xs
xsm
sm
md
lg

มองสามกระทรวงใหญ่ผู้ใช้งบประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

สภานิติบัญญัติไทยชุดใหม่ถอดด้ามกำลังพิจารณางบประมาณที่รัฐบาลจะใช้จ่ายในปีงบประมาณหน้าซึ่งเริ่มในเดือนตุลาคมนี้ ตามที่สื่อรายงาน งบประมาณของรัฐบาลรวมเป็นเงิน 2.57 ล้านล้านบาท เงินจำนวนนี้คงมากเกินจินตนาการของคนไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนวัยทองในชนบททั่วไปซึ่งครั้งหนึ่งเคยใช้ธนบัตรใบละ 1 บาทจ่ายเป็นค่าก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม ในบางกรณี ยังอาจมีเงินทอนเป็นเหรียญ 50 สตางค์คืนมา ในยุคนั้น หวยรัฐบาลรางวัลที่ 1 มีค่า 5 แสนบาท มาถึงยุคนี้ เงินมีค่าน้อยลง แต่การทำงบประมาณเป็นหลักล้านล้านบาทอาจตีความหมายได้ว่าเมืองไทยแสนร่ำรวย หรือไม่ก็ใช้งบประมาณด้วยความไม่รัดกุม หรือควบคุมไม่ได้ทำให้เกิดความสูญเปล่าสูงมาก หากลดเบี้ยใบ้รายทางที่อ้างกันว่าสูงถึง 30% ได้ รัฐบาลคงไม่ต้องการงบประมาณมากถึงขนาดนั้น

ตามรายงาน กระทรวงศึกษาธิการจะได้ส่วนแบ่งมากที่สุดเป็นจำนวนกว่า 5 แสนล้านบาท หรือราว 19.5% ของงบประมาณทั้งหมด กระทรวงศึกษาธิการได้งบประมาณสูงกว่ากระทรวงอื่นเพราะรัฐบาลไทยเกือบทุกสมัยให้ความสำคัญแก่การศึกษาเป็นอันดับต้นตามคำขวัญที่มักอ้างถึงกันเสมอว่า “การพัฒนาคนคือการพัฒนาชาติ”

แต่นั่นไม่น่าจะเป็นคำขวัญ หากเป็นการพูดปลอบใจมากกว่าถ้าฟังการวิพากษ์จากหลายฝ่ายที่มักมองว่าการศึกษาของไทยพัฒนาอย่างต้วมเตี้ยมมานานจนกระทั่งตอนนี้ล้าหลังเพื่อนบ้านเกือบหมดแล้ว ทั้งที่มีมหาวิทยาลัยนับร้อยที่ผลิตบัณฑิตออกมาปีละนับแสน เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลที่จัดให้แก่การศึกษาจำนวนมากสูญเปล่าเนื่องจากมันไปเข้ากระเป๋าของหลายฝ่าย การสูญเปล่าในกระทรวงนี้น่าจะเกินกว่า 30% ที่ภาคเอกชนบ่นว่าต้องจ่ายเป็นเบี้ยใบ้รายทางเพื่อให้ได้งานในโครงการของรัฐ

ความสูญเปล่าย่อมเป็นที่ประจักษ์หากมองจากปรากฏการณ์จำพวกสิ่งปลูกสร้างที่แทบไม่มีประโยชน์เช่นป้ายชื่อโรงเรียนขนาดใหญ่ทำด้วยวัสดุราคาแพง และการทำกิจกรรมตำน้ำพริกละลายแม่น้ำจำพวกพิธีประสาทใบประกาศนียบัตรของสถาบันซึ่งไม่เว้นแม้กระทั่งในระดับชั้นประถม ความสูญเปล่าเช่นนั้นอาจมองเห็นได้ไม่ยากนักหากเทียบกับการสูญเปล่าอันเกิดจากจำนวนข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าน่าจะลดลงได้ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 4 ด้วยเหตุนี้ จึงมีข้อเสนอกึ่งเล่นกึ่งจริงว่า ถ้าจะยกระดับการศึกษาของไทย สิ่งแรกที่รัฐบาลควรทำได้แก่การระเบิดกระทรวงศึกษาธิการทิ้ง

