xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” ผบ.ตร.คนที่ 10 มีวันนี้เพราะพี่ให้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ

เรียกว่า นอนมาตั้งแต่ไก่โห่

หรือเป็น “เต็ง 1” มาตั้งแต่ต้นจนจบเลยก็ว่าได้สำหรับ “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” เพราะในที่สุด “พี่ตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่นั่งหัวโต๊ะในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา ก็ตัดสินใจเลือก พล.ต.อ.สมยศเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนที่ 10 เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ต่อจาก “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” หลังใช้เวลาในการหารือ 1ชั่วโมงกับอีก 15 นาที

ทั้งนี้ ในการประชุม กตช.ทั้ง 7 คนมีมติเป็นเอกฉันเลือก พล.ต.อ.สมยศขึ้นเป็น ผบ.ตร.คนที่ 10 ตามที่ “บิ๊กกุ่ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้เสนอตาม “โรดแมป” ที่ คสช.ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้

ส่วน “บิ๊กเอก” พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่เป็น “เต็ง 2” ก็เป็นอันต้องกินแห้วไปตามระเบียบ แม้ว่าจะแรงฮึดขึ้นมาบ้างในช่วงโค้งสุดท้ายก็ตาม

กล่าวสำหรับการก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ของ พล.ต.อ.สมยศเที่ยวนี้ คงต้องบอกว่ามีความพิเศษอยู่ในตัวหลายประการด้วยกัน

ประการแรก เป็นการเลือกนายใหญ่ของตำรวจโดยมี “ทหาร” นั่งอยู่ในที่ประชุม ก.ต.ช.ถึง 3 คนคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ และ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา โดยพล.อ.ประยุทธ์นั้น นั่งหัวโต๊ะเป็น ประธาน ก.ต.ช.ในฐานะหัวหน้า คสช. พล.อ.สุรศักดิ์ ในฐานะปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ไพบูลย์เข้ามาในที่ประชุม ก.ต.ช.ในตำแหน่งรองประธาน ก.ต.ช.ในฐานะตัวแทนรองนายกรัฐมนตรี

ส่วนอีก 4 คนที่เหลือประกอบด้วยนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสมศักดิ์ โชติรัตนศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการ

ประการที่สอง การเลือกนายใหญ่ของตำรวจครั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติหรือ กตช.จัดให้มีการประชุมขึ้นในกองบัญชาการกองทัพบก มิใช่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

ประการที่สาม การก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ ผบ.ตร.ของ พล.ต.อ.สมยศได้มีการแผ้วถางทางเอาไว้ตั้งแต่ต้นโดย คสช. ซึ่งถ้าหากยังจำกันได้ก่อนหน้านี้ไม่นานนักคือ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2557 คสช.ได้ออกคำสั่งที่สำคัญ 2 ฉบับคือ คำสั่งที่ 88/2557 และ คำสั่งที่ 89/2557

สาระหลักของคำสั่งที่ 88/2557 ก็คือ การปรับโครงสร้าง ก.ต.ช. จาก 11 คนให้เหลือ 9 คน โดยได้มีการเพิ่มปลัดกระทรวงกลาโหมเข้ามาเป็น ก.ต.ช.โดยตำแหน่ง ขณะที่สาระหลักของคำสั่งที่ 89/2557 ก็คือการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และให้สิทธิในการตัดสินใจเสนอชื่อกับผู้บัญชาการการตำรวจแห่งชาติคนเก่า

แปลไทยเป็นไทยหรือสรุปรวมความจาก 3 ประเด็นข้างต้นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์เลือกที่จะให้มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก่อนที่จะมีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล

และประการสุดท้าย ซึ่งเป็นประการที่สำคัญที่สุดก็คือ เป็นการประกาศให้เห็นชัดเจนว่า บารมีอันเปี่ยมล้นของของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษา คสช. ผู้เป็นพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ยังคงแน่นปึ้กและทรงอิทธิพลต่อการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย เพราะเป็นที่รับรู้กันว่า พล.อ.ประวิตรชูรักแร้เชียร์ พล.ต.อ.สมยศเต็มตัวมาตั้งแต่ต้น

นี่ไม่ใช่สมมติฐานที่เลื่อนลอย เพราะมีข้อมูลตรงกันและยืนยันถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของบิ๊กป้อมกับบิ๊กอ๊อดปรากฏตามสื่ออย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างที่ยังไม่มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่

ความจริงถ้าจะว่าไปแล้ว การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งแม่ทัพสีกากีของ พล.ต.อ.สมยศก็ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะเมื่อไล่เรียงคู่แข่งที่อยู่ในเกณฑ์ในตำแหน่งรองผู้บัญชาการแห่งชาติและจเรตำรวจแห่งชาติทั้ง 6 แล้ว พล.ต.อ.สมยศมีภาษีดีกว่าคนอื่น

คนที่หนึ่ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ก็เป็นคนของระบอบทักษิณ

คนที่สอง พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ก็มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย

คนที่สาม พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขานก็เป็นลูกเขยของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก

ขณะที่คนที่สี่ พล.ต.อ.รชต เย็นทรวงก็เกษียณอายุราชการพอดี ส่วนคนที่ห้า พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ก็ถูกโยกไปนั่งเก้าอี้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)

ด้านคู่แข่งคนสำคัญคือ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์แม้จะได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนรุ่นน้องโรงเรียนวัดนวลนรดิศร่วมสถาบันเดียวกับประธาน ก.ต.ช. และในระยะหลังๆ ก็มีบทบาทในคดีสำคัญๆ ค่อนข้างสูง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า พล.ต.อ.เอกไม่ได้เป็นสายเลือดของนักเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน หากแต่เป็นนักเรียนนายร้อยอบรมจบคณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

สำหรับ พล.ต.อ.สมยศนั้นต้องบอกว่า เป็นนายตำรวจที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มก๊วนทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

คนแรกที่คนไทยรู้จักกันดีก็คือ นายมนตรี พงษ์พานิช นักการการเมืองรุ่นเก๋า อดีตหัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีในหลายกระทรวงและหลายรัฐบาล ในฐานะนายตำรวจติดตาม และว่ากันว่า พล.ต.อ.สมยศที่เติบใหญ่และร่ำรวยด้วยทรัพย์ศฤงคาร หรือมีวันนี้ได้ก็เพราะนายที่ชื่อ “มนตรี พงษ์พานิช”

คนที่สองก็คือ นายเนวิน ชิดชอบ ประธานที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย

ขณะที่ในสายพรรคเพื่อไทยก็มีสายสัมพันธ์อันดีกับ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีต ผบ.ตร.ที่ทำงานด้านการปราบปรามยาเสพติดร่วมกันมา กับพรรคประชาธิปัตย์ก็มีความสัมพันธ์อันดีกับนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับสายทหาร

แต่สิ่งสำคัญ “ที่สุด” ซึ่งเชื่อว่ามีผลต่อการได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องความสัมพันธ์ของเขากับพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ที่ทรงอำนาจและบารมีสูงสุดในเวลานี้

เพราะต้องไม่ลืมว่า พล.ต.อ.สมยศคือลูกน้องเก่าของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้เป็นน้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) รวมทั้งผู้ที่มีสิทธิเสนอชื่อตามคำสั่ง คสช.ที่ 89/2557 ซึ่งก็คือ บิ๊กกุ้ย-พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ก็ได้มานั่งเก้าอี้รักษาราชการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจากแรงหนุนของ พล.ต.อ.พัชรวาท

แถม “หลังบ้าน” ของ พล.ต.อ.สมยศ” ยังมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับ “หลังบ้าน” ของ พล.ต.อ.พัชรวาทอีกต่างหาก

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 19 สิงหาคมบันทุกเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเอาไว้ว่า “เวลา 11.00 น. มีงานเลี้ยงครบรอบ 28 ปีสถาปนาสมาคมแม่บ้านตำรวจ มี รศ.ปิยานันต์ ประสารราชกิจ อุปนายกสมาคมแม่บ้านตำรวจปฏิบัติหน้าที่นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจเป็นประธาน มีภรรยาของผู้บังคับบัญชาระดับสูงร่วมงานพร้อมหน้า โดยมีอดีตนายกสมาคมแม่บ้านร่วมงานด้วย ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า นางสมถวิล วงษ์สุวรรณ ภรรยาของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.ให้ความสนิทสนมกับนางพจมาน พุ่มพันธุ์ม่วง ภรรยา พล.ต.อ.สมยศเป็นพิเศษ จนมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสนิทสนมของครอบครัววงษ์สุวรรณกับ พล.ต.อ.สมยศที่ถูกจับตามองว่าได้รับการผลักดันจาก พล.ต.อ.พัชรวาท น้องชายแท้ๆ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษา คสช.เพื่อเป็น ผบ.ตร.คนต่อไป”

กระนั้นก็ดี เส้นทางของ พล.ต.อ.สมยศก็มีสะดุดอยู่บ้าง หลังบิ๊กอ๊อดต้องเผชิญกับวิบากกรรมเล็กๆ จากกรณีมีชื่อเข้าไปจองหุ้นจำนวน 2,500,000,000 หุ้น มลค่า 855,000,000 บาท ในบริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด(มหาชน) และเกิดคำถามถึงแหล่งที่มาของเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ทำให้มีสัญญาณถึง พล.ต.อ.วัชรพลให้เตรียมประวัติและข้อมูลของ พล.ต.อ.เอกไว้ก่อนประชุม ก.ต.ช. กระทั่งเกิดกระแสข่าวสะพัดก่อนการประชุม ก.ต.ช.ไม่กี่วันว่า มีการวิ่งเคลียร์กันฝุ่นตลบเกี่ยวกับเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ก่อนที่ คสช.จะตัดสินใจเลือก พล.ต.อ.สมยศเป็น ผบ.ตร.ในครั้งนี้

วันนี้ จงอย่าแปลกใจถ้าหากที่บ้านหรือห้องทำงานของ พล.ต.อ.สมยศจะมีป้ายเขียนประดับเอาไว้ข้างฝาว่า “มีวันนี้เพราะพี่ให้” เหมือนเช่นที่ “พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง” อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเคยสร้างความฮือฮาเอาไว้ในยุทธจักรตำรวจก่อนหน้านี้ก็เป็นได้


### ล้อมกรอบ ####

เส้นทางชีวิต “บิ๊กอ๊อด”

ภรรยา
นางพจมาน พุ่มพันธุ์ม่วง

ธิดา
ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง (เอ๋ย)

การศึกษา :

- หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
- ปริญญาโท รัฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยปูนา จากอินเดีย
- โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.รุ่น 31)
- โรงเรียนเตรียมทหาร (ตท.รุ่นที่15)
- มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนนิตยานุกูล จ.พระนครศรีอยุธยา

ตำแหน่งปัจจุบัน :

1 ตุลาคม 2555 รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ตำแหน่งอื่นๆ :

1 ตุลาคม 2555 กรรมการข้าราชการตำรวจโดยตำแหน่ง

การทำงาน และตำแหน่งหน้าที่

- 16 ธันวาคม 2532 รองผู้กำกับการ (ทำหน้าที่นายตำรวจปฏิบัติราชการพิเศษ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) สำนักงานกำลังพล
- 1 มีนาคม 2538 ผู้กำกับการกองวิชาการ
- 25 ตุลาคม 2539 รองผู้บังคับการชุดตรวจงานอำนวยการ ส่วนตรวจราชการ 1 สำนักงานจเรตำรวจ
- 4 พฤศจิกายน 2540 กรรมการองค์การสวนสัตว์
- 16 ธันวาคม 2540 รองผู้บังคับการ กองบังคับการอำนวยการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
- 1 พฤษภาคม 2542 รองผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมือง 1
- 14 ตุลาคม 2542 ผู้บังคับการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- 1 ตุลาคม 2544 ผู้บังคับการ กองแผนงาน 2
- 11 พฤศจิกายน 2545 ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานแผนงานและงบประมาณ
- 1 ตุลาคม 2546 ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
- 1 ตุลาคม 2547 รองจเรตำรวจ
- 1 ตุลาคม 2549 ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่ประสานงานสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย)
- 30 พฤศจิกายน 2549 ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสืบสวน)
- 7 กุมภาพันธ์ 2551 จเรตำรวจ (สบ 8)
- 31 พฤษภาคม 2551 ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
- 1 ตุลาคม 2551 ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- 18 พฤศจิกายน 2554 ที่ปรึกษา (สบ 10) ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ
- 1 ตุลาคม 2555 รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ตำแหน่งอื่นๆ :

- เลขาธิการสมาคมขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย
- นายกสมาคมศิษย์เก่า โรงเรียนท่าเรือนิตยานุกูล จ.พระนครศรีอยุธยา

- 14 มิถุนายน 2548 กรรมการองค์การคลังสินค้า
- 22 เมษายน 2551 กรรมการการประปาส่วนภูมิภาค
- 29 เมษายน 2551 กรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
- 20 มกราคม 2552 กรรมการการประปาส่วนภูมิภาค
- 20 มกราคม 2552 กรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
- 3 กุมภาพันธ์ 2552 กรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
- 15 ธันวาคม 2552 กรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
- 1 ตุลาคม 2555 กรรมการข้าราชการตำรวจโดยตำแหน่ง

กำลังโหลดความคิดเห็น