รายงานพิเศษ
เป็นอันว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”คนที่ 29 ของประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้วไปเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา
ดังนั้น ในเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์จึงเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่น้อยคนนักจะทำได้ เพราะนั่งเก้าอี้สารพัดตำแหน่งจนนับแทบไม่หวาดไหว
ตำแหน่งหลักๆ สำคัญๆ ก็คือ นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และผู้บัญชาการทหารบก
นอกจากนี้ยังนั่งเก้าอี้เป็นประธานบอร์ดอีกสารพัดสารพัน รวมแล้วไม่ต่ำ กว่า 12-13 ตำแหน่ง เช่น ประธานบอร์ดบีโอไอ ประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.) รวมไปถึงประธานสโมสรฟุตบอลอาร์มี่ยูไนเต็ด เป็นต้น
เรียกว่า ทั้งงานราษฎร์ งานหลวง สุมอยู่เต็มสองมือของ พล.อ.ประยุทธ์กันเลยทีเดียว
แต่จะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่สังคมและทุกคนอยากรู้ก็คือ ในฐานะนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์จะนำพาประเทศไทยไปในทิศทางใด สามารถสร้างผลงานให้โดดเด่นเป็นที่ประทับใจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้หรือไม่ และที่สำคัญคือ พล.อ.ประยุทธ์จะใช้วิธีใดในการแก้ “ปัญหาการเมือง” ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
ทั้งนี้ ในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับพระบรมราชโองการ ความชัดเจนในเรื่องนี้ก็ได้ปรากฏขึ้น แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็นครั้งแรกในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี
แน่นอน ในภาพรวม คำประกาศของนายกฯ ประยุทธ์ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ฯลฯ โดย พล.อ.ประยุทธ์ประกาศชัดเจนว่า “จากนี้ไปผมต้องรับผิดชอบในการนำพาประเทศชาติและประชาชนเพื่อก้าวเดินไปข้างหน้า”
แต่ด้านที่เป็นจับตาและต้องขีดเส้นใต้เป็นพิเศษเห็นจะหนีไม่พ้น “ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม”
“รัฐบาล คสช.และประชาชนทุกคนต้องมาร่วมกันแก้ปัญหา เราไม่ปิดกั้นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือต้องการกำจัดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่าในสภาปฏิรูป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติไม่ได้มีข้อกำหนด ข้อห้ามอะไรต่างๆ เหมือนกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เราต้องการให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด...”
นั่นคือคำพูดที่ออกมาจากปากของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ประโยคสำคัญที่จำต้องถอดรหัสก็คือ “เราไม่ปิดกั้นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือต้องการกำจัดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทั้งสิ้น”
ไม่ปิดกั้นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด...เป็นสิ่งที่พอจะเข้าใจได้ในบริบทของบรรยากาศที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.ประกาศซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเรื่องของการ ปรองดอง การสมานฉันท์ เพื่อคืนความสุขให้กับประเทศไทย
แต่คำว่า ไม่กำจัดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนั้น เป็นคำพูดที่มีนัยสำคัญในทางการเมืองยิ่ง เพราะเมื่อตรวจสอบ “ฝ่าย” ทางการเมืองในประเทศไทยแล้วก็จะพบว่า ฝ่ายสำคัญที่มีอิทธิพลชี้นำความคิดของผู้คนมีอยู่เพียงแค่ 2 ฝ่ายหลักๆ เท่านั้น
ฝ่ายแรกคือฝ่ายของระบอบทักษิณ ซึ่งก็แยกเฉดออกไปตามความคิดทางการเมือง ตั้งแต่แดงเข้ม แดงล้มเจ้า ไปจนถึงแดงระเรื่อๆ อย่างพวกนักวิชาการที่ต่อการการทำรัฐประหาร
ขณะที่ฝ่ายที่สองคือฝ่ายที่ไม่เอาระบอบทักษิณ ซึ่งก็แยกเฉดออกเป็น 2 สีใหญ่ๆ คือ ฟ้า-กปปส.และเหลือง-พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ดังนั้น การประกาศไม่กำจัดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทั้งสิ้นก็ย่อมหมายรวมถึง 2 ฝ่ายดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นสำคัญ
แก่นแกนความคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ในเรื่องก็คือ ปล่อยให้คดีความต่างๆ ดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรม โดยที่รัฐบาลจะไม่เข้าไปข้องเกี่ยวหรือแทรกแซง ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปเสียด้วยซ้ำไป ยกเว้นจำพวกระบอบทักษิณนอกคอกที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดก็คือ การทำให้ประเทศสามารถเดินไปข้างหน้า ดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศไว้ในวันที่ตัดสินใจทำรัฐประหาร ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557
“ตามสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑลและพื้นที่ต่างๆ ของประเทศหลายๆ พื้นที่ เป็นเผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัว จนอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวมนั้น
“เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคีเช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทั่วทุกฝ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ....จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ...”
นั่นคือคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์
และภาพความจริงของสังคมไทย ณ เวลานี้ก็เป็นเช่นนั้น
หรือย้อนหลังก่อนหน้านี้การรัฐประหารไม่นานนัก พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้กล่าวข้อความในทำนองนี้ขณะเดินทางไปร่วมงานสถาปนาหน่วย พล.ร7 จ.เชียงใหม่ว่า....