ผมมิใช่ผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษา แต่ประสบการณ์จากการทำงานอย่างใกล้ชิดกับโรงเรียนมานานยืนยันว่า ความสูญเปล่าที่กล่าวถึงนั้นเป็นจริง ยิ่งกว่านั้น การที่สำนักงานการศึกษามีจำนวนคนล้นงานสร้างปัญหามากเนื่องจากคนพวกนี้ต้องสร้างภาพให้ปรากฏว่าตนทำงานคุ้มค่ากับเงินเดือน สิ่งที่พวกเขามักทำได้แก่การสุมหัวกันออกมาตรการให้ครูต้องทำงานสารพัดอย่างจนหาเวลาสอนนักเรียนอย่างเต็มที่ได้ยาก จำนวนมากสนใจเฉพาะอยู่ในสำนักงานที่ได้รับการปรับอากาศให้เย็นฉ่ำมากกว่าจะออกไปทำความเข้าใจในระดับโรงเรียน หรือเมื่อออกไปก็วางมาดจนเกินพอดีและกดดันให้มีพิธีต้อนรับดังกับว่าตนเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ร้ายยิ่งกว่านั้น พวกนี้ยังมีนิสัยไม่ค่อยตรงเวลาและไม่ค่อยใส่ใจในรายละเอียดว่าว่าสถานศึกษาที่จะไปเยี่ยมอยู่ตรงไหนและมีการบ้านอะไรที่ตนต้องทำล่วงหน้าก่อนถึงเวลาไปเยือน เมื่อไปถึงก็มักพูดมากกว่าฟัง

ด้วยเหตุที่อ้างถึงนี้ สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรทำเพื่อประหยัดงบประมาณคือการลดจำนวนบุคลากรที่อยู่ในกระทรวงและในสำนักงานต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน และต่อไปจะต้องไม่ปล่อยให้เพิ่มตำแหน่งขึ้นอย่างดาษดื่นดังเช่นเมื่อครั้งปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาเมื่อหลายปีก่อน

กระทรวงมหาดไทยได้งบประมาณรองลงมาจากกระทรวงศึกษาธิการเป็นเงินกว่า 3.4 แสนล้านบาท ถ้าจะลดความสูญเปล่าเราคงต้องมองที่จำนวนคนอีกเช่นกัน น่าถามไหมว่าถึงเวลาที่จะปฏิรูปโดยยกเลิกอย่างใดอย่างหนึ่งในสองโครงสร้างที่ซ้ำซ้อนกันอยู่ในปัจจุบันระหว่างการปกครองท้องถิ่นที่มี อบจ. และ อบต. เป็นแกน กับการปกครองเดิมที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวเรือใหญ่ตามด้วยนายอำเภอ กำนันและผู้ใหญ่บ้าน? หรือทำไมจะต้องมีจังหวัดเพิ่มขึ้นในเมื่อการคมนาคมและสื่อสารในสมัยนี้ดีกว่าเมื่อก่อน? ในเมื่อนครราชสีมายังปกครองได้ ทำไมต้องแยกส่วนหนึ่งของหนองคายไปเป็นบึงกาฬ เช่นเดียวกันกับการแยกอุบลราชธานีและอุดรธานี การทำเช่นนี้ทำให้มีตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดมากขึ้นโดยไม่จำเป็น ทางที่ดีกว่าน่าจะเป็นการยุบรวมจังหวัดโดยใช้ขนาดของนครราชสีมาเป็นเกณฑ์
อนึ่ง ในช่วงเวลาสามเดือนกว่าๆ ที่ คสช.เข้ามาทำงานจะเห็นว่ามีการจับการตัดไม้ทำลายป่ากันแทบไม่เว้นแต่ละวัน การทำลายป่าในหลายกรณีมีเกิดขึ้นชนิดที่น่าจะตำตาและท้าทายเพราะมันเป็นแปลงขนาดใหญ่ที่ทำลายกันทั้งภูเขา (ภาพ) แต่ทำไมข้าราชการมหาดไทยที่มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหงจนแทบเหยียบกันจึงมองไม่เห็น ในสมัยนี้ การคมนาคมและเครื่องไม้เครื่องมือสื่อสารดีกว่าในสมัยก่อนมาก ทำไมคนเหล่านี้จึงใช้ป้องกันการทำลายป่าให้เกิดประสิทธิผลไม่ได้ หรือพวกเขามีส่วนได้ส่วนเสีย?

รัฐบาลจะประหยัดงบประมาณได้มากหากจับการบุกรุกและทำลายป่าได้ ข้าราชการมหาดไทยที่รับผิดชอบเขตนั้นจะต้องชดใช้ด้วยการลดเงินเดือนของตนตามอัตราความร้ายแรงของคดี และในกรณีที่ตนมีส่วนรู้เห็นเป็นใจจะต้องถูกจำคุกระยะยาวโดยไม่มีข้อยกเว้น

กระทรวงกลาโหมมาเป็นอันดับสามด้วยงบประมาณใกล้ 2 แสนล้านบาท เรื่องของกระทรวงนี้ยากที่จะพูดอะไรด้วยเหตุหลายประการ รวมทั้งความกดดันมิให้วิจารณ์การทำงานของ คสช.ด้วย การจะมีกองทัพเท่าไรและมีอาวุธอะไรบ้างจึงจะเหมาะสมขึ้นอยู่กับสมมติฐานเกี่ยวกับการรุกรานที่อาจจะเกิดขึ้น แต่กองทัพไทยก็ไม่ต่างกับกองทัพทั่วโลกที่มักเป็นทาสของพ่อค้าอาวุธ เรื่องนี้ประธานาธิบดี ไวท์ ไอเซนฮาวร์ ของสหรัฐอเมริกาได้เตือนไว้เมื่อ 54 ปีที่แล้ว นั่นคือ จงระวังอิทธิพลของกลุ่มอุตสาหกรรมทำอาวุธ (Military Industrial Complex) ซึ่งจะผลักดันให้เกิดการแข่งขันกันเพิ่มสมรรถนะของกองทัพด้วยอาวุธใหม่ๆ แบบไม่หยุดยั้ง อาวุธแต่ละชิ้นนับวันจะราคาแพงขึ้นและการซื้อแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณก้อนใหญ่ ในประวัติของวิวัฒนาการ มันเป็นส่วนหนึ่งของคำสาปของเทคโนโลยีที่ยากจะหลีกเลี่ยงยกเว้นในประเทศที่ชาญฉลาดเช่นคอสตาริกา

สำหรับกองทัพไทย มีผู้สังเกตว่าไม่ต่างกับกองทัพเวเนซุเอลาในสมัยก่อนในแง่ที่มีนายพลล้นเมือง เรื่องนี้กองทัพย่อมมีข้อมูลเปรียบเทียบอยู่ในมือแล้ว เวเนซุเอลามีน้ำมันมหาศาลและเคยใช้จ่ายแบบไม่อั้น รวมทั้งการให้สวัสดิการทหารแบบไม่น้อยหน้าใครในโลก การมีน้ำมันมากเป็นปัจจัยที่ทำให้เวเนซุเอลาหลีกเลี่ยง “คำสาปของทรัพยากร” (Resource Curse) ไม่พ้น ทั้งที่ปราชญ์ของตนเคยเตือนไว้นานแล้วว่า น้ำมันเป็น “อุจจาระของปีศาจ” (The Devil’s Excrement) ตอนนี้บางฝ่ายรายงานว่าเมืองไทยมีน้ำมันปริมาณมหาศาลและมีทหารควบคุมการเมืองเช่นเดียวกับเวเนซุเอลาในยุคก่อน การที่เวเนซุเอลาล้มลุกคลุกคลานมาหลายสิบปีทั้งที่มีน้ำมันคงเป็นบทเรียนที่ทหารไทยเข้าใจดีเมื่ออาสาเข้ามาบริหารประเทศ

มองโดยรวม งบประมาณจำนวน 2.57 ล้านล้านบาทน่าจะเหลือเฟือถ้าผู้บริหารงบประมาณสามารถตัดเบี้ยใบ้รายทางลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ต่อจากนั้นก็ปูทางให้เกิดการพัฒนาต่อไปด้วยการลดค่าใช้จ่ายในด้านบุคลากรที่ซ้ำซ้อนกันและไม่มีงานทำสมกับค่าเงิน
กำลังโหลดความคิดเห็น