xs
xsm
sm
md
lg

คสช.สวน “แม้ว” ถามควรรับฟังนักโทษหนีคดีหรือไม่ - ยัน รด.จิตอาสา ไม่ชี้นำร่างรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. (ภาพจากแฟ้ม)
โฆษก คสช.ตอบโต้ “ทักษิณ” วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญถอยหลังลงคลอง ถามคนไทยเป็นแค่นักโทษหนีคดีควรรับฟังหรือไม่ แจงทหารสวัสดีนักการเมืองแค่พูดคุย ทำความเข้าใจคนคิดต่าง ส่วนการเปิดทางนักการเมืองพูดมีช่องทางอยู่แล้ว ย้ำไม่ได้ห้ามสถานศึกษาจัดเสวนา ส่วนงานบอล “จุฬา-ธรรมศาสตร์” ไม่น่าห่วง ดูแลแค่ความปลอดภัย แจงโครงการ รด.จิตอาสาไม่ได้ชี้นำหน่วยลงคะแนน แค่รณรงค์ให้คนลงประชามติ

วันนี้ (8 ก.พ.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก เมื่อเวลา 14.30 น. พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธ์ รองหัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ส่วนงานรักษาความสงบ สำนักงานเลขาธิการเลขคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หลบหนีคดีอาญาในต่างประเทศ ออกมาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้ประเทศถอยหลังเข้าคลองว่า ต้องถามว่าตอนนี้นายทักษิณอยู่ในสถานะอะไร ถ้าเรามองกันตามความเป็นจริงก็อยู่ในสถานะผู้ต้องโทษ แต่ยังไม่มารับโทษ เพราะฉะนั้นการออกความเห็นมานั้น คนไทยเรามีความรู้มีวิจารณญาณได้ว่าควรจะรับฟังหรือไม่

“ในสภาวะบ้านเมืองแบบนี้ เราต้องการความร่วมมือปรองดองสมานฉันท์ เราไม่ต้องการการมายุแหย่ให้เกิดความแตกความสามัคคีหรือการแบ่งแยก ดังนั้นเราต้องดูสถานะคนพูด กับคนที่กำลังทำงานอยู่ในบ้านเมืองเวลานี้ คิดว่าคนไทยกำลังเฝ้าฟังเฝ้าดู มีวิจารณญาณว่าควรจะฟังหรือชะลอไว้ก่อนในการจัดความสำคัญลำดับความเร่งด่วน” พ.อ.ปิยพงศ์กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่ทหารยังกดดันคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น โดยการส่งทหารลงไปในหมู่บ้าน เข้าไปพบนักการเมือง หรือเชิญมาพูดคุยอยู่ พ.อ.ปิยพงศ์กล่าวว่า ต้องมองว่าเป็นการผูกมิตรชิดใกล้ พบปะ การได้เห็นกันและพูดคุยกัน อย่างน้อยเราก็จะได้รับรู้ว่าการคิดต่างเห็นต่างนั้นมองอย่างไร บางครั้งอาจคิดไม่เหมือนกัน บางครั้งรู้ว่ามีความคิดไม่เหมือนกัน แต่เวลานี้เราต้องการเข้าไปอธิบาย และทำความเข้าใจ ไม่ได้ไปกดดัน หรือทำให้ไม่สบายใจ หรือรู้สึกไม่ดี คนเราเจอกันบ่อยความรู้สึกที่ดี ได้ระบายความคิดก็จะทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น และถ่ายทอดซึ่งกันและกัน เรารับฟังความคิดเขา เขารับฟังความคิดเรา มันก็จะนำไปสู่ในสิ่งที่เราทำร่วมกัน บางครั้งหนักไปก็ถอยมา เบาไปก็เพิ่มไป

เมื่อถามว่า มีโอกาสหรือไม่ที่ทาง คสช.จะแก้ประกาศเพื่อเปิดโอกาสให้ทางนักการเมืองได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของร่างรัฐธรรมนูญ พ.อ.ปิยพงศ์กล่าวว่า แต่ละฝ่ายให้ความคิดเห็นผ่านหลายช่องทางที่เรากำหนดมาแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ได้รับฟัง รับรู้ แล้วนำไปประมวล ซึ่งก็อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็น ไม่ได้ปิดกั้นอะไร เพียงแต่สิ่งใดนำไปสู่การบิดเบือน หรือปลุกระดมขอให้ชะลอยุติก่อน

