xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอดรหัส คสช. 88-89/2557เมื่อ “ทหาร” ปฏิรูป “ตำรวจ” “เอก-สมยศ” ชิงเก้าอี้ ผบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็น “คำสั่ง” ของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)” ที่ต้องบอกว่า ร้อนแรงไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังขรมไปทั่วทุกสารทิศ

คำสั่งที่ว่านั้นก็คือ คำสั่งที่ 88/2557 และคำสั่งที่ 89/2557 ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2557 ซึ่งเป็นประกาศที่เกี่ยวข้องกับ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ตรงๆ และเต็มๆ

เนื้อหาสาระสำคัญของคำสั่งทั้ง 2 ฉบับมีความแตกต่างกันออกไป ทว่า ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการ “จัดจารีต” ภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลโดยตรงต่ออนาคตของสำนักงานตำรวจแห่ชาติ ทั้งในแง่ขององค์กรและ “ตัวผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่” ทั้งสิ้น

แต่ที่สังคมให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือ คำสั่งที่ 88/2557 เพราะสงสัยว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติของ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังทำอะไร เนื่องจากมีการปรับและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.) ด้วยการส่ง “ปลัดกระทรวงกลาโหม” เข้าไปเป็น ก.ต.ช.โดยตำแหน่ง

นี่ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะสามารถตีความได้ว่า ทหารได้สยายปีกเข้าไปยึดอำนาจของตำรวจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้คำสั่งที่ 88/2557 และ 89/2557 ยังเกี่ยวข้องกับ “คุณสมบัติ”

ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ ซึ่งสามารถทำให้สรุปได้ชัดเจนว่า ใครคือ “ตัวเต็ง” ในเก้าอี้ตัวนี้ รวมทั้งลงลึกไปในรายละเอียดเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในระดับที่ต่ำลงไปอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น คำสั่งที่ 88 และ 89 ก็ยังมีข้อสงสัยว่า น่าจะเป็นเพียงแค่การกระชับอำนาจของฝ่ายข้าราชการ มิใช่ “การปฏิรูปตำรวจ” อย่างที่ภาคประชาชนต้องการอย่างแท้จริง มิหนำซ้ำยังจะทำให้กลายเป็น “รัฐตำรวจ” ที่สมบูรณ์แบบเสียด้วยซ้ำไป

**ทหารส่งคนนั่ง ก.ต.ช.

กล่าวสำหรับคำสั่งที่ 88/2557 นั้น เป็นคำสั่งว่าด้วยเรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ ซึ่งต้องถือว่ามีนัยสำคัญไม่น้อย และ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช.ให้เหตุผลประกอบเอาไว้ว่า “เพื่อปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เกิดประสิทธิภาพ มีความคล่องตัวในการปฏิบัติหน้าที่มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านความมั่นคง และการอำนวยความยุติธรรม อันจะส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนโดยส่วนรวม”

เนื้อหาสาระสำคัญของคำสั่งฉบับนี้ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างของ “คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ” หรือ ก.ต.ช. ซึ่งต้องถือว่ามีนัยสำคัญมาก

เดิมทีนั้นโครงสร้างของ ก.ต.ช.ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มีทั้งหมด 11 คน แต่คำสั่งของ คสช.กำหนดให้เหลือแค่ 9 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากวุฒิสภาจำนวนสองคน ขณะที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ประธานกรรมการโดยคำแนะนำของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจตรีขึ้นไปจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ความแตกต่างของโครงสร้างใหม่กับโครงสร้างเดิมก็คือ มีการตัดฝ่ายการเมืองออกไป 2 ตำแหน่งคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ส่วนฝ่ายข้าราชการประจำที่หายไปก็คือ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเข้ามาแทนที่ ด้านกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมทีมีจำนวน 4 คนและกำหนดที่มาไว้ว่าต้องได้รับการสรรหาโดยกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวต้องมีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ใน 4 ด้านก็คือ กฎหมาย การงบประมาณ การพัฒนาองค์กร และการวางแผนหรือการบริหารและจัดการ ก็ถูกตัดให้เหลือเพียงแค่ 2 คน และให้มีการตัดเลือกโดยวุฒิสภา

สิ่งที่เกิดขึ้นมิอาจตีความเป็นอื่นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องการให้การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งให้น้อยที่สุด และโอนอำนาจไปให้กับข้าราชการประจำ

กระนั้นก็ดี เรื่องใหญ่เรื่องโตที่มีวิพากษ์วิจารณ์กันมากอยู่ตรงที่โครงสร้างใหม่ของ ก.ต.ช.โดย คสช.นั้น มีการเพิ่ม “ปลัดกระทรวงกลาโหม” เข้ามาเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมกลายเป็นประเด็นติฉินนินทาได้ว่า “ทหาร” ได้ส่งคนของตนเองเข้ามาตรวจตราการทำงานของ “ตำรวจ” เพราะแม้จะมีคำอธิบายสารพัดสารพันจากทั้งฝั่งทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ว่า เป็นเพราะมีการทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องทางด้านความมั่นคงร่วมกัน ดังเช่น พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รรท.ผบ.ตร.) อธิบายว่า “การให้ปลัดกระทรวงกลาโหมเข้ามา เพื่อให้มีมิติด้านความมั่นคงทำให้ ก.ต.ช.มีความครบถ้วน”

แต่นั่นก็ยังไม่สามารถทำให้ข้อเคลือบแคลงใจในเรื่องนี้กระจ่างได้

และถ้าจะมองอย่างสุดโต่งคงต้องหยิบยกเอาคำพูดของ นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย

“วันนี้ทหารทำอะไรเลยเถิดเกินไปแล้ว จะให้เป็นรัฐทหารอย่างนั้นหรือ อีกหน่อยตำแหน่ง ผบ.ตร.คงจะให้ทหารมาเป็นก็ได้อย่างนั้นหรือ อยากให้คสช.เห็นใจตำรวจด้วย ควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน อย่าไปลดศักดิ์ศรีของตำรวจ เพราะขนาดสภากลาโหมของทหารก็ยังไม่เห็นว่ามีใครเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้เลย”

“ผมเชื่อว่าคนที่คิดเรื่องนี้นั้นคิดไม่ละเอียด ขณะที่ตำรวจเองก็ควรที่จะลุกขึ้นมาอธิบายบ้างว่าตำรวจต้องการอะไรบ้าง ไม่ต้องถึงขั้นประท้วงก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ว่านั่งเฉยๆ เพราะวันนี้ตำรวจถือว่าเสียสิทธิบางเรื่องไปแล้ว และถ้ายังปล่อยให้ทหารทำแบบนี้อยู่เรื่อยๆ ต่อไปก็จะลามไปเรื่องอื่นๆ อีก”

ไม่เพียงแต่นายสมคิดเท่านั้น หากแต่ตำรวจเองก็วิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นดังกล่าวไม่น้อย เพียงแต่ไม่กล้าออกหน้าออกตาเปิดเผยต่อสาธารณชนเท่านั้น ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและสะเทือนความรู้สึกลึกๆ ของตำรวจอยู่ไม่น้อย

**“เอก-สมยศ” 2 ตัวเต็ง ผบ.ตร.

นอกจากประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว คำสั่ง คสช.ที่ 88/2557 ที่ไม่อาจมองข้ามได้ก็คือการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับ “ที่มา” และ “คุณสมบัติ” ของผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่” สืบต่อจาก “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” ที่ถูก คสช.เด้งพ้นเก้าอี้ไปนั่งตบยุงและแต่งตั้ง “พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ” รักษาราชการแทน

ทั้งนี้ ข้อ 2 ของคำสั่งที่ 88/2557 ให้ยกเลิกความใน (3) ของมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
คือ “(3) พิจารณาดำเนินการคัดเลือกข้าราชการตำรวจเพื่อดำเนินการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเสนอ”

อธิบายง่ายๆ คือ คสช.มอบดาบอาญาสิทธิ์ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนที่กำลังจะเกษียณอายุราชการเป็นผู้เสนอแต่งตั้งผู้บัญชาการคนใหม่จากอำนาจเดิมที่เป็นของนายกรัฐมนตรีเสนอต่อที่ประชุม ก.ต.ช. ซึ่งในสถานการณ์ ณ ขณะนี้ผู้รับอำนาจเต็มก็คือ พล.ต.อ.วัชรพล

พร้อมกันนี้ยังได้เขียนเอาไว้เสร็จสรรพด้วยว่า ผู้ที่จะเข้าข่ายได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะต้องดำรงตำแหน่ง “จเรตำรวจแห่งชาติ” หรือ “รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” จากเดิมที่เขียนเอาไว้กว้างๆ ว่ามาจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอกเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 14 นายคือ จเรตำรวจแห่งชาติ รอง ผบ.ตร.จำนวน 7 นาย ที่ปรึกษา (สบ 10) จำนวน 5 นาย และหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ (สบ 10) อีก 1 นาย เหลือเพียงรอง ผบ.ตร. และจเรตำรวจแห่งชาติ 8 นายเท่านั้น

สรุปคือที่ปรึกษา (สบ.10) และหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ (หน.นรป.) ถูกตัดสิทธิ์ออกจากสารบบลุ้นระทึกครั้งนี้ไปเป็นที่เรียบร้อย

ขณะที่คำสั่ง คสช.ที่ 89/2557 นั้นเป็นการประกาศหลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจว่าด้วยการจัดลำดับอาวุโสเพื่อประโยชน์ในการแต่งตั้งโยกย้าย โดยกำหนดให้ผู้ที่มียศสูงกว่าเป็นผู้ที่มีอาวุโสมากกว่า ถ้ายศเท่ากัน ให้ดูอายุงานในตำแหน่งนั้นๆ ว่า ใครสูงกว่า คนนั้นจะถือว่ามีอาวุโสสูงกว่า แต่ถ้า อายุงานในตำแหน่งยังเท่ากันอีก ก็ให้ดูอายุงานในตำแหน่งที่รองลงไปจากนั้นตามลำดับจนถึงตำแหน่งระดับรองสารวัตร และถ้าเกิดยังเท่ากันอีก ก็ให้ดูว่าใครดำรงตำแหน่งชั้นสัญญาบัตรนานกว่ากัน สุดท้ายถ้ายังเท่ากันอีกก็ให้ดูที่อายุ

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ เดิมสำนักงานตำรวจแห่งชาติยึดหลักเกณฑ์นับอาวุโสด้วยการพิจารณาว่า ข้าราชการตำรวจคนใดขึ้นดำรงตำแหน่งในระดับนั้นก่อนก็จะถือว่ามีอาวุโสสูงกว่า

แน่นอน เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ต้องมาไล่เรียงดูว่ามีใครบ้างที่เข้าข่ายได้รับการคัดเลือกเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนที่ 10 กันบ้าง

ในปัจจุบัน มีผู้ที่ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 6 คนประกอบด้วย 1.พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ 2.พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ 3.พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง 4.พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา 5.พล.ต.อ.รชต เย็นทรวง และ 6.พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ส่วนจเรตำรวจแห่งชาติมี 1 คนคือ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน

กระนั้นก็ดีเมื่อวิเคราะห์ภูมิหลังของแต่ละคนก็จะพอจะเห็นเค้าลางว่า เก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนต่อไปมีลุ้นเพียงแค่ 2 คนเท่านั้นคือ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ และ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง

ส่วนคือที่เหลือเป็นที่ชัดเจนว่ามีโอกาสน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.พงศพัศที่ไม่ต้องสาธยายก็รู้ว่าเป็นคนของระบอบทักษิณ ยิ่งเมื่อตัดสินใจลาออกจากราชการไปสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามพรรคเพื่อไทยก็ยิ่งทำให้โอกาสในเก้าอี้ตัวนี้ริบหรี่ ส่วน พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ก็มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย ขณะที่ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติก็เป็น “ลูกเขย” ของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก สำหรับพล.ต.อ.รชตก็เกษียณอายุราชการในปีนี้พอดี จึงหมดสิทธิ์ไปแบบไม่มีลุ้น เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ที่ถูกย้ายออกไปนั่งเก้าอี้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

คำถามมีอยู่ว่าแล้วใครมีภาษีเหนือกว่ากัน

ว่ากันตามชื่อชั้นและคอนเนกชัน พล.ต.อ.เอกก็น่าจับตาเพราะถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าในระยะหลังมีบทบาทในคดีความต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติค่อนข้างสูง แถมยังเป็นศิษย์เก่า “โรงเรียนวัดนวลนรดิศ” เหมือนกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอีกต่างหาก ดังนั้น จึงไม่แน่นักกว่า นวลนรดิศคอนเนกชั่นอาจทำให้เขาเข้าป้ายก็เป็นได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อเสียเปรียบอันเดียวของ พล.ต.อ.เอกก็คือ เขามิได้เป็นนักเรียนเตรียมทหาร มิได้เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน หากแต่เป็นนายร้อยอบรม จบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ขณะที่ พล.ต.อ.สมยศมิได้มีข้อด้อยตรงนี้ แถมยังเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกับ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา คนโตแห่ง คสช.(ตท.15)อีกต่างหาก แต่นั่นก็อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญหากย้อนไปตรวจสายสัมพันธ์ของ พล.ต.อ.สมยศกับผู้มีอำนาจใน คสช.

เพราะต้องไม่ลืมว่า พล.ต.อ.สมยศคืออดีตลูกน้องเก่าของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นน้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาของ คสช. และเป็นพี่ใหญ่ของเหล่า “บูรพาพยัคฆ์” แถม พล.ต.อ.วัชรพล ที่ได้ขึ้นมานั่งเก้าอี้รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็เพราะแรงหนุนจาก พล.ต.อ.พัชรวาท ซึ่งเมื่อ พล.ต.อ.วัชรพลมีอำนาจเต็มในการเสนอชื่อตามคำสั่งของ คสช. ดังนั้น พล.ต.อ.สมยศคือเต็งหนึ่งที่จะเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 10 อย่างไม่ต้องสงสัย

นี่ไม่นับรวมถึงการกระชับอำนาจหรือผ่าตัดครั้งใหญ่ในส่วนของ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. กล่าวคือจากเดิมที่ ก.ตร.มีองค์ประกอบ 3 ส่วน โดยส่วนที่ 1 ก.ตร.โดยตำแหน่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เลขานุการ ก.พ. จเรตำรวจแห่งชาติ รองผบ.ตร. ส่วนที่ 2 ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการเลือกตั้งจากอดีตตำรวจยศพล.ต.ท.ขึ้นไป โดยให้ตำรวจยศ พ.ต.อ.ขึ้นไปเลือกจำนวน 5 นาย และส่วนที่ 3 ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้ ก.ตร.โดยตำแหน่งเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ รวมมี ก.ตร.จำนวน 22 นาย แต่คำสั่ง คสช.ใหม่รื้อโครงสร้าง ก.ตร.ให้เหลือเพียง 13 คน คือ 1.นายกฯ เป็นประธาน 2.ผบ.ตร.เป็นรองประธาน 3.เลขาธิการ ก.พ. , จเรตำรวจแห่งชาติ และรอง ผบ.ตร.เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 4.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้รับการคัดเลือกจากวุฒิสภาจำนวน 2 คน พร้อมให้ ผบช.ก.ตร.เป็นเลขานุการ และรองเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

“โครงสร้างนี้ได้มอบอำนาจในการแต่งตั้งอยู่ในมือผู้บังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อที่ให้ผู้บังคับบัญชาสามารถให้คุณกับข้าราชการตำรวจได้”พล.ต.อ.วัชรพลอธิบาย

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. พรรค ปชป. ให้ความเห็นต่อกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศแก้กฎหมายเกี่ยวกับตำรวจเอาไว้อย่างน่าสนใจใน 3 ประเด็นคือ

1.รัฐธรรมนูญใหม่ในอนาคตน่าจะมีวุฒิสภาแน่นอน เพราะในประกาศใหม่ให้วุฒิสภาสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ในคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (กตช.)

2. ตำรวจจะใหญ่ขึ้น นักการเมืองจะเล็กลง เพราะเอารัฐมนตรี ออกจาก กตช.2 คน และให้ปลัดกระทรวงกลาโหม เข้ามาอยู่ใน กตช.แทน
รวมทั้งการเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่ จากเดิมให้อำนาจนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอชื่อ พล.ต.อ. คนใดก็ได้ แต่คราวนี้เปลี่ยนมาเป็นอำนาจของ ผบ.ตร.คนปัจจุบัน

และ 3. ประกาศ คสช.กำหนดให้ ผบ.ตร.คนปัจจุบัน เสนอชื่อแทน โดยให้เลือกจาก จเร หรือรอง ผบ.ตร. เท่านั้น

“ทั้งหมดนี้ถือว่า คสช.ปฏิรูปนักการเมืองแล้ว แต่การปฏิรูปตำรวจดูจะห่างไกล เพราะยิ่งแก้ยิ่งผูกขาดอำนาจ ฝันของผม เหมือนกับ กปปส.หลายคน คือ ตำรวจขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล หลีกเลี่ยงความเป็นรัฐตำรวจ หรือการถูกครอบงำจากรัฐบาลกลาง แต่โครงสร้างใหม่ที่ประกาศ เป็นการลดบทบาทรัฐบาลกลางจริง แต่มันจะกลายเป็นรัฐตำรวจ และที่ผมเสนอแนะ ก็ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่อยากเห็นประเทศไทยที่ดีขึ้น”นายอรรถวิชช์แจกแจง

คำถามมีอยู่ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะปลอดการเมืองอย่างที่ คสช.ต้องการจริงหรือ ในเมื่อความจริงที่เห็นและเป็นอยู่ปรากฏเช่นนี้






กำลังโหลดความคิดเห็น