xs
xsm
sm
md
lg

Green Vision : น้อมนำพระราชดำรัสองค์ราชินี สร้างเสริมพลังอุตสาหกรรมสีเขียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 82 พรรษาในวันที่ 12 สิงหาคม 2557 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดงาน “อุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่ เพื่อสนองพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยถึงปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำต่างๆ ที่อยู่ในภาวะเสื่อมโทรมลงจนเข้าขั้นวิกฤต และทรงขอให้หน่วยงานต่างๆ และคนไทยทุกภาคส่วนรักษาแหล่งน้ำ รักษาความสะอาด รักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก
การจัดงานครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสนองพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถแล้ว ยังถือเป็นภารกิจหลักของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้วิสัยทัศน์ “อุตสาหกรรมเป้าหมายมีระบบการผลิตและวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน” สู่แนวคิดอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ที่มุ่งเน้นให้ภาคอุตสาหกรรมประกอบกิจการอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเกิดการสร้างเศรษฐกิจสีเขียว
กระทรวงอุตสาหกรรม มีเป้าหมายที่จะพัฒนาสถานประกอบการอุตสาหกรรมให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวทั้ง 5 ระดับ (Commitment, Activity, System, Culture และ Networking) จำนวน 35,000 รายภายในปี 2561 ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมสีเขียวของประเทศ (Green GDP) มีมูลค่าสูงขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2557 มีสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ทั้ง 5 ระดับ รวมทั้งสิ้น 12,695 แห่ง และส่วนหนึ่งเป็นสถานประกอบการตามโครงการอุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ 1,164 แห่ง
โรงงานที่ผ่านการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวเหล่านี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ให้เป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Complex) และนำไปสู่การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ในที่สุด
ทั้งนี้ ตามแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตั้งเป้าหมายให้เกิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) จำนวน 10 แห่ง ซึ่งการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศดังกล่าวจะเน้นการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจาการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบบูรณาการ ประกอบด้วย 5 มิติ คือ มิติทางกายภาพ มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสิ่งแวดล้อม มิติทางสังคม และมิติทางการบริหารจัดการ
ในระยะแรก จะเน้นการแก้ไขผลกระทบที่มีต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การปฏิบัติตามกฎหมาย การแก้กฎระเบียบต่างๆ ให้มีความเข้มงวดและครอบคลุมทุกประเด็นของปัญหา โดยเฉพาะการจัดการมลพิษทุกประเภท การจัดการกากอุตสาหกรรม การใช้หลักการ 3 Rs (Reuse Recycle Recovery) และในระยะต่อไป จะเป็นการแก้ไขปัญหาในด้านการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคต่างๆ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ รวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดำเนินงานและติดตามตรวจสอบตามแผนงานและโครงการพัฒนาด้านต่างๆที่กล่าวมา ตลอดจนการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ( Eco Network ) เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นการพัฒนาสู่ความยั่งยืนในที่สุด
ภายใต้แนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมได้น้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน สำหรับภารกิจด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักของประเทศ ภายใต้ชื่อกิจกรรม “อุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ” เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งน้ำ พร้อมเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน อันจะส่งผลต่อเนื่องให้ภารกิจการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของกระทรวงอุตสาหกรรมเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์และเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

โรงงานที่ผ่านการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวเหล่านี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ให้เป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และนำไปสู่การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในที่สุด

พสุ โลหารชุน
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น