xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เหลือบเมืองกาญจน์ ถลุงเงินบริจาคซ่อมสะพาน “หลวงพ่ออุตตมะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2556 เวลาประมาณ 18.30 น.สะพานอุตตมานุสรณ์ หรือที่นิยมเรียกกันว่า สะพานมอญ หรือสะพานไม้มอญ เป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาว 850 เมตร และเป็นสะพานไม้ที่ยาวเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสะพานไม้อูเบ็งในประเทศพม่า เป็นสะพานที่ข้ามแม่น้ำซองกาเรีย เชื่อมต่อระหว่างชุมชนชาวมอญ บ้านวังกะ หมู่ 2 และหมู่ 3 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ได้ถูกน้ำป่าซัดขาดออกเป็น 2 ท่อนในช่วงกลางสะพาน ความยาวประมาณ 30 เมตร หลังจากได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักติดต่อกันนานถึง 3 วัน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลเชี่ยวกรากจากทุ่งใหญ่นเรศวร พัดขยะตอไม้ลงสู่แม่น้ำซองกาเลีย ปะทะกับเสาสะพานทำให้เกิดขาดกลาง และเสียหายเพิ่มเป็น 70 เมตรในเที่ยงของวันต่อมา

สำหรับสะพานนี้สร้างขึ้นโดยดำริของหลวงพ่ออุตตมะ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ในปี 2529-30 โดยใช้แรงงานของชาวมอญ เป็นสะพานไม้ที่ใช้สัญจรไปมาของชาวมอญและชาวไทยที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรี

หลังสะพานพัง ได้มีผู้บริจาคเงินเข้ามาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อซ่อมแซมสะพานให้เสร็จโดยเร็ว รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 11 ล้านบาท โดยเงินทั้งหมดอยู่ในบัญชีของจังหวัดกาญจนบุรี ในส่วนของวัดวังก์วิเวการามมีผู้บริจาคเข้าบัญชียอดเงินประมาณ 3 ล้านบาทเศษ

ต่อมาทางจังหวัดได้ทำสัญญาว่าจ้างแบบวิธีพิเศษ หจก.ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ เข้ามาดำเนินการซ่อมแซมบูรณะสะพานเมื่อวันที่ 8 เม.ย.เริ่มดำเนินการวันที่ 9 เม.ย.สิ้นสุดสัญญาวันที่ 6 ส.ค.57 รวม 120 วัน งบประมาณ 16,347,000 บาท แต่ก็ยังไม่เสร็จ ผลการดำเนินการคืบหน้าไปไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ อ.สังขละบุรี เริ่มออกมาคัดค้านเรียกร้องขอให้จังหวัด ในฐานะผู้ว่าจ้างยกเลิกสัญญากับบริษัทผู้รับเหมา ความขัดแย้งจึงเริ่มเกิดขึ้น

กระทั่งวันที่ 10 ส.ค.ทางทหารกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ โดย พล.ต.ไพโรจน์ ทองมาเอง ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 ได้เข้ามาไกล่เกลี่ยแก้ปัญหานี้เพื่อความปรองดอง และให้เวลากับทาง หจก.ป.รุ่งเรื่องวัสดุภัณฑ์ ดำเนินการต่อไปอีก 30 วันระหว่างวันที่ 10 ส.ค.-10 ก.ย.57 แต่แล้วก็ล้มเหลวอีก หจก.ป.รุ่งเรื่องวัสดุภัณฑ์ ไม่สามารถดำเนินการสร้างได้ จนทหารต้องเข้าไปดำเนินการซ่อมร่วมกับชาวบ้านโดยเริ่มลงมือตั้งแต่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา

แทนที่ทางจังหวัดจะดำเนินการกับ หจก.ป.รุ่งเรืองฯ ฐานผิดสัญญา วันที่ 4 ก.ย.เวลา 14.00 น.ทางจังหวัดกลับมีการประชุมคณะกรรมไกล่เกลี่ยจนนำไปสู่การทำสัญญาประนีประนอมยกเลิกสัญญาที่ห้องดาวดึงส์ ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีนายทะนง ตะภา อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธาน

โดยในที่ประชุมไม่ได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาประเมินราคาค่างาน แต่คณะกรรมการไกล่เกลี่ยกลับเป็นผู้พิจารณาจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับบริษัทผู้รับเหมาจำนวน 10 ล้านบาท โดยประเมินจากปริมาณงานที่ผู้รับเหมาทำไป ซึ่งระบุว่า 60.94% แต่ไม่ได้มีการพิจารณาในรายละเอียดของคุณภาพงาน โดยทางจังหวัดจะจ่ายเงินให้กับผู้รับเหมาภายใน 7 วันหมายถึงเงินสด 10 ล้านบาทที่ได้รับจากการบริจาคจะต้องจ่ายให้กับผู้รับจ้างไม่เกินวันที่ 11 ก.ย.57 โดยมีข้อตกลงเพียงแค่ให้ผู้รับเหมาดำเนินการตอกเสาเข็มจำนวน 5 ตับที่เหลืออยู่ให้เสร็จสิ้นเท่านั้น

จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า "จังหวัดโปร่งใสหรือไม่" เหตุใดจึงสมยอมให้กับบริษัทผู้รับเหมาทั้งที่ผิดสัญญาในฐานะผู้รับเหมา

คำถามคือแทนที่ผู้ว่าจ้างจะมีการเรียกค่าปรับจากบริษัทผู้รับเหมาที่ดำเนินการผิดสัญญา แต่ผู้ว่าจ้างคือจังหวัดกาญจนบุรีกลับมีการนำเอาเงินบริจาคไปจ่ายให้กับบริษัท

ขณะที่เฟซบุ๊ก "สะพานมอญ โมเดล" ตั้งข้อสงสัยเรื่องงานคืบหน้าไปแล้ว 60.94% ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ เพราะดูสภาพแล้วไม่น่าเกิน 20% และตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อผิดสัญญาผู้รับเหมาก็ต้องรับผิดชอบ ทำไมต้องไปตกลง ถ้าฟ้องศาลกว่าคดีจะจบจะได้สร้างสะพานต่อก็หลายปี แต่ผู้รับเหมาต้องเสียค่าปรับ แต่ทำแบบนี้เหมือนยอมความกัน ผู้รับเหมาได้กำไรเหมือนเดิม

ทั้งยังวิจารณ์การพิจารณาผู้ดำเนินการเปรียบเทียบระหว่างวัดกับผู้รับเหมาที่นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ชี้แจงกรณีถ้าวัดทำจะมีความเสี่ยงเรื่องไม้ผิดกฎหมายนั้นข้อเท็จจริงทางวัดวังก์วิเวการาม ยืนยันว่าไม้ที่จะนำมาใช้เป็นไม้ถูกต้องตามกฎหมาย และทางวัดมีไม้จำนวนหนึ่งเก็บรักษาไว้พร้อมซ่อม นอกจากนี้หากเป็นไม้ผิดกฎหมายทำไมผู้รับเหมามาขอซื้อไม้ที่วัดเก็บไว้ แต่ทางวัดขายให้ไม่ได้ เพราะเป็นไม้ที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาค

ส่วนประเด็นความไม่มั่นคงแข็งแรงข้อเท็จจริงสะพานไม้อยู่มาจนถึงวันนี้เป็นเพราะฝีมือช่างชาวมอญ โดยมีพระราชอุดมมงคล หรือหลวงพ่ออุตตมะ เป็นผู้ควบคุมงาน และทรุดโทรมตามกาลเวลา แต่ชาวบ้านและวัดซ่อมแซมกันเอง ซึ่งไม่เคยมีเกิดเหตุร้ายขึ้น แม้จะมีนักท่องเที่ยวหลายร้อยคนเดินเที่ยวชมบนสะพานพร้อมกัน

ส่วนที่อ้างว่า ผู้รับเหมาใช้ไม้ถูกกฎหมายนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปตรวจสอบว่าถูกต้องจริงหรือไม่ เพราะไม้ซุงสด ไม้ชื่อเดียวกันแต่อายุการใช้งานผิดกัน เช่น ไม้ตะเคียน ก็ไปเอา "ไม้ตะเคียนหนู" มาทำ ซึ่งอายุและคุณภาพต่างกันมากกับไม้ตะเคียนทอง ซ้ำยังกะเทาะเปลือกที่หน้างาน เลื่อย และแปรรูปโดยไม่ผ่านการอบและอาบน้ำยามาแม้แต่ท่อนเดียว จะแข็งแรงคงทนเหมือนไม้ที่คนท้องถิ่นเคยซ่อมได้อย่างไร

นอกจากนี้ ผู้ควบคุมงานก็ระบุว่า ต้องเป็นไม้ที่ตัดมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือนผ่านกรรมวิธีอาบน้ำยารักษาเนื้อไม้มาแล้วจากโรงเลื่อย เพราะไม้ตัดใหม่ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงโดยตรง

ส่วนเรื่องราคาก็ต่างกันหากทางวัดซ่อมเองใช้เงินเพียง 3-5 ล้านบาท และวันนี้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวคงได้เดินข้ามสะพานไม้หลายพันคนแล้ว นอกจากนี้ เมื่อทำสัญญาประนีประนอมแล้วจะให้ทหารและชาวบ้านซ่อมเองก็ต้องไปเสียเวลารื้อของที่ผู้รับเหมาทำไว้อีก เพราะทำผิดมาตั้งแต่ต้น

