ในขณะนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. กำลังเร่งขับเคลื่อนการพัฒนา “ เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” ให้เป็นเลิศ 3 ลำดับแรกของภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2559
ปีที่ผ่านมา นิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง ได้แก่ 1) นิคมฯ หนองแค 2) นิคมฯ บางชัน 3) นิคมฯ ภาคเหนือ 4) นิคมฯ อมตะซิตี้ 5) นิคมฯ แหลมฉบัง 6) นิคมฯ สมุทรสาคร ผ่านการประเมินผล การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับ Eco Champion ซึ่งจะต้องรักษาการเป็น Eco อย่างต่อเนื่อง ด้วยการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล และการมีส่วนร่วม พร้อมทั้งพัฒนายกระดับเข้าสู่การเป็น Eco ในขั้นต่อๆไป
และในปี 2557 จะพัฒนายกระดับนิคมฯ เข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพิ่มขึ้นอีก ได้แก่ นิคมฯ ภาคใต้ (ฉลุง) จังหวัดสงขลา นิคมฯ สินสาคร จังหวัดสมุทรสาคร นิคมฯ เกตเวย์ซิตี้ จังหวัดฉะเชิงเทรา และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง
ก่อนหน้านี้ ระหว่างปี 2553 - 2556 มีนิคมอุตสาหกรรม 12 แห่ง ได้แก่ 1) นิคมฯ ภาคเหนือ 2) นิคมฯ บางปู 3) นิคมฯ แหลมฉบัง 4) นิคมฯ สมุทรสาคร 5) นิคมฯ บางชัน 6) นิคมฯ อีสเทิร์นซีบอร์ด 7) นิคมฯ อมตะนคร 8) นิคมฯ หนองแค 9) นิคมฯ อมตะซิตี้ 1 0) นิคมฯ ลาดกระบัง 11) นิคมฯ บางพลี 12) นิคมฯ บางปะอิน ได้ดำเนินการพัฒนายกระดับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ สอดคล้องตามข้อกำหนดคุณลักษณะและเกณฑ์ตัวชี้วัด 5 มิติ 22 ด้าน (มิติด้านกายภาพ, มิติด้านเศรษฐกิจ, มิติด้านสิ่งแวดล้อม, มิติทางด้านสังคม, มิติด้านการบริหารจัดการ)
ย้ำเป็นกลไกที่นำไปสู่ความยั่งยืน
วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ. ได้กำหนดวิสัยทัศน์องค์กร “เป็นองค์กรนำสร้างเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีดุลยภาพและยั่งยืน” เพื่อให้เป็นกรอบการดำเนินงานในช่วงปี 2557 - 2559 ให้เกิดการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ สร้างความเป็นเลิศในการพัฒนาและบริการนิคมอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาคอาเซียน และมีเป้าหมายในการเป็นองค์กรชั้นนำ 3 ลำดับแรกของภูมิภาคอาเซียนในการพัฒนาและบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมภายในปี 2559
“ในปี 2562 กนอ. ได้ตั้งเป้าหมายให้นิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการทุกแห่งจะต้องเข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และจะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในลักษณะ Cluster Base เช่น นิคมฯ อากาศยานและศูนย์ซ่อมอากาศยาน นิคมฯ Plastics Park นิคมฯ บริหารจัดการของเสียครบวงจร นิคมฯ SMEs นิคมฯ สื่อบันเทิงครบวงจร นิคมฯ ท่องเที่ยวและบริการ ทั้งหมดจะมีการพัฒนาพื้นที่โดยนำแนวคิดอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไปประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการออกแบบต้องลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ลดการใช้ทรัพยากรและสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ทั้งในปัจจุบันและอนาคตโดยที่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน”
จะเห็นว่าตามกรอบยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ที่กำหนดให้กระทรวงอุตสาหกรรมพัฒนาตัวอย่างเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 10 แห่ง ภายในปี 2561 ซึ่ง กนอ.ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ในการดำเนินการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรม 10 แห่ง ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ นิคมฯ ภาคเหนือ จังหวัดลำพูน นิคมฯ บางปู จังหวัดสมุทรปราการ นิคมฯ บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นิคมฯ เกตเวย์ซิตี้ จังหวัดฉะเชิงเทรา นิคมฯ อมตะซิตี้ จังหวัดระยอง นิคมฯ อิสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง นิคมฯ ภาคใต้ฯ (ฉลุง) จังหวัดสงขลา และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด
นอกจากนี้ กนอ.ได้ศึกษารูปแบบศูนย์เผยแพร่ พัฒนา และบริหารจัดการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Center) สำหรับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และการศึกษาแผนผังขั้นตอนการบริหารจัดการกากของเสีย (Material and Waste Flow Analysis) และรูปแบบการบริหารจัดการของเสียในพื้นที่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมบางปูและภาคเหนือ รวมทั้งกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด
การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ?
เกิดจากแนวคิดทฤษฎี Industrial Ecology สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ (Eco Industrial Development : EID) เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้วัสดุและพลังงานอย่างคุ้มค่า ด้วยการวางแผนอย่างรอบคอบก่อนใช้ และด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่เพียงแต่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดปริมาณของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต หากยังเป็นการลดต้นทุน เพิ่มผลกำไร และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจได้อีกด้วย
ประโยชน์ต่างๆ ที่ทำให้ผู้ประกอบการได้รับเพิ่มขึ้นนั้น จึงถือว่าเป็นกลไกที่เพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจ โดยใช้มาตรการในการป้องกันมลภาวะตั้งแต่แรกเริ่ม แทนการใช้หลักการบำบัดมลภาวะที่เกิดขึ้นในท้ายสุดของกระบวนการผลิต นอกจากนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศยังเป็นการสร้างงานควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนอีกด้วย
กนอ. เป็นหน่วยงานแรกของประเทศที่ได้ทำแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนบนหลักการ “Eco” มาใช้ ด้วยการดำเนินโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศและเครือข่าย (Development of Eco Industrial Estate&Networks Project : DEE + Net Project) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กนอ. และ GTZ ประเทศเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ. 2542-2547 โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ด้าน คือ ด้าน Policy Support และ Criteria Development/Capacity Building, New Eco Industrial Estate และได้ดำเนินการในนิคมฯ นำร่อง 5 แห่ง คือ นิคมฯ มาบตาพุด นิคมฯ บางปู นิคมฯ ภาคเหนือ นิคมฯ อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) และนิคมฯ อมตะนคร