งบประมาณปี 2558 เป็นงบประมาณขาดดุลอีกปีหนึ่งของประเทศ และมีวงเงินขาดดุลหรือนัยหนึ่งก็คือวงเงินที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้เป็นเงินกว่าแสนล้านบาท
นั่นเป็นตัวเลขประมาณการจากรายได้และรายจ่ายตามระบบจัดทำงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งของจริงอาจจะไม่ขาดดุลขนาดนั้นก็ได้ เพราะปรากฏอยู่เสมอมาว่าพอเอาเข้าจริงแล้วรายจ่ายจำนวนมากจ่ายไม่ทันหรือไม่ได้จ่าย ดังนั้นจึงไม่ต้องกู้เงินมาชดเชยการขาดดุล
สำหรับปีงบประมาณ 2557 ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 และกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2557 ก็เป็นงบประมาณขาดดุลเหมือนกัน แต่การปฏิบัติจริง ณ บัดนี้จะขาดดุลจริงหรือไม่ ยังไม่ปรากฏตัวเลขที่ชัดเจน ซึ่งจะต้องติดตามดูกันต่อไป
แต่ที่แน่ๆ ก็คือรายจ่ายจำนวนมากยังไม่ได้จ่าย เพราะในช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเมืองถึง 7 เดือนนั้น การบริหารราชการแผ่นดินชะงักงัน จึงมีการเบิกจ่ายงบประมาณน้อยกว่าเป้าหมายที่วางไว้ เป็นผลให้เร่งรัดการจ่ายเงินงบประมาณกันอย่างครึกโครมและครึกครื้นในช่วงเวลาหลังๆ
การเร่งจ่ายงบประมาณหรือการจ่ายด้วยความคิดที่ว่าต้องเร่งจ่ายแบบล้างท่อนั้นย่อมมีธรรมดาที่จะเกิดข้อบกพร่อง ผิดพลาด และรั่วไหลได้ ดังนั้นรัฐบาลและ คสช.จึงต้องระมัดระวังให้มาก มิฉะนั้นจะมีพวกตาอยู่และจิ้งจกฉวยโอกาสผสมโรงสวมรอยสวมตอ อาศัยอำนาจของ คสช. และรัฐบาลทำการอันไม่ถูกไม่ต้องขึ้น แล้วจะเกิดปัญหาในภายหลัง
นั่นเป็นเรื่องของรายจ่ายงบประมาณ แต่ในส่วนรายได้ของปีงบประมาณปรากฏตามรายงานข่าวล่าสุดว่า ภาษีฝ่ายสรรพากรจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นจำนวนประมาณ 100,000 ล้านบาท
เป็นเหตุให้กรมสรรพากรแถลงว่าจะต้องเร่งรัดจัดเก็บภาษีเพื่อชดเชยกับเป้ารายได้ที่ขาดไป เมื่อพูดกันอย่างนี้ก็เกิดความตระหนกตกใจในหมู่ประชาชนว่าจะถูกรีดภาษีหรือจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีกแล้ว
จึงควรต้องทำความเข้าใจกันเสียให้ดีว่าตัวเลขการจัดเก็บภาษีขาดเป้าหมายสำหรับปีงบประมาณ 2557 จำนวน 100,000 ล้านบาทนั้น เกิดจากความบกพร่องหรือละเลยในการจัดเก็บ หรือเพราะการหลีกเลี่ยงภาษีของผู้เสียภาษีหรือว่าเกิดจากเหตุใดกันแน่
ถ้าไม่ทำความเข้าใจกันตรงนี้เสียก่อนก็จะเกิดปัญหาทั้งสองด้าน คือด้านผู้จัดเก็บที่อาจตื่นตระหนกกลัวภัยว่าจะตกเก้าอี้เพราะทำงานไม่เป็นตามเป้า รวมทั้งด้านผู้บริหารหรือรัฐบาลที่อาจหลงตำหนิติเตียนหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่จัดเก็บภาษี ตลอดจนผู้เสียภาษีที่จะพากันคร่ำครวญก่นด่าและตื่นตระหนกตกใจกันทั้งบ้านทั้งเมือง
คสช. รัฐบาล กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร และผู้เสียภาษีทั้งหลายจะต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้กันอย่างไร
ประการแรก จากงบประมาณรายได้ปีงบประมาณ 2557 เฉพาะภาษีฝ่ายสรรพากรมีเป้าหมายรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 100,000 ล้านบาท มียอดรวมประมาณ 1 ล้านล้านบาท ดังนั้นการที่ตัวเลขการจัดเก็บขาดเป้าไป 100,000 ล้านบาท จึงเป็นการขาดเป้าประมาณ 1 เดือน ซึ่งนับว่าไม่มากเมื่อเทียบกับรอบปีงบประมาณที่ผ่านไปแล้ว
ประการที่สอง ในช่วงระยะเวลา 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 คือตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556-พฤษภาคม 2557 ซึ่งอาจนับเป็น 8 เดือนก็ได้ มีวิกฤตทางการเมืองที่ร้ายแรงในประเทศไทยในขอบเขตทั่วประเทศ มีการชุมนุมประท้วงขับไล่และมีการก่อเหตุร้ายด้วยกำลังอาวุธในขอบเขตเกือบทั่วประเทศ จนทำมาค้าขายไม่ได้ แม้นักท่องเที่ยวต่างประเทศก็ชะลอการเดินทางเข้าประเทศ การส่งออกก็ชะลอตัว เพราะเรือขนส่งจากต่างประเทศไม่กล้าเข้ามารับสินค้า
สถานการณ์เช่นนี้ย่อมเป็นที่แน่นอนว่ารายได้ต่างๆ ของผู้ประกอบการทั้งหลายย่อมลดน้อยถอยลง ซึ่งน่าจะเก็บภาษีขาดเป้าไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาท ดังนั้นการที่จัดเก็บภาษีขาดเป้าเพียงแค่ 100,000 ล้านบาท จึงนับว่าเป็นผลดีต่อประเทศ และสะท้อนถึงการทำหน้าที่อย่างดียิ่งของทั้งผู้จัดเก็บภาษีและผู้เสียภาษี
ประการที่สาม ในปีงบประมาณ 2557 นี้ ต้องยอมรับความจริงกันด้วยว่าผู้บริหารการจัดเก็บภาษีได้เห็นถึงสถานการณ์วิกฤตทางการเมือง อันจะมีผลต่อการจัดเก็บภาษี ดังนั้นจึงได้มีการเข้มงวดกวดขันและเร่งรัดจัดเก็บภาษีมาตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ
เจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษีได้เดินสายไปตามถนนหนทางซอกซอยต่าง ๆ แม้กระทั่งในตำบลหมู่บ้าน เพื่อเจรจากับผู้ประกอบการทั้งหลายให้เสียภาษีเพิ่มขึ้น ถึงขนาดขอร้องกันให้ช่วยเหลือเสียภาษี
บรรดาพ่อค้าแม่ค้าแม้กระทั่งคนขายก๋วยเตี๋ยวเรือยังถูกขอร้องให้เสียภาษีเพิ่มขึ้น 15-20% โดยอ้างว่าเพื่อชดเชยกับเงินที่อาจจะขาดไป
บริษัทห้างร้านที่แสดงผลประกอบการกลางปีว่าขาดทุนก็ถูกไปเยี่ยม หรือถูกเชิญไปพบขอร้องให้ปรับประมาณการเป็นมีกำไรและให้ช่วยเสียภาษีบ้าง
นี่เรียกว่าการบังคับเสียภาษีบนโต๊ะ แต่อาจจะมีการบังคับเสียภาษีใต้โต๊ะด้วยก็อาจเป็นไปได้
ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าบรรดาผู้เสียภาษีทั้งหลายได้ถูกเข้มงวดกวดขัน ถูกบังคับแกมขอร้องให้เสียภาษีเพิ่มขึ้นกว่าที่จะพึงเสียตามปกติด้วยข้ออ้างร่วมด้วยช่วยกัน หรือเพื่อที่จะไม่ถูกตรวจสอบ ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นวิธีกรรโชกวิธีหนึ่ง แต่ก็ทำกันไปแล้ว
เพราะการเข้มงวดกวดขันในการจัดเก็บภาษีดังกล่าว จึงทำให้มีรายได้มากกว่าที่ควรจะเป็น และเป็นผลให้รายได้ขาดเป้าหมายไปเพียง 100,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าน้อยมากและทั้งผู้จัดเก็บภาษีและผู้เสียภาษีต่างก็ได้พยายามกันเต็มที่หนักหน่วงแล้ว หากเกินไปกว่านี้ก็จะกลายเป็นก่อความเดือดร้อน ทั้งผู้เก็บภาษีและผู้เสียภาษี
เมื่อทำความเข้าใจในเหตุในผลกันเช่นนี้แล้วจะทำอย่างไร? ย่อมเป็นหน้าที่ของ คสช. รัฐบาล รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะต้องทำใจให้มีความยุติธรรมและเปี่ยมด้วยความเมตตาทั้งแก่ผู้เสียภาษีและผู้จัดเก็บภาษี นั่นคือยอมรับสภาพที่เป็นอยู่และเข้มงวดกวดขันรายจ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น หรือบรรดาเงินใต้โต๊ะทั้งหลายให้ได้จำนวน 100,000 ล้านบาท ก็จะไม่เกิดความเดือดร้อนแก่ใคร
ทั้งจะเป็นอาณาประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนเป็นส่วนรวม
บทสรุปของการทำความเข้าใจในเรื่องนี้ก็คือ
ข้อหนึ่ง ต้องหยุดการรีดภาษีฝ่ายสรรพากรเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่ขาดไป 100,000 ล้านบาทในทันที อันเป็นการหยุดความเดือดร้อนของผู้จัดเก็บภาษีและผู้เสียภาษีโดยยุติธรรม
ข้อสอง ให้สำรวจตรวจสอบการเบิกจ่ายงบประมาณว่าได้เบิกจ่ายไปเป็นจำนวนเท่าใด และใช้ความพยายามในการที่จะลดหรือจำกัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น หรือที่ตั้งไว้เพื่อการทุจริตฉ้อฉล หรือที่ซ้ำซ้อนให้ได้จำนวน 100,000 ล้านบาท
ใช้วิธีตัดรายจ่ายที่เหลวไหลเลอะเทอะ 100,000 ล้านบาท แทนที่จะขูดรีดภาษีจากประชาชนอีก 100,000 ล้านบาท ย่อมจะดีกว่าเป็นแน่นอน!
นั่นเป็นตัวเลขประมาณการจากรายได้และรายจ่ายตามระบบจัดทำงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งของจริงอาจจะไม่ขาดดุลขนาดนั้นก็ได้ เพราะปรากฏอยู่เสมอมาว่าพอเอาเข้าจริงแล้วรายจ่ายจำนวนมากจ่ายไม่ทันหรือไม่ได้จ่าย ดังนั้นจึงไม่ต้องกู้เงินมาชดเชยการขาดดุล
สำหรับปีงบประมาณ 2557 ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 และกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2557 ก็เป็นงบประมาณขาดดุลเหมือนกัน แต่การปฏิบัติจริง ณ บัดนี้จะขาดดุลจริงหรือไม่ ยังไม่ปรากฏตัวเลขที่ชัดเจน ซึ่งจะต้องติดตามดูกันต่อไป
แต่ที่แน่ๆ ก็คือรายจ่ายจำนวนมากยังไม่ได้จ่าย เพราะในช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเมืองถึง 7 เดือนนั้น การบริหารราชการแผ่นดินชะงักงัน จึงมีการเบิกจ่ายงบประมาณน้อยกว่าเป้าหมายที่วางไว้ เป็นผลให้เร่งรัดการจ่ายเงินงบประมาณกันอย่างครึกโครมและครึกครื้นในช่วงเวลาหลังๆ
การเร่งจ่ายงบประมาณหรือการจ่ายด้วยความคิดที่ว่าต้องเร่งจ่ายแบบล้างท่อนั้นย่อมมีธรรมดาที่จะเกิดข้อบกพร่อง ผิดพลาด และรั่วไหลได้ ดังนั้นรัฐบาลและ คสช.จึงต้องระมัดระวังให้มาก มิฉะนั้นจะมีพวกตาอยู่และจิ้งจกฉวยโอกาสผสมโรงสวมรอยสวมตอ อาศัยอำนาจของ คสช. และรัฐบาลทำการอันไม่ถูกไม่ต้องขึ้น แล้วจะเกิดปัญหาในภายหลัง
นั่นเป็นเรื่องของรายจ่ายงบประมาณ แต่ในส่วนรายได้ของปีงบประมาณปรากฏตามรายงานข่าวล่าสุดว่า ภาษีฝ่ายสรรพากรจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นจำนวนประมาณ 100,000 ล้านบาท
เป็นเหตุให้กรมสรรพากรแถลงว่าจะต้องเร่งรัดจัดเก็บภาษีเพื่อชดเชยกับเป้ารายได้ที่ขาดไป เมื่อพูดกันอย่างนี้ก็เกิดความตระหนกตกใจในหมู่ประชาชนว่าจะถูกรีดภาษีหรือจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีกแล้ว
จึงควรต้องทำความเข้าใจกันเสียให้ดีว่าตัวเลขการจัดเก็บภาษีขาดเป้าหมายสำหรับปีงบประมาณ 2557 จำนวน 100,000 ล้านบาทนั้น เกิดจากความบกพร่องหรือละเลยในการจัดเก็บ หรือเพราะการหลีกเลี่ยงภาษีของผู้เสียภาษีหรือว่าเกิดจากเหตุใดกันแน่
ถ้าไม่ทำความเข้าใจกันตรงนี้เสียก่อนก็จะเกิดปัญหาทั้งสองด้าน คือด้านผู้จัดเก็บที่อาจตื่นตระหนกกลัวภัยว่าจะตกเก้าอี้เพราะทำงานไม่เป็นตามเป้า รวมทั้งด้านผู้บริหารหรือรัฐบาลที่อาจหลงตำหนิติเตียนหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่จัดเก็บภาษี ตลอดจนผู้เสียภาษีที่จะพากันคร่ำครวญก่นด่าและตื่นตระหนกตกใจกันทั้งบ้านทั้งเมือง
คสช. รัฐบาล กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร และผู้เสียภาษีทั้งหลายจะต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้กันอย่างไร
ประการแรก จากงบประมาณรายได้ปีงบประมาณ 2557 เฉพาะภาษีฝ่ายสรรพากรมีเป้าหมายรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 100,000 ล้านบาท มียอดรวมประมาณ 1 ล้านล้านบาท ดังนั้นการที่ตัวเลขการจัดเก็บขาดเป้าไป 100,000 ล้านบาท จึงเป็นการขาดเป้าประมาณ 1 เดือน ซึ่งนับว่าไม่มากเมื่อเทียบกับรอบปีงบประมาณที่ผ่านไปแล้ว
ประการที่สอง ในช่วงระยะเวลา 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 คือตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556-พฤษภาคม 2557 ซึ่งอาจนับเป็น 8 เดือนก็ได้ มีวิกฤตทางการเมืองที่ร้ายแรงในประเทศไทยในขอบเขตทั่วประเทศ มีการชุมนุมประท้วงขับไล่และมีการก่อเหตุร้ายด้วยกำลังอาวุธในขอบเขตเกือบทั่วประเทศ จนทำมาค้าขายไม่ได้ แม้นักท่องเที่ยวต่างประเทศก็ชะลอการเดินทางเข้าประเทศ การส่งออกก็ชะลอตัว เพราะเรือขนส่งจากต่างประเทศไม่กล้าเข้ามารับสินค้า
สถานการณ์เช่นนี้ย่อมเป็นที่แน่นอนว่ารายได้ต่างๆ ของผู้ประกอบการทั้งหลายย่อมลดน้อยถอยลง ซึ่งน่าจะเก็บภาษีขาดเป้าไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาท ดังนั้นการที่จัดเก็บภาษีขาดเป้าเพียงแค่ 100,000 ล้านบาท จึงนับว่าเป็นผลดีต่อประเทศ และสะท้อนถึงการทำหน้าที่อย่างดียิ่งของทั้งผู้จัดเก็บภาษีและผู้เสียภาษี
ประการที่สาม ในปีงบประมาณ 2557 นี้ ต้องยอมรับความจริงกันด้วยว่าผู้บริหารการจัดเก็บภาษีได้เห็นถึงสถานการณ์วิกฤตทางการเมือง อันจะมีผลต่อการจัดเก็บภาษี ดังนั้นจึงได้มีการเข้มงวดกวดขันและเร่งรัดจัดเก็บภาษีมาตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ
เจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษีได้เดินสายไปตามถนนหนทางซอกซอยต่าง ๆ แม้กระทั่งในตำบลหมู่บ้าน เพื่อเจรจากับผู้ประกอบการทั้งหลายให้เสียภาษีเพิ่มขึ้น ถึงขนาดขอร้องกันให้ช่วยเหลือเสียภาษี
บรรดาพ่อค้าแม่ค้าแม้กระทั่งคนขายก๋วยเตี๋ยวเรือยังถูกขอร้องให้เสียภาษีเพิ่มขึ้น 15-20% โดยอ้างว่าเพื่อชดเชยกับเงินที่อาจจะขาดไป
บริษัทห้างร้านที่แสดงผลประกอบการกลางปีว่าขาดทุนก็ถูกไปเยี่ยม หรือถูกเชิญไปพบขอร้องให้ปรับประมาณการเป็นมีกำไรและให้ช่วยเสียภาษีบ้าง
นี่เรียกว่าการบังคับเสียภาษีบนโต๊ะ แต่อาจจะมีการบังคับเสียภาษีใต้โต๊ะด้วยก็อาจเป็นไปได้
ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าบรรดาผู้เสียภาษีทั้งหลายได้ถูกเข้มงวดกวดขัน ถูกบังคับแกมขอร้องให้เสียภาษีเพิ่มขึ้นกว่าที่จะพึงเสียตามปกติด้วยข้ออ้างร่วมด้วยช่วยกัน หรือเพื่อที่จะไม่ถูกตรวจสอบ ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นวิธีกรรโชกวิธีหนึ่ง แต่ก็ทำกันไปแล้ว
เพราะการเข้มงวดกวดขันในการจัดเก็บภาษีดังกล่าว จึงทำให้มีรายได้มากกว่าที่ควรจะเป็น และเป็นผลให้รายได้ขาดเป้าหมายไปเพียง 100,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าน้อยมากและทั้งผู้จัดเก็บภาษีและผู้เสียภาษีต่างก็ได้พยายามกันเต็มที่หนักหน่วงแล้ว หากเกินไปกว่านี้ก็จะกลายเป็นก่อความเดือดร้อน ทั้งผู้เก็บภาษีและผู้เสียภาษี
เมื่อทำความเข้าใจในเหตุในผลกันเช่นนี้แล้วจะทำอย่างไร? ย่อมเป็นหน้าที่ของ คสช. รัฐบาล รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะต้องทำใจให้มีความยุติธรรมและเปี่ยมด้วยความเมตตาทั้งแก่ผู้เสียภาษีและผู้จัดเก็บภาษี นั่นคือยอมรับสภาพที่เป็นอยู่และเข้มงวดกวดขันรายจ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น หรือบรรดาเงินใต้โต๊ะทั้งหลายให้ได้จำนวน 100,000 ล้านบาท ก็จะไม่เกิดความเดือดร้อนแก่ใคร
ทั้งจะเป็นอาณาประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนเป็นส่วนรวม
บทสรุปของการทำความเข้าใจในเรื่องนี้ก็คือ
ข้อหนึ่ง ต้องหยุดการรีดภาษีฝ่ายสรรพากรเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่ขาดไป 100,000 ล้านบาทในทันที อันเป็นการหยุดความเดือดร้อนของผู้จัดเก็บภาษีและผู้เสียภาษีโดยยุติธรรม
ข้อสอง ให้สำรวจตรวจสอบการเบิกจ่ายงบประมาณว่าได้เบิกจ่ายไปเป็นจำนวนเท่าใด และใช้ความพยายามในการที่จะลดหรือจำกัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น หรือที่ตั้งไว้เพื่อการทุจริตฉ้อฉล หรือที่ซ้ำซ้อนให้ได้จำนวน 100,000 ล้านบาท
ใช้วิธีตัดรายจ่ายที่เหลวไหลเลอะเทอะ 100,000 ล้านบาท แทนที่จะขูดรีดภาษีจากประชาชนอีก 100,000 ล้านบาท ย่อมจะดีกว่าเป็นแน่นอน!