ขณะที่มีผู้ต้องข้อสงสัยว่างบที่ใช้ซ่อมแซมที่จังหวัดจัดจ้างเอกชนเป็นเงินถึง 16,347,000.00 บาท ใช้เงินจากไหน งบประมาณแผ่นดินหรือที่ได้รับจากการบริจาคมา จึงขอให้ช่วยตรวจสอบดูว่าใช้งบตรงไหนจัดจ้าง หากใช้งบประมาณผ่นดินเงินที่ได้รับบริจาคมาก็สมควรมอบให้แก่ทางวัด หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องดูแลสะพาน เก็บรักษาไว้เพื่อซ่อมแซมบูรณะสะพานในครั้งต่อไป

หากใช้เงินจากที่ได้รับบริจาคมาก็สามารถตรวจสอบการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินได้เช่นกันว่า ส่วนต่างค่าซ่อมที่เกินจากเงินบริจาคนั้นทางจังหวัดเบิกมาเท่าไหร่

นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภาสภา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การผิดสัญญาเกิดจากความผิดของผู้รับจ้าง ถือว่าผู้รับจ้างทำงานล่าช้า จึงเป็นเหตุให้ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างได้ ซึ่งผู้ว่าจ้างจะไม่จ่ายเงินให้ผู้รับจ้างเลยก็ได้ เพราะถือว่าผู้รับเหมาผิดสัญญา แต่หากผู้รับจ้างเห็นใจผู้รับเหมาและเห็นชัดเจนว่าผู้รับจ้างไม่ผิดสัญญาเลย โดยหลักการพิจารณาจะจ่ายตามสัดส่วนของความสำเร็จของงาน แต่ไม่เกิน 20% ของผลสำเร็จของงานในขณะนั้นจึงจะถูกต้อง ไม่ใช่ไปจ่ายตามข้ออ้างการลงทุนของผู้รับจ้างตามที่เป็นข่าว

ส่วนการลงทุนของผู้รับจ้างที่มีการกล่าวอ้างเป็นเงินจำนวนมาก ไม่ใช่ความรับผิดชอบของผู้ว่าจ้างแต่อย่างใด และที่สำคัญเงินที่ได้มาเป็นเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาที่มีความประสงค์เดียวกันคือ ให้นำไปสมทบเพื่อซ่อมบูรณะสะพานเท่านั้น ไม่ใช่นำไปจ่ายชดเชยให้กับผู้รับเหมา ซึ่งเรื่องนี้ไม่เป็นไปตามหลักการตั้งแต่วันที่สิ้นสุดสัญญา 120 วันแล้ว

ดังนั้น จึงควรจะพิจารณายกเลิกสัญญาตั้งแต่ต้นและแทนที่ผู้ว่าจ้างจะเรียกร้องค่าเสียหายจากว่ารับจ้าง แต่กลับมาใช้แนวทางประนีประนอมยอมความโดยจ่ายเงินให้กับทางบริษัทสูงถึง 10 ล้านบาท ซึ่งไม่เคยมีที่ไหนทำเช่นนี้มาก่อน

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ก.ย.57 ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ได้จัดเวทีเสวนาหัวข้อ "สะพานมอญร้องไห้" โดยมีนักวิชาการ ผู้ที่เกี่ยวทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งที่เสวนามีความเห็นพ้องกันว่า "ไม่เห็นควรให้จังหวัดจ่ายเงิน 10 ล้านบาทให้กับผู้รับเหมา เนื่องจากทำงานไม่เสร็จตามสัญญา อีกทั้งเงินนั้นก็เป็นเงินบริจาคและควรร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช. รวมทั้งควรยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และยื่นต่อ คสช.เพื่อให้ดำเนินงานตรวจสอบการในเรื่องนี้ "โดยเฉพาะเรื่องความไม่โปร่งใส"

"ผมจะทำหนังสือร้องเรียนไปยัง คสช. เพื่อให้ตรวจสอบในเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อคืนความสุขให้แก่ประชาชน เพราะขณะนี้ชาวอำเภอสังขละบุรี ต่างตั้งคำถามคล้ายๆ กันว่า ทำไมทางจังหวัดต้องจ่ายเงินให้กับผู้รับเหมาด้วยทั้งๆ ที่ทำงานไม่เสร็จ อีกทั้งเงินงกล่าวก็เป็นเงินบริจาค"

"ที่สำคัญการดำเนินการงานที่ล่าช้าในการซ่อมแซมสะพานไม้ของทางจังหวัดครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างมาก ที่เห็นชัดเจนคือตัวเลขของนักท่องเที่ยวลดลง" นายสมเดช สังขละโสภา สมาชิกสภาเทศบาลตำบลวังกะ หมู่ 2 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี ในฐานะคนในพื้นที่ กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น