ASTVผู้จัดการรายวัน-สธ.ออกประกาศ 4 ฉบับคุม "โรคอีโบลา" ยกระดับเป็นโรคติดต่ออันตราย เพื่อให้สามารถควบคุมดูแลได้ง่ายขึ้น พร้อมติดตามกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากประเทศเกิดโรคระบาด 79 รายอย่างใกล้ชิด ติดตามอาการทุกวัน เหตุยังไม่พ้นระยะฟักตัวของโรค พร้อมไฟเขียวนำยาป้องกันที่ไม่ผ่าน อย. มาใช้ได้ กรณีจำเป็น
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมวอร์รูมโรคติดเชื้ออีโบลา วานนี้ (13 ส.ค.) ว่า จากการที่องค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) ได้ยกระดับโรคอีโบลาให้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินสากล สธ.จึงได้วางมาตรการโดยการออกประกาศ 4 ฉบับ คือ 1.ประกาศเป็นโรคติดต่อ 2.ประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ 3.ประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523 และ 4.ประกาศประเทศดินแดนติดเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งมีอยู่ 3 ประเทศ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และ 1 เมือง คือ เมืองลากอส เมืองหลวงของไนจีเรีย ซึ่งตนได้ลงนามไปแล้วเมื่อวันที่ 13 ส.ค. ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทน รมว.สาธารณสุข จากนั้นจะส่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ทันทีหลังประกาศ 1 วัน ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมโรคได้เข้มข้นมากขึ้น
โดยวันนี้ (14 ส.ค.) จะมีการประชุมความคืบหน้าอีกครั้งว่าควรมีการเพิ่มเติมมาตรการใดอีกบ้าง รวมถึงจะมีการประชุมคณะกรรมการโรคอุบัติใหม่แห่งชาติ ซึ่งจะมีหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในสัปดาห์หน้า
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า แม้จะมีการออกประกาศประเทศดินแดนติดเชื้อไวรัสอีโบลา แต่ยังไม่มีคำสั่งห้ามเดินทางไปยัง 3 ประเทศ 1 เมือง แต่อย่างใด ซึ่งเบื้องต้น กระทรวงการต่างประเทศได้แนะนำแล้วว่าควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศดังกล่าว แต่หากมีความจำเป็นต้องไป ก็ต้องมีการป้องกันตัว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การออกประกาศเป็นโรคติดต่อ โรคติดต่อต้องแจ้งความ และโรคติดต่ออันตราย จะช่วยให้พนักงานสาธารณสุข ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ รวมถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างๆ สามารถดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคได้อย่างเต็มที่ มั่นใจว่าสามารถควบคุมโรคไม่ให้ระบาดได้ หากมาถึงประเทศไทย แต่โอกาสเสี่ยงเข้าประเทศนั้นยังน้อย และแม้จะยังไม่ได้ออกประกาศเป็นกฎหมาย ในทางปฏิบัติก็มีการดำเนินการควบคุมโรคอย่างเข้มข้นแล้ว
สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้ออีโบลานั้น ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 11 ส.ค. พบว่ามีผู้ป่วยแล้ว1,848 ราย เสียชีวิต 1,013 ราย อัตราการเสียชีวิตลดลงจากเดิม 90% เหลือประมาณ 50-60% เนื่องจากแพทย์มีความเข้าใจในพยาธิสภาพของโรคมากขึ้น รักษาได้ดีขึ้น เช่น มีเลือดออกก็ให้เลือด มีอาการแทรกซ้อนก็ให้ยา เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวถามถึงการติดตามผู้ที่มีประวัติเดินทางไปยัง 3 ประเทศและ 1 เมือง ที่มีการระบาด นพ.โอภาส กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้เดินทางเข้ามาทั้งหมด 483 ราย ทั้งหมดสบายดี ตอนนี้ยังเหลือคนที่ต้องติดตามภายใน 21 วัน ตามระยะการฟักตัวของโรคอีก 79 ราย เป็นคนไทยที่เดินทางไปในพื้นที่ระบาด 1 ราย แต่พบว่ายังสบายดีทุกคน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ติดตามอาการของคนเหล่านี้ทุกวัน ซึ่งหลายพื้นที่ตอนนี้อย่าง สสจ.ร้อยเอ็ด ก็มีการติดตามอาการคนที่มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่ระบาดทุกวัน
สำหรับการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางเข้ามาจากพื้นที่ที่มีการระบาดจะมีการตรวจอาการ วัดอุณหภูมิร่างกายอย่างละเอียด ไม่จำเป็นต้องติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกน เพราะทำได้ทำละเอียดกว่าและเป็นรายบุคคล ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรเหมือนเครื่องเทอร์โมสแกน
ส่วนยารักษาโรคซีแมฟ โดยปกติองค์การอนามัยโลกไม่อนุญาตให้นำยาที่ยังไม่ผ่านการทดลองในคนออกมาใช้ แต่กรณีนี้เห็นว่าเป็นโรคที่อันตรายสูงและประชาชนหวาดกลัวมาก จึงอนุญาตให้นำมาใช้ได้ ซึ่งประเทศไทยหากมีความจำเป็นต้องใช้ก็สามารถร้องขอและนำเข้ามาได้โดยไม่ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
พญ.วารุณี จินารัตน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในการตรวจยืนยันเชื้อไวรัสอีโบลาทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ยังไม่มีประเทศใด รวมถึงไทยที่ตรวจยืนยันเชื้อได้ ต้องส่งไปตรวจยยืนยันที่ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา การดำเนินการตรวจภายในประเทศจะเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นว่าใช่หรือไม่ใช่เชื้อนี้เท่านั้น
ทางด้านความเคลื่อนไหวของต่างประเทศ ในการป้องกันเชื้อไวรัสอีโบลา วอลสตรีทเจอร์นัล รายงานว่า องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA ได้อนุญาตให้ใช้ TKM-Ebola จากบริษัท เทคไมรา ฟาร์มาซูติคอล ของแคนาดา กับคนไข้ติดเชื้อได้
ขณะที่รอยเตอร์ระบุว่า รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขแคนาดา เตรียมบริจาควัคซีนต้านเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งได้จากการทดลองในห้องปฏิบัติการของรัฐบาลให้แก่องค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อนำไปทดลองใช้ในประเทศแถบแอฟริกา
ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขแคนาดายังมีส่วนร่วมพัฒนาตัวยา Zmapp ซึ่งผลิตโดยบริษัท แมปป์ ไบโอฟาร์มาชูติคอล ของสหรัฐฯ และเคยถูกนำไปใช้รักษาชาวอเมริกัน 2 คนที่ได้รับเชื้อไวรัสอีโบลาในไลบีเรียมาแล้ว
เอเอฟพี ระบุว่า นายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้แถลงแผนยกระดับมาตรการตอบสนองของโลกต่อการแพร่ระบาดของอีโลบา ด้วยกระตุ้นให้รัฐบาลชาติต่างๆ หลีกเลี่ยงความตื่นตระหนกและหวาดกลัว จากนั้นก็ดึงมันเข้าสู่การควบคุม ส่วนความเคลื่อนไหวอื่นๆ กินีบิสเซา สั่งปิดชายแดนติดกับกินี หนึ่งในชาติแอฟริกาตะวันตก ที่ได้รับกระทบจากไวรัสอีโบลาหนักหน่วงที่สุด
ล่าสุด มาร์ติน เชเฟอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี แถลงว่า เยอรมนีประกาศยกระดับคำเตือนการเดินทาง โดยขอเรียกร้องให้พลเมืองของตนซึ่งอยู่ใน กินี, เซียร์ราลีโอน, และไลบีเรีย เดินทางจากการประเทศเหล่านี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่ยังอยู่ในระดับวิกฤต
ในทางอีกด้านหนึ่ง สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งแอฟริกา ได้สั่งให้กินีและเซียร์ราลีโอน ย้ายสถานที่จัดการแข่งขันฟุตบอลรอบคัดเลือก “แอฟริกัน เนชัน คัพ” ที่จะมีขึ้นในเดือนหน้า ให้ไปจัดในประเทศอื่นแทน เพื่อป้องกันการระบาดของอีโบลา
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมวอร์รูมโรคติดเชื้ออีโบลา วานนี้ (13 ส.ค.) ว่า จากการที่องค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) ได้ยกระดับโรคอีโบลาให้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินสากล สธ.จึงได้วางมาตรการโดยการออกประกาศ 4 ฉบับ คือ 1.ประกาศเป็นโรคติดต่อ 2.ประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ 3.ประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523 และ 4.ประกาศประเทศดินแดนติดเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งมีอยู่ 3 ประเทศ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และ 1 เมือง คือ เมืองลากอส เมืองหลวงของไนจีเรีย ซึ่งตนได้ลงนามไปแล้วเมื่อวันที่ 13 ส.ค. ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทน รมว.สาธารณสุข จากนั้นจะส่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ทันทีหลังประกาศ 1 วัน ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมโรคได้เข้มข้นมากขึ้น
โดยวันนี้ (14 ส.ค.) จะมีการประชุมความคืบหน้าอีกครั้งว่าควรมีการเพิ่มเติมมาตรการใดอีกบ้าง รวมถึงจะมีการประชุมคณะกรรมการโรคอุบัติใหม่แห่งชาติ ซึ่งจะมีหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในสัปดาห์หน้า
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า แม้จะมีการออกประกาศประเทศดินแดนติดเชื้อไวรัสอีโบลา แต่ยังไม่มีคำสั่งห้ามเดินทางไปยัง 3 ประเทศ 1 เมือง แต่อย่างใด ซึ่งเบื้องต้น กระทรวงการต่างประเทศได้แนะนำแล้วว่าควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศดังกล่าว แต่หากมีความจำเป็นต้องไป ก็ต้องมีการป้องกันตัว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การออกประกาศเป็นโรคติดต่อ โรคติดต่อต้องแจ้งความ และโรคติดต่ออันตราย จะช่วยให้พนักงานสาธารณสุข ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ รวมถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างๆ สามารถดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคได้อย่างเต็มที่ มั่นใจว่าสามารถควบคุมโรคไม่ให้ระบาดได้ หากมาถึงประเทศไทย แต่โอกาสเสี่ยงเข้าประเทศนั้นยังน้อย และแม้จะยังไม่ได้ออกประกาศเป็นกฎหมาย ในทางปฏิบัติก็มีการดำเนินการควบคุมโรคอย่างเข้มข้นแล้ว
สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้ออีโบลานั้น ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 11 ส.ค. พบว่ามีผู้ป่วยแล้ว1,848 ราย เสียชีวิต 1,013 ราย อัตราการเสียชีวิตลดลงจากเดิม 90% เหลือประมาณ 50-60% เนื่องจากแพทย์มีความเข้าใจในพยาธิสภาพของโรคมากขึ้น รักษาได้ดีขึ้น เช่น มีเลือดออกก็ให้เลือด มีอาการแทรกซ้อนก็ให้ยา เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวถามถึงการติดตามผู้ที่มีประวัติเดินทางไปยัง 3 ประเทศและ 1 เมือง ที่มีการระบาด นพ.โอภาส กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้เดินทางเข้ามาทั้งหมด 483 ราย ทั้งหมดสบายดี ตอนนี้ยังเหลือคนที่ต้องติดตามภายใน 21 วัน ตามระยะการฟักตัวของโรคอีก 79 ราย เป็นคนไทยที่เดินทางไปในพื้นที่ระบาด 1 ราย แต่พบว่ายังสบายดีทุกคน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ติดตามอาการของคนเหล่านี้ทุกวัน ซึ่งหลายพื้นที่ตอนนี้อย่าง สสจ.ร้อยเอ็ด ก็มีการติดตามอาการคนที่มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่ระบาดทุกวัน
สำหรับการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางเข้ามาจากพื้นที่ที่มีการระบาดจะมีการตรวจอาการ วัดอุณหภูมิร่างกายอย่างละเอียด ไม่จำเป็นต้องติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกน เพราะทำได้ทำละเอียดกว่าและเป็นรายบุคคล ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรเหมือนเครื่องเทอร์โมสแกน
ส่วนยารักษาโรคซีแมฟ โดยปกติองค์การอนามัยโลกไม่อนุญาตให้นำยาที่ยังไม่ผ่านการทดลองในคนออกมาใช้ แต่กรณีนี้เห็นว่าเป็นโรคที่อันตรายสูงและประชาชนหวาดกลัวมาก จึงอนุญาตให้นำมาใช้ได้ ซึ่งประเทศไทยหากมีความจำเป็นต้องใช้ก็สามารถร้องขอและนำเข้ามาได้โดยไม่ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
พญ.วารุณี จินารัตน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในการตรวจยืนยันเชื้อไวรัสอีโบลาทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ยังไม่มีประเทศใด รวมถึงไทยที่ตรวจยืนยันเชื้อได้ ต้องส่งไปตรวจยยืนยันที่ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา การดำเนินการตรวจภายในประเทศจะเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นว่าใช่หรือไม่ใช่เชื้อนี้เท่านั้น
ทางด้านความเคลื่อนไหวของต่างประเทศ ในการป้องกันเชื้อไวรัสอีโบลา วอลสตรีทเจอร์นัล รายงานว่า องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA ได้อนุญาตให้ใช้ TKM-Ebola จากบริษัท เทคไมรา ฟาร์มาซูติคอล ของแคนาดา กับคนไข้ติดเชื้อได้
ขณะที่รอยเตอร์ระบุว่า รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขแคนาดา เตรียมบริจาควัคซีนต้านเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งได้จากการทดลองในห้องปฏิบัติการของรัฐบาลให้แก่องค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อนำไปทดลองใช้ในประเทศแถบแอฟริกา
ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขแคนาดายังมีส่วนร่วมพัฒนาตัวยา Zmapp ซึ่งผลิตโดยบริษัท แมปป์ ไบโอฟาร์มาชูติคอล ของสหรัฐฯ และเคยถูกนำไปใช้รักษาชาวอเมริกัน 2 คนที่ได้รับเชื้อไวรัสอีโบลาในไลบีเรียมาแล้ว
เอเอฟพี ระบุว่า นายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้แถลงแผนยกระดับมาตรการตอบสนองของโลกต่อการแพร่ระบาดของอีโลบา ด้วยกระตุ้นให้รัฐบาลชาติต่างๆ หลีกเลี่ยงความตื่นตระหนกและหวาดกลัว จากนั้นก็ดึงมันเข้าสู่การควบคุม ส่วนความเคลื่อนไหวอื่นๆ กินีบิสเซา สั่งปิดชายแดนติดกับกินี หนึ่งในชาติแอฟริกาตะวันตก ที่ได้รับกระทบจากไวรัสอีโบลาหนักหน่วงที่สุด
ล่าสุด มาร์ติน เชเฟอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี แถลงว่า เยอรมนีประกาศยกระดับคำเตือนการเดินทาง โดยขอเรียกร้องให้พลเมืองของตนซึ่งอยู่ใน กินี, เซียร์ราลีโอน, และไลบีเรีย เดินทางจากการประเทศเหล่านี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่ยังอยู่ในระดับวิกฤต
ในทางอีกด้านหนึ่ง สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งแอฟริกา ได้สั่งให้กินีและเซียร์ราลีโอน ย้ายสถานที่จัดการแข่งขันฟุตบอลรอบคัดเลือก “แอฟริกัน เนชัน คัพ” ที่จะมีขึ้นในเดือนหน้า ให้ไปจัดในประเทศอื่นแทน เพื่อป้องกันการระบาดของอีโบลา