ส่วนการจัดเสวนาร่างรัฐธรรมนูญในสถานศึกษาจะทำได้หรือไม่นั้น ตนคิดว่าสิ่งที่อยู่ในกรอบกำหนดนั้นทำได้ไม่ได้ห้าม องค์ความรู้ในสถาบันการศึกษา หรือนักวิชาการ ตนว่าเป็นองค์ความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริงและเป็นประโยชน์ได้มาก ความจริงแล้วครูอาจารย์ได้ให้ความรู้ต่อการทำงานของรัฐบาล และ คสช.มาตลอด เพียงแต่ว่าในเวลานี้มีความเหมาะสมกับบ้านเมืองเราหรือไม่ ซึ่งหากประเด็นใดใช้กับการแก้ปัญหาของประเทศได้ก็หยิบเอามาใช้ อย่างไรก็ตาม การจัดเสวนานั้นก็อยู่ที่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ หรือสิ่งที่เรามองว่า จะนำไปสู่สิ่งที่ไม่ดีในอนาคตหรือไม่ เราไม่ได้มองว่าหากจัดเชียร์รัฐธรรมนูญจัดได้ หากไม่เชียร์จัดไม่ได้ คงไม่ใช้อย่างนั้น

พ.อ.ปิยพงศ์กล่าวถึงเรื่องการจัดฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ที่จะมีขบวนพาเหรดล้อเลียนการเมืองว่า ตนมองว่าประเพณีฟุตบอลกว่า 70 ปี มีเรื่องการล้อการเมืองมาโดยตลอด เพียงแต่ว่าในช่วงเวลานี้การล้อการเมืองอาจจะไม่เหมาะสม ซึ่งการจัดก็มีคณะกรรมการในการจัดของน้องๆ นักศึกษา และครู อาจารย์ ดูแลร่วมกันอยู่ ซึ่งก็มีข้อคิด มีคอนเซ็ปต์การจัดอยู่แล้ว ไม่น่าเป็นห่วงอะไร เพราะน้องๆ นักศึกษาเป็นผู้มีความรู้ มีครูอาจารย์เป็นคนที่มีวิจารณญาณสูง เพราะฉะนั้นจะคิดจะอ่านหรือทำอะไร เขาได้ไตร่ตรองแล้ว และได้อยู่ในคณะกรรมการการจัดงาน ตนว่าเราไม่ต้องไปห่วงเรื่องตรงนั้น เพียงแต่ว่า เราดูแลเรื่องความปลอดภัย ซึ่งในช่วงนี้ก็เป็นช่วงเทศกาลต่างๆ ทหารเราจึงเข้าไปดูแลในเรื่องของความปลอดภัยมากกว่า

เมื่อถามว่า อาจมีบุคคลที่จะหวังผลทางการเมืองแอบเข้าไปนำป้ายผ้าต่างๆ เข้าไปติดโจมตีการทำงานของรัฐบาล เหมือนที่เคยผ่านมา พ.อ.ปิยพงศ์กล่าวว่า จริงๆ แล้ว น้องนักศึกษาต้องรู้ดีว่าใช้หรือไม่ใช้ เพราะมีกระบวนการในการจัดงานอยู่ หากเห็นสิ่งที่ผิดแปลกแตกต่างก็ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ได้เลย

พ.อ.ปิยพงศ์ยังชี้แจงถึงกรณีที่ คสช.ถูกวิจารณ์ว่าการใช้นักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) ชี้นำการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า การใช้ นศท. หรือ รด. ตามโครงการ “รด.จิตอาสา” เพื่อเชิญชวนประชาชนให้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อไปลงประชามติ เป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งโครงการดังกล่าวดำเนินการมาก่อนเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งการคัดเลือก รด.จิตอาสาจะมาจาก นศท.ที่สมัครใจ และผู้ปกครองให้ความยินยอม โดยมีการจัดตั้งฝึกอบรมให้ความรู้ ดำเนินการ และติดตามผล

สำหรับการจัดตั้งโครงการนี้ นศท.จะทำงานใน 5 ภารกิจ คือ 1. การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. การช่วยเหลือประชาชนเมื่อลงไปในพื้นที่ตามขีดความสามารถของตัวเอง 3. การบรรเทาสาธารณภัย 4. การสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ได้แก่ โรดแมป คสช. ประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาล และ คสช. รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญ 5. การเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ที่ผ่านมาหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) ได้ทำข้อตกลงกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ความรู้แก่ นศท.ที่ได้จัดตั้งขึ้น ปัจจุบันมีจำนวน 8 หมื่นคน ถึง 1 แสนคน จากจำนวน นศท.ทั่วประเทศที่มีอยู่ 3 แสนคน และขณะนี้ยังมีข้อตกลงกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ นศท.ได้นำความรู้ ขั้นตอนการดำเนินงานไปประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจในแต่ละพื้นที่ที่ตัวเองอยู่

“อาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าให้น้องๆ ไปชี้นำหน้าหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งความจริงแล้วเราให้พี่น้องประชาชนใช้วิจารณญาณเอง และในข้อกฎหมายที่ได้รับจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบุไว้ว่าส่วนไหนที่จะละเมิดกฎหมาย นำไปสู่การผิดกฎหมายเองมีการฝึกชี้แจงอบรม อันไหนที่ผิดกฎหมาย นศท.ก็ต้องไม่กระทำ เพราะถือว่าเราเป็นตัวแทน หากไปทำผิดกฎหมายก็จะทำให้ความเชื่อถือจากประชาชนหมดลงไป ซึ่งเราได้ปลูกฝังว่าจะไม่มีการชี้นำ เราต้องการเพียงการให้ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวต่อร่างรัฐธรรมนูญ และให้ประชาชนมีโอกาสศึกษาและให้ข้อคิดเห็น ซึ่งในขณะนี้การร่างรัฐธรรมนูญยังอยู่ในช่วงการรับฟังความคิดเห็นก่อนนำมาแก้ไข” พ.อ.ปิยพงศ์กล่าว

ทีมโฆษก คสช.กล่าวอีกว่า การที่เราต้องใช้ นศท.เพราะกระบวนการสร้างการรับรู้ ต้องใช้คนรุ่นใหม่มีความถนัดในโลกออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ที่จะใช้เครื่องมือในการสื่อสารไปถึงคนที่อยู่วัยเดียวกันว่าขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงการปฏิรูป ทุกคนจึงต้องช่วยกันออกมาศึกษาข้อดี และจุดอ่อนของร่างรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งในกลุ่มวัยรุ่นเราเชื่อว่าสามารถกระจายข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว การที่ นศท.ลงไปในพื้นที่แต่ละครั้งอาจจะต้องถูกตั้งคำถาม หากคิดว่าตัวเองตอบคำถามไม่ครอบคลุมเขาก็ต้องกลับมาสอบถามจากผู้มีความรู้และลงไปในพื้นที่อีกครั้งเพื่อชี้แจง สำหรับการลงไปทำกิจกรรมต่างๆ ของ นศท.ครั้งนี้จะใช้เวลาในห้วงของการฝึก ซึ่งจะมีเครื่องหมายที่ไหล่ด้านซ้ายที่เขียนว่า “รด.จิตอาสา” ด้วย

พ.อ.ปิยพงศ์กล่าวด้วยว่า ในกรอบเดือน มิ.ย. ตามตารางข้อตกลงระหว่าง นรด. และ กกต. จะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับความเข้าใจของร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการกรรมวิธีในการออกเสียงประชามติ รวมถึงบทบาทหน้าที่ของ รด.จิตอาสา ว่าทำอะไรได้บ้างอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในวันลงประชามติ ก็จะมี นศท.ไปอยู่ที่คูหาเลือกตั้ง โดยทำเฉพาะในกรอบงาน โดยได้เน้นย้ำให้น้องๆ ทำหน้าที่เชิญชวน ไม่ได้ให้ไปชี้ว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ดีหรือไม่ดี รับหรือไม่รับ ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับข้อวิจารณ์ในรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญนั้น นศท.คงไม่ถึงขั้นไปวิพากษ์วิจารณ์รายละเอียด ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญเป็นสมบัติส่วนกลางของประชาชน ที่ทุกคนสามารถมีข้อคิดเห็นได้ ข้อวิจารณ์ของนักการเมือง หรือนักวิชาการก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่เราต้องการคือจากทุกภาคส่วนและสาขาเพื่อนำไปสู่การปรับใช้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ให้เป็นสิ่งที่ดีและเหมาะสมที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น