“ไม่ได้ว่าใครผิดใครถูก แต่หากจะให้พูดก็ผิดด้วยกันทั้งสองฝ่ายหรือจะว่าถูกก็ถูกด้วยกันทั้งสองฝ่าย ก็ต้องไปแก้กันเอง หรือจะให้กระบวนการยุติธรรมตัดสินออกมาแล้วก็ให้ไปแก้กัน หากังไม่ทำอะไรกันเลยมันก็อยู่อย่างนี้ หาทางจบไม่ได้เพราะมันมีเงื่อนไขกันอยู่ ก็ต้องหาทางให้ได้ว่า ความผิดมันอยู่ที่ไหน อย่าเอาทหารไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง ทหารมีหน้าที่รักษากฎหมาย รักษากฎกติกา ไม่เข้าข้างไหน”
เป็นคำประกาศที่ชัดแจ้งโดยไม่ต้องอธิบายขยายความอะไร และต่อมาได้นำไปสู่การจัดตั้ง “ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป(ศปป.) ที่มี “บิ๊กโชย-พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์” ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก เป็นผู้อำนวยการและเชิญแกนนำของคนเสื้อแดงและกปปส.มาร่วมงานให้เห็นเป็นที่ประจักษ์พร้อมกันที่ท้องสนามหลวง
ภารกิจสำคัญของศูนย์นี้คือ “การสลายสีเสื้อ” ซึ่งคงต้องพิสูจน์กันต่อไปว่า แก่นแกนความคิดนี้จะประสบความสำเร็จจริงหรือไม่
กระนั้นก็ดี สิ่งที่ต้องตระหนักก็คือ แม้วันนี้ ระบอบทักษิณจะอ่อนล้าลงไปมากในแง่ของการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง แต่ในด้านของความศรัทธา ต้องยอมรับว่า ประชาชนในต่างจังหวัดจำนวนมากยังคงศรัทธาในตัวของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้อยู่เหมือนเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นความศรัทธาที่พร้อมจะเดินเข้าคูหาเลือกตั้งเพื่อเลือกผู้สมัครจากระบอบทักษิณ
ทั้งการเลือกตั้งในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)
เอาเป็นว่า หลังจาก ฯพณฯ ประยุทธ์เดินหน้าปฏิรูปประเทศเสร็จสิ้นตามกำหนดการที่วางไว้ และก้าวเข้าสู่วิถีทางของการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย คงไม่แคล้วที่ประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีมาจากระบอบทักษิณเหมือนเช่นที่ผ่านมา
เพียงแต่ว่านักโทษชายหนีคดีผู้เป็นนายใหญ่จะตัดสินใจเลือกใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น เพราะดูแล้วก็ไม่เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเอาอะไรไปชนะระบอบทักษิณได้
ขณะที่เครือข่ายของ ป๋าป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ไปจับมือกับระบอบเนวินและรวมไปถึงระบอบปลาไหลที่ได้รับการแตะมือจาก “นวลนรดิศคอนเนกชัน” ก็ไม่ได้เป็นหลักรับประกันใดๆ ว่า จะชนะเอาชนะพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งได้ ดังจะเห็นได้จากเที่ยวที่แล้วที่พรรคภูมิใจไทยพ่ายทั้งกระดานให้กับพรรคเพื่อไทยอย่างไม่เป็นท่า
นี่คือความจริงที่ต้องยอมรับ
และเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ คำถามจึงย้อนกลับมาหา “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เวลานี้ตัดสินใจก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์อีกครั้งว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือ กปปส.จะมีท่าทีอย่างไร
กปปส.ที่เวลานี้ล่มสลายไปพร้อมกับการรัฐประหารจะมีความคิดเห็นไปในทำนองใด และจะอธิบายกับมวลมหาประชาชนนับล้านคนที่ออกมาบนท้องถนนด้วยตรรกะเยี่ยงใด
เพราะพระสุเทพเมื่อครั้งเป็น เลขาฯ กปปส.ตอกย้ำตลอดเวลาเรื่องการ จำกัดระบอบทักษิณ
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2557 นายสุเทพนำมวลชน กปปส.สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 พร้อมประกาศต่อหน้าพระบรมรูปทรงม้าว่า....
“พวกเรามวลมหาประชาชนขอประกาศเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ว่า พวกเราทั้งหลายจะทุ่มเทแรงกาย จิตใจและทรัพยากรทุกอย่างที่มีเพื่อขจัดเภทภัยนั่นก็คือระบอบทักษิณให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินของพระพุทธเจ้าหลวง เราจะร่วมแรงใจเพื่อปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้เป็นประเทศไทยที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง เป็นประชาธิปไตยของประชาชนเพื่อประชาชน และเป็นประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง”
ไม่ว่าจะทุกข์ยากเพียงใด เรามวลมหาประชาชนขอสัญญาว่าจะทุ่มเททุกอย่าง เอาประเทศออกจากระบอบทักษิณ เราจะปฏิรูปด้วยมือของประชาชนคนไทย ไม่ใช่ด้วยนักการเมืองหรือพรรคการเมืองอีกต่อไป เราจะทำทุกอย่างโดยยึดหลักสันติสงบอหิงสา ซึ่งถือเป็นหลักการต่อสู้ของพลเมืองดีตามหลักสากลและเราจะทำให้สำเร็จ ขอพระบารมีพระพุทธเจ้าหลวงจงปกปักรักษามวลมหาประชาชนชาวไทยและดลบันดาลขอให้การต่อสู้ของประชาชนครั้งนี้ประสบชัยชนะ ชัยชนะจะเป็นของประชาชน”
ที่สำคัญคือหลังการทำรัฐประหาร นายสุเทพก็ประกาศชัดๆ ก่อนหลีกลี้ไปโกนหัวเข้าวัดว่า คสช.ได้เข้ามาสานต่อภารกิจของ กปปส.แล้ว
ดังนั้น จึงยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ภารกิจในการสลายสีเสื้อโดยเลือกที่จะไม่กำจัดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะทำให้การปรองดองสมานฉันท์เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่
การเลือกที่จะซุกปัญหาเอาไว้ใต้พรมกับการทำความจริงให้ปรากฏ สิ่งไหนจะสัมฤทธิผลมากกว่ากัน