับทางช่อง 9 เชื่อว่าคงจะเป็นไปได้ยาก เพราะช่อง3 จะมีปัญหาเกิดขึ้นตามมา คือ ถ้าแก้ไขสัญญาสัมปทานก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐ ถือเป็นเรื่องที่ช่อง3 กังวลมากที่สุดในเวลานี้”

ส่วนทางฟากช่องทีวีดิจิตอล หลายเสียงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัญหาช่อง3ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ปัญหาหลักของการที่ทีวีดิจิตอลเกิดช้า แต่เป็นเรื่องการเข้าถึงผู้ชมมากกว่าที่ทำได้ช้า ดังเช่นที่นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหาร บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด สถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิตอล ช่อง นิวทีวี (ช่อง18) ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นไว้ว่า ปัญหาช่อง 3ไม่มีได้ส่งผลกระทบต่อช่องทีวีดิจิตอล จนกว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้น ซึ่งหากช่อง 3 อะนาล็อกขึ้นมาอยู่บนทีวีดิจิตอล จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ชมมีโอกาสเห็นช่องทีวีดิจิตอลช่องอื่นๆได้มากขึ้น จากปัจจุบันเข้าถึงคนดูได้ 2ใน3ของประชากรทั้งประเทศอยู่แล้ว แต่การเกิดของทีวีดิจิตอลในปีนี้ที่ผ่านมาถือว่าเสียเวลาไปมาก จากความล่าช้าในการแจกกล่อง

หรือการแจกคูปองเพื่อนำไปซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล ทำให้เรตติ้งที่จะมีผู้ชมได้รับชมช่องทีวีดิจิตอลไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของการเกิดทีวีดิจิตอล คือ คอนเท้นท์ ที่จะต้องมีการพัฒนาให้มีคุณภาพและนำมาซึ่งเรตติ้ง ไม่ใช่ปัญหาเรื่องช่อง3อะนาล็อก

ดูเหมือนว่า จากเดิมที่ช่อง 3 อะนาล็อก เป็นตัวปัญหาที่กสท.ต้องการปราบให้อยู่มือ สุดท้ายจะกลายเป็น กสท.เองที่ถูกรุมกลับว่ากำลังสร้างปัญหาเสียเอง และกลายมาเป็นโจทย์ทางสังคมแทน ที่ทำให้ทีวีดิจิตอลเกิดขึ้นล่าช้า!!

สุดท้าย ความเด็ดขาดอยู่ที่กสท.เท่านั้น ว่าจะปิดเกมนี้ลงอย่างสวยงามได้อย่างไร และทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกันได้หรือไม่ หรือในที่สุดทางออกอาจจะเหลือเพียง 2 ทางเลือกเท่านั้น คือ กสท.ยอมเลือกแก้ไขและลดความเรื่องเยอะลงไป ยอมอ่อนข้อเพื่อให้ช่อง3ยังคงออกอากาศได้ตามปกติเช่นที่ผ่านมาจนหมดสัมปทาน หรือกสท.เลือกที่จะออกข้อบังคับและมีคำสั่งที่ชัดเจน เพื่อให้เจ้าของแพลทฟอร์มต่างๆนำไปปฏิบัติ ถือเป็นการบังคับทางอ้อมให้ช่อง3 อะนาล็อกขึ้นมาออกอากาศคู่ขนานในระบบทีวีดิจิตอล

แต่อย่างน้อยที่สุดเวลานี้ กสท.ก็ได้เลือกแล้วที่จะกดดันช่อง 3 อะนาล็อก ด้วยการออกคำสั่งให้กลุ่มเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมหยุดแพร่ภาพช่อง 3 อะนาล็อก ภายใน15 วันหลังออกคำสั่ง งานนี้อาจจะจบไม่สวย เพราะสุดท้ายแล้ว กสท.เลือกที่จะให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะเชื่อแน่ว่า เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ย่อมไม่เข้าใจและออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้แน่

สุดท้าย กสท. ยังจะสวมบทนี้ไปได้นานแค่ไหน ต้องรอชม




กำลังโหลดความคิดเห็น