xs
xsm
sm
md
lg

เวทีวิชั่น

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

เคยเป็นวิทยากรในรายการ “เวทีวิชั่น” ณ โรงเรียนพยัคฆภูมิวิทยาคาร เป็นโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ประจำอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

รายการนี้แปลกดี มีนักเรียนชาย-หญิงเป็นผู้ดำเนินรายการ หรือพิธีกร และมีวิทยากรซึ่งเป็นครูอาจารย์จากประถม มัธยม อุดม และประชาชนในพื้นที่

ภาคแรก เป็นเนื้อหาจากวิทยากรแต่ละท่าน ภาคสอง เป็นถาม-ตอบปัญหาจากผู้ฟัง ผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นนักเรียน ครูอาจารย์ และประชาชนบ้างเล็กน้อย

วันนั้น เรื่องที่พูดคือ “จริยธรรมในสถานศึกษา” วิทยากรทุกท่านก็พูดได้ดีในภาคแรก แต่พอถึงภาคสอง ถาม-ตอบปัญหา มีคำถามที่คาดไม่ถึงจากนักเรียนมากมายล้วนน่ารับฟัง แต่ไม่อาจจะเปิดเผยในที่สาธารณะอันกว้างไกลได้

มีคำถามหนึ่งที่โดนใจได้ดีทีเดียว... “ปัญหาจริยธรรม ทำไมมาลงมาเน้นที่สถานศึกษา ทำไมไม่ไปลงที่อื่น ที่ทำลายจริยธรรมอย่างโจ่งครึ่งบ้าง”

วิทยากรท่านหนึ่ง ตอบพอสรุปได้ว่า “การศึกษาเป็นเบ้าหลอมผลิตผลออกสู่สังคม ถ้าผลผลิตดี สังคมก็ได้คนดี ถ้าผลผลิตไม่ดี สังคมก็ได้คนไม่ดี หรือคนไร้จริยธรรมอย่างที่เห็นอยู่ดาษดื่นนั่นแหละ”

“คำตอบของท่านวิทยากร อาจจะสรุปเป็นสูตรสำเร็จมากไปหน่อย มันอาจจะมีเหตุปัจจัยอื่นที่มากกว่าเบ้าหลอม เหตุปัจจัยนั้นมันคืออะไร” เป็นอีกคำถามหนึ่งที่กระตุ๊กต่อมคิดจากนักเรียน

คำถามนี้ทำเอาวิทยากรงง คำตอบก็เลยไม่ชัดเจน มิอาจฟันธงตรงๆ ได้แต่อ้อมๆ แอ้มๆ ขี่ม้าเลียบค่ายเท่านั้นเอง

จบรายการเวทีวิชั่น มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์เจ้าของโครงการเวทีวิชั่น ท่านเป็นครูหมวดสังคมสอนวิชาพระพุทธศาสนา ตอนแรกๆ ไม่ชอบเลยวิชานี้ แต่ในที่สุด รักวิชานี้มากที่สุด ท่านคือ...

อาจารย์บุญช่วย แก้วอาจ ครูระดับ 9 หรืออาจารย์แม่ของลูกศิษย์ลูกหานั่นเอง

อาจารย์เล่าว่า... “รายการเวทีวิชั่น เป็นกิจกรรมรูปแบบหนึ่งในการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา นักเรียนแบ่งกลุ่มออกอภิปราย หรือออกรายการเวทีวิชั่นหน้าชั้นเรียน นำเสนอเนื้อหา และตอบปัญหาจากเพื่อนนักเรียนในห้องอย่างเต็มที่ ครูผู้สอนคอยควบคุมดูแล และให้คะแนนอยู่ห่างๆ การอภิปรายแต่ละห้องเรียนถือเป็นรายการเล็ก ส่วนรายการใหญ่ ก็จัดที่หอประชุมโรงเรียน ภาคเรียนละหนึ่งครั้ง รวมนักเรียนที่เรียนวิชาพุทธศาสนาทุกห้อง บางทีก็นักเรียนทั้งหมดโรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรม กิจกรรมดังกล่าวตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า...สอนให้คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และรวมกลุ่มทำงานเป็น ผลที่ปรากฏ นักเรียนกล้าแสดงความคิดเห็น ความคิดก้าวหน้า จนบางครั้งครูก็ตามเด็กแทบไม่ทัน...กิจกรรมอย่างนี้เหนื่อยแต่ก็สนุกและสุขใจ เมื่อเห็นเด็กสนุก และสนใจเรียนตั้งใจทำกิจกรรมวิชานี้...”

ลองถามอาจารย์อื่นบ้างเกี่ยวกับอาจารย์บุญช่วย... “ท่านขยันทำกิจกรรมมาโดยตลอด พาเด็กเข้าค่ายธรรมะ ทำหนังสั้นละครธรรมะ เป็นต้น ได้รับรางวัลระดับจังหวัด เขต ประเทศหลายรางวัล ทำให้โรงเรียนมีชื่อเสียง ครูนักเรียนภาคภูมิใจ”

ฟังเด็กๆ บ้าง... “เรียนกับอาจารย์บุญช่วย สนุกดีค่ะ ไม่เบื่อ ตื่นเต้น มีกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ต้องคิดต้องทำอยู่บ่อยๆ ค่ะ”

นั่นคือ...ความเป็นตัวของเจ้าของโครงการเวทีวิชั่น อันเป็นหนึ่งกิจกรรมของวิชาพระพุทธศาสนา

เวที แปลว่า ผู้รู้, นักปราชญ์, แท่นบูชา, ยกพื้นสำหรับเล่นมหรสพ หรือการแข่งขัน

วิชั่น (Vision) หรือวิสัยทัศน์ แปลว่า การเล็งเห็นไปในกาลข้างหน้าด้วยการอนุมานตามเหตุผลและความรู้

นั่นพจนานุกรมไทย ลองดูพจนานุกรมอังกฤษบ้าง Vision แปลว่า สายตา, ความสามารถในการเห็นภาพ, อำนาจในการคาดคะเน, ภาพทัศนะ, จินตนาการ, นิมิต, สิ่งที่สองเห็น, ภาพบุคคลหรืออื่นๆ ที่มีความสวยงามมาก

เอาง่ายๆ “วิชั่น” หรือ “วิสัยทัศน์” ก็คือ “สายตายาวไกล” ตรงกันข้ามกับ “สายตาสั้นใกล้” (ผู้เขียน)

ตัวอย่าง...ผู้มีวิชั่น ย่อมไม่พอใจ ที่ผู้มีอำนาจ ไม่ว่าคณะไหน รัฐบาลใดที่ไปกู้เงินในอนาคตมาใช้เกือบ 3 ล้านล้านบาท และต้องใช้คืนทั้งดอกทั้งต้นเป็นเวลาเกือบร้อยปีจึงจะหมดหนี้ เท่ากับไปสร้างบาปกรรมให้แก่ลูกหลานเหลน ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ก่อไม่ได้ทำ อย่างนี้หรือคือผู้ใหญ่ใจดี มีศักดิ์มีศรี รักลูกรักหลาน รักชาติบ้านเมือง ส่วนผู้ไร้วิชั่นก็ว่า การได้เงินมาพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะมาจากไหน ถือว่าเป็นความฉลาด อนาคตจะเป็นเช่นไร ก็เป็นเรื่องของคนในอนาคต ที่ต้องรับผิดชอบใช้หนี้สินไป เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว

นี่คือสองทัศนะของผู้มีสายตายาวไกล กับผู้มีสายตาสั้นใกล้ มันต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อเอา “เวที” กับ “วิชั่น” มารวมกันเป็น “เวทีวิชั่น” จะหมายถึงอะไร ก็น่าจะชัดเจนอยู่แล้ว ยิ่ง “จริยธรรมในสถานศึกษา” อันนี้ยิ่งชัด หากเอาเวทีวิชั่นไปจับไปวัด จริยธรรม (ธรรมหรือสิ่งที่ต้องปฏิบัติ) คุณจะส่งเสริมครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ให้ปฏิบัติแบบไหนระหว่างสายตายาวไกล กับสายตาสั้นใกล้ คำตอบมีอยู่แล้วที่หน้าผากทุกคน (สำคัญอยู่ว่ากล้าดูหรือเปล่า)

สร้างสรรค์ความคิด สร้างสรรค์ แปลว่า ทำหรือคิดสิ่งแปลกใหม่ที่เป็นประโยชน์ สังคมล้าหลัง มักคิดเก่าทำเก่า ไม่กล้าคิดใหม่ทำใหม่ การคิดใหม่ทำใหม่ที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและโคตรเหง้าเหล่ากอเท่านั้น อันนี้จะยิ่งล้าหลังกว่าการคิดเก่าทำเก่าเสียอีก

การคิดใหม่ทำใหม่ต้องเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นลำดับต้น ประโยชน์ส่วนตนเป็นลำดับรอง

ตัวอย่าง...แหล่งแก๊สน้ำมัน ทรัพยากรของชาติ เป็นสมบัติส่วนรวม เราทุกคนเป็นเจ้าของ ทำไมต้องยอมให้ผู้รับสัมปทานนายทุนต่างชาติขุดเจาะเอาผลประโยชน์ไป 90% เราเจ้าของได้แค่ 10% (โดยประมาณ) ในขณะที่นานาประเทศ เช่น เขมร พม่า มาเลเซีย เป็นต้น ผู้รับสัมปทานได้ไป 10% เจ้าของประเทศได้ 90% ทำไมเขาทำได้ ราคาน้ำมันเขาจึงไม่แพงเหมือนประเทศเรา 2 ลิตร 100 บาท ทั้งๆ ที่น้ำมันเป็นของเรา การแก้ปัญหาราคาน้ำมันไม่ใช่ลดเป็นสตางค์ แต่ขึ้นเป็นบาท การแก้ปัญหาให้ถูกจุดตรงเหตุตรงๆ คือ ยกเลิกสัมปทานที่ดูถูกคนไทยโดยคนไทย (หัวใจทาส) ยึดคืนมาเป็นของรัฐสถานเดียว

นี่คือ คิดใหม่ทำใหม่ นี่คือคิดแบบสร้างสรรค์ เอาประโยชน์ส่วนรวมประเทศประชาชาติเป็นตัวตั้ง ทำอย่างนี้เท่านั้น ที่ประชาชนจะลืมตาอ้าปากได้ ความสุขของประชาชนก็ตามมาโดยอัตโนมัติ

รู้ถูกรู้ผิด คนเราถ้าคนธรรมดาสามัญ หาเช้ากินค่ำ ไม่รู้ถูกรู้ผิด ก็น่าให้อภัยอยู่ แต่คนระดับผู้นำ ระดับหัวหน้าหน่วยงาน ระดับบริหารประเทศ หากไม่รู้ถูกรู้ผิด อย่างนี้ให้อภัยไม่ได้ “รู้ว่าตนโง่ ก็ยังอยากโก้” มันโก้ตรงไหน อายลูกอายหลาน อายนานาชาติเป็นไหม? โง่แล้วออกมา อย่าไปหาเหาใส่หัว มันไม่ใช่คันเฉพาะตัวเอง มันคันทั้งประเทศ มีหมองบ้างเปล่า?

เปลี่ยนจิตเปลี่ยนทำ มีคำคมอยู่วลีหนึ่ง “เปลี่ยนความคิด-ชีวิตเปลี่ยน” ก็อันเดียวกันกับ “ เปลี่ยนจิตเปลี่ยนทำ” นั่นแหละ

เปลี่ยนความคิด หรือเปลี่ยนจิตใจ ไม่ใช่ของง่ายนะ ถ้าจะเปลี่ยนจริงมันก็เปลี่ยนได้ เพราะชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง คนที่ไม่ยอมเปลี่ยนอะไร ทั้งแบกทั้งหอบ ระวังเฉาตายเพราะเน่านะ

ชีวิตคนเราประกอบด้วย 2 ส่วน คือรูปกับนาม หรือกายกับใจ ในสองส่วนนี้มีความดีความชั่วครองอยู่ เจ้าสองตัวเนี่ย คือความดีกับความชั่ว มันจะแข่งขันกันตลอดเวลา ถ้าความดีชนะ ความดีก็จะมีอำนาจได้ปกครองร่างกาย พ่นความดีออกมาตลอดเวลา เดี๋ยวก็ทำดีนั่น ทำดีนี่ แทบไม่ว่างเว้น หากไม่ได้ตีกัน ไม่สะใจ หาเรื่องทะเลาะกันจนได้จึงจะสบายใจ จึงไม่แปลกเมื่อรัศมีชั่วปกคลุมเมือง คนดีเลยเดินตรอกขี้ครอกเดินถนน อัปรีย์ไป จัญไรมา บ้าบอคอแตกก็ได้เป็นใหญ่เป็นโต ขึ้นวอดุจคางคก รกบ้านรกเมือง

มีคนพิเศษที่วิเศษอยู่จำนวนน้อย ที่อยู่เหนือความดีความชั่ว เห็นความดีความชั่วเป็นละครแห่งโลกมายาเท่านั้น ท่านได้แต่ดูรู้เห็น และอุเบกขาวางเฉย

แต่เราทั้งหลาย ยังรักยังห่วงโลกมายา จำเป็นต้องเล่นละครต่อไป คิดชั่วทำชั่วมานานแล้วก็เปลี่ยนเป็นคิดดีทำดี จะได้มีอริยทรัพย์ติดตัวยามยมทูตเรียกหาบ้าง

โครงการปลูกป่าแต่ละปี ใช้งบภาษีประชาชนไม่ใช่น้อย ปลูกแล้วปลูกอีกอยู่นั่นแหละ ปลูกแล้วไม่เคยดูแล ไม่เคยจัดการตัวการทำลายป่าตัวจริง ดูเหมือนว่าได้งบมาใช้ให้หมดก็จบ ทำแบบนี้ ไม่สายตาสั้นใกล้ไปหน่อยหรือ ไม่อายเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินบ้างหรือ?

“พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า”

นั่นคือ...พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525

มีจิตสำนึกในหัวใจลึกๆ กันบ้างไหม? พระองค์ตรัสไว้ตั้ง 32 ปีแล้วยังเหมือนเดิม ปลูกป่าแบบขอไปที คนปลูกก็ปลูกไป คนทำลายก็ทำลายไป คนมีอำนาจจัดการ ก็ไม่ทำหน้าที่ ตื่นกันหรือยัง ตื่นแล้วก็เปลี่ยนจิตเปลี่ยนทำเสีย ก่อนที่จะหมดเวลาของตน

“เวทีวิชั่น
สร้างสรรค์ความคิด
รู้ถูกรู้ผิด
เปลี่ยนจิตเปลี่ยนทำ”

จิตคือผู้นึกคิด คิดผิดก็ทุกข์ ไร้คิดก็เหนือทุกข์เหนือสุข เหมือนความหอมของดอกไม้ที่ไหลล้นออกมา ไม่มีใครสั่ง ไม่หวังจะมอบให้ใคร ไม่หวังสิ่งตอบแทนจากใคร ไม่สนใจว่าใครจะทำอะไรกับความหอมนั้น เมื่อมีมากเกินไป ก็ล้นไหลออกมา อาจเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์แก่สรรพสิ่งทั้งมวลก็แล้วแต่ ไม่ว่าอะไร เช่นนั้นเอง

ต่างจากคน อยากจะมอบสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้คนอื่น ทั้งที่ตนเองก็ไม่มีสิ่งดังกล่าว อาการอย่างนี้ ถ้าไม่เป็นมุสาวาท ผิดศีลข้อสี่ แล้วจะเป็นอะไร เวทีวิชั่น ช่วยตอบที


กำลังโหลดความคิดเห็น