xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ “บรรหาร” พบ “จำลอง-สนธิ” - เจอถามกลับหน้าหงาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คำต่อคำ “บรรหาร” เข้าพบ“สนธิ-จำลอง” หารือแนวทางปฏิรูปฯ ก่อนเจอสวน รัฐบาลเป็นตัวสร้างปัญหา พร้อมถามกลับ จะให้ นช.ทักษิณมาติดคุกหรือไม่ ทำไม ขรก.บินไปขอตำแหน่งจากนักโทษ การเมืองแบบนี้ยังเอาด้วยหรือไม่ ชี้ “ยิ่งลักษณ์” แค่หุ่นเชิดพี่ชาย ตั้งสภาปฏิรูปเป็นแค่เกม “เติ้ง” เป็นแค่เครื่องมือ เจ้าตัวอึกอัก หน้าม้านกลับ


เมื่อเวลาประมาณ 10.50 น. วันที่ 11 ก.ย. 56 นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้ไปเชิญตัวแทนฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมเวทีปฏิรูปการเมืองตามแนวทางของรัฐบาล พร้อมด้วยนายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง นักธุรกิจอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์ อดีตกรรมการบริหารพรรคชาติไทย นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และนายนิกร จำนง อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทย ได้เดินทางมาพบนายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บ้านพระอาทิตย์ เพื่อหารือถึงแนวทางการปฏิรูปการเมืองและเชิญเข้าร่วมเวทีของรัฐบาล โดยใช้เวลาในการพูดคุยประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ

“ASTVผู้จัดการออนไลน์” ถอดทุกคำพูดของการหารือดังกล่าวมานำเสนอ

บรรหาร – ท่านสนธิไม่เปลี่ยนแปลง ท่านจำลองก็ไม่เปลี่ยน ยังหนุ่มเหมือนเดิม มาวันนี้ด้วยความคิดถึง

จำลอง – ขอบคุณมากครับ 33 ปี

บรรหาร - ใช่ ตั้งแต่ปี 23 ท่านเป็นเลขาฯ นายกฯ ป๋าเปรม

สนธิ - พี่หวัด พี่บรรหาร ด้วยความเคารพนะ พี่ต้องไม่โกรธนะ

บรรหาร - ไม่โกรธ

สนธิ - วันนี้พี่มาพบได้เพราะพี่หวัด (สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง) นะ ผมนี่ไม่ยอมเจอใครทั้งสิ้น พี่บรรหารเป็นคนที่ 2 ต่อจากพี่หนั่น (พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์) เพราะพี่หนั่น ความที่รักกันมาเยอะแล้ว ผมไม่เจอใครเลย เพราะพี่หวัดคนเดียวจริงๆ ผมไม่รู้พี่บรรหารคบพี่หวัดยังไง แต่พี่หวัดเป็นคนที่ดีมาก

บรรหาร – ที่กล้าก็เพราะเห็นว่า สวัสดิ์เนี่ย เชิญไปทานข้าวกับท่านสนธิ ในห้อง แล้วก็มาทานที่นี่ด้วย ถึงได้กล้า เลยให้คุณหวัดติดต่อท่านสนธิอีกที คือท่านสนธิ ผมไม่อยากมองข้ามท่านไป ท่านเป็นบุคคลสำคัญ เข้าใจรึยังล่ะ ไม่อยากมองข้าม

จำลอง - ผมต้องขอบคุณ ที่คุณสมศักดิ์ติดต่อไป ว่าพี่บรรหารจะพบผม ผมบอกไปว่า ท่านอายุมากกว่าผมนะ อาวุโสมากกว่าผมนะ มันคงจะไม่เหมาะมั้ง แล้วก็เวลาท่านไม่ค่อยมีด้วย โทรศัพท์ดีกว่ามั้ง คุณสมศักดิ์บอก ไม่ได้ ท่านต้องการพบ เผอิญผมทราบทีหลังว่าจะพบกับคุณสนธิอยู่แล้ว และผมเดาว่าคงเรื่องเดียวกัน ผมก็เลยบอกว่า เพื่อประหยัดเวลาของท่าน ผมว่าพบกันพร้อมๆ กันเลยดีกว่า

สนธิ - พี่บรรหาร วันนี้เราจะเปิดใจคุยกันนะฮะ

บรรหาร - ในฐานะเป็นเพื่อนกัน และไม่โกรธกัน

สนธิ - ไม่โกรธๆ

บรรหาร - ผมเรียนท่านจำลอง และท่านสนธิด้วย ที่ผมเดินทางมาในวันนี้เพราะเหตุว่า มาในฐานะผู้ประสานงาน เกี่ยวกับที่ว่าเราจะทำยังไงให้บ้านเมืองของเรา ในอนาคตเกิดความสงบเรียบร้อย และไม่มีความขัดแย้งกันเหมือนที่ผ่านมา ผมจำได้เมื่อตอนที่เราอยู่กับป๋าเปรม เหตุการณ์อย่างนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลย เรียบร้อยมากที่สุดเลย ผมจำได้

เมื่อเกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว ผมบอกแก่สื่อมวลชนนิดหนึ่งว่า ถ้าบอกว่า ผมเว้นวรรค 5 ปีนี่นะ แล้วผมอยากจะเดินไปหาใครอีกหลายๆ คนด้วยกันที่อยู่ในวงการเมือง ไปปรึกษาหารือว่าจะทำยังไง ว่าจะก้าวข้ามในขณะนี้ไปสู่อนาคตให้มันเกิดความสงบความเรียบร้อยให้จงได้ เพราะผมเองผมปีนี้เท่าไหร่แล้ว 82 แล้ว อยู่ไม่กี่ปีก็จะไปอยู่แล้ว แต่จะทำอะไรให้ลูกหลานมันเป็นสิ่งที่ดีงาม ถึงแม้ตัวเองจะเจ็บปวกยังไงก็แล้วแต่ ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะความเจ็บปวดผมเจอมาเยอะแล้ว เจอมาเยอะแล้ว ท่านจำลองทราบดี หนักแล้ว ผมทนได้ ฉะนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็คิดว่าจะเดินทาง แต่ว่าการเดินทางพบใครต่อใคร ผมยังไม่สามารถจะลงเอยได้ว่าเมื่อพบเสร็จแล้ว ได้ข้อมูลแล้ว ผมจะทำยังไงต่อไป มันไม่มีปลายทางของมันเลย

ประจวบเหมาะกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ โทรศัพท์มาหาผมเมื่อคืนวันเสาร์ที่ 22 บอก ท่านบรรหาร หนูอยากจะทำเรื่องสภาปฏิรูปฯ ให้ทุกคน ทุกฝ่ายเลย รัฐบาลไม่เกี่ยว มาคุยกัน เปิดอกกัน ใครมีความเห็นอะไรก็พูดกันให้ตรงไปตรงมาไปเลยว่าจะแก้ไข จะทำยังไง ผมก็โอเค แต่ผมจะไม่ได้เป็นผู้ประสานงานนะ ก็โอเค ผมจะไปครับ ก็ไป วันที่ 25 / 25 ก็มีหลายคน

ไปเสร็จแล้ว ประเด็นปัญหามันมีเยอะแยะมากมาย ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มากมายก่ายกอง ทั้งหมดมีการพูดถึงเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความไม่ทัดเทียมกัน ความยุติธรรม การใช้อำนาจ ทั้งหมดหลายสิ่งหลายอย่างที่มีอยู่ สรุปแล้วตอนสุดท้าย ที่จริง ไม่ได้ชมนายกฯ ยิ่งลักษณ์นะ ท่านเป็นคนเก่งพอสมควร ผมนั่งอยู่ติดกัน เจ้าหน้าที่มันบริ๊ฟมาทั้งหมดเลยนะ แต่ท่านบอกไม่เอา ท่านบอกจะทำ 7 ข้อ

ข้อที่ 1 คือหลักของการที่ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีความมั่นคงและแข็งแรง ผมจำได้นะ อันที่ 2 ความทัดเทียมกัน แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ หลักที่ 3 การทำงานด้วยความถูกต้อง อันที่ 4 คือความยุติธรรม ทุกมิติ ทุกภาคส่วน การไม่ได้รับยุติธรรม อันที่ 5 คือให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม อันที่ 6 ความไว้วางใจ ให้อภัยซึ่งกันและกัน อันสุดท้ายคือประโยชน์ร่วมกันตามหลักการที่ถูกต้อง 7 ข้อ มาให้ผมดูเออ ก็ใช้ได้นี่ แป๊บเดียวจริงๆ นะ 7 ข้อ ก็แสดงว่าแกบรีฟทั้งหมด 7 ข้อ ผมก็ว่าโอเค ปรากฏว่าท่านมากระซิบผมตอนเลิกว่า ท่านบรรหาร มันไม่มีใคร ถ้าหากเอาคนในรัฐบาลเข้าไปปรึกษาหารือกัน ขอให้ท่านช่วยรับหน้าที่ เพราะรู้จักหลายฝ่ายด้วยกัน ก็รู้จักทั้งหมด ท่านสนธิก็รู้จักกัน ยังกอดคอกัน เคยกินข้าวกัน จำได้หรือเปล่า

ที่มาวันนี้อยากจะรับฟังว่าปัญหาบ้านเมืองขณะนี้เราจะช่วยกันแก้ไขยังไง เราจะก้าวกระโดดขณะนี้ออกไปสู่อนาคต เราจะทำยังไงกัน ผมยอมรับฟังทุกอย่างหมด ส่วนจะทำได้แค่ไหนคงต้องว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง ผมเป็นแค่ประสานงาน และทั้งหมดนี้ วันที่ 25 นี้ เขาก็ตั้งเรื่อง 3 อย่าง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ก็ให้ทุกคนที่ไปกรอกข้อความมาว่าใครอยู่คณะไหน พออยู่คณะไหนเสร็จ ถ้าไม่มีก็เอาเพิ่มเติมเข้ามา แล้วผมจะเป็นผู้ประสานงานแต่ละคณะเข้าไปอยู่ มันจะรวมทั้งหมด ทั้งนี้ก็จะมีของภาคประชาชนอยู่ด้วย มีของหมอประเวศอยู่ด้วย ทุกส่วนอยู่ด้วย และอาจจะมีคุณสนธิ ผมฟังทีวี อย่าลืมว่าผมเปิดท่านอยู่ตลอดเวลานะ เอเอสทีวี ผมไม่ได้ทิ้งนะ ท่านว่าอะไรผม ผมก็รู้นะ ผมไม่ว่าอะไร ผมไม่ถือ ถือว่าให้พรผม ผมไม่ถือสา ด้วยความเคารพ ที่มาวันนี้ คือสิ่งที่มาอยากจะพบ มีบางคนบอกว่า ท่านบรรหารอย่าไปพบเลย เดี๋ยวท่านสนธิไม่ต้อนรับ โธ่ รู้จักกันนี่นะ คนเรารู้จักชอบพอกัน ไปคุยกัน ไม่เป็นไรนี่ สิ่งที่อยากมาในวันนี้

สนธิ - ต้อนรับครับพี่ ผมยุคนั้นยังทุบโถส้วมให้พี่ เพื่อให้พี่ฉี่ได้ เพราะมันสูงเกินไป

บรรหาร - ก็อยากจะฟังข้อชี้แนะ และมีทางออกอะไรมั้ย อยากจะกราบเรียนด้วยความเคารพอย่างนี้

จำลอง - ท่านพูดต่อเลยครับ ท่านอาจจะยังพูดไม่หมด พูดยาวๆ เลยครับ

สนธิ - พี่บรรหารอยากพูดอะไร พูดให้หมดเลยครับ แล้วเดี๋ยวพี่ลองเขาจะพูด และผมจะพูด อยากจะพูดอะไรพูดไปเลยครบ

บรรหาร - ผมอยากจะเห็นเหตุการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ แม้แต่ในสภากันเองก็รับไม่ได้ ผมรับไม่ได้ สภาที่เกิดขึ้นขณะนี้ รับไม่ได้ มันไม่เคยมีแบบนี้ วันที่ 16 ผมจะไปประชาธิปัตย์ ไปพบคุณอภิสิทธิ์ ไปถามเหตุการณ์ต่างๆ อย่างที่มาพบเนี่ย ทีนี้สิ่งที่ผมอยากจะกราบเรียนว่า ผมเองในฐานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็อยากจะกราบเรียนว่า เมื่อตอนที่เลือกตั้งใหม่ๆ ต้องยอมรับว่าการจัดตั้งรัฐบาลมันก็จะมีพรรคการเมืองเข้าไปร่วมด้วย เมื่อคราวเลือกตั้งคราวที่แล้ว ตอนที่มียุคปฏิวัติขึ้นมา ท่านสุรยุทธ์เป็นนายกฯ ผมเองก็มาประชุมกัน มีผม ชาติไทย ประชาธิปัตย์ แล้วก็สุวัจน์ ก็คุยกัน คุยกันทุกอาทิตย์ ก็คิดว่าเราน่าจะจัดตั้งรัฐบาล ได้ถึง 250 เสียง แต่ทำไปทำมา พอวันสุดท้ายใกล้จะลงคะแนนเสียง คือวันที่ 23 ธันวาคม ปรากฏว่าที่เราต่อกันไว้ มันไปกันแล้ว ก็เหลืออยู่แค่ 2 พรรค จะทำยังไงล่ะ ผมก็เกาะกับประชาธิปัตย์ เมื่อทางโน้นเขาเชิญมา เขาก็ตั้งไม่ได้ ทางนี้ก็ตั้งไม่ได้ ด้วยวิสัยของการเป็นนักการเมืองก็จำเป็นจะต้องเข้าไปร่วม ถ้าไม่ร่วม อยู่ข้างนอก ก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน นี่คือความจำเป็นที่มีอยู่ อย่าโทษว่าพรรคชาติไทยเป็นปลาไหล ไม่ใช่ทั้งนั้นหรอก ดูเหตุการณ์ จังหวะ เหมาะสมที่มีอยู่ ฉะนั้นมาวันนี้ก็ไม่ใช่ว่าเข้าข้างรัฐบาลนะ มาในฐานะผู้ประสานงาน รัฐบาลไม่เกี่ยว เมื่อได้ข้อมูลเสร็จเรียบร้อยหมด เดี๋ยวบ่ายจะพบหมอประเวศ นี่คือสิ่งที่อยากจะกราบเรียน คงไม่มีอะไรมากครับ จริงใจ อายุป่านนี้แล้ว ทำทุกอย่างเพื่อบ้านเมือง เมื่ออาทิตย์ที่แล้วไปเยี่ยมป๋า ก็พูดกับท่านอย่างนี้เหมือนกัน พูดกับป๋าอย่างนี้เหมือนกัน ป๋าก็ฝากคิดถึง ผมมีแค่นี้ล่ะครับ

จำลอง - ขอบคุณท่านบรรหารนะครับ ท่านกรุณาลดตัวลดตนเป็นผู้ประสานงาน คุณสมศักดิ์ติดต่อผมทางโทรศัพท์ว่าท่านจะไปพบผม ผมก็บอกกับคุณสมศักดิ์ว่า ท่านอาวุโสกว่าผม มันจะไม่เหมาะมั้ง แล้วอีกอย่างท่านก็เวลาน้อย พูดทางโทรศัพท์กันดีมั้ย คุณสมศักดิ์ก็ยืนยันว่า ท่านบรรหารต้องการพบผมจริงๆ ต่อมาผมก็ทราบว่าท่านก็ต้องการพบกับคุณสนธิด้วย ก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นเพื่อประหยัดเวลา ก็พบกันเสียทีเดียว ผมเดาเอานะ ว่าคงเรื่องเดียวกัน ผมต้องเรียนท่านบรรหารว่า คราวที่แล้ว ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์เสนอเรื่องสภาปฏิรูปฯนั้น ก็เนื่องจากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเยอะๆ และไอ้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเยอะๆ เนี่ย ประชาชนทั่วไปที่เขาติดตามการบ้านการเมืองเขาก็รู้ว่า เป็นเพราะรัฐบาลและพรรครัฐบาลเป็นคนก่อขึ้น เช่น จะแก้รัฐธรรมนูญ เช่น จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม อะไรทั้งหลายแหล่เยอะแยะไปหมดเลย เพราะฉะนั้น โดยความคิดของผม และเหมือนกับอีกหลายๆ คน ว่า ถ้าจะแก้ไขไม่ต้องมีสภาปฏิรูปฯ ก็ได้ นายกฯ ก็ออกมาแก้ไขซะ ตัวเองเป็นคนก่อ พรรครัฐบาลเป็นคนก่อ ก็ไม่แก้รัฐธรรมนูญเสีย ไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเสีย ไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งเสีย แล้วความขัดแย้งมันจะลดลงๆ นี่ล่ะครับ และผมขอเรียนท่านบรรหารเลยว่า ท่านคงทราบดี พวกผมพูดกันบ่อยๆ ว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทุกคนเหมือนกันเปี๊ยบเลย เหมือนกันตรงไหน เหมือนกันตรงที่ว่าไม่ได้ทำเพื่อตัวเองหรือหมู่คณะ ทำเพื่อชาติและราชบัลลังก์โดยแท้ และผมก็ต้องพูดซ้ำอีกนะว่า ไม่มีชนชาติไหนในโลกที่ทรหดอดทนเหมือนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ไปกินไปนอนในถนน 3 ช่วงเวลา รวมแล้ว 384 วัน 384 คืน มันไม่ใช่เรื่องน่ารื่นรมย์เลยนะ ทำไปทำไม ทำเพื่อชาติและราชบัลลังก์ วันนี้ก็ยังยืนยันอีกทีนะครับ 3 ช่วง ก็คือ 33 วัน 193 วัน 158 วัน รวม 384 วัน 384 คืน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เหลืออดเหลือทนจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องน่ารื่นรมย์อะไร การที่จะไปกินนอนในถนน และท่านบรรหารก็ทราบ หรือผม เป็นต้น ผมก็ต่อสู้กับความไม่ถูกต้องมาตั้งแต่หนุ่มๆ แล้ว เอาเริ่มตั้งแต่คัดค้านการที่จะออกกฎหมายทำแท้งเสรี ปี 2524 นี่ 32 ปีแล้ว ตอนนั้นผ่านสภาผู้แทนฯ มาแล้ว 3 วาระ ผมออกไปนำการคัดค้าน และคัดค้านเป็นผลสำเร็จ จนวันนี้ยังไม่มีใครกล้าเสนอเอาเข้าสภาอีกเลย ที่จะแก้กฎหมายทำแท้งให้เป็นกฎหมายทำแท้งเสรี

ถัดจากปี 24 ก็มาปี 26 ที่ผมเป็นผู้นำในการคัดค้านการที่จะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นเผด็จการ ถัดจาก 26 ก็ปี 35 หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ไม่ใช่ออกไปประท้วงเพราะนายกฯ พูดไม่ตรง นายกฯ ไม่ทำตามคำพูด ไม่ใช่ หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ก็สำเร็จอีกปี 35 ต่อมาก็มี 42 ที่พาประชาชนออกไปช่วยกันคัดค้านการที่จะขายหุ้นบางจากให้ต่างชาติ ก็สำเร็จอีก เรียบร้อย ฉะนั้นที่ทำมาโดยตลอด พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เหมือนเราทั้งนั้น ว่าทำเพื่อชาติและราชบัลลังก์ พอมาถึงตอนทักษิณ ผมเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงเขา สื่อมวลชนเอาไปแพร่กันทั่ว ผมบอกเขาว่า คุณเป็นนายกฯ แล้วคุณเทหุ้นขายตั้ง 73,000 ล้าน แล้วไม่เสียภาษี คุณบอกคุณจะช่วยคนจน คุณเสียสิ เสียภาษีซะ แล้วผมคำนวณไว้ให้เลย 26,000 ล้าน พอเขาไม่ทำ ไม่ทำผมก็มีจดหมายเปิดผนึกอีก หลักฐานยังมีอยู่นะ บอกว่าอาทิตย์ต่อไป ผมจะไปร่วมกับประชาชนในการคัดค้าน การเรียกร้องให้คุณออกจากความเป็นนายกฯ นี่คือสิ่งที่ผมทำไป ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเองนะ เหมือนกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทุกคน ทำเพื่อชาติและราชบัลลังก์โดยแท้ พอเขาออกไปต่างประเทศได้ 6 เดือน คนสนิทเขาก็มาถามผม มีอะไรจะแนะนำทักษิณมั้ย ผมบอก มี บอกเขาว่าให้กลับมารับโทษเสีย ตามที่ศาลได้ตัดสินไปแล้ว ถ้าไม่กลับมารับโทษ ถ้ายังอยู่ในต่างประเทศ ก็เงียบๆ ได้มั้ย อย่าให้ข่าวได้มั้ย อย่าเคลื่อนไหวได้มั้ย เพราะบ้านเมืองมันปั่นป่วน เขาก็ไม่ทำ จนถึงวันนี้ นี่เลยต้องเรียนทบทวนให้ท่านบรรหารทราบนะครับว่ามันเป็นอย่างนี้ล่ะครับ ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง แล้วต่อมาตอนหลังเราก็หารือกันว่า เราจะไปผูกขาดเป็นแกนนำ มันจะไม่เหมาะนะ จริงๆ แกนนำคือแกนตามนะ ตามที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยส่วนใหญ่เขาว่ายังไง เราก็ริเริ่มขึ้นมา แล้วเราก็ไม่ได้เป็นแกนนำแล้วในตอนนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นแกนนำ ท่านยังกรุณาให้เกียรติมาพบกับเราอีก ต้องขอขอบคุณอย่างยิ่งครับ

ข้อเสนอของผมก็คือ นายกฯ ควรจะแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ อะไรที่รัฐบาลหรือพรรคของรัฐบาลทำเอาไว้ ก็ยกเลิกเสียให้หมด แค่นี้มันก็ลดความขัดแย้งได้อย่างเห็นได้ชัดเลยนะ และตอนนี้ท่านจะเห็นนะครับความขัดแย้งมีมากขึ้นๆ ผมก็ไม่ทราบว่าท่านเป็นผู้ประสานงาน ท่านจะแก้ไขได้หรือเปล่า มันทั้งนอกสภาและในสภา วุ่นวายกันไปหมดเลย ถ้าทำอย่างที่ผมเสนอนะ หมดไปแล้ว ความขัดแย้งก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ก็ตัวเองเป็นผู้ก่อขึ้น ก็แก้ที่ตัวเอง ง่ายจะตายไป ไม่ต้องมาเดือดร้อนให้ท่านเป็นผู้ประสานงานด้วยซ้ำ คุณสนธิมีอะไร เชิญเลย

สนธิ - ผมขออนุญาตเรียนพี่บรรหาร ในฐานะที่เรารู้จักกันมานานแล้ว เดิมที่จะเรียกท่านบรรหาร แต่เดี๋ยวพี่จะว่ามันห่างเหินกันเกินไป

บรรหาร - งั้นเดี๋ยวผมขออนุญาตเรียกพี่สนธิได้มั้ย

สนธิ - ได้ๆๆ ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ที่พี่บรรหารจะต้องตอบคำถามผม มีอยู่ 4-5 ข้อ ถ้าพี่บรรหารตอบคำถาม 4-5 ข้อนี้ได้ หรือว่าพี่บรรหารบอกวันหลังค่อยตอบ แล้วผมค่อยพูดต่อ ผมคิดว่าคำพูดหนึ่งที่พี่บรรหารพูดมา พอจะทำให้ผมกล้าถาม ตรงที่พี่บรรหารบอกว่า ไม่ชอบสภาปัจจุบัน เพราะมันเละเทะมาก อันนี้อย่างน้อยที่สุดก็แสดงจิตใจที่ค่อนข้างที่จะยุติธรรมว่าสภาทุกวันนี้มันเผด็จการมาก มันไม่ฟังใครเลย

แต่คำถามที่ผมอยากจะถามตรงๆ เลย ว่า พี่บรรหารคิดว่าทักษิณ ชินวัตร ควรจะกลับมาติดคุกหรือไม่ นี่คือข้อแรกที่พี่บรรหารต้องคิด ข้อที่ 2 ถ้าสภามีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับทักษิณ ชินวัตร พี่บรรหารเห็นด้วยหรือเปล่า และถ้าออกนิรโทษกรรมให้ทักษิณ ชินวัตร จะต้องออกนิรโทษกรรมให้กับประชา มาลีนนท์ ด้วยหรือเปล่า ปัญหาข้อที่ 3 คือ ทำไมข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นนายพลใหญ่ๆ สำนักงานตำรวจแห่งชาติตลอดจนกองทัพ หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงต่างๆ ต้องบินไปหาทักษิณเพื่อขอตำแหน่ง แล้วกลับมาก็ได้ตำแหน่งทุกคน

ข้อที่ 4 ผมไม่เชื่อว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีอำนาจในการทำงาน คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงก็คือทักษิณ ชินวัตร ข้อที่ 5 ที่คิดว่าสำคัญที่สุด คือถ้าพี่บรรหารเป็นนักการเมืองมาตลอด พี่บรรหารต้องเข้าใจว่า นิติบัญญัติ ตุลาการ และบริหาร มันจะต้องแยกออกจากกัน แต่ในข้อเท็จจริงตั้งแต่เรามีการเมืองมา ทุกยุคทุกสมัย นิติบัญญัติกับบริหาร เป็นพวกเดียวกันมาตลอด ไม่เคยมีประธานสภายุคไหนที่ไม่ใช่พวกฝ่ายบริหาร

เพราะฉะนั้นแล้ว ด้วยลักษณะข้อเท็จจริง ผมกำลังพูดถึงข้อเท็จจริงนะ ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ปัจจุบันนี้เราไม่ได้มีประชาธิปไตยเลยแม้แต่นิดเดียว ผมก็ยังพิจารณาว่า ทุกวันนี้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการปฏิรูปการเมือง ที่พี่บรรหารพยายามทำ ยังคงเป็นทักษิณ ชินวัตร อยู่ เพราะในข้อเท็จจริงคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผมไม่ได้คิดว่าเขาฉลาดอะไรหรอก อะไรที่เขาพูดกับพี่เป็นข้อๆ น่ะ เขาถูกบรีฟไว้เรียบร้อยแล้ว

เพราะฉะนั้นแล้วผมก็ยังคิดว่าปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือว่า ถ้าสมมุติเขาต้องการปฏิรูปเหมือนอย่างที่พี่ลองพูด พฤติกรรมที่เกิดขึ้นมาในช่วงตั้งแต่เขาตั้งพี่บรรหารมา ไม่ได้เป็นพฤติกรรมที่สะท้อนให้เห็นความจริงใจของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องการจะปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นการต่ออายุคุณธาริต เพ็งดิษฐ์ อีก 1 ปี การต่ออายุนี้ก็เนื่องจากคุณธาริต เพ็งดิษฐ์ ไปเล่นงานฝ่ายตรงข้ามได้เป็นผลสำเร็จ ทำงานเข้าตาประชาชน ทำงานเข้าตาพรรคเพื่อไทย หรือบทบาทของประธานวุฒิสภา คุณนิคม หรือบทบาทของท่านสมศักดิ์ ที่เป็นประธานรัฐสภา

มันทำให้เราเริ่มตั้งคำถามว่า ประชาธิปไตยที่ทุกคนบอกว่า วันนี้คนไทยอาหารการกินแพงขึ้น เพราะว่ายังไม่ได้ประชาธิปไตย เหมือนคำที่พวกอีกฝ่ายหนึ่งชอบพูดตลอดเวลาว่า ทุกอย่างมีปัญหาเพราะการเมืองไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย ผมถึงถามว่า ลักษณะที่พี่บรรหารมาเสนอ มาคุยเนี่ย พี่บรรหารออกตัวไปแล้วว่า ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น

แต่ผมคิดว่าเกมที่เขาเสนอมา แล้วก็ใช้พี่บรรหารเป็นเครื่องมือ ผมว่าเกมนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้นผมไม่เล่นด้วย แล้วผมก็ถามอีกคำหนึ่งซึ่งค่อนข้างจะกินใจ พี่บรรหารอย่าโกรธผม “พี่บรรหารคิดว่า พี่ ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วยหรือเปล่า” เพราะว่าทุกวันนี้ ทุกอย่างที่เป็นไปทุกวันนี้ในประเทศไทย มันเกิดขึ้นเพราะการเมืองอย่างเดียว ไม่ใช่เพราะเรื่องอะไรเลย การเมืองทั้งนั้น

การฉ้อราษฎร์บังหลวง กรณีของคุณประชา มาลีนนท์ คำพิพากษาศาลฎีกา เมื่ออ่านไปแล้วมันเห็นชัดเจนว่าการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้นทุนของสังคมมันสูงขึ้นก็เพราะการเมือง ผมคิดว่าเมืองไทยต้องมีการเมือง แต่การเมืองไม่ควรที่จะเป็นการเมืองที่ตัดสินกันด้วยเครื่องคิดเลขในสภา ว่าคุณมี 319 เสียง ผมมี 160 เสียง เพราะฉะนั้นผมทำอะไร ผมก็ทำได้ นั่นคือความเห็นของผม


แต่การเมืองมันต้องเป็นส่วนประกอบของการเข้ามามีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่ 1 เสียง 1 คน เพราะถ้าเรายังยึดถือ 1 เสียง 1 คนอยู่ การเมืองคือการลงทุน ส.ส.ก็จะกลายเป็นตัวเลขเท่านั้นเอง เมื่อกลายเป็นตัวเลข เมื่อรวมกันได้แล้ว มีเสียงชนะในสภาแล้ว การเมืองมันก็เน่าต่อไปเรื่อยๆ มันก็เน่าต่อไปเรื่อยๆ พี่บรรหารเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อน พี่บรรหารต้องรู้ว่าชาติบ้านเมืองใกล้ล่มสลายแล้ว ผมไม่จำเป็นต้องพูด เพราะว่าพี่หวัดรู้ดีกว่าผม เพราะพี่หวัดอยู่ในวงการเงิน พี่หวัดอยู่ในวงการอุตสาหกรรม พี่หวัดรู้ รู้มากๆ เลยว่า ทุกวันนี้เราใกล้ที่จะถึงปี 2540 อีกครั้งหนึ่ง ต่างกันตรงที่ว่า 2540 ยุคนั้นแบงก์อ่อนแอ 2540 ยุคนี้แบงก์แข็งแรง แต่ว่าประชาชนอ่อนแอ

เพราะฉะนั้นแล้วที่ผมเคยคิดของผม คือผมคิดว่าผมอยากให้นักการเมืองเสียสละ ผมคิดว่าทุกคนหยุดเล่นการเมืองสัก 2-3 ปี เรามาร่างกติกาที่ถูกต้องในข้อที่พี่พูดมา 6-7 ข้อเมื่อกี้นี้ เท่าเทียมกัน เราจะร่างเท่าเทียมกันยังไง คำว่าเท่าเทียมกัน สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการทำมาหากินควรจะเท่ากันมั้ย ถ้าเท่ากัน ทำไมเทสโก้โลตัส ถึงรังแกโชวห่วยได้ ถ้าอย่างนั้นแล้วเราจะแก้ตรงนี้ยังไง แล้วเราจะกล้าแก้มั้ย ผลประโยชน์มันมีอยู่ ภราดรภาพ คนไทยจะต้องมีเหมือนกันทุกคน คำว่า “ภราดรภาพ” จะต้องมีสิทธิเท่าเทียมกัน สิทธิในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน ไม่มีใครเหนือใคร ไม่มีใครได้ประโยชน์มากกว่าใคร และที่สำคัญที่สุดก็คือ หลักนิติรัฐที่สำคัญที่สุด เพราะว่าถ้าวันนี้หลักนิติรัฐไม่มี พี่ปฏิรูปการเมืองไปยังไงก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งที่ผมต้องการจะพูด คือผมพูดออกจากใจ บางครั้งบางคราวมันกระทบกระเทือนใจกันบ้าง ก็ต้องยอมฟังกัน

วันนี้คุณยิ่งลักษณ์ และ นช.ทักษิณ ชินวัตร ผมต้องเรียกเขา นช. เพราะว่าเขาเป็นอาชญากร และเขาถูกพิพากษาจำคุกไปเรียบร้อยแล้ว ถ้าเขารักชาติ รักบ้านรักเมือง เขาต้องถอย แล้วปล่อยให้นักการเมืองทุกคน และประชาชนทุกคน แล้วเขาต้องไม่ยุ่งกับ ส.ส.เขาไม่ต้องยุ่ง เขาไม่ต้องเอาครอบครัวตระกูลเขามา พี่ก็รู้ข้อเท็จจริงว่าจำนำข้าวมันฉิบหายไปเท่าไร ไม่จำเป็นจะต้องมาปกป้องอะไรกันเลยแม้แต่นิดเดียว

ถ้าคดีจำนำข้าวขึ้นสู่ศาลฎีกา คนก็จะต้องติดคุก ถ้ายึดถือมาตรฐานศาลฎีกาเมื่อวานนี้เป็นมาตรฐาน คนติดคุกหมด ปลัดกระทรวงพาณิชย์ก็ต้องติดคุก เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ก็ต้องติดคุก นายกรัฐมนตรีก็ต้องติดคุก รัฐมนตรีฯ บุญทรงก็ต้องติดคุก น้ำอีก 3.5 แสนล้านบาท และเงินกู้อีก 2.2 ล้านล้านบาท

พี่บรรหารเป็นคนเก่งเรื่องตัวเลขการเงิน พี่รู้ พี่รู้ว่าวันนี้เมืองไทยหายจะไม่ออกอยู่แล้ว พวกที่นั่ง ผู้สื่อข่าวเนี่ย ถามแต่ละคนสิ ว่าเงินเดือนพอใช้กันมั้ยทุกวันนี้ ไม่มีพี่ มีที่ไหนในโลกนี้ที่น้ำมัน 2 ลิตร 100 บาท แล้วประชาชนยังนั่งเฉย แล้วทุกคนก็ยังมานั่งพูดกันอีก “เพื่อ ปตท.” ไม่มี เพราะฉะนั้นนี่คือหัวใจของมัน เมื่อเรายกตรงนี้ออกมาแล้ว ยกปัญหาที่ผมพูดกับพี่ออกมา ถ้าทุกฝ่ายก้าวข้ามเรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือทุกคนไม่จาบจ้วงพระองค์ท่าน เป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แล้วคงพระราชอำนาจอยู่ และถ้าเราเคารพในหลักนิติรัฐและเราต้องการที่จะทำให้ประชาชนคนไทยมีช่องว่างระหว่างรายได้ มีช่องว่างระหว่างเรื่องราวต่างๆ ความยุติธรรม ให้มันแคบลง ผมคิดว่าเมืองไทยไม่มีสีแล้ว พี่บรรหาร เมืองไทยไม่มีสี

วันนี้การศึกษาเมืองไทยตกเป็นอันดับ 8 ต่ำกว่าเขมร ต่ำกว่าเวียดนาม พี่ เราเอาหน้าไว้ที่ไหน พี่บรรหารเป็นนักการเมืองมากี่สิบปี พี่ทนได้เหรอ ผมเนี่ยทนไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่ไหน ผมกลับมองว่า ในขณะนี้แทนที่เราจะกระจายอำนาจลงท้องถิ่นจริงๆ ผมเคยพูดว่า ทำไมเรายกตัวอย่างการกระจายอำนาจ คนถามผม คุณสนธิคุณจะกระจายยังไง ผมบอกกระทรวงศึกษาฯ นี่คือตัวการที่จะทำให้ชาติบ้านเมืองฉิบหาย เด็กเรียนต่ำ ถ้าผมยกโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาฯ ในสุพรรณฯ ทุกโรงเรียน ยกให้พี่เลย ให้นายก อบจ.เอาไปบริหาร ตัดงบประมาณบางส่วน ครูไป เอาไปที่นั่นหมด แล้วกระทรวงศึกษาฯ ทุกแห่งทำแบบนี้หมด กระทรวงศึกษาฯ จะเล็กลง ทุกจังหวัดจะบริหารการศึกษาของตัวเองได้ คำถามมีอยู่ว่า ถ้ามาตรฐานการสอบของสุพรรณฯ ภาษาอังกฤษ ม.3 ม.6 ของสุพรรณฯ เกิดสู้อ่างทองไม่ได้ ของคุณสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล พี่ว่าคนสุพรรณฯ โกรธมั้ย คนสุพรรณฯ โกรธ เพราะฉะนั้นแล้ว นี่คือการใช้ประชาชนท้องถิ่นมาคุมการบริหารงาน อบจ. และเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจ แล้วเมื่อใดก็ตามที่งบประมาณไปท้องถิ่นหมด ไม่ได้อยู่ส่วนกลาง มันจะมีความจำเป็นอะไรต้องมาตั้งรัฐมนตรี ต้องมาเลือกตั้งการเมือง เพราะพี่ก็รู้

พี่พูดให้ผมฟังหลายครั้งว่า สนธิ ส.ส.คนหนึ่งต้องมี 30 ล้าน 50 ล้าน แล้วพี่มี 20 คน พี่ก็ต้องพันล้าน แล้วพันล้าน ใครจ่ายล่ะ เมื่อจ่ายไปแล้ว พันล้านคืนที่ไหน แต่ถ้าเมื่อใดก็ตาม พี่มี ส.ส.แล้วมาบริหารชาติบ้านเมือง แล้วงบประมาณไม่ได้อยู่ที่ส่วนกลาง มันไปอยู่ที่จังหวัด แต่ละจังหวัดมันก็ลงไปทะเลาะกันที่ อบจ., อบต., เทศบาล แต่ว่าทั้งหมดมันถูกคุมด้วยคุณภาพของงานที่ประชาชนคุมนักการเมือง การเมืองมันดีขึ้นโดยปริยาย

ถ้าทำอย่างนี้ได้ เราก็จะไม่มีทักษิณ ชินวัตร คนที่ 2 ขึ้นมาอีก เราก็ะไม่มีการรวบผูกขาดอำนาจ อยู่ในตระกูลเพียงไม่กี่ตระกูล สืบทอดดั่งราชวงศ์ พี่ชายเป็น พี่เขยเป็น น้องสาวเป็น นี่ไปอีกหน่อยก็เป็นน้องเขยเป็นอีก นี่คือความเห็นของผม พี่บรรหาร

เพราะฉะนั้นแล้วผมถึงบอกว่า ผมไม่ได้ตื่นเต้น ผมเห็นใจที่พี่พยายามจะปฏิรูปการเมืองตอนนี้ ผมเห็นใจ แต่ผมกำลังจะบอกว่า พี่เป็นเครื่องมือเขา เพราะว่าเขาต้องการที่จะลดอุณหภูมิทางการเมืองลงมา และผมไม่เคยคิดว่าทักษิณ ชินวัตร หรือบางคนในตระกูลชินวัตร ต้องการจะปฏิรูปการเมือง เพราะเขาต้องการจะยึดอำนาจนี้ต่อไป

คำถามมีต่อว่า แล้วพี่จะไปเป็นตัวประกอบให้เขาในอนาคตต่อไปอีกนานแค่ไหน อีกนานแค่ไหน นี่คือคำพูดที่มาจากใจ พี่ต้องไม่โกรธผม


บรรหาร - ไม่โกรธหรอก

จำลอง - ผมเรียนนิดหนึ่งนะครับ ก่อนที่จะตอบคำถามของคุณสนธิซึ่งค่อนข้างจะแรงนิดหนึ่ง ที่เราพูดไป เราทำด้วยนะ ยกตัวอย่าง อย่างผม ซึ่งท่านบรรหารก็ทราบ ผมคงจะเป็นนักการเมืองไม่กี่คนในประเทศนี้ที่เป็นมาพร้อมหมดทุกอย่างแล้ว เป็น ส.ส.ก็เป็น เป็น ส.ว.ก็เป็น ทำหน้าที่ทั้ง ส.ส.-ส.ว. คือมีสภาเดียว คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และผมพูดอยู่เสมอๆ ว่าคนที่จะมาเป็นนักการเมือง จะยากดีมีจนอะไรไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าคุณต้องเสียสละนะ การเป็นนักการเมืองไม่ใช่อาชีพที่จะมาตักตวงผลประโยชน์ คุณต้องเสียสละ ถ้าคุณไม่เสียสละคุณอย่ามาเป็นนักการเมือง และผมก็ได้ทำให้ดูแล้ว ตั้งหลายปีต่อเนื่องกันมา ในตอนนั้น ตอนที่ผมเป็นหัวหน้าพรรค ตอนที่ผมตั้งพรรค

กลับมาถึงปัญหาที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์จะตั้งสภาปฏิรูปฯ โดยมี 7 หัวข้อ ว่านี่ล่ะ มันจะนำไปสู่ 7 หัวข้อนี้ ถ้าทำอย่างน้อยทำอย่างที่ผมเรียนเสนอแนะว่า รัฐบาลและพรรครัฐบาลเป็นคนก่อเหตุขึ้นมา ที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ก็ลดเรื่องนั้นลงเสีย เลิกทำเสีย เลิกแก้รัฐธรรมนูญ เลิกที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม เลิกที่จะกู้ 3.5 แสนล้าน เลิกที่จะกู้ 2 ล้านล้านบาท ถ้าทำอย่างนี้ทั้งหมด ความขัดแย้งมันจะลดอย่างเห็นได้ชัด และเร็วมากเลย ไม่ต้องมาทำให้ท่านบรรหารต้องเดือดร้อนในการเป็นผู้ประสานงาน และผมก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรท่านจะทำสำเร็จ ท่านลองทำสิครับ บอกนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ลองทำอย่างที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเขาเสนอ คุณทำพวกนี้คุณได้เลย เพราะว่ามีเสียงข้างมากในสภา บอกสภาซะ บอกพรรคซะ พรรคเพื่อไทยของตัวเอง ก็จบแค่นั้นเอง ง่ายมากเลย ผมเลยต้องเรียนเสริมว่า ปัญหาอยู่ที่นักการเมือง ถ้านักการเมืองไม่เสียสละ บ้านเมืองก็ต้องเป็นอย่างนี้ และที่จะทำให้เกิดสภาปฏิรูปน่ะ ไม่ต้องไปทำหรอก เสียเวล่ำเวลา แก้ที่ต้นเหตุนี่ล่ะ ใครก่อเหตุ ก็แก้ตรงนั้น ง่าย

สนธิ - ผมกลัวว่าพี่บรรหารเสนอข้อดีๆ ไปแล้ว เขาไม่ทำตามหรอก เหมือนกับว่าผมไม่กล้าถามว่า พี่ขออนุญาตทักษิณ ชินวัตร หรือยัง ในข้อเท็จจริงเขาก็ยังบริหารงานอยู่เบื้องหลังทุกอย่าง ทุกอย่าง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ทีนี้ผมก็ติดใจ พี่บอก พี่ 82 ผม 66 ผมอ่อนกว่าพี่ 16 ปี แต่ผมแก่กว่าพี่หวัด พี่หวัดแกไม่เคยแก่ แกหนุ่มตลอดเวลา คือถ้าพี่เอาอายุขึ้นมาตั้ง แล้วพี่บอกว่าอีกไม่กี่ปีก็จะตายแล้ว ผมอยากให้พี่บรรหารทำอะไรสักอย่างให้มันลือลั่นก่อนตายซะหน่อย อะไรก็ได้ ที่พิสูจน์ว่าพี่บรรหารไม่ได้เป็นเครื่องมือทักษิณ ชินวัตร พี่บรรหารต้องการจะปฏิรูปการเมืองนี้ด้วยความจริงใจ ด้วยความจริงใจ และถ้าทำไปแล้วเขาไม่ตอบสนอง พี่บรรหารต้องแสดงจุดยืนของพี่ ไม่ใช่ว่า ... คือชีวิตพี่บรรหารเล่นการเมืองมา ยกเว้นครั้งเดียวที่พี่บอกว่า พี่เป็นฝ่ายค้านแล้วอดอยากปากแห้ง

บรรหาร - ไม่ได้พูดนะ

สนธิ - หนังสือพิมพ์มันลงครับพี่ เอาๆ ผมขอโทษ เอาเป็นว่าพี่เป็นนักการเมืองมาตลอด พี่เป็นฝ่ายรัฐบาลตลอดชีวิต พี่ร่วมตลอด ด้วยเหตุผล ด้วยชุดภาษาของพี่ ว่าอย่างน้อยเข้าไปก็ยังได้ทำอะไร ผมอยากขอพี่บรรหารว่า ถ้าพี่บรรหารจริงใจต่อการปฏิรูปจริงๆ ถ้าพี่เสนอไปแล้ว แล้วเขาไม่ทำตาม แล้วพี่ก็บอกว่าพี่อายุมากแล้ว ทุกอย่างมันอนิจจังพี่บรรหาร พวกเราเนี่ย ผมอาจจะตายก่อนพี่ก็ได้ ไม่เป็นไร แต่ว่าทุกอย่างมันอนิจจัง และมันเป็นไปตามกรรม พี่กับผมเหมือนพระอาทิตย์ตกดินแล้ว ผมอยากให้พี่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนให้ทุกคนเห็น ให้คนรุ่นหลังเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ที่เขาสนใจการเมือง ที่เขาไม่ได้มองพี่ในแง่ดี ให้เห็นว่าที่คุณมองผมมาในอดีตน่ะ ผิดหมด วันนี้ผมขอพิสูจน์ให้คุณดู ว่าช่วงสุดท้ายของชีวิตผม ผมจะสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อชาติ ประชาชน

จำลอง - ที่บอกว่าแสดงจุดยืน ไม่ถึงขนาดต้องไปกินไปนอนในถนนนะครับ

สนธิ - ไม่ต้องๆๆ หรอกครับ

จำลอง - สักวันก็ไม่ต้องครับ ไม่ต้องถึงขนาดนั้นเลย

บรรหาร - หมดแล้วใช่มั้ยครับ

สนธิ - หมดแล้วครับพี่

บรรหาร - สิ่งแรกที่อยากจะกล่าวด้วยความจริงใจว่า เรื่องที่ผมจะเป็นเครื่องมือรัฐบาล ไม่มีอย่างแน่นอน เรื่องที่ 1 คงจำได้ ตอนผมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 211 ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไข รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็มี ส.ส.ร.ด้วยกัน พยายามทำอย่างเต็มที่ ขนาดผมเองลงไปที่สภาผู้แทนฯ วุฒิสภา ไปหลายๆ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย จนกระทั่งสำเร็จออกมาเป็นรัฐธรรมนูญ 40 มี ส.ส.ร.ตอนนั้น แต่น่าเสียดาย ถูกยุบโดยคณะปฏิวัติไปแล้ว ก็เลยไม่รู้จะทำยังไง นี่คือความจริงใจที่ทำตอนนั้น ตอนนั้นผมเป็นนายกฯ ผมถูกโจมตีมาก แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะบางทีตัวเราเองก็มีข้อบกพร่องที่ให้เขาโจมตีได้ เพราะฉะนั้นอยากจะเรียนว่า ที่ผมทำอย่างนี้ ไม่ได้เป็นเครื่องมือ ทำด้วยความจริงใจ ส่วนจะสำเร็จแค่ไหนนั้น ต้องดูอีกทีหนึ่ง คือผมอยากจะบอกว่า อย่างเช่นรัฐบาลเริ่มต้นทางมาตรงนี้ กลางทางและปลายทางล่ะ ตอนที่ผมเริ่ม ผมยังตอบไม่ได้ว่า เมื่อปลายทางจะทำยังไง เสนอไปรัฐบาลจะทำหรือไม่ทำ ตรงนี้ที่เป็นคำถาม ก็ต้องว่ากันอีกที ผมยังไม่รู้คำตอบ แต่ตอนนี้เมื่อมีโอกาสก็ทำ ทำเท่าที่จะทำได้ แต่ไม่ได้คิดว่าครึ่งปี ปี หรือสองปี เสร็จ มันอาจจะ 5 ปี 10 ปีเสร็จก็ได้ แต่ให้เป็นรากฐานขึ้นมาว่าเราได้ทำแล้ว ใน 7 ข้อที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์พูด

ทีนี้ผมอยากจะเรียนว่า ผมไม่แก้ตัวแทนท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์นะ บางอย่างมีคนพูดกับผมว่า ท่านก็ไม่เชื่อพี่ชายเหมือนกัน นี่เป็นข้อเท็จจริง ไม่เชื่อ บางอย่างพี่ชายเสนอแนะอะไรมา ท่านก็ไม่เชื่อ ท่านจะทำในความคิดของท่านเอง อันนี้มีคนมายืนยันกับผมได้เหมือนกัน ในที่ประชุม ครม.นะ ทีนี้ 7 ข้อที่มี ที่ผมไล่เรียงมา ผมเห็นเจตนาแกดี แกให้ผมดู ท่านบรรหาร 7 ข้อนี้หนูจะออกอย่างนี้ได้มั้ย แต่ผมเข้าใจว่าไม่ได้มาจากโค้ดจากต่างประเทศหรอก แกเขียนของแกเองขึ้นมาทั้งหมดที่มีอยู่ ถ้า 7 ข้อทำได้ มันก็ดีขึ้น เรื่องนี้อยากจะเรียนให้ทราบ

7 ข้อนี้อยากจะบอกว่า ความเป็นธรรมในสังคมบางทีมันไม่มี เหมือนอย่างผม ผมถูกยุบ พรรคถูกยุบทั้งที่ไม่ผิด ยกตัวอย่างนะ มัน 2 มารตรฐานมั้ย ผมไม่ได้ทำผิด พรรคไม่ได้ทำผิด แต่ถูกทั้งหมดลูกเด็กเล็กแดงไปหมด 5 ปี อย่างนี้มันมองเห็น 2 มาตรฐาน บางทีขึ้นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ พอผมขึ้นไปให้การ แทนที่การเขียนคำพิพากษาต้องอีก 2 วัน ถูกมั้ยท่านจำลอง ถึงจะอ่าน รอก่อนๆ อย่าเพิ่งไป เดี๋ยวจะอ่านคำพิพากษาเลย อย่างนี้ เขียนมาก่อน นี่คือข้อเท็จจริงที่ผมเองก็เจ็บช้ำในใจว่า ผมยังถูกรังแก ด้วยบางอย่าง อำนาจที่มันไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม นี่อยากเรียนให้ทราบ บางอย่างผมก็เรียนคุณสนธิบางอย่างตอบได้ บางอย่างก็ตอบไม่ได้

ทีนี้เราก็พูดกันว่า ทำไมนายกฯ ทักษิณไม่มาเข้าเมืองไทย ผมอยากจะเอาคำที่เคยคุยกันมา ผมคุยกับทุกคนนะ ผมบอก ท่านไม่ได้รับความเป็นธรรม การที่ตัดสิน ท่านไม่ได้ทำความผิด เหมือนอย่างบุคคลธรรมดาทั่วไป โอนที่ เซ็นชื่อให้กับภรรยาด้วยกัน เสร็จแล้วต้องถูกตัดสินจำคุก นี่เป็นคำพูดที่ท่านพูดออกมานะ เมื่อท่านไม่ได้รับความเป็นธรรม ท่านก็เลยไม่ยอมเข้ามา ปัญหาอยู่ตรงนี้ แต่นี่อีกเรื่องหนึ่ง ผมตอบได้เพียงแค่นี้ว่าทำไมท่านไม่เข้ามา เพราะท่านไม่ได้รับความเป็นธรรม นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง ฉะนั้นผมอยากจะบอกว่า (หันไปถามสวัสดิ์) มีกี่ข้อ หลายข้อจัง ผมจำไม่ได้

สนธิ - ผมถามว่า พี่คิดว่าทักษิณ ชินวัตร ควรจะกลับมาติดคุกมั้ย พี่บอกว่า เขาไม่กลับเพราะเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม

บรรหาร - เท่าที่ตรวจสอบนะ

สนธิ - แต่พี่ก็ยังไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริง ข้อที่ 2 ผมถามว่า แล้วถ้าสภาจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมกับทักษิณ ชินวัตร พี่เห็นด้วยมั้ย

บรรหาร - ถึงตอนนั้น คงยังตอบไม่ได้ แต่คิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ และผมว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมแน่นอน ไม่ออกแน่นอน

สนธิ - ถ้าเขาผลักดันขึ้นมาตามที่ทักษิณเขาคุมสภาเขา ไม่ว่าจะคุณสมศักดิ์ ไม่ว่าจะประธานฯ นิคม ถึงตรงนั้น จุดยืนพี่จะอยู่ตรงไหน

บรรหาร - กฎหมายนิรโทษกรรมมันไม่มีไม่ใช่เหรอ

สนธิ - ไม่ ถ้าคุมไปถึงทักษิณ ชินวัตร

จำลอง - ท่านบรรหารคงทราบนะครับ เวลาเสนอกฎหมายเข้าสภา มันมีการแปรญัตติ ซึ่งอาจจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากข้อเสนอ ข้อเสนอตอนแรกน่ะ อาจจะไม่มี แต่ว่าไปแปรญัตติกันในสภาแล้วออกมา

บรรหาร - ไม่มีเด็ดขาด ถ้ามีผมก็ไม่เอา

สนธิ - พี่ไม่เอาใช่มั้ย ถ้าแปรฯ เพื่อนิรโทษฯ ทักษิณ

บรรหาร - กฎหมายนิรโทษกรรมอันนี้ ถ้าไปแปรญัตติโยงไปถึงท่านทักษิณด้วย ผมถามแล้วมีมั้ย รัฐบาลตอบว่าไม่มี

จำลอง - ถ้าโยงไปถึงคนเผาบ้านเผาเมือง โยงไปถึงคนที่ฆ่าประชาชน ฆ่าทหาร ฆ่า พล.อ.ร่มเกล้า

สนธิ - เอาเฉพาะทักษิณก่อน เพราะเป็นคำถามที่ผมถาม

บรรหาร - ไม่มีครับ ผมถามแล้วไม่มี ผมยืนยันว่ามันไม่มี บอกแล้วมีผมก็ไม่เอา ตอนนั้น

สนธิ - และถ้ามีการพยายามจะทำอะไรที่จะให้ทักษิณพ้นผิด พี่ก็ไม่เอาด้วยใช่มั้ย

บรรหาร - พ้นผิดเกี่ยวกับเรื่องกรณีอะไร

สนธิ - กรณีที่เขาโดนพิพากษาจำคุก

บรรหาร - คำถามนี้ตอบยากนะ

สนธิ - ตอบยาก พี่ยังไม่ตอบก็ได้ ไม่เป็นไร

บรรหาร - ขอยังไม่ตอบนะ

สนธิ - ได้ ไม่เป็นไร เรื่องเล็ก

บรรหาร - เพราะอันนี้มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ผมต้องไปดูเหตุการณ์อีกที ขอโทษ อันนี้ตอบไม่ได้

สนธิ - ไม่เป็นไรพี่ ไม่เป็นไร สำหรับผมแล้วมันไม่ละเอียดอ่อนเลย มันเป็นเรื่องดำกับขาว เท่านั้นเองครับ

จำลอง - ผมแทรกนิดหนึ่งนะครับ ที่ท่านบรรหารบอกว่า ทักษิณเขาบอกว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ไปเชื่อทักษิณไม่ได้นะครับ

สนธิ - เขาผิดกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 100

จำลอง - ผมยกตัวอย่าง ตอนนั้นเขามาบอกผม บอกว่าเขาฐานะดีมาก กี่ชาติก็ไม่หมด เขาอยากจะเป็นนักการเมือง เพื่อมาทำงานให้กับบ้านเมือง ผมก็บอกเขา ตอนนั้นผมยังเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ ผมเห็นใจเขา ผมบอก คุณไปตั้งพรรคใหม่เองเถอะ คุณจะได้ทำตามที่คุณตั้งใจไว้ ไม่ต้องทำตามกฎเกณฑ์ของพรรคเก่า เขาหายไปพักแล้วเขาก็มาบอกผมว่า เขาทำไม่ได้ เขาตั้งไม่ได้ ผมก็เลยบอกเขา ชวนมาเข้าพรรคเดียวกัน เขาก็บอกว่า เขาไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร เขาร่ำรวยแล้ว แล้วต่อมาตอนหลังเขาโลภไง เห็นมั้ยครับ ฟังเขาได้ที่ไหนล่ะ เขาโลภ เขาเสียเพราะโลภ ถ้าเขาไม่โลภเสียอย่าง วันนี้ ป่านนี้สบายเลยนะ

บรรหาร - พี่จำลองเคยเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรมไม่ใช่เหรอ

จำลอง - ใช่ครับ ทีแรกผมบอกเขา คุณไปตั้งพรรคใหม่เลย จะได้ทำตามที่คุณคิด ต่อมาเขาบอก พี่ ผมตั้งไม่ได้ เอ้า เรากำลังที่จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีเมื่อครบ 2 ปี ในการร่วมรัฐบาลแล้ว ผมก็บอกเขา ถ้างั้นคุณเอาตามนี้นะ ผมจะเสนอคุณเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศนะ เขาก็ยืนยันว่าเขาจะทำเพื่อชาติ เพื่อบ้านเพื่อเมือง ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและหมู่คณะ แต่แล้วตอนหลังเขาเปลี่ยนไป ถ้าเขาไม่เปลี่ยนซะอย่าง วันนี้สบายมากเลยนะ วันนี้จะดีมากเลย อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นฟังเขาไม่ได้นะ ฟังคุณทักษิณไม่ได้ เพราะผมฟังแล้ว และผมพิสูจน์แล้ว ว่าเขาพูดไม่จริง

สนธิ - คำถามข้อที่ 3 ที่ผมถาม ผมบอกว่า ประเทศไทยมันใช้ระบบการเมืองแบบนี้ มันใช้ได้หรือเปล่า ที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ตั้งแต่ ผบ.ตำรวจคนนี้ อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทุกคน ยกเว้น พล.ต.อ.เอก เอกอังสนานนท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหลายคน ผู้บัญชาการภาค ทุกภาค ได้ตำแหน่ง ต้องบินไปหาทักษิณถึงได้ตำแหน่ง รวมไปจนถึงทหารบางคน ซึ่งมียศเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก รองผู้บัญชาการทหารรบกบางคน ส่วนใหญ่ต้องบินไปขอตำแหน่ง หรือคนที่คิดว่าจะได้เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ แม่ทัพเรือ แล้วก็ไม่ได้ แล้วก็บินไป แล้วข่าวมันก็ออกมา ยังไม่นับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีกหลายคน ผมถามว่า การเมืองในข้อเท็จจริงแบบนี้ มันไม่ใช่การเมืองที่เราต้องการจะเห็นใช่มั้ย แล้วพี่คิดยังไงกับเรื่องนี้

บรรหาร - ไอ้เรื่องที่เดินทางไป ผมก็ไม่ทราบนะ เดินทางไปเรื่องอะไร มีแต่ข่าวหนังสือพิมพ์บอกว่าเดินทางไปขอตำหน่งตำแหน่ง

สนธิ - มีฮะ ไป มีตำรวจที่ไปด้วย ยืนยันเลย ว่าไปเพื่อนั่งคุยกัน คนนั้นเอา เป็นโน่นนี่นั่น

บรรหาร - เขาไปเยี่ยมเยียนกันหรือเปล่า

จำลอง - ที่เห็นเด่นชัดออกมาเป็นภาพก็คือ ไปให้เขาติดยศ ท่านเชื่อมั้ย มันต้องชัดนะ

สนธิ - พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง

จำลอง - ไปให้เขาติดยศ อันนี้ต้องชัดมาก ต้องจริงแล้วล่ะ ไม่ใช่โกหกหรอก

สนธิ - นี่โดยฐานะที่เป็นการเมือง ที่จะต้องยึดหลักนิติรัฐและความถูกต้อง การที่ให้นักโทษคนหนึ่ง จะรักกันแค่ไหนก็ตาม ติดยศ แล้วเอามาลงภาพให้เห็น ยศพลตำรวจโท เป็นยศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนะครับ แต่พี่ไม่ตอบก็ไม่เป็นไร เรื่องนี้ ไม่เป็นไรพี่ ผ่านไปได้ เพราะว่าพี่ก็จะตอบบอกว่า ไม่รู้ จริงหรือเปล่า ไป หรือไม่ไป พี่ก็ไม่รู้

บรรหาร - เขาอาจจะอาศัยความรู้จักชอบพอกัน กันเองอะไรต่างๆ ผมเองก็ติดยศให้คนเยอะแยะเหมือนกัน

สนธิ - ไม่เหมือนกันสิ แต่พี่ไม่ได้ติดคุกนี่ครับ และพี่ไม่ได้หนีโทษนี่ครับ ถูกมั้ยล่ะครับ มันต่างกัน

จำลอง - ตำรวจมีหน้าที่โดยตรงในการที่จะขจัดคนพาล ที่จะเอาเรื่องกับคนพาล

สนธิ - ข้อที่ 4 ก็คือ ผมถามว่า จริงๆ แล้วพี่คิดว่าทักษิณ ชินวัตร อยู่เบื้องหลังการสั่งการของยิ่งลัษณ์ ชินวัตร หรือเปล่า พี่ก็ตอบไปแล้ว ยิ่งลักษณ์เป็นตัวของเขาเอง บางทีเขาก็ไม่ฟังพี่ชายเขา ก็แสดงว่าเคยฟังพี่ชาย ใช่มั้ย

บรรหาร - อันนี้ผมตอบได้ครับ เขาอาจเสนอแนะในฐานะเป็นน้องสาว เพราะน้องสาวไม่เคยอยู่การเมือง เมื่อมาอยู่การเมืองแรกๆ ก็คงเสนอแนะว่าอันนี้ควรจะเป็นอย่างนี้ ผมว่าคนเราบางทีเสนอแนะกันได้ ควรทำ ไม่ควรทำ แต่จะทำหรือไม่ทำอยู่ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ถ้าเห็นว่าทางพี่ชายเสนอมา ดี / ไม่ดี ถ้าไม่ดีท่านก็ไม่ทำ อันนี้เป็นการเสนอแนะ ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นไปได้ อันนี้น่าจะต้องยอม ข้อนี้ อย่างผมเองก็แนะนำไปตั้งหลายคนเหมือนกัน แนะนำน่าจะเป็นไปได้นะ แต่ว่าอยู่ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ว่าท่านจะทำหรือเปล่า อย่างที่ผมบอกว่าบางอย่างท่านก็ไม่ทำ มีคนพูดมาเหมือนกันในที่ประชุม ครม. ว่าบางอย่างท่านก็ไม่ทำ

สนธิ - อันนี้คือสิ่งที่พี่คิด

บรรหาร - ไม่คิด คือข้อเท็จจริง

สนธิ - ผมเองคิดว่าจริง ที่ทักษิณอยู่เบื้องหลังยิ่งลักษณ์ เอาเป็นว่าพี่กับผมคิดไม่เหมือนกัน เรายอมรับความเห็นต่างกันใช่ครับ

บรรหาร - ก็ความเห็นอาจจะแตกต่างกันก็ได้ ผมคิดว่าการเสนอแนะนำอาจจะเป็นสิ่งที่เราคนไทยทุกคนก็น่าจะแนะนำกันได้

จำลอง - แล้วคำนี้จริงมั้ยครับ "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" แล้วยิ่งลักษณ์ เพื่อไทยหรือเปล่า

บรรหาร - อันนี้มันเป็นคำพูดที่มัน...

จำลอง - ไม่ใช่คำพูด เขาออกโฆษณาเลยตอนหาเสียง ตัวโตเบ้อเริ่มเลย ทั่วบ้านทั่วเมือง

สนธิ - พี่เป็นนายกฯ มาก่อน พี่ต้องรู้สถานภาพการเมืองบ้านเรา พี่หวัดเป็นนักธุรกิจ พี่ต้องรู้ว่าเมื่อใดก็ตามที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ประกาศออกมาชัดเจนบอกว่า จะไม่สำรองเงินจำนำข้าวให้รัฐบาลอีกต่อไปแล้ว ถ้ารัฐบาลจะให้จำนำข้าว ให้เอาเงินมา แปลว่าไม่มีตังค์แล้ว แปลว่านโยบายจำนำข้าววันนี้ ในข้อเท็จจริง พี่อาจจะไม่เห็นด้วยกับผม แต่ผมยืนยันได้ว่าวันนี้ข้าวที่อยู่ในสต๊อก มีอยู่ 20 ล้านตัน

จำลอง - ท่านบรรหารรู้เรื่องนี้ดีครับ เพราะเพิ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าว ซึ่งท่านก็เป็นกรรมการคนหนึ่ง ผมเป็นกรรมการและเลขานุการ ป๋า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว ตอนนั้นใช้คำย่อว่า กนข. ท่านรู้ดี

บรรหาร - ผมอยู่เกษตร

จำลอง - ใช่ครับ ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ

สนธิ - ก็ไม่เป็นไรครับ คำถามสุดท้าย อันนี้พี่บรรหารคงจะตอบได้เยอะ ผมถามว่า พี่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ในฐานะเป็นนักการเมืองด้วยหรือเปล่า เพราะผมถือว่าการเมืองเมืองไทย บ้านเมืองไทยทุกวันนี้ที่เป็นอย่างนี้ไป เพราะนักการเมืองเมืองไทย

บรรหาร - ผมยืนยันได้ครับ ผมเองไม่พยายามที่จะเป็นปัญหากับใครเลย ใครมีปัญหากับผม ผมก็ไม่มีปัญหาตอบ ใครโกรธผม ผมก็ไม่โกรธตอบ นี่ผมเรียนตรงๆ

สนธิ - ยกเว้นชูวิทย์หรือเปล่า

บรรหาร - ผมก็ไม่โกรธ ชูวิทย์ผมก็ไม่โกรธครับ เพราะว่าเราก็เป็นเพื่อนกัน

สนธิ - โอเคครับ

บรรหาร - เมื่อเขาก็เคยอยู่ในพรรคชาติไทย ผมก็อภัยให้

จำลอง - เรื่องนี้สังเกตมาโดยตลอด ไม่เคียดแค้น ไม่ชิงชัง

สนธิ - เรื่องนี้จริง

บรรหาร - คือการเป็นนักการเมือง 40 ปี ผมเรียนท่านจำลอง ผมถูกมาหนักที่สุดเลย สมัยป๋าอยู่ ผมก็ถูก ถูกคนเดียว หนักที่สุดทุกรัฐบาล มันชินซะแล้ว

สนธิ - คำว่าปัญหาของผม ผมไม่ได้หมายความว่าพี่ไปทะเลาะกับคนโน้นคนนี้ ไม่ใช่ พี่เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในระบบนี้มาตั้งนาน แล้วไม่คิดที่จะเปลี่ยนมันตลอดเวลา หรือเปล่า นี่คือสิ่งที่ผมถาม ผมไม่ได้หมายความว่าพี่จะไปทะเลาะกับคนโน้นคนนี้ พี่ไม่ทะเลาะกับใครอยู่แล้ว

บรรหาร - ผม เป็นพรรคการเมือง พรรคการเมืองตั้งมาต้องอยู่ได้ ไม่ใช่ล่มสลาย หรือสลายไปโดยที่ไปอยู่กับใครๆ พรรคพยายามที่ถูกดึงไปอยู่ที่อื่นตลอดเวลา แต่ผมไม่ยอม ยืนยันคำเดียวว่า พรรคชาติไทย จนกระทั่งถูกยุบพรรค ผมก็ไม่ยอม มีบางคนบอกให้เลิกแล้ว ผมก็ไม่ยอม ผมถึงไปตั้งพรรคชาติไทยพัฒนา แล้วถ้าถูกยุบอีก ก็ตั้งพรรคชาติไทยก้าวหน้า นี่คือยืนหยัดคงอยู่

จำลอง - เตรียมไว้แล้วใช่มั้ยครับ

บรรหาร - เตรียมไว้แล้ว เตรียมตั้งชื่อไว้แล้ว นี่คือสิ่งที่เป็นความจริงใจของผม ว่าผมเองเมื่ออยู่การเมืองแล้วก็ต้องพยายามทำทุกอย่าง เมื่อรับปากกับประชาชนแล้ว ก็ต้องทำให้ได้ จริงอยู่ ผมเคยเป็นฝ่ายค้าน ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลด้วยกัน อาจจะเป็นรัฐบาลมากหน่อย แต่ว่าการที่เป็น ผมใช้วิธีอะลุ่มอะล่วย มีอะไรที่จะผ่อนสั้นผ่อนยาวกันได้ พูดจากันได้ รอมชอมกันได้ นี่เป็นสิ่งที่ผมทำมาตลอด ท่านจำลองรู้ดีว่าผมตอนอยู่กับท่าน ผมก็พยายาม compromise ทุกอย่างที่มีอยู่ หนักเบา อะไรต่างๆ ทั้งหมดที่มีอยู่ นี่คือความจริงใจของผม ผมบอกแล้ว ผมไม่แน่ อีกไม่กี่ปีผมอาจจะไป ไม่แน่ผมอาจจะอยู่ถึง 100 ปีก็ได้ วันนี้มาพบพี่สนธิ ผมอาจอยู่ถึง 100 ปีก็ได้ มาฟังคำแนะนำอย่างนี้

จำลอง - แต่ก็เกินปีตายมาเยอะแล้วนะครับ คืออายุเฉลี่ยของผู้ชายไทย จากข้อมูลหนึ่ง คือ 66 ปีครึ่ง ท่านเกินมาหลายปีแล้วนะ

บรรหาร - ยังแข็งแรงอยู่นะครับ

จำลอง - ใช่ครับ

บรรหาร - คือจะบอกอย่างนี้ว่า ผมมีความจริงใจ ส่วนจะสำเร็จแค่ไหน ยังตอบไม่ได้ ต้องดูเหตุการณ์ต่อไป เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็ส่งข้อมูลไปที่รัฐบาล ส่วนรัฐบาลจะทำหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง ค่อยว่ากันต่อไปในอนาคต แต่ผมต้องการอยากเดินไปข้างหน้า เดินไปสะดุดอะไรก็พยายามแก้ไข

สนธิ - แล้วถ้าเขาไม่ทำล่ะครับ

บรรหาร - ก็ต้องว่ากันอีกทีสิครับ

สนธิ - อ้าว พี่คิดยังไงล่ะ พี่จะรอให้ถึงวันนั้นแล้ว

บรรหาร - ผมต้องดูข้อมูลก่อน ข้อมูลมันมีอะไรบ้าง เหตุการณ์การเมืองมันต้องดูตรงนี้เสียก่อน ถึงตอนนั้นอาจจะ 5 ปีก็ได้ 5 ปี รัฐบาลใครก็ตอบไม่ได้ แต่เมื่อได้เริ่มแล้วก็อยากให้เริ่มกันต่อไป มันจะได้ครึ่งทางก็ครึ่งทาง มันจะได้สัก 10 เปอร์เซ็นต์ ก็ 10 เปอร์เซ็นต์ อย่างนายกฯ ยิ่งลักษณ์บอกได้ 1 เปอร์เซ็นต์ ผมว่าตอนนี้ได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์แล้ว ผมเดินสาย เดี๋ยวบ่ายผมก็ไปพบหมอประเวศ อย่างที่ผมแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 40 มาจากหมอประเวศ ท่านแนะนำผม ไปหาท่าน ท่านบอกไปแก้ 211 ซะ เอาภาคประชาชน ผมก็เติมให้ท่าน นี่คือเรียนข้อเท็จจริง

จำลอง - วันนี้ท่านให้เกียรติมากนะ ถึงแม้เราสองคนจะไม่ได้เป็นแกนนำแล้วก็ตาม ยังอุตส่าห์มาพบเรา

บรรหาร - ที่มาวันนี้ ผมไม่กล้าเชิญเข้าไปสภาปฏิรูปฯ หรอก ผมรู้ท่านก็ไม่ไป แต่ผมอาจจะเอาอีกสภาหนึ่งมาคุยด้วยกัน

จำลอง - มีแผนต่อไปนะ ไม่ใช่มาครั้งนี้ครั้งเดียวนะ

บรรหาร - มาอีกๆ

สนธิ - เป็นสภาอะไร

บรรหาร - ค่อยมาว่ากันอีกที มาครั้งนี้ ไม่ได้มาครั้งเดียวนะ มาครั้งหน้าจะมาขอทานข้าวด้วย

สนธิ - ได้ครับ ผมบอกนักข่าวแล้วว่า เดี๋ยวพอเราคุยจบ จะเปิดโอกาสให้เขาถาม ประมาณสักไม่เกิน 5 นาที พี่เรียบร้อยหรือยัง

จำลอง - วันนี้เป็นการมาพบกันอย่างชนิดที่ตรงไปตรงมา เปิดเผยหมด ใครอยากจะมาถ่ายทำ ใครอยากจะมาทำข่าว

บรรหาร - ตรงกัน มีหลายฝ่ายพูด คือท่านเสนอว่า รัฐบาลไม่ควรจะสร้างข้อขัดแย้ง 1. ไม่ควรเสนอนิรโทษกรรม รัฐธรรมนูญอะไรต่างๆ เป็นต้น อันนี้คือหลักที่สำคัญ

สนธิ - และรัฐบาลไม่ควรจะใช้อำนาจรัฐไปรังแกคน ไม่ควรจะใช้คุณธาริต เพ็งดิษฐ์ รับงานไปกลั่นแกล้งพรรคฝ่ายตรงข้าม

จำลอง - ท่านมีโอกาส ท่านก็เสนอบ้าง

บรรหาร - แน่นอนครับ

สวัสดิ์ - ขอสิทธิพาดพิงนะครับ เพราะว่าคุณสนธิพาดพิงผมไปหลายครั้ง ที่จริงแล้ว วันนี้เป็นเรื่องที่น่าเกลียดมากสำหรับประเทศเรา คุณสนธิ กับผม เราก็เป็นเพื่อนกัน แม้กระทั่งคุณทักษิณเอง หลายๆ คน แต่ว่าความที่เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน และมาถึงเราเจอการเมืองในลักษณะนี้ คุณสนธิก็ไปทำหน้าที่ของเขา ที่ทำอยู่ อย่างพี่ลอง ผมรู้จักท่านตั้งแต่ท่านยังรับราชการ พี่ลองคงจำได้ เราทานข้าวด้วยกัน ตอนนั้นผมเป็นนายกสมาคมเหล็ก ท่านบอกว่า ที่ตาพระยา ทหารไม่มีผ้าพลาสติกคลุม ไม่มีอะไรต่ออะไร ผมก็จัดการไถเพื่อนในสมาคมก็เอาไปแจกกันที่นั่น พร้อมกับหนังสือเพนท์เฮาส์ กับเพลย์บอย แจกทุกบังเกอร์เลย สาเหตุที่ผมอยู่พรรคชาติไทยก็คือว่า ผมมีความผูกพันกอยู่กับน้าชาติ และผมไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆ ทางการเมือง ถ้าเป็นรัฐมนตรีน่ะ ท่านบรรหารให้ผมเป็น 2 ครั้งแล้ว ผมไม่เป็น วันนี้ผมกลัวที่สุดว่า ลูกหลานของเราจะอยู่ยังไง เออีซี ไม่ต้องมีเออีซี วันนี้เท้าติดพื้นปั๊บ ติดเลย คือปัญหาคอร์รัปชัน เหลือเชื่อว่าเด็ก บางครั้ง เราเป็นผู้ใหญ่ ณ วันนี้มองว่าเด็กไทยทำไมวันนี้สู้เขาไม่ได้ สู้เขาได้ครับ ความรู้ก็มี พ่อแม่ก็พอจะซัปพอร์ตได้ แต่ว่าพอเท้าติดพื้นปั๊บ ไปไหนไม่ได้เลย เมื่อก่อนบางส่วนราชการที่ไปติดต่อ เมื่อก่อนเขาแนะนำอย่างนั้นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ไม่มี วันนี้ผมพูดและยืนยัน คำพูดของผมเมื่อ 10 กว่า 20 ปี ถ้าวันไหนระบบราชการถูกการเมืองทำลายเมื่อไร ประเทศไทยก็ถึงวาระล่มจม เพราะว่านักการเมืองก้าวเข้าไปอยู่ในกระทรวงนี้ 4 ปี ก็ออกไปตามวาระ แต่ว่า Human Resources กับ Data base มันอยู่ที่นั่น แต่วันนี้มันไม่ใช่แล้ว Seniority ทุกกรม กอง กระทรวง มันหายหมด เพราะงั้นผมไม่ได้พูดในฐานะนักการเมืองนะ ผมพูดในฐานะนักธุรกิจ นักลงทุน ผมเป็นห่วงมากๆ วันนี้ ว่าต่อไปนี้ เวลานี้เรามีเออีซี ที่จริงแล้ว ย่านนี้ผูกพันกันมานานแล้ว เพียงแต่ว่าตอนนี้มีชื่อขึ้นมา
วันนี้ผมจะฝากรัฐบาล อีก 5 ปีข้างหน้า พวกเราจะสู้คนทั้งโลกได้มั้ย เพราะ Fully Effective ของ WTO ก็ ภาษีขาเข้า 0 เปอร์เซ็นต์ maximum 5 เปอร์เซ็นต์ เพราะงั้นเป็นเรื่องที่่น่ากลัว ผมถึงบอกว่า วันนี้ผู้ใหญ่อย่างพี่บรรหาร พี่ลอง คุณสนธิ ยังอยู่ เราทะเลาะกัน ทำลาย benefit to the country มันไม่มีเรื่องหรอกครับ แต่วันนี้ที่ทะเลาะกัน ทุกคนมี hidden agenda มาทำลาย มันถึงนั่งคุยกันไม่ได้ เพราะงั้นวันนี้ผมดีใจนะที่ได้โอกาสได้คุยกัน แต่ความเห็นแลกเปลี่ยนกันแล้วก็ไปหาทางออกว่า ไปหาจุดที่ดีที่สุด ถ้าไม่ได้คุยกันเลย มันก็จบ เพราะฉะนั้น ผมบอกว่า โอเค ผมเองเวลานี้ผมก็กลุ้มใจมากๆ ที่จริงแล้ว ผมอายุ 72 แล้วนะ เดี๋ยวพวกน้องๆ จะเข้าใจผิดคิดว่าผม 42 เพียงแต่ว่า โอเค Old at age, but very young at heart ถ้าหากว่าทุกคน การเมืองเป็นหน้าที่พลเมือง ถ้าวันนี้ประชาชนทุกคนมีความรู้หมด เราจะไม่เกิดปัญหานี้ และผมอยากจะให้สังคมไทยเลิกดัดจริตกันเสียที ผมเคยทะเลาะกับฝรั่ง เขาบอกว่า เวลาเขามาตรวจสอบบัญชีผม เพื่อจะไปออกหุ้นขายตลาดเมืองนอก เขาไปเจอรายจ่ายอย่างนี้ๆๆๆ ผมอธิบายว่า โอเค ในประเทศมึงเขาเรียกว่าค่า Lobby fee แต่สังคมเมืองไทยดัดจริต ไม่มีกฎหมายรองรับ มันก็เลยกลายเป็นคอร์รัปชัน เพราะฉะนั้นประเทศไทยจะต้องเอาทุกอย่าง เอามา on the table อย่างผมจะไปทำอเมริกา ผมจะต้องไปหาสำนักกฎหมายก่อน หาสำนักกฎหมาย ล็อบบี้ให้ผม ว่าผมจะเข้าไปตรงนี้ ถูกมั้ยครับ แต่เมืองไทยมันไม่ใช่ มันควรจะเอามาไว้บนโต๊ะ เพราะงั้นคอร์รัปชันจะหายไปเยอะเลย on the table เพราะงั้นในอเมริกา คนที่ทำรายได้ดีที่สุดอาชีพหนึ่งก็คือนักล็อบบี้ นักบัญชี นักกฎหมาย เพราะฉะนั้นผมฝากไว้นะ

แล้วอีกอย่างหนึ่ง บริจาคพรรค เราจะดัดจริตไปถึงไหนครับ ว่าบริจาคต่ำ 20,000 สูงไม่เกินแค่นี้ล้าน ทำไมไม่ออกกฎหมายเท่าไรก็ได้ กี่พันล้านก็ได้ คำถามคือ ที่มาของเงินถูกต้องหรือเปล่า ถ้าวันหนึ่งคุณสนธิ สังคมมันดีขึ้น ทางการเมือง จะเป็นนายกรัฐมนตรี คุณดูสิครับ วันสาบานตนของประธานาธิบดี มันขายโต๊ะกันเท่าไรรู้มั้ยครับ 1 ล้านเหรียญ 2 ล้านเหรียญ เขาซื้อกัน แต่ประธานาธิบดีเขาก็ให้คำมั่นสัญญา ถ้าฉันเป็นจะช่วยอุตสาหกรรมอย่างนี้ๆๆๆ เขาก็ช่วยจริงๆ พอพรรคมีเงินปั๊บ พรรคการเมืองจะไม่ขึ้นอยู่กับใครแล้ว มีเงินแล้ว คนที่มีเจตนาต้องการรับใช้ประเทศ เอาความรู้ความดี ความตั้งใจมา คุณไม่ต้องเอาตังค์มา ถ้าหาเสียง พรรคออก แต่วันนี้เราดัดจริต ถูกมั้ยครับ วันนี้ผมเป็นห่วงเด็กรุ่นหลัง และผมดีใจว่าพี่ลอง คุณสนธิ และพี่บรรหาร ยังอยู่ เราจะต้องว่ากันขาวและดำ ผมไม่ได้พูดในฐานะนักการเมือง ในฐานะนักธุรกิจเลย วันนี้ผมไม่อยากจะออก เพราะวันนี้สื่อเยอะ เวลานี้ยังดีนะ ประเทศไทยยังไม่มีการเลือกผู้ว่าฯ ถ้ามีเลือกผู้ว่าฯ เมื่อไรก็เจ้าพ่อทั้ง 73 จังหวัด

จำลอง - เลือกแล้วที่เดียวคือ กทม.

สวัสดิ์ - อันนีโอเค คนกรุงเทพฯ ก็ยังมี

จำลอง - จริงอย่างท่านว่า ขืนเลือกล่ะแย่เลย เพราะว่าระบบการซื้อเสียงมันแพร่สะพัดกันมาก แล้วในกรุงเทพฯ ไม่ใช่ไม่ซื้อเสียงนะ ซื้อเสียงกันทุกครั้ง

สวัสดิ์ - ทุกครั้งครับ

จำลอง - ที่เราผ่านมาได้ก็เป็นเพราะว่า คนที่เขาเอาใจช่วยเรา มันมีจำนวนมากกว่าคนที่ไปรับเงินเท่านั้นเอง

สวัสดิ์ - ครับ และวันนี้น่ากลัวมากครับ ผมบอกได้เลย และผมพูดไปแล้ว ถ้าหากว่าหัวละ 50 ล้าน คูณ 300 คน หรือ 350 สองหมื่นล้านบาทนี่ผมซื้อประเทศไทยทั้งประเทศไทย 4 ปี 3 เดือน ผมก็เบรก event 2 หมื่นล้าน

จำลอง - แล้วไม่ใช่แค่นั้น ยังสามารถออกกฎหมายล้างผิดใครๆ ได้อีก เวลาเข้ามาในสภาแล้ว

สวัสดิ์ - ครับ ทีนี้ผมอยากจะฝากไว้นักการเมืองทุกคนนะครับ หรือว่าไม่ใช่นักการเมือง ความเห็นที่แตกต่างกันแล้วมาหาทาง จุดเริ่มต้นใหม่ของประเทศไทยเสียที ไม่เช่นนั้น ไม่รอดจริงๆ ผมทำธุรกิจ ผมรู้

จำลอง - เมื่อกี้นี้เอ่ยถึงอเมริกา ผมนึกขึ้นมาได้นะครับ สมัยที่ผมยังหนุ่มๆ ไปเรียนที่อเมริกา อาจารย์ถามทั้งคนอเมริกัน ทั้งคนไทย ที่เรียนอยู่ในชั้นเดียวกัน ถามว่าระบบการเมืองอะไรที่ดีที่สุดในโลก เราก็ตอบเป็นภาษาเดียวกัน ไม่ว่าจะชาวอเมริกัน หรือชาวไทย ว่าประชาธิปไตย อาจารย์คนนั้นบอกไม่ใช่ ระบบที่ดีที่สุดคือ Good and kind King โอ้โห ผมยังนึกอยู่เลย แล้ววันนี้เรากำลังไปหลงกันว่าถ้ามาจากการเลือกตั้งแล้วเป็นประชาธิปไตย แล้วประชาธิปไตยชั้นยอดอย่างนั้นอย่างนี้ ก็บอกว่าไม่ใช่ Good and kind King ต่างหากที่เป็นระบบที่ดีที่สุด

สนธิ - ประชาธิปไตยไม่ได้แปลว่าการเลือกตั้งอย่างเดียว มันมีองค์ประกอบหลายอย่าง เวลาหมดแล้วครับ ให้นักข่าวถามได้ไม่เกิน 5 คำถาม

สมศักดิ์ - ผมขอใช้สิทธิ์พาดพิงด้วยนะครับ คือเมื่อสักครู่นี้ที่พี่จำลอง และท่านสนธิ ได้กรุณาพูดว่า ผมได้พยายามติดต่อมาถึงท่านจำลอง โดย ฯพณฯ บรรหาร ได้ให้กรุณาติดต่อ จริงๆ นะครับ คือท่านบรรหารได้พูดกับผม ได้พูดกับคุณนิกร ซึ่งผมประทับใจมากว่า ไม่มีใครหรอกที่จะรักประเทศไทยมากกว่าคนไทย เพราะฉะนั้นวันนี้ประเทศไทยกำลังถึงทางตีบตัน หาทางออกไม่ได้ ท่านก็บอกว่าเราเดินไปหาคำตอบในการที่จะหาทางออกให้กับประเทศ กลุ่มโน้นกลุ่มนี้ แล้วเราก็มาหยิบประเด็นที่เขาช่วยกันหาทางออก แล้วมารวบรวม ท่านจะเห็นว่าผมกับนิกรจดทุกประเด็น เพื่อที่จะมอบให้ท่าน ในการที่จะนำเสนอต่อไปกับองค์กรที่จะมาทำงานเพื่อหาทางออก ฉะนั้นผมจึงต้องกราบเรียนว่า ด้วยเจตนาที่สุจริตของท่านหัวหน้า คิดตรงกัน คือเรากำลังจะมาร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศไทย เพื่อที่จะให้ประะเทศไทยเดินต่อไปข้างหน้าได้ เวลาของพวกเรามันเหลือไม่มากแล้ว เพราะฉะนั้นตรงนี้คือเจตนาที่ผมอยากจะกราบเรียน

จำลอง - นั่นสิครับ ผมถึงได้ติงไปไง ว่าท่านเป็นผู้ใหญ่นะ อาวุโสมากกว่าผม จะไปพูดกับผมมันจะเหมาะเหรอ โทรศัพท์ไม่ดีกว่าหรือ

สนธิ - ขออนุญาตเป็นพิธีกรนะครับ มีใครจะถามคำถามมั้ย 5 คำถามครับ คนแรก มีมั้ยครับ

ถาม - เมื่อกี้นี้ที่คุณบรรหารบอกว่า นิรโทษกรรมได้ถามกับทางรัฐบาล ในฐานะที่เป็นพรรคร่วมฯ ซึ่งก็ยืนยันว่าไม่มีเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมา กระแสทางสื่อ บนหน้าสื่อทั้งหลายมีการนำเสนอว่า รัฐบาลชี้แจงว่าเรื่องการออกนิรโทษกรรมเป็นการทำเพื่อส่วนรวม แต่คุณยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นน้องสาวของคุณทักษิณ ไม่เคยพูดเลยว่าพี่ชายจะไม่ได้รับอานิสงส์ตรงนี้ ตรงนี้ท่านรู้สึกยังไง

บรรหาร - เรื่องนี้ ผมให้ท่านสมศักดิ์ตอบ

ถาม - หนูขอถามท่านน่ะค่ะ

บรรหาร - เพราะผมให้สมศักดิ์ในฐานะที่ทำงานกันไปถาม

สมศักดิ์ - เรื่องนี้ผมสอบถามในการประชุมของแกนนำของพรรคร่วมรัฐบาล โดยได้ถามชัดเจนว่า กรณีกฎหมายนิรโทษกรรมที่นำเสนอสภาไปแล้ว นิรโทษกรรมถึงท่านนายกฯ ทักษิณมั้ย แล้วก็จะมีการแปรญัตติในประเด็นนี้มั้ย ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวว่า กฎหมายนิรโทษกรรมนี้ ต้องการให้กับปลาซิวปลาสร้อย คือผู้ชุมนุมที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อการ เพราะพวกนี้ได้รับความไม่เป็นธรรม ก็ต้องการที่จะเสนอกฎหมายฉบับนี้

สนธิ - คำถามที่ 2 ครับ หรือจะถามต่อก็ได้นะครับคนเก่า ดูท่าทางยังหงุดหงิดอยู่

ถาม - ถ้ากฎหมายมันเดินหน้าไปถึงขนาดลุล่วงจนสำเร็จ เพราะว่าอย่างน้อยในสภาก็ใช้เสียงมากลากไปอยู่แล้ว พรรคคุณบรรหาร อยากแสดงจุดยืนยังไง ณ วันนั้น

บรรหาร - ผมว่าเรื่องนี้ต้องพูดกัน ถ้าจะไปถึงขั้นนั้นต้องพูดกันก่อน

ถาม - จะยอมให้ถึงขั้นนั้นมั้ยคะ

บรรหาร - ถ้าถึงขั้นนั้นก็ต้องคุยกันแล้ว พรรคร่วมฯ ก็ต้องคุยกันว่าอันนี้จะเอาหรือไม่เอา ถ้าไม่เอา เราต้องบอกไม่เอา เพราะแต่แรกยืนยันว่าไม่มี ก็ต้องไม่มี อันนี้ผมตอบเลยว่า ไม่มีก็ต้องไม่มี จะมีตอนหลังก็ไม่ได้

ถาม - อย่างนี้คำถามที่คุณสนธิถามเมื่อกี้ว่า คุณทักษิณควรกลับมาติดคุกมั้ย ทำไมถึงตอบไม่ได้คะ

บรรหาร - ก็ผมตอบแล้วว่า ท่านบอกว่าท่านไม่ได้รับความเป็นธรรม ผมก็ตอบไปแล้วนี่

จำลอง - ผมก็โต้แย้งคุณบรรหารว่าไปเชื่อทักษิณไม่ได้นะ

บรรหาร - ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะขณะที่ท่านเองเซ็นชื่อให้คุณหญิงพจมานไปซื้อที่ แล้วต้องถูกตัดสินอย่างนี้ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่จริงกฎหมายบ้านเราตอนนี้ ยอมรับนะ บางทีความเป็นธรรมในสังคมก็ไม่มี เหมือนพรรคชาติไทยถูกยุบ ผมแทบแย่เลย ร้องไห้ต่อหน้า

สนธิ - พี่ แก้ข่าวนิดหนึ่ง คุณทักษิณทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช. เท่านั้นเองครับ จบ เป็นธรรม/ไม่เป็นธรรม ไม่รู้ แต่เมื่อรู้ว่ากฎหมายมีอย่างนี้แล้วไปทำผิด ก็ต้องรับโทษไปครับ คำถามที่ 3 ครับ

ถาม - อยากทราบว่าสรุปแล้ว กลุ่มพันธมิตรฯ จะเข้าร่วมสภาปฏิรูปฯ มั้ยครับ

สนธิ - พี่บรรหารตอบเรียบร้อยไปแล้ว

จำลอง - ท่านบอกว่า มาเชิญ เราก็ไม่ไป ท่านบอกเองนะครับ ท่านคาดการณ์เอาเอง ท่านเดาเอาเอง

บรรหาร - ก็รู้เหมือนกัน แต่ว่าจำเป็นต้องมา เพราะเพื่อนกันทั้งนั้น

สนธิ - อีก 2 คำถาม

ถาม - ถามคุณบรรหาร ตลอดชีวิตนักการเมืองที่ท่านอยู่ตรงนี้ ท่านจะไม่เปลี่ยนอุดมการณ์ทางการเมืองเลยใช่มั้ยครับ ตามที่คุณสนธิบอก

สนธิ - นักข่าวถามว่า ตลอดชีวิตของพี่บรรหาร พี่บรรหารจะไม่เปลี่ยนอุดมการณ์ทางการเมืองเลยหรือ

บรรหาร - เป็นต้นว่าอะไร อุดมการณ์การเมืองอะไร

สนธิ - เป็นคำถามที่กว้างไป

บรรหาร - กว้างเกินไป

สนธิ - ถ้าจะถามแคบลง ผมถามแทนน้องก็แล้วกัน ว่าตกลงสรุปแล้วพี่ก็จะขอร่วมรัฐบาลทุกรัฐบาลต่อไปใช่มั้ย

บรรหาร - เป็นฝ่ายค้านก็มีครับ จำได้มั้ยครับ ตอนที่ปี 48 เป็นพรรคเดียว ผมเป็นฝ่ายค้านตั้ง 3-4 ปี ค้านก็มีนะครับ

สนธิ - มีครับ มีช่วงที่วันนั้นเขายุบสภาแล้ว เขาบอยคอตการเลือกตั้ง ตอนนั้นพี่ก็บอยคอตด้วยใช่มั้ย

บรรหาร - ผมบอยคอตด้วยสิ ผมไม่เอานี่ตอนนั้น

สมศักดิ์ - ผมกราบเรียนนิดหนึ่ง คือเจตนาของท่านในการร่วมรัฐบาลเมื่อปี 2548 พรรคเพื่อไทยได้ 377 เสียง ท่านประกาศชัดเจนเลย ถ้าได้เสียงเกินครึ่ง เกิน 370 ขึ้นไป เป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้ เพราะฉะนั้นพรรคชาติไทยไม่จำเป็นต้องร่วม ต้องการทำระบบรัฐสภาให้ไปได้ครับ

สนธิ - คำถามสุดท้ายครับ

ถาม - เดินมาบ้านพระอาทิตย์แล้วได้อะไรบ้างคะ

บรรหาร - ได้รับความคิด ความเห็นแตกต่างหลายๆ อย่างด้วยกัน ก็นำไปรวมในข้อมูลแต่ละท่านๆ ด้วยกัน เพื่อเดินงานต่อไปในอนาคต

ถาม - คิดว่าจะได้เจอครั้งที่ 2 มั้ยคะ

บรรหาร - ได้ครับ

จำลอง - คราวหน้าจะมากินข้าวด้วยกัน

บรรหาร - เราชอบพอกัน จะให้มารบราฆ่าฟันกันทำไม ทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก ใช่มั้ยพี่สนธิ ทำไม่ได้ อยู่กันมา

ถาม - ถามคุณบรรหารนะครับ พอดีคุณบรรหารบอกว่าตอนนี้เวทีเบื้องต้น คุณบรรหารคิดว่าตอนนี้ได้กี่เปอร์เซ็นต์

บรรหาร - ไม่ใช่ครับ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ท่านบอกว่าได้แค่ 1 เปอร์เซ็นต์ก็พอ แต่ผมว่าตอนนี้มันได้ประมาณสัก 10 เปอร์เซ็นต์ แล้ว

ถาม - คือวันนี้พันธมิตรฯ ไม่เข้าร่วมแล้ว แต่อยากเห็นภาพรวมสุดท้ายว่าเวทีปรองดอง ..

บรรหาร - ขอให้เดินหน้าไปกว่านี้จะตอบได้ครับ ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ครับ มันเพิ่งจะเริ่มต้นครับ

สนธิ - โอเคครับ ขอบพระคุณมากครับท่านสื่อมวลชน เดี๋ยวพี่บรรหาร - จะไปหาหมอประเวศ









กำลังโหลดความคิดเห็น