xs
xsm
sm
md
lg

รุมสับเหลือบเมืองกาญจน์ ถลุงเงินบริจาคซ่อม “สะพานมอญ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี...รายงาน - หลายฝ่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนโซเชียล เน็ตเวิร์ก รุมสับจังหวัดกาญจนบุรี เลหลัง พบทางจังหวัดส่อความไม่โปร่งใส่ยกสัญญาซ่อมสะพานมอญ แก่ “ป.รุ่งเรือง” แถมต้องควักเงินบริจาคจ่ายให้อีก 10 ล้านบาท ทั้งๆ ที่บริษัทผู้รับเหมาผิดสัญญา อีกทั้งงานก็ผิดสเปก ชี้เป็นการผลาญเงินบริจาคชัดๆ เตรียมยื่น สตช.ตรวจสอบเล่นงาน

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2556 เวลาประมาณ 18.30 น. สะพานอุตตมานุสรณ์ หรือที่นิยมเรียกกันว่า สะพานมอญ หรือสะพานไม้มอญ เป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาว 850 เมตร และเป็นสะพานไม้ที่ยาวเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสะพานไม้อูเบ็ง ในประเทศพม่า เป็นสะพานที่ข้ามแม่น้ำซองกาเรีย เชื่อมต่อระหว่างชุมชนชาวมอญ บ้านวังกะ หมู่ 2 และหมู่ 3 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ได้ถูกน้ำป่าซัดขาดออกเป็น 2 ท่อน ในช่วงกลางสะพาน ความยาวประมาณ 30 เมตร หลังจากได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักติดต่อกันนานถึง 3 วัน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลเชี่ยวกรากจากทุ่งใหญ่นเรศวร พัดขยะ ตอไม้ลงสู่แม่น้ำซองกาเลีย ปะทะกับเสาสะพานทำให้เกิดขาดกลาง และเสียหายเพิ่มเป็น 70 เมตร ในเที่ยงของวันต่อมา

สำหรับสะพานนี้สร้างขึ้นโดยดำริของ หลวงพ่ออุตตมะ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ในปี 2529-30 โดยใช้แรงงานของชาวมอญ เป็นสะพานไม้ที่ใช้สัญจรไปมาของชาวมอญ และชาวไทยที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรี

หลังสะพานพัง ได้มีผู้บริจาคเงินเข้ามาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อซ่อมแซมสะพานให้เสร็จโดยเร็ว รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 11 ล้านบาท โดยเงินทั้งหมดอยู่ในบัญชีของจังหวัดกาญจนบุรี ในส่วนของวัดวังก์วิเวการาม มีผู้บริจาคเข้าบัญชียอดเงินประมาณ 3 ล้านบาทเศษ

ต่อมา ทางจังหวัดได้ทำสัญญาว่าจ้างแบบวิธีพิเศษ หจก.ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ เข้ามาดำเนินการซ่อมแซมบูรณะสะพาน เมื่อวันที่ 8 เม.ย. เริ่มดำเนินการวันที่ 9 เม.ย. สิ้นสุดสัญญาวันที่ 6 ส.ค.57 รวม 120 วัน งบประมาณ 16,347,000 บาท แต่ก็ยังไม่เสร็จ ผลการดำเนินการคืบหน้าไปไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ อ.สังขละบุรี เริ่มออกมาคัดค้านเรียกร้องขอให้จังหวัด ในฐานะผู้ว่าจ้างยกเลิกสัญญากับบริษัทผู้รับเหมา ความขัดแย้งจึงเริ่มเกิดขึ้น

กระทั่งวันที่ 10 ส.ค. ทางทหารกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ โดย พล.ต.ไพโรจน์ ทองมาเอง ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 ได้เข้ามาไกล่เกลี่ยแก้ปัญหานี้เพื่อความปรองดอง และให้เวลาแก่ทาง หจก.ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ ดำเนินการต่อไปอีก 30 วัน ระหว่างวันที่ 10 ส.ค.-10 ก.ย.57 แต่แล้วก็ล้มเหลวอีก หจก.ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ ไม่สามารถดำเนินการสร้างได้ จนทหารต้องเข้าไปดำเนินการซ่อมร่วมกับชาวบ้านโดยเริ่มลงมือตั้งแต่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา

แทนที่ทางจังหวัดจะดำเนินการต่อ หจก.ป.รุ่งเรืองฯ ฐานผิดสัญญา วันที่ 4 ก.ย.เวลา 14.00 น. ทางจังหวัดกลับมีการประชุมคณะกรรมไกล่เกลี่ยจนนำไปสู่การทำสัญญาประนีประนอมยกเลิกสัญญาที่ห้องดาวดึงส์ ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี โดยมี นายทะนง ตะภา อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธาน

โดยในที่ประชุมไม่ได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาประเมินราคาค่างาน แต่คณะกรรมการไกล่เกลี่ย กลับเป็นผู้พิจารณาจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่บริษัทผู้รับเหมา จำนวน 10 ล้านบาท โดยประเมินจากปริมาณงานที่ผู้รับเหมาทำไป ซึ่งระบุว่า 60.94% แต่ไม่ได้มีการพิจารณาในรายละเอียดของคุณภาพงาน โดยทางจังหวัดจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับเหมาภายใน 7 วัน หมายถึงเงินสด 10 ล้านบาท ที่ได้รับจากการบริจาคจะต้องจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างไม่เกินวันที่ 11 ก.ย.57 โดยมีข้อตกลงเพียงแค่ให้ผู้รับเหมาดำเนินการตอกเสาเข็ม จำนวน 5 ตับที่เหลืออยู่ให้เสร็จสิ้นเท่านั้น

จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า “จังหวัดโปร่งใสหรือไม่” เหตุใดจึงสมยอมให้แก่บริษัทผู้รับเหมาทั้งที่ผิดสัญญาในฐานะผู้รับเหมา

คำถามคือ แทนที่ผู้ว่าจ้างจะมีการเรียกค่าปรับจากบริษัทผู้รับเหมาที่ดำเนินการผิดสัญญา แต่ผู้ว่าจ้างคือ จังหวัดกาญจนบุรี กลับมีการนำเอาเงินบริจาคไปจ่ายให้แก่บริษัท

ขณะที่เฟซบุ๊ก “สะพานมอญ โมเดล” ตั้งข้อสงสัยเรื่องงานคืบหน้าไปแล้ว 60.94% ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ เพราะดูสภาพแล้วไม่น่าเกิน 20% และตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อผิดสัญญาผู้รับเหมาก็ต้องรับผิดชอบ ทำไมต้องไปตกลง ถ้าฟ้องศาลกว่าคดีจะจบจะได้สร้างสะพานต่อก็หลายปี แต่ผู้รับเหมาต้องเสียค่าปรับ แต่ทำแบบนี้เหมือนยอมความกัน ผู้รับเหมาได้กำไรเหมือนเดิม

ทั้งยังวิจารณ์การพิจารณาผู้ดำเนินการเปรียบเทียบระหว่างวัดกับผู้รับเหมาที่ นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ชี้แจงกรณีถ้าวัดทำจะมีความเสี่ยงเรื่องไม้ผิดกฎหมายนั้นข้อเท็จจริงทางวัดวังก์วิเวการาม ยืนยันว่า ไม้ที่จะนำมาใช้เป็นไม้ถูกต้องตามกฎหมาย และทางวัดมีไม้จำนวนหนึ่งเก็บรักษาไว้พร้อมซ่อม นอกจากนี้ หากเป็นไม้ผิดกฎหมายทำไมผู้รับเหมามาขอซื้อไม้ที่วัดเก็บไว้ แต่ทางวัดขายให้ไม่ได้ เพราะเป็นไม้ที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาค

ส่วนประเด็นความไม่มั่นคงแข็งแรง ข้อเท็จจริงสะพานไม้อยู่มาจนถึงวันนี้เป็นเพราะฝีมือช่างชาวมอญ โดยมีพระราชอุดมมงคล หรือหลวงพ่ออุตตมะ เป็นผู้ควบคุมงาน และทรุดโทรมตามกาลเวลา แต่ชาวบ้าน และวัดซ่อมแซมกันเอง ซึ่งไม่เคยมีเกิดเหตุร้ายขึ้น แม้จะมีนักท่องเที่ยวหลายร้อยคนเดินเที่ยวชมบนสะพานพร้อมกัน

ส่วนที่อ้างว่า ผู้รับเหมาใช้ไม้ถูกกฎหมายนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปตรวจสอบว่าถูกต้องจริงหรือไม่ เพราะไม้ซุงสด ไม้ชื่อเดียวกันแต่อายุการใช้งานผิดกัน เช่น ไม้ตะเคียน ก็ไปเอา “ไม้ตะเคียนหนู” มาทำ ซึ่งอายุ และคุณภาพต่างกันมากกับไม้ตะเคียนทอง ซ้ำยังกะเทาะเปลือกที่หน้างาน เลื่อย และแปรรูปโดยไม่ผ่านการอบ และอาบน้ำยามาแม้แต่ท่อนเดียว จะแข็งแรงคงทนเหมือนไม้ที่คนท้องถิ่นเคยซ่อมได้อย่างไร

นอกจากนี้ ผู้ควบคุมงานก็ระบุว่า ต้องเป็นไม้ที่ตัดมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ผ่านกรรมวิธีอาบน้ำยารักษาเนื้อไม้มาแล้วจากโรงเลื่อย เพราะไม้ตัดใหม่ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงโดยตรง

ส่วนเรื่องราคาก็ต่างกัน หากทางวัดซ่อมเองใช้เงินเพียง 3-5 ล้านบาท และวันนี้ชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวคงได้เดินข้ามสะพานไม้หลายพันคนแล้ว นอกจากนี้ เมื่อทำสัญญาประนีประนอมแล้วจะให้ทหาร และชาวบ้านซ่อมเองก็ต้องไปเสียเวลารื้อของที่ผู้รับเหมาทำไว้อีก เพราะทำผิดมาตั้งแต่ต้น

ขณะที่มีผู้ต้องข้อสังสัยว่างบที่ใช้ซ่อมแซมที่จังหวัดจัดจ้างเอกชนเป็นเงินถึง 16,347,000.00 บาท ใช้เงินจากไหน งบประมาณแผ่นดิน หรือที่ได้รับจากการบริจาคมา จึงขอให้ช่วยตรวจสอบดูว่าใช้งบตรงไหนจัดจ้าง หากใช้งบประมาณผ่นดินเงินที่ได้รับบริจาคมาก็สมควรมอบให้แก่ทางวัด หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องดูแลสะพาน เก็บรักษาไว้เพื่อซ่อมแซมบูรณะสะพานในครั้งต่อไป

หากใช้เงินจากที่ได้รับบริจาคมาก็สามารถตรวจสอบการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินได้เช่นกันว่า ส่วนต่างค่าซ่อมที่เกินจากเงินบริจาคนั้นทางจังหวัดเบิกมาเท่าไหร่

นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การผิดสัญญาเกิดจากความผิดของผู้รับจ้าง ถือว่าผู้รับจ้างทำงานล่าช้า จึงเป็นเหตุให้ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างได้ ซึ่งผู้ว่าจ้างจะไม่จ่ายเงินให้ผู้รับจ้างเลยก็ได้ เพราะถือว่าผู้รับเหมาผิดสัญญา แต่หากผู้รับจ้างเห็นใจผู้รับเหมา และเห็นชัดเจนว่า ผู้รับจ้างไม่ผิดสัญญาเลย โดยหลักการพิจารณาจะจ่ายตามสัดส่วนของความสำเร็จของงาน แต่ไม่เกิน 20% ของผลสำเร็จของงานในขณะนั้นจึงจะถูกต้อง ไม่ใช่ไปจ่ายตามข้ออ้างการลงทุนของผู้รับจ้างตามที่เป็นข่าว

ส่วนการลงทุนของผู้รับจ้างที่มีการกล่าวอ้างเป็นเงินจำนวนมาก ไม่ใช่ความรับผิดชอบของผู้ว่าจ้างแต่อย่างใด และที่สำคัญ เงินที่ได้มาเป็นเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาที่มีความประสงค์เดียวกันคือ ให้นำไปสมทบเพื่อซ่อมบูรณะสะพานเท่านั้น ไม่ใช่นำไปจ่ายชดเชยให้แก่ผู้รับเหมา ซึ่งเรื่องนี้ไม่เป็นไปตามหลักการตั้งแต่วันที่สิ้นสุดสัญญา 120 วันแล้ว

ดังนั้น จึงควรจะพิจารณายกเลิกสัญญาตั้งแต่ต้น และแทนที่ผู้ว่าจ้างจะเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้รับจ้าง แต่กลับมาใช้แนวทางประนีประนอมยอมความโดยจ่ายเงินให้แก่ทางบริษัทสูงถึง 10 ล้านบาท ซึ่งไม่เคยมีที่ไหนทำเช่นนี้มาก่อน

ต่อมา เมื่อวันที่ 9 ก.ย.57 ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ได้จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “สะพานมอญร้องไห้” โดยมีนักวิชาการ ผู้ที่เกี่ยวทั้งภาครัฐ และเอกชนเข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งที่เสวนามีความเห็นพ้องกันว่า “ไม่เห็นควรให้จังหวัดจ่ายเงิน 10 ล้านบาทให้แก่ผู้รับเหมา เนื่องจากทำงานไม่เสร็จตามสัญญา อีกทั้งเงินนั้นก็เป็นเงินบริจาค และควรร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช. รวมทั้งควรยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และยื่นต่อ คสช.เพื่อให้ดำเนินงานตรวจสอบการในเรื่องนี้ “โดยเฉพาะเรื่องความไม่โปร่งใส”

“ผมจะทำหนังสือร้องเรียนไปยัง คสช. เพื่อให้ตรวจสอบในเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อคืนความสุขให้แก่ประชาชน เพราะขณะนี้ชาวอำเภอสังขละบุรี ต่างตั้งคำถามคล้ายๆ กันว่า ทำไมทางจังหวัดต้องจ่ายเงินให้กับผู้รับเหมาด้วย ทั้งๆ ที่ทำงานไม่เสร็จ อีกทั้งเงินงกล่าวก็เป็นเงินบริจาค”

“ที่สำคัญการดำเนินการงานที่ล่าช้าในการซ่อมแซมสะพานไม้ของทางจังหวัดครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างมาก ที่เห็นชัดเจนคือ ตัวเลขของนักท่องเที่ยวลดลง” นายสมเดช สังขละโสภา สมาชิกสภาเทศบาลตำบลวังกะ หมู่ 2 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี ในฐานะคนในพื้นที่ กล่าว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 13.ก.ย.ที่ผ่านมา ร.ต.นพดล มิตรดำรง ผบ.หมวด ช.พัน 9 กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ วิศวกรคุมงาน เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบคุณภาพของไม้ที่ทางผู้รับเหมาเดิมทำไว้ในการซ่อมแซมบุรณะสะพานมอญ เริ่มพบปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของไม้ปูพื้น รวมทั้งคานตรงบางจุดที่ไม่ได้มาตรฐาน ตามที่ได้ปรึกษากับ พระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม เราวางแผนไว้ว่าจะใช้ไม้แดง ที่ทางวัดมีอยู่ และหากไม่เพียงพอก็จะนำไม้ที่ผู้รับเหมาทิ้งไว้ให้มาเสริม

แต่เมื่อดำเนินการไปแล้วกลับพบว่า ไม้ที่ผู้รับเหมาทิ้งไว้ส่วนใหญ่ไม่สามารถนำมาใช้ซ่อมสะพานได้เลย เนื่องจากอายุของไม้ยังน้อย และสด ทำให้แกนของไม้ไม่แข็งพอ เกรงว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของสะพานในอนาคตได้ ทำให้ต้องหาไม้มาเพิ่มเติม แต่คงไม่มากนัก ซึ่งตรงนี้เจ้าอาวาสจะเป็นผู้ดำเนินการเอง

“ส่วนเสาเข็มที่ผู้รับเหมาตอกไว้พบว่า บางต้นไม่ใช่ไม้แดง และเป็นไม้สด ซึ่งอาจมีผลต่อโครงสร้างสะพานได้ ทางวัด และทหารพร้อมชาวบ้านจะได้ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป” ร.ต.นพดล มิตรดำรง ผบ.หมวด ช.พัน 9 กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ วิศวกรคุมงาน